
Gender Neutral Jewelry พลิกกรอบการขายเครื่องประดับ
การขายและทำการตลาดโดยแบ่งตามเพศเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในธุรกิจเครื่องประดับ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ กระแสความเป็นกลางทางเพศได้แผ่ขยายไปทั่วโลก แม้กระทั่งในหมู่แบรนด์ดังแห่งโลกแฟชั่น ทำให้ปัจจุบันนี้มีเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับเทรนด์ใหม่ ที่นำเอาสไตล์ของผู้หญิงและผู้ชายมาผสมรวมกัน เป็นสไตล์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองเพศ นั่นคือ “Gender Neutral” ที่ไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นของผู้ชายและผู้หญิง ทำให้ทั้งสองเพศสามารถใส่ได้อย่างเท่าเทียม
แบรนด์ Julien R Sahyoun
เครื่องประดับที่ไม่ระบุเพศ เจาะกลุ่มผู้ซื้อหลากหลาย
แนวคิดเรื่องเครื่องประดับและอัญมณีที่ไม่ระบุเพศ (Gender Neutral Jewelry) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในปี 2020 กระแสนี้ค่อยๆ กลายเป็นแนวทางที่คงอยู่อย่างถาวร เพราะผู้คนมีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปในเรื่องเพศสภาพ โดยเฉพาะผู้ซื้อในกลุ่มคนรุ่น Millennial และ Gen Z ต่างมีแนวคิดไม่ยึดติดกับขนบธรรมเนียมทางเพศ อันเกิดจากพัฒนาการหลายด้านในสังคมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องความเป็นกลางทางเพศ การกำเนิดของสื่อโซเชียลมีเดีย และการที่ผู้ซื้อรุ่นใหม่มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นต่อแนวทางการโฆษณาตลอดจนการซื้อขายสินค้าและบริการ ด้วยเหตุนี้ตลาดจึงเปิดรับวัฒนธรรมการใส่เครื่องประดับอัญมณีของผู้ชาย รวมถึงกลุ่มเป็นกลางทางเพศหรือไม่ระบุเพศมากยิ่งขึ้น
ยุคสมัยแห่งการยอมรับความแตกต่างได้ส่งผลอย่างเห็นได้ชัดต่อแวดวงการออกแบบเครื่องประดับอัญมณี เมื่อนักออกแบบตัดแนวคิดเรื่องเพศออกไปจากกระบวนการสร้างสรรค์ เครื่องประดับหมวดใหม่ก็ได้รังสรรค์ขึ้นเพื่อสะท้อนแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศที่เปิดกว้างมากขึ้น ปัจจุบันเครื่องประดับชายจึงไม่จำกัดอยู่แค่เพียงเข็มกลัดติดเน็คไท กระดุมแขนเสื้อ และนาฬิกาข้อมืออีกต่อไป แต่ผู้ชายหันมาใส่แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ เข็มกลัด หรือแม้กระทั่งใส่ต่างหูในบางโอกาส ทั้งในรูปแบบที่ตกแต่งหรือไม่ตกแต่งด้วยอัญมณีอย่างเพชร พลอยสี ไข่มุก หยก เป็นต้น ขณะเดียวกันการสวมใส่เครื่องประดับอัญมณีของผู้หญิงก็เปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงหันมาสนใจเครื่องประดับดีไซน์เท่ๆ แบบผู้ชายกันมากขึ้น และเมื่อคนส่วนใหญ่มองหาเครื่องประดับชิ้นใหม่ก็มักหันไปสนใจเครื่องประดับที่ไม่ระบุเพศที่บ่งบอกความเป็นตัวตนเพิ่มมากขึ้น
กำไลข้อมือคอลเลกชัน Genderless แบรนด์ UNOde50 ในแคมเปญ “Love Has No Rules”
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ซื้อมากขึ้น และสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในการขยายการจำหน่ายเครื่องประดับที่ไม่ระบุเพศเข้าสู่ผู้ซื้อกลุ่มต่างๆ ทั้งชาย หญิง และเพศทางเลือก หรือก็คือคนกลุ่ม LGBT ไม่ว่าจะเป็น Lesbian ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน Gay ผู้ชายที่ชอบผู้ชาย หรือคนที่ชอบเพศเดียวกัน Bisexual คนที่ชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง และ Transgender คนข้ามเพศคือผู้หญิงที่มีจิตใจเป็นผู้ชาย ผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มตามเพศสภาพ แต่เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ
ชาว LGBT นับเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพและน่าจับตามอง โดย LGBT Capital บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินที่ให้บริการกลุ่ม LBGT เป็นหลัก ประเมินว่าทั่วโลกมีคนกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อยกว่า 500 ล้านคน ซึ่งในเอเชียนั้นมีทั้งหมด 288 ล้านคน หรือ 60% จากทั้งหมดทั่วโลก โดยจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนชาว LGBT สูงสุดถึง 85 ล้านคน ตามด้วยอินเดีย 80 ล้านคน ญี่ปุ่น 8 ล้านคน และประเทศไทยสูงถึง 4 ล้านคน ซึ่งนับเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย หากแต่จำนวนคนดังกล่าวนี้เป็นแค่จำนวนคนที่เปิดเผยเท่านั้นยังไม่รวมจำนวนคนอีกมากที่ไม่ได้ระบุข้อมูลเอาไว้ โดยชาว LGBT ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มีกำลังซื้อสูง มักคำนึงถึงภาพลักษณ์ที่ดูดี ทำให้นิยมซื้อสินค้าที่มีคุณภาพสูงควบคู่ไปกับดีไซน์ที่สะท้อนบุคคลิกและบ่งบอกถึงตัวตนด้วย และส่วนมากมักจะไม่มีบุตร ทำให้พร้อมใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความสุขของตนได้อย่างไม่มีกังวล อีกทั้งคนกลุ่ม LGBT ยังมีความภักดีต่อแบรนด์สูงมาก โดยเฉพาะแบรนด์ที่ให้การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ จึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคในตลาดที่ธุรกิจเครื่องประดับไม่ควรมองข้าม
เครื่องประดับคอลเลกชัน XX/XY แบรนด์ Eva Fehren ด้วยแคมเปญ “For Him, For Her, For Them, For Us”,
ธุรกิจเครื่องประดับขยายตลาดสู่เทรนด์ Gender Neutral
เครื่องประดับได้ปรับตัวเข้ากับกระแส Gender Neutral มาอย่างต่อเนื่อง โดยแบรนด์ชั้นนำอย่าง Cartier, Boucheron, Tiffany & Co., Givenchy, Gucci, Bulgari, Thomas Sabo และ Pandora ต่างผลิตสินค้าที่ปฏิเสธการแบ่งขั้วทางเพศ ซึ่งทั้งผู้หญิงและผู้ชายใส่ได้อย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างแบรนด์ดังระดับโลกที่ผลิตเครื่องประดับแบบไม่ระบุเพศมานานหลายสิบปี อาทิ กำไลข้อมือ Juste un Clou แบรนด์ Cartier เป็นงานออกแบบอันโด่งดังมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970 โดยแต่เดิมได้รับการออกแบบมาสำหรับผู้หญิง แต่ผู้ชายก็ชอบเครื่องประดับแบบนี้เช่นกัน ขณะที่เครื่องประดับเล่นพื้นผิวอันโดดเด่นสะดุดตาอย่างแหวน Quatre แบรนด์ Boucheron ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นเครื่องประดับที่ไม่แบ่งเพศนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2004
กำไลข้อมือ Juste un Clou แบรนด์ Cartier
แหวน Quatre แบรนด์ Boucheron
นอกจากนี้ แบรนด์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเครื่องประดับกำลังมุ่งหน้าสู่ความเป็นกลางทางเพศมากยิ่งขึ้น ได้แก่ Bulgari แบรนด์ดังจากอิตาลี ที่เครื่องประดับคอลเลกชัน B.Zero1 Rock ได้รับความนิยมทั้งในหมู่ลูกค้าชายและหญิงมาตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 1999 และเครื่องประดับชุดใหม่ในคอลเลกชันนี้ก็นำเสนอรูปลักษณ์ที่ท้าทาย ด้วยการใช้อัญมณีเม็ดเล็กเรียงเป็นแถวเพื่อสร้างความแปลกใหม่ ที่สำคัญยังเป็นเครื่องประดับกลุ่มแรกที่ Bulgari ประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นเครื่องประดับที่ไม่ระบุเพศด้วย ขณะที่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Louis Vuitton แบรนด์ดังสัญชาติฝรั่งเศส ก็ได้เปิดตัวคอลเลกชัน Volt เครื่องประดับไม่ระบุเพศ เพื่อตอบรับโอกาสทางการตลาดนี้เช่นกัน