ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
รัฐประหารเมียนมา: ปัจจัยเร่งใช้มาตรการค้าอัญมณีอย่างมีจริยธรรมและความยั่งยืน
Jun 7, 2021
4748
views
217
shares
ภายหลังจากที่กองทัพเมียนมาได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้งปีที่แล้ว ชาวเมียนมาหลายแสนคนในหลายเมืองใหญ่ได้ออกมารวมตัวกันประท้วงต่อต้านกองทัพ และนำมาซึ่งการปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้ชาวเมียนมาเสียชีวิตและถูกจับกุมคุมขังหรือดำเนินคดี
ปฏิกิริยาของนานาชาติต่อการรัฐประหารในครั้งนี้ที่ชัดเจนที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีให้รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินการคว่ำบาตรแกนนำก่อรัฐประหาร1 รวมถึงสมาชิกในครอบครัว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยออกประกาศแบนบริษัทที่เกี่ยวกับอัญมณีและหยก 3 บริษัท ได้แก่ Myanmar Ruby Enterprise, Myanmar Imperial Jade Co. และ Cancri (Gems and Jewellery) Co. ซึ่งเชื่อว่ามีกองทัพเป็นเจ้าของหรือถูกควบคุมโดยกองทัพเมียนมา และในวันที่ 8 เมษายน 2564 รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งห้ามชาวอเมริกันทำธุรกิจกับบริษัท Myanmar Gems Enterprise2 รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นบริษัทที่ควบคุมธุรกิจอัญมณีของประเทศ และเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่เลี้ยงกองทัพและผู้นำทางทหารของเมียนมาเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ (Office of Foreign Assets Control: OFAC) ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศคว่ำบาตรบริษัท Myanmar Pearl Enterprise (MPE) บริษัทผู้ผลิตมุกซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของเมียนมา รวมถึงสหราชอาณาจักรก็ได้ประกาศคว่ำบาตรบริษัท Myanmar Gems Enterprise อีกด้วย
ในฝั่งของอาเซียนได้มีการประชุมสมัยพิเศษ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 โดยที่ประชุมอาเซียนมีฉันทามติ 5 ข้อ ที่แสดงถึงความพร้อมใจร่วมมือของอาเซียนที่จะช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติในเมียนมา
“สหรัฐฯ แบน 5 บริษัทอัญมณีเมียนมา ได้แก่ Myanmar Ruby Enterprise, Myanmar Imperial Jade Co., Cancri (Gems and Jewellery) Co., Myanmar Gems Enterprise และ Myanmar Pearl Enterprise”
การค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย-เมียนมา
พลอยก้อนเป็นสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากเมียนมามาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยทั่วไปพลอยสีจากเมียนมาไหลเข้ามายังไทยมี 2 รูปแบบ คือ แบบถูกต้องตามกฎหมายและลักลอบนำเข้า ซึ่งการที่พ่อค้าเมียนมานำพลอยสีเข้ามาขายแบบถูกกฎหมาย จะต้องเสียภาษีให้รัฐบาล3 ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น พ่อค้าเมียนมาส่วนหนึ่งจึงลักลอบนำพลอยสีมาขายในไทยผ่านชายแดนไทย-เมียนมา จึงทำให้ตัวเลขการนำเข้าส่งออกพลอยสีระหว่างไทยและเมียนมาที่ปรากฎอย่างเป็นทางการมีมูลค่าค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างคาดการณ์ว่าการค้าพลอยสีที่แท้จริงของทั้งสองประเทศน่าจะมีมูลค่าสูงกว่าตัวเลขที่ปรากฎอยู่หลายเท่าตัว
กราฟแสดงมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยกับเมียนมาปี 2556-2564
ที่มา: กรมศุลกากรไทย ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ทั้งนี้ นับตั้งแต่สหรัฐฯ ยกเลิกกฎหมาย Jade Act 20084 ในเดือนตุลาคม 2559 การค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย-เมียนมาก็เพิ่มสูงขึ้น โดยไทยนำเข้าสินค้าหลักคือ พลอยสีจากเมียนมาเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดก่อนจะเริ่มลดลงในปี 2563 เนื่องจากดีมานต์พลอยสีของตลาดโลกลดลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม พบว่าในไตรมาสแรกของปี 2564 ไทยนำเข้าพลอยสีจากเมียนมาเพิ่มขึ้นถึง 106% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เฉพาะเดือนมีนาคมปีนี้นำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 296% คาดว่าเพื่อสต๊อกเก็บไว้ ด้วยเกรงว่าอาจนำเข้าได้ยากขึ้นหากเหตุการณ์ในเมียนมายังคงรุนแรงต่อไป
ด้านการส่งออกนั้นพบว่า สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปเมียนมาคือ ทองคำ ในปี 2562-2563 มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นมากจากการส่งออกทองคำฯ ในสัดส่วนถึง 98% เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า ชาวเมียนมาจึงต้องการเก็บสะสมทองคำไว้ในฐานะทรัพย์สินที่มีความปลอดภัยสูงและมีเสถียรภาพกว่าเงินสด และไตรมาสแรกปี 2564 ไทยส่งออกไปยังเมียนมาได้ลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั้งจากผลกระทบของโควิด-19 และปัจจัยซ้ำเติมจากการรัฐประหาร ส่งผลให้กำลังซื้อของชาวเมียนมาปรับลดลงตามไปด้วย
จากเหตุประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยังคงปะทุอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจการห้างร้านต้องปิดชั่วคราว แรงงานหยุดงานในหลายพื้นที่ การขนส่งไม่คล่องตัว รวมถึงสถาบันการเงินมีการกำหนดเงื่อนไขในการเบิกจ่าย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกองทัพเมียนมายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือออกมาตรการจำกัดการนำเข้าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทย-เมียนมา5 แต่อย่างใด ดังนั้น การค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทยกับเมียนมา จึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ อย่างมีนัยสำคัญในขณะนี้
“ปัจจุบันกองทัพเมียนมายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือออกมาตรการจำกัด
การนำเข้าส่งออก การค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทย-เมียนมา จึงยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ”
การค้าพลอยสีหลังรัฐประหารในเมียนมา
เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรประกาศคว่ำบาตรไม่ทำธุรกรรมการค้ากับบริษัทอัญมณีและหยกของเมียนมา หากแต่ธุรกรรมการค้าเหล่านี้ของเมียนมาก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัท Myanmar Gem Enterprise ของรัฐบาลทหารยังคงจัดงานประมูล Myanmar Gems Emporium ขึ้นในช่วงวันที่ 1 – 10 เมษายน 2564 ณ กรุงเนปิดอว์ และได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าโดยเฉพาะชาวจีนซึ่งเดินทางมาร่วมประมูลถึง 3,000 คน โดยจีนถือเป็นประเทศคู่ค้าหยกรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา ราว 99% ของหยกเมียนมาถูกจำหน่ายเข้าไปยังตลาดจีนซึ่งมีกำลังซื้อสูงและนิยมบริโภคหยกมากที่สุดในโลก และเนื่องจากรัฐบาลจีนไม่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อเหตุการณ์ในประเทศเมียนมาด้วยแล้ว การค้าอัญมณีและหยกระหว่างจีนและเมียนมาจึงเป็นไปอย่างราบรื่น
ในส่วนของพลอยสีนั้น เนื่องจากเมียนมาเป็นแหล่งผลิตพลอยสีหลากหลายชนิดรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก แต่เหตุการณ์ความไม่แน่นอนในขณะนี้ ทำให้ผู้ค้าพลอยสีทั่วโลกต่างคาดว่าปริมาณพลอยสีจากเมียนมาอาจจะออกมาสู่ตลาดโลกน้อยลง โดยเฉพาะทับทิมสีเลือดนกและทับทิมที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ทับทิมจากเมียนมายิ่งมีราคาสูงมากขึ้น อีกทั้งเกรงว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอาจออกมาตรการห้ามนำเข้าพลอยสีจากเมียนมาในทุกกรณีในอนาคต หลายประเทศจึงได้เร่งนำเข้าจากพลอยสีจากเมียนมาเพื่อเก็บสต๊อกไว้ จากสถิติ Global Trade Atlas ในไตรมาสแรกปี 2564 พบว่า เมียนมาส่งออกพลอยสีไปยัง 5 ตลาดหลัก ได้แก่ ฮ่องกง จีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และไทย ด้วยมูลค่าเพิ่มสูงถึง 816%, 720%, 31.33%, 9.34% และ 106% ตามลำดับ
https://www.mmtimes.com
แต่ขณะเดียวกันผู้ค้าในหลายประเทศอาจยังมีกำลังซื้อจำกัด เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า จึงอาจหันไปนำเข้าพลอยสีที่มีคุณภาพดีแต่ราคาต่ำกว่าจากแหล่งอื่นแทนอย่างประเทศในแถบแอฟริกา เช่น มาดากัสการ์ แทนซาเนีย เป็นต้น และอาจผลักดันให้พลอยสีจากแหล่งผลิตสำคัญในทวีปแอฟริกามีราคาสูงขึ้นได้
สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันพลอยก้อนของเมียนมายังคงไหลเข้ามาในไทยได้ตามปกติ เพราะไทยเป็นศูนย์กลางการปรับปรุงคุณภาพและเจียระไนพลอยสีที่สำคัญของโลก และแม้ว่าไทยจะไม่สามารถส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป6 ได้ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่พ่อค้าจากตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงและนิยมทับทิมจากเมียนมาก็พร้อมที่จะรับซื้อพลอยสำเร็จเหล่านี้เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยอาจมีภาระเพิ่มเติมด้านเอกสารหลักฐานที่ต้องแสดงเพื่อยืนยันถึงแหล่งที่มาของอัญมณีกรณีที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งน่าจะมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น
“เหตุการณ์ความไม่แน่นอนในเมียนมาขณะนี้ ทับทิมสีเลือดนกและทับทิมที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ อาจออกสู่ตลาดโลกน้อยลง และจะส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้นมาก”
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันการทำเหมืองอัญมณีในเมียนมายังห่างไกลจากมาตรฐานสากล แรงงานขาดคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งจากเหตุการณ์รัฐประหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงกระแสในปัจจุบันที่เรียกร้องให้ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Sourcing) ด้วยการคำนึงถึงจริยธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง RJC (Responsible Jewelry Council) ซึ่งหลายประเทศมีแนวโน้มในการเข้าสู่แนวทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง จึงอาจถือเป็นปัจจัยเร่งที่กระตุ้นให้ประชาคมอัญมณีและเครื่องประดับโลกหันมาให้ความสำคัญต่อกระแสนี้กันมากขึ้น และเร่งแสดงเจตจำนงในการปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและความโปร่งใส อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ข้อมูลอ้างอิง
1. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังห้ามนายทหารเมียนมาเหล่านั้นเข้าถึงเงินทุนรัฐบาลเมียนมาจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ฝากไว้ในธนาคารของสหรัฐฯ อีกทั้งยังระงับความช่วยเหลือทั้งหมดที่เคยมีให้รัฐบาลเมียนมาก่อนหน้านี้ แต่ยังคงไว้ซึ่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เช่น สาธารณสุข เป็นต้น
2. Myanmar Gems Enterprise เป็นผู้รับผิดชอบจัดการประมูลอัญมณีประจำปีในกรุงเนปิดอว์ ล่าสุดได้จัดการประมูลขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 10 เมษายน 2564 ทำรายได้จากไข่มุก 10.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัญมณีและเครื่องประดับทำรายได้ 373,500 ดอลลาร์สหรัฐ และหยกทำรายได้สูงสุด 224.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้เข้าประมูลในครั้งนี้เป็นชาวจีนถึง 3,000 คน
3. พ่อค้าเมียนมาจะต้องชำระภาษีจากการขายอัญมณีให้กับรัฐบาลสูงถึง 47% แบ่งเป็น ภาษีการค้า 15% ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 2% และภาษีส่งออกอัญมณี 30%
4. สหรัฐฯ ห้ามนำทับทิมและหยกจากเมียนมารวมถึงเครื่องประดับที่มีทับทิมและหยกจากเมียนมาเข้ามายังสหรัฐฯ ทั้งจากเมียนมาโดยตรงและผ่านประเทศที่สาม โดยสหรัฐฯ เชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นแหล่งระดมทุนของรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ
5. รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศห้ามนำเข้าสินค้า 5 รายการผ่านด่านการค้าชายแดนระหว่างประเทศทางบก โดยให้นำเข้าทางเรือแทน ซึ่งได้แก่ เครื่องดื่มทุกประเภท เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาแฟ และชา กาแฟสำเร็จรูป นมข้นหวาน และนมข้นจืด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้ากับไทย
สืบค้นจาก
6. จากข้อมูลสถิติการค้าของกรมศุลกากรไทยช่วงไตรมาสแรกปี 2564 พบว่า ตลาดส่งออกพลอยสีของไทยใน 10 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เบลเยียม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามลำดับ
https://prachatai.com/journal/2021/04/92719
https://www.dailynews.co.th/foreign/839229
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2077866
https://www.the101.world/responsibility-to-protect/
https://www.voanews.com/east-asia-pacific/us-hits-myanmars-gem-industry-sanctions
https://www.thairath.co.th/business/economics/2027700
https://www.isranews.org/article/isranews-article/97574-JAde00.html
https://www.jckonline.com/editorial-article/gem-industry-events-myanmar/
2. Myanmar Gems Enterprise เป็นผู้รับผิดชอบจัดการประมูลอัญมณีประจำปีในกรุงเนปิดอว์ ล่าสุดได้จัดการประมูลขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 10 เมษายน 2564 ทำรายได้จากไข่มุก 10.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัญมณีและเครื่องประดับทำรายได้ 373,500 ดอลลาร์สหรัฐ และหยกทำรายได้สูงสุด 224.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้เข้าประมูลในครั้งนี้เป็นชาวจีนถึง 3,000 คน
3. พ่อค้าเมียนมาจะต้องชำระภาษีจากการขายอัญมณีให้กับรัฐบาลสูงถึง 47% แบ่งเป็น ภาษีการค้า 15% ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 2% และภาษีส่งออกอัญมณี 30%
4. สหรัฐฯ ห้ามนำทับทิมและหยกจากเมียนมารวมถึงเครื่องประดับที่มีทับทิมและหยกจากเมียนมาเข้ามายังสหรัฐฯ ทั้งจากเมียนมาโดยตรงและผ่านประเทศที่สาม โดยสหรัฐฯ เชื่อว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นแหล่งระดมทุนของรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ
5. รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศห้ามนำเข้าสินค้า 5 รายการผ่านด่านการค้าชายแดนระหว่างประเทศทางบก โดยให้นำเข้าทางเรือแทน ซึ่งได้แก่ เครื่องดื่มทุกประเภท เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาแฟ และชา กาแฟสำเร็จรูป นมข้นหวาน และนมข้นจืด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้ากับไทย
สืบค้นจาก
6. จากข้อมูลสถิติการค้าของกรมศุลกากรไทยช่วงไตรมาสแรกปี 2564 พบว่า ตลาดส่งออกพลอยสีของไทยใน 10 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เบลเยียม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามลำดับ
https://prachatai.com/journal/2021/04/92719
https://www.dailynews.co.th/foreign/839229
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2077866
https://www.the101.world/responsibility-to-protect/
https://www.voanews.com/east-asia-pacific/us-hits-myanmars-gem-industry-sanctions
https://www.thairath.co.th/business/economics/2027700
https://www.isranews.org/article/isranews-article/97574-JAde00.html
https://www.jckonline.com/editorial-article/gem-industry-events-myanmar/