บทความวิชาการอัญมณี

เจาะไลฟ์สไตล์การซื้อเครื่องประดับของเหล่าสาวโสด

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประชากรเพศหญิงมีอัตราการเพิ่มสูงกว่าเพศชาย จนถึงปัจจุบันมีจำนวนผู้หญิงมากกว่าผู้ชายราว 1.12 ล้านคน กอปรกับทัศนคติของสาวยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมองว่าเพศหญิงและเพศชายมีความเท่าเทียมกัน การใช้ชีวิตอยู่คนเดียวหรือเป็นโสดไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป อีกทั้งผู้หญิงรุ่นใหม่เป็นผู้มีการศึกษาดี ทำงานเก่ง สามารถหาเงินเลี้ยงดูตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายเหมือนในอดีต และถ้าหาผู้ชายดีไม่ได้หรือไม่เจอคนที่ใช่ก็ขออยู่สวยๆ โสดๆ ดีกว่า เหล่านี้จึงก่อให้เกิดปรากฎการณ์สาวไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเทรนด์สาวโสดนี้กำลังกลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของธุรกิจต่างๆ รวมถึงเครื่องประดับ เพราะผู้หญิงกับเครื่องประดับเป็นของคู่กัน ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงมักใส่เครื่องประดับเพิ่มนอกเหนือจากเสื้อผ้าที่ใช้แต่งตัว และด้วยความต้องการเครื่องประดับที่มีอยู่ในตลาดเสมอ จึงทำให้มีเครื่องประดับทั้งมีแบรนด์และไม่มีแบรนด์หลากหลายรูปแบบออกวางจำหน่ายให้สาวๆ ได้เลือกซื้อมากขึ้นด้วย

รุกตลาดเครื่องประดับเทียมดินแดนภารตะ

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ฮ่องกงเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเทียมรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกหลัก ในขณะที่จีนเริ่มเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 1 โดยมีมูลค่าการส่งออกเหนือฮ่องกงราว 1 เท่าตัวตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ส่วนไทยเริ่มส่งออกเครื่องประดับเทียมมากขึ้นจากเป็นผู้ส่งออกในอันดับที่ 9 ในปี 2549 ขยับมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 5 ในปี 2558 ด้วยมูลค่า 385 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมี ลิกเตนสไตน์ และสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก

โอกาสการเชื่อมโยงอัญมณีและเครื่องประดับไทย-เมียนมา

เมียนมา เป็นแหล่งวัตถุดิบอัญมณีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนที่สำคัญของภูมิภาคและของไทย มีแรงงานในประเทศจำนวนมาก (รวมถึงแรงงานฝีมือในการเจียระไนอัญมณีจำนวนหนึ่ง) ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับยังคงล้าหลังอยู่มาก อีกประการที่สำคัญก็คือ ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศเมียนมามีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและจำนวนชนชั้นกลางที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยที่จะได้แสวงหาแนวทางในการสร้างความเชื่อมโยงด้านอัญมณีและเครื่องประดับกับเมียนมาในมิติต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันในอุตสาหกรรมนี้ระหว่างสองประเทศ

โอกาสการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ควรจับตามองในกลุ่มของประเทศอาเซียน ด้วยจำนวนประชากรกว่า 102 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม (รองเพียงอินโดนีเซีย) ในภาพรวมถือว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเฉลี่ยต่อปีสูงกว่าร้อยละ 6 จากปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการเติบโตของการบริโภคภายในประเทศ และการเติบโตของภาคธุรกิจบริการ ทำให้แนวโน้มของประชากรที่มีกำลังซื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับนั้น ถือว่าฟิลิปปินส์มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยมีปริมาณสำรองของวัตถุดิบและแร่ธาตุมากมาย เช่น ทองคำ เงิน รวมถึงแร่อัญมณีมีค่า ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับภายในประเทศมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก มักเน้นการผลิตตามคำสั่งซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับฟิลิปปินส์จึงมีช่องว่างที่เปิดรออยู่สำหรับผู้ประกอบการไทย

รุกตลาดโอมานผ่าน “เขตเศรษฐกิจพิเศษดูคุม”

หากต้องการขยายโอกาสทางการค้าไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โอมานนับเป็น 1 ในประเทศที่น่าสนใจ โดยนอกจากจะมีที่ตั้งที่เป็นประตูสู่ตะวันออกกลางแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังยุโรปและเอเชียได้ นอกจากนี้การเมืองและเศรษฐกิจยังมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง เนื่องจากโอมานไม่ยึดอุดมการณ์ทางการเมืองและศาสนาในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย โดยในกลุ่มตะวันออกกลางจำนวน 14 ประเทศ โอมานจัดเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าจากไทยที่มีมูลค่าสูงเป็นลำดับที่ 4 รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย และอิสราเอล ด้วยมูลค่าราว 660 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขขั้นต่ำเนื่องจากไม่ได้นับรวมการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังดูไบและส่งต่อ (re-export) ไปยังโอมานอีกทอดหนึ่ง โอมานจึงเป็น 1 ในประเทศเป้าหมายที่น่าสนใจสำหรับการขยายโอกาสการค้าการลงทุนในต่างแดน โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลโอมานเร่งส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ "ดูคุม" และโครงการสร้าง Duqm Frontier Town เพื่อเป็นศูนย์กลางการส่งออกของตะวันออกกลาง

แผนพัฒน์ฯ ฉบับที่ 13 ของจีนกับนัยยะต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย

ในช่วง 5-6 ปีมานี้ จีนต้องเผชิญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 ที่เศรษฐกิจเติบโตเพียงร้อยละ 6.9 จนกระทั่งภาครัฐต้องปรับนโยบายด้านเศรษฐกิจขนานใหญ่ผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจและการอนุมัติใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และด้วยสถานภาพการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา การขยับหรือปรับนโยบายด้านเศรษฐกิจของพญามังกรอย่างจีนย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่มากก็น้อย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยที่มีภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียเช่นเดียวกัน เศรษฐกิจหลายๆ อย่างมีการพึ่งพาจีน อีกทั้งจีนและไทยยังมีความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในรูปของ FTA ไทย-จีน รวมถึงอาเซียน-จีน ตามลำดับ ก็ไม่ควรพลาดที่จะติดตามทิศทางและนโยบายด้านเศรษฐกิจในระดับต่างๆ ของจีนอย่างใกล้ชิด

อนาคตตลาดทองคำใน CLMV

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปการถือครองเงินสด ณ วันนี้จะมีมูลค่าลดลง (Devalue) ในอนาคต หรือเรียกได้ว่าเงิน 100 บาทในวันนี้จะมีมูลค่าไม่เท่าเดิมในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว การสะสมทั้งทองคำ และเครื่องประดับทอง นอกจากใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว ยังเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้สะสมทั่วโลกในการรักษาความมั่งคั่งเอาไว้อีกด้วย เช่นเดียวกับประชากรในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่แม้ว่าจะยังมีรายได้ต่อหัวไม่สูงนัก แต่ความนิยมในการสะสมทองคำก็ค่อยๆ เกิดขึ้นท่ามกลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และรายได้ต่อหัวของประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ โดย 10 ปีที่ผ่านมาประชากรลาวมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเฉลี่ย 8% ต่อปี โดยในปี 2557 มีรายได้ต่อหัวที่ 1,760 เหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 3% ต่อปี โดยในปี 2557 มีรายได้ต่อหัวที่ 5,500 เหรียญสหรัฐต่อปี

นพรัตน์ หรือ นพเก้า อัญมณีมงคล 9 ชนิด คู่อารยธรรมไทย

นพรัตน์ หรือ นพเก้า หมายถึง อัญมณีมงคล 9 ชนิด ที่ชาวเอเชียโดยเฉพาะในแถบอินเดีย เนปาล ศรีลังกา ตลอดจนทุกประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อว่าเป็นอัญมณีมงคล ซึ่งในภาษาสันสกฤตเรียกว่า 'เนาวรัตน' รวมถึงภาษาฮินดี เมียนมา อินโดนีเซีย และเนปาล ส่วนในภาษาสิงหลเรียก 'นวรัตเน' และในภาษาไทยเรียก 'นพรัตน์' ความเชื่อในเรื่องดังกล่าวเป็นความเชื่อที่อยู่คู่ดินแดนสุวรรณภูมิมาแต่ดั้งเดิมจึงไม่ปรากฏที่มา

สัมผัสเบื้องลึกตลาดไข่มุกที่ Greenhills Shopping Center ของฟิลิปปินส์

ในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ มีจุดเด่นที่น่าสนใจประการหนึ่ง ก็คือ การมีห้างสรรพสินค้าน้อยใหญ่มากมายรวมกันกว่า 100 แห่งตั้งเรียงรายบนถนนสายหลัก สายรอง และรวมถึงกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ทั่วเมืองหลวงแห่งนี้ โดยห้างสรรพสินค้าที่เป็นแหล่งรวมไข่มุกและผลิตภัณฑ์จากมุกที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ Greenhills Shopping Center

อัญมณีและเครื่องประดับไทยส่งขายอาเซียนเสรีและปลอดภาษีจริงหรือ!!!

นับตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2015 สมาชิก 10 ประเทศในอาเซียนได้หลอมรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) อย่างสมบูรณ์ โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ประการตาม AEC Blueprint 2015 ได้แก่ (1) การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว ที่ให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ รวมถึงเงินทุนได้อย่างเสรีมากขึ้น (2) การพัฒนาไปสู่ภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน (3) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค มีความเท่าเทียมกัน สนับสนุนและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และลดช่องว่างระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกใหม่และสมาชิกเก่า และ (4) การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก เน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค

แหล่งค้าอัญมณีและเครื่องประดับในเมืองมัณฑะเลย์

มัณฑะเลย์ (Mandalay) เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมารองจากย่างกุ้ง และเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของเมียนมาตอนเหนือ เนื่องจากอยู่ใกล้กับโมกก (Mogok) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทับทิมและไพลินที่มีคุณภาพสูง และเหมืองพะกันต์ (Hpakant) ที่เป็นแหล่งผลิตหยกคุณภาพดีและมีปริมาณการผลิตมากที่สุดในโลก ปัจจุบันมีพ่อค้าชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยเดินทางเข้าไปซื้ออัญมณีในเมืองมัณฑะเลย์เนื่องจากการคมนาคมที่สะดวก มีสนามบินนานาชาติ และยังเป็นจุดแวะพักสำหรับเดินทางไปซื้อพลอยสีต่อที่เมืองโมกกซึ่งสามารถเดินทางไปกลับภายในหนึ่งวันได้อีกด้วย

ชมพูภูคา เครื่องเงินเมืองน่าน

"น่าน" เมืองในม่านหมอกที่โอบล้อมด้วยขุนเขา เมืองนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่โดดเด่นเมืองหนึ่งไม่แพ้ที่ใดในประเทศไทยที่มีประวัติการทำหัตถกรรมเครื่องเงินมาอย่างยาวนานผ่านการถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคนิคการผลิตจากรุ่นสู่รุ่นโดยได้ริเริ่มทำเป็นอาชีพตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา จากนั้นในปี 2538 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านหัตถกรรมเครื่องประดับเงิน เย็บปักประดิษฐ์และสิ่งทอก็ได้รวมตัวกันในนาม "ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาและหัตถกรรมเมืองน่าน" เปลี่ยนจากสินค้าเครื่องเงินพื้นบ้านฝีมือชาวเขากลายมาเป็นสินค้าของฝากให้แก่ผู้ที่มาเยือน

เราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้   ตั้งค่า ยอมรับ

×
140 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 4 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
โทรศัพท์: 0 2634 4999 ต่อ 444
โทรสาร: 0 2634 4970