จริยธรรมและความยั่งยืน มาตรฐานใหม่ของอัญมณีและเครื่องประดับ
จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมายาวนาน ทั้งในแง่การทำธุรกิจ การบริหารงานภาครัฐ รวมทั้งสินค้าและบริการที่มอบให้ลูกค้า เนื่องจากการปรับเปลี่ยนค่านิยมในการบริโภคที่มีมุมมองให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านอื่นๆ นอกเหนือจากเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากหลายประเทศที่มุ่งเน้นเพียงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากคุณภาพ ทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมา ซึ่งสอดคล้องกับรายงานพัฒนามนุษย์ (Human Development Report) ประจำปี ค.ศ. 1996 แห่งองค์กรเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ที่ระบุว่า “คุณภาพ” ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญกว่า “อัตรา” การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะคุณภาพมีความยั่งยืนกว่านั่นเอง
กระแสความยั่งยืนท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19
เมื่อมองภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นและอัญมณีในหลายประเทศที่ต่างเฝ้ารอวันที่จะกลับมาฟื้นตัวได้หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนึ่งในหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ การพัฒนาวงการแฟชั่นไปสู่ความยั่งยืน โดยมีการสำรวจจาก McKinsey (บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำของโลก) เกี่ยวกับทัศนคติของผู้บริโภคในเยอรมนีและ สหราชอาณาจักรในประเด็นความยั่งยืนกับวงการแฟชั่น พบว่า 88% ยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อลดมลภาวะที่เกิดจากการผลิตสินค้าแฟชั่น โดยวิธีการที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น ผู้บริโภค 67% เห็นด้วยในการเริ่มใช้สินค้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ขณะที่ 61% เห็นด้วยในการเลือกซื้อสินค้าที่บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังมีการสอบถามความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศตนเองจากผู้ตอบแบบสอบถามในแต่ละประเทศ พบว่า จีนและอินเดียมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจประเทศตนเองจะฟื้นกลับมาเติบโตได้ดีหรือแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมภายใน 2-3 เดือนหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึง 58% ตามมาด้วยอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และบราซิล ในอัตรา 53%, 42%, 35% และ 28% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากหลายประเทศเป็นตลาดสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ด้วย
ที่มา : https://www.mckinsey.com/business-functions
จริยธรรมและความยั่งยืนในอัญมณีและเครื่องประดับ
จริยธรรมและความยั่งยืนเป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนคำนึงถึงและนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเองก็มีการสร้างความตระหนักและให้ความหมายของจริยธรรมไว้เช่นกัน โดยหมายถึง ความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบในแหล่งผลิตและการใช้วัตถุดิบอย่างยั่งยืน โดยให้มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งการให้ค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยแก่คนงาน จากความหมายดังกล่าวจะเห็นว่า มีความครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ การทำเหมืองอย่างโปร่งใส มีการสร้างสุขอนามัยที่ดีให้คนงาน การตรวจสอบถึงแหล่งที่มาได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งระมัดระวังต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง การเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตที่อาจนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) หรือรีไซเคิลได้ และการให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมเหมาะสม
ซึ่งกระแสดังกล่าวที่เพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับผลสำรวจของ ExJewel (บริษัทศึกษาข้อมูลเพื่อส่งเสริมจริยธรรมและความโปร่งใสในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ) ที่ได้เปิดเผยว่า ในปี 2020 มีการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมกับอัญมณีและเครื่องประดับ ดังนี้ Ethical Jewelry, Ethical Diamond และ Ethical Gold เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 75%, 75% และ 73% ตามลำดับ การค้นหาคำว่า Lab Grown Diamond เพิ่มขึ้น 83% ขณะที่คำว่า Sustainable Engagement Ring ได้รับความสนใจเพิ่มจากปีก่อน 65% และสไตล์เครื่องประดับที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมากคือ Art Nouveau Jewelry ที่ถูกค้นหาสูงขึ้นถึง 113% แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่หันมาให้ความสนใจต่อเครื่องประดับที่มีจริยธรรม การมองหาเพชรสังเคราะห์ที่ใช้ทดแทนเพชรธรรมชาติ หรือแม้แต่สไตล์ที่สื่อถึงธรรมชาติอย่าง Art Nouveau ก็ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าอานิสงส์ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนตระหนักในเรื่องนี้ตามไปด้วย
ที่มา : https://exjewel.com/insight-the-2020-conscious-jewelry-report/
นอกจากนี้ ExJewel มีการจัดอันดับแบรนด์เครื่องประดับที่มีจริยธรรมไว้ 10 อันดับ ดังนี้