ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

ฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ โอกาสอัญมณีและเครื่องประดับไทย

Mar 4, 2022
3562 views
2 shares

            เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (Mohammad Bin Salman Abdulaziz Al Saud) มกุฏราชกุมารซาอุดีอาระเบีย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตให้กลับสู่ภาวะปกติ หลังความสัมพันธ์ห่างเหินกันมานานกว่า 32 ปี ซึ่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ จะสร้างโอกาสให้กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้

ซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน

            ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียมีประชากรเกือบ 35 ล้านคน เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคตะวันออกกลางรองจากตุรกี จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประชากรมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 46,700 ดอลลาร์สหรัฐ โดยรายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมันดิบ ซึ่งซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก และมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองเป็นอันดับสองของโลกรองจากเวเนซุเอลา หรือมีปริมาณน้ำมันดิบ 266,500 ล้านบาร์เรล

            ทั้งนี้ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานได้ประกาศ “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030)” เมื่อปี 2016 ซึ่งมีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างรายได้เข้าประเทศโดยลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว และเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอื่นๆ จากระดับ 16% เป็น 50% ของการส่งออกโดยรวม ทำให้เอกชนมีบทบาททางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 65% ของ GDP ลดอัตราการว่างงาน (ปัจจุบันต้องการลดอัตราการว่างงานจากระดับ 12% ไปอยู่ที่ระดับ 7%) และเปิดกว้างด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งซาอุดีอาระเบียต้องการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ภายในปี 2030 เพื่อให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

แหล่งทรัพยากรอัญมณีและโลหะมีค่า

            ซาอุดีอาระเบียมีประวัติการทำเหมืองทองมาเป็นเวลาหลายพันปี และมีแหล่งผลิตทองคำในประเทศหลายแห่ง ซึ่งในปี 2021 ซาอุดีอาระเบียผลิตทองคำได้ประมาณ 400,000 ออนซ์จากเหมือง 5 แห่งที่พัฒนาขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่ามีปริมาณทองคำใต้ดินอยู่ราว 323.7 ตัน และ Al-Mudaifer รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรแร่ (Ministry of Industry and Mineral Resources) ได้เผยผลการศึกษาปริมาณสำรองแร่ฟอสเฟต ทองคำ ทองแดง ซิงค์ นิกเกิล และแร่หายากอื่นๆ ในประเทศ ว่ามีมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ


แซปไฟร์ในซาอุดีอาระเบีย

ที่มาภาพ: www.wafyapp.com


            นอกจากนี้ ยังสามารถพบอัญมณีในพื้นที่ Harrat Al-Hurra ทางตอนใต้ของเมือง Sakaka ซึ่งอัญมณีที่พบ ได้แก่ มูนสโตน แซปไฟร์ เบริล แอมะซอไนต์ ควอตซ์ เพอริโด และการ์เน็ต อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตทองคำและอัญมณีไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ  

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับซาอุดีอาระเบีย

            ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องประดับรายใหญ่ในตะวันออกกลาง โดยมีผู้ผลิตเครื่องประดับทองหลายร้อยราย มีร้านจำหน่ายเครื่องประดับทองทั่วประเทศอยู่ราว 6,000 แห่ง มีแรงงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับประมาณ 30,000 คน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ เนื่องจากคนรุ่นใหม่หรือลูกหลานของช่างทองไม่สนใจทำอาชีพนี้ เพราะไม่มีความอดทนที่จะนั่งทำงานผลิตเครื่องประดับเป็นเวลานานได้ อีกทั้งยังมีข้อบังคับให้แรงงานในอุตสาหกรรมจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย


ที่มาภาพ: https://independentpress.cc

            ส่วนด้านการบริโภค ซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับทองและเพชรรายใหญ่ของโลก เครื่องประดับทองที่จำหน่ายในซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่มีค่าความบริสุทธิ์ 18 และ 22 กะรัต โดยผู้ชายชาวซาอุดีอาระเบียมักจะให้เครื่องประดับทองเป็นสินสอดทองหมั้นแก่คู่หมั้น และยังคงเป็นของขวัญที่ผู้หญิงซาอุดีอาระเบียชื่นชอบแม้หลังจากแต่งงาน โดยนิยมมอบให้เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันเกิด การฉลองการตั้งครรภ์ และวันครบรอบแต่งงาน

            จากข้อมูลของ World Gold Council พบว่า ในปี 2021 ซาอุดีอาระเบียมีความต้องการบริโภคเครื่องประดับทองเป็นอันดับสองในภูมิภาคตะวันออกกลางรองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับราว 35% ของตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งในปีที่ผ่านมาชาวซาอุดีอาระเบียต้องการบริโภคเครื่องประดับทองราว 33.3 ตัน เพิ่มขึ้น 47% เมื่อเทียบกับปี 2020 ทั้งนี้ Research and Market บริษัทวิจัยตลาดได้ประมาณการว่าในปี 2022 ตลาดเครื่องประดับเพชรและทองของซาอุดีอาระเบียจะมีมูลค่าราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การค้าระหว่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย

            จากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่า ในปี 2021 ซาอุดีอาระเบียนำเข้าสินค้าด้วยมูลค่า 202,103.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็น รถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักรและปัจจัยการผลิตต่างๆ ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องบินร่อนและเครื่องร่อน โดยตลาดนำเข้าหลักได้แก่ จีน สหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี และญี่ปุ่น ด้านการส่งออกนั้น ซาอุดีอาระเบียส่งออกเป็นมูลค่า 336,942.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักราว 80% เป็นน้ำมันดิบ/ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

            ด้านการค้าอัญมณีและเครื่องประดับพบว่า ซาอุดีอาระเบียส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นมูลค่า 1,324.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลักเป็นทองคำและเครื่องประดับทอง โดยส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นตลาดอันดับที่ 22 หรือมีมูลค่า 9,267 ดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลักมายังไทยเป็นเครื่องประดับทอง รองลงมาเป็นเครื่องประดับเทียม และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน

            ส่วนการนำเข้านั้น ซาอุดีอาระเบียนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วยมูลค่า 2,550.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้านำเข้าหลักเป็นเครื่องประดับทอง ทองคำ และเครื่องประดับเทียม แหล่งนำเข้าหลักคือ สวิตเซอร์แลนด์ สหราช-อาณาจักร สหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย ตามลำดับ ในขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 8 หรือมีมูลค่านำเข้า 20.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้านำเข้าหลักจากไทยส่วนใหญ่ราว 90% เป็นเครื่องประดับทอง

กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าของซาอุดีอาระเบีย

            การนําเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของซาอุดีอาระเบียนั้น ผู้นําเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 0-5% โดยประเทศสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation) ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และคูเวต รวมถึงประเทศในกลุ่มเขตการค้าเสรีอาหรับ และประเทศสมาชิกในกลุ่ม The Greater Arab Free Trade Area Agreement (GAFTA) อีก 16 ประเทศ ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียยังเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 15%

            สำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ส่งออกไปยังซาอุดีอาระเบียนั้น จะต้องมีใบรับรองมาตรฐาน CoC (Certificate of Conformity) ของสำนักงานมาตรฐานสินค้า SASO (Saudi Arabian Standard Organization) โดยผู้ประกอบการไทยสามารถติดต่อขอใบรับรอง CoC จากบริษัทตรวจสอบสินค้า/ห้องปฏิบัติการเอกชน เช่น Intertek, SGS เป็นต้น ซึ่งจะทำการตรวจสอบและทดสอบว่าสินค้าได้มาตรฐานตรงตามที่ SASO กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าผ่านมาตรฐาน ก็จะออกหนังสือรับรอง CoC ให้ผู้ประกอบการไปยื่นประกอบการส่งออก รวมถึงเอกสารส่งออกปกติด้วย ได้แก่ ใบกำกับสินค้า หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ใบขนส่งสินค้า หนังสือรับรองจากบริษัทเดินเรือและสายการบิน กรมธรรม์ประกันภัย และบัญชีหีบห่อสินค้า

ที่มาภาพ: https://reverteplastics.com

ทั้งนี้ เครื่องประดับทองที่ส่งออกไปยังซาอุดีอาระเบียจะต้องมีค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทองตั้งแต่ 18 กะรัตขึ้นไป ส่วนเครื่องประดับเงินจะต้องมีปริมาณเนื้อเงินอย่างน้อย 92.5% และจะต้องตีตราประทับค่าบริสุทธิ์ให้ถูกต้อง 

โอกาสอัญมณีและเครื่องประดับไทยในซาอุดีอาระเบีย

            ซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง เนื่องจากมีประชากรมากถึง 35 ล้านคน และประชากรมีกำลังซื้อสูง จึงมีศักยภาพในการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสจากผู้คนที่เดินทางเข้าไปแสวงบุญในนครมักกะห์หลายล้านคนในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เงินสะพัดที่สุดในรอบปี แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะมีวัตถุดิบอัญมณีและทองคำ รวมถึงผลิตเครื่องประดับได้เองในประเทศ หากแต่ปริมาณที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ประกอบกับคนรุ่นใหม่หันมานิยมเครื่องประดับรูปแบบทันสมัยแนวตะวันตกมากขึ้น จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียก็นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับมากกว่าส่งออกกว่าเท่าตัว แต่นำเข้าจากไทยในสัดส่วนไม่ถึง 1% ดังนั้น การฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเปิดรับสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น และจะเป็นโอกาสของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติให้เข้าสู่ตลาดศักยภาพอย่างซาอุดีอาระเบียได้มากขึ้น


ที่มาภาพ: https://lifeinsaudiarabia.net

            อย่างไรก็ดี การผลิตสินค้าจำหน่ายในตลาดนี้ ควรจะต้องศึกษารูปแบบสินค้าที่ไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม อาทิ เครื่องประดับต้องไม่มีสัญลักษณ์ที่เป็นรูปคน รูปสัตว์ ไม้กางเขนหรือรูปบูชาของศาสนาอื่นๆ เป็นต้น และศึกษาแนวทางการรับรองมาตรฐานสินค้าตาม SASO ส่วนการเข้าตลาดนั้น เนื่องจากความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุดีอาระเบียห่างกันไปนานหลายทศวรรษ หน่วยงานภาครัฐจึงต้องเป็นผู้เริ่มต้นในการหาคู่ค้าและจัดให้มีการจับคู่ธุรกิจระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการสนับสนุนข้อมูลสำคัญสำหรับการทำธุรกิจค้าขายในซาอุดีอาระเบีย และหาช่องทางให้นำสินค้าเข้าไปจำหน่ายได้ ซึ่งอาจเป็นรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าให้ผู้ประกอบการได้พบปะกันผ่านช่องทางต่างๆ ก็น่าจะช่วยให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเข้าไปในตลาดซาอุดีอาระเบียได้ง่ายและเร็วมากขึ้น 


ข้อมูลอ้างอิง


1) กรุงเทพธุรกิจ. 2565. สนค. ชี้ตลาดซาอุฯ โอกาสฟื้นฟูการค้า เปิดประตูสู่ตะวันออกกลาง. [ออนไลน์]. https://www.bangkokbiznews.com/business/986841. (สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565)
2) Thai PBS. 2565. นักวิชาการย้อนรอย ไทย-ซาอุดีอาระเบีย : จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”. [ออนไลน์]. https://news.thaipbs.or.th/content/311925. (สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565)
3) Wafy Networks for IT LLC. 2021. Gemstones and their locations in Saudi Arabia. [Online]. Available at: https://www.wafyapp.com/en/article/gemstones-and-their-locations-in-saudi-arabia. (Retrieved February 15, 2022).
4) Arab News.2022. Saudi Arabia’s largest gold mine to begin operations Q1 2022 - Ma'aden CEO. [Online]. Available at: https://www.arabnews.com/node/1957626/business-economy. (Retrieved February 15, 2022).
5) The New Jeweller UAE. JEWELS FROM SAUDI ARABIA Making a mark in the International Markets. [Online]. Available at: http://www.thenewjewelleruae.me/Top_Stories/Saudi_Arabia.html. (Retrieved February 18, 2022).
6) GulfInsider. 2021. Saudisation: Jobs in gold shops to be localised in 2022. [Online]. Available at: https://www.gulf-insider.com/saudisation-jobs-in-gold-shops-to-be-localised-in-2022/. (Retrieved February 18, 2022).
7) SGS Thailand. 2022. [Online]. Available at: https://www.sgs.co.th/. (Retrieved February 21, 2022).

เอกสารแนบ


ความคิดเห็น


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

ฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ โอกาสอัญมณีและเครื่องประดับไทย

Mar 4, 2022
3562 views
2 shares

            เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (Mohammad Bin Salman Abdulaziz Al Saud) มกุฏราชกุมารซาอุดีอาระเบีย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตให้กลับสู่ภาวะปกติ หลังความสัมพันธ์ห่างเหินกันมานานกว่า 32 ปี ซึ่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ จะสร้างโอกาสให้กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้

ซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน

            ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียมีประชากรเกือบ 35 ล้านคน เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคตะวันออกกลางรองจากตุรกี จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประชากรมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 46,700 ดอลลาร์สหรัฐ โดยรายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมันดิบ ซึ่งซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก และมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองเป็นอันดับสองของโลกรองจากเวเนซุเอลา หรือมีปริมาณน้ำมันดิบ 266,500 ล้านบาร์เรล

            ทั้งนี้ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานได้ประกาศ “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030)” เมื่อปี 2016 ซึ่งมีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างรายได้เข้าประเทศโดยลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว และเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอื่นๆ จากระดับ 16% เป็น 50% ของการส่งออกโดยรวม ทำให้เอกชนมีบทบาททางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 65% ของ GDP ลดอัตราการว่างงาน (ปัจจุบันต้องการลดอัตราการว่างงานจากระดับ 12% ไปอยู่ที่ระดับ 7%) และเปิดกว้างด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งซาอุดีอาระเบียต้องการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ภายในปี 2030 เพื่อให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

แหล่งทรัพยากรอัญมณีและโลหะมีค่า

            ซาอุดีอาระเบียมีประวัติการทำเหมืองทองมาเป็นเวลาหลายพันปี และมีแหล่งผลิตทองคำในประเทศหลายแห่ง ซึ่งในปี 2021 ซาอุดีอาระเบียผลิตทองคำได้ประมาณ 400,000 ออนซ์จากเหมือง 5 แห่งที่พัฒนาขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่ามีปริมาณทองคำใต้ดินอยู่ราว 323.7 ตัน และ Al-Mudaifer รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรแร่ (Ministry of Industry and Mineral Resources) ได้เผยผลการศึกษาปริมาณสำรองแร่ฟอสเฟต ทองคำ ทองแดง ซิงค์ นิกเกิล และแร่หายากอื่นๆ ในประเทศ ว่ามีมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ


แซปไฟร์ในซาอุดีอาระเบีย

ที่มาภาพ: www.wafyapp.com


            นอกจากนี้ ยังสามารถพบอัญมณีในพื้นที่ Harrat Al-Hurra ทางตอนใต้ของเมือง Sakaka ซึ่งอัญมณีที่พบ ได้แก่ มูนสโตน แซปไฟร์ เบริล แอมะซอไนต์ ควอตซ์ เพอริโด และการ์เน็ต อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตทองคำและอัญมณีไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ  

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับซาอุดีอาระเบีย

            ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องประดับรายใหญ่ในตะวันออกกลาง โดยมีผู้ผลิตเครื่องประดับทองหลายร้อยราย มีร้านจำหน่ายเครื่องประดับทองทั่วประเทศอยู่ราว 6,000 แห่ง มีแรงงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับประมาณ 30,000 คน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ เนื่องจากคนรุ่นใหม่หรือลูกหลานของช่างทองไม่สนใจทำอาชีพนี้ เพราะไม่มีความอดทนที่จะนั่งทำงานผลิตเครื่องประดับเป็นเวลานานได้ อีกทั้งยังมีข้อบังคับให้แรงงานในอุตสาหกรรมจะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย


ที่มาภาพ: https://independentpress.cc

            ส่วนด้านการบริโภค ซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับทองและเพชรรายใหญ่ของโลก เครื่องประดับทองที่จำหน่ายในซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่มีค่าความบริสุทธิ์ 18 และ 22 กะรัต โดยผู้ชายชาวซาอุดีอาระเบียมักจะให้เครื่องประดับทองเป็นสินสอดทองหมั้นแก่คู่หมั้น และยังคงเป็นของขวัญที่ผู้หญิงซาอุดีอาระเบียชื่นชอบแม้หลังจากแต่งงาน โดยนิยมมอบให้เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันเกิด การฉลองการตั้งครรภ์ และวันครบรอบแต่งงาน

            จากข้อมูลของ World Gold Council พบว่า ในปี 2021 ซาอุดีอาระเบียมีความต้องการบริโภคเครื่องประดับทองเป็นอันดับสองในภูมิภาคตะวันออกกลางรองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับราว 35% ของตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งในปีที่ผ่านมาชาวซาอุดีอาระเบียต้องการบริโภคเครื่องประดับทองราว 33.3 ตัน เพิ่มขึ้น 47% เมื่อเทียบกับปี 2020 ทั้งนี้ Research and Market บริษัทวิจัยตลาดได้ประมาณการว่าในปี 2022 ตลาดเครื่องประดับเพชรและทองของซาอุดีอาระเบียจะมีมูลค่าราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การค้าระหว่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย

            จากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่า ในปี 2021 ซาอุดีอาระเบียนำเข้าสินค้าด้วยมูลค่า 202,103.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็น รถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักรและปัจจัยการผลิตต่างๆ ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องบินร่อนและเครื่องร่อน โดยตลาดนำเข้าหลักได้แก่ จีน สหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี และญี่ปุ่น ด้านการส่งออกนั้น ซาอุดีอาระเบียส่งออกเป็นมูลค่า 336,942.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักราว 80% เป็นน้ำมันดิบ/ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

            ด้านการค้าอัญมณีและเครื่องประดับพบว่า ซาอุดีอาระเบียส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นมูลค่า 1,324.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลักเป็นทองคำและเครื่องประดับทอง โดยส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นตลาดอันดับที่ 22 หรือมีมูลค่า 9,267 ดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลักมายังไทยเป็นเครื่องประดับทอง รองลงมาเป็นเครื่องประดับเทียม และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน

            ส่วนการนำเข้านั้น ซาอุดีอาระเบียนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วยมูลค่า 2,550.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้านำเข้าหลักเป็นเครื่องประดับทอง ทองคำ และเครื่องประดับเทียม แหล่งนำเข้าหลักคือ สวิตเซอร์แลนด์ สหราช-อาณาจักร สหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย ตามลำดับ ในขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 8 หรือมีมูลค่านำเข้า 20.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้านำเข้าหลักจากไทยส่วนใหญ่ราว 90% เป็นเครื่องประดับทอง

กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าของซาอุดีอาระเบีย

            การนําเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของซาอุดีอาระเบียนั้น ผู้นําเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 0-5% โดยประเทศสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation) ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และคูเวต รวมถึงประเทศในกลุ่มเขตการค้าเสรีอาหรับ และประเทศสมาชิกในกลุ่ม The Greater Arab Free Trade Area Agreement (GAFTA) อีก 16 ประเทศ ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียยังเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 15%

            สำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ส่งออกไปยังซาอุดีอาระเบียนั้น จะต้องมีใบรับรองมาตรฐาน CoC (Certificate of Conformity) ของสำนักงานมาตรฐานสินค้า SASO (Saudi Arabian Standard Organization) โดยผู้ประกอบการไทยสามารถติดต่อขอใบรับรอง CoC จากบริษัทตรวจสอบสินค้า/ห้องปฏิบัติการเอกชน เช่น Intertek, SGS เป็นต้น ซึ่งจะทำการตรวจสอบและทดสอบว่าสินค้าได้มาตรฐานตรงตามที่ SASO กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าผ่านมาตรฐาน ก็จะออกหนังสือรับรอง CoC ให้ผู้ประกอบการไปยื่นประกอบการส่งออก รวมถึงเอกสารส่งออกปกติด้วย ได้แก่ ใบกำกับสินค้า หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ใบขนส่งสินค้า หนังสือรับรองจากบริษัทเดินเรือและสายการบิน กรมธรรม์ประกันภัย และบัญชีหีบห่อสินค้า

ที่มาภาพ: https://reverteplastics.com

ทั้งนี้ เครื่องประดับทองที่ส่งออกไปยังซาอุดีอาระเบียจะต้องมีค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทองตั้งแต่ 18 กะรัตขึ้นไป ส่วนเครื่องประดับเงินจะต้องมีปริมาณเนื้อเงินอย่างน้อย 92.5% และจะต้องตีตราประทับค่าบริสุทธิ์ให้ถูกต้อง 

โอกาสอัญมณีและเครื่องประดับไทยในซาอุดีอาระเบีย

            ซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง เนื่องจากมีประชากรมากถึง 35 ล้านคน และประชากรมีกำลังซื้อสูง จึงมีศักยภาพในการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสจากผู้คนที่เดินทางเข้าไปแสวงบุญในนครมักกะห์หลายล้านคนในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เงินสะพัดที่สุดในรอบปี แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะมีวัตถุดิบอัญมณีและทองคำ รวมถึงผลิตเครื่องประดับได้เองในประเทศ หากแต่ปริมาณที่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ประกอบกับคนรุ่นใหม่หันมานิยมเครื่องประดับรูปแบบทันสมัยแนวตะวันตกมากขึ้น จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียก็นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับมากกว่าส่งออกกว่าเท่าตัว แต่นำเข้าจากไทยในสัดส่วนไม่ถึง 1% ดังนั้น การฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเปิดรับสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น และจะเป็นโอกาสของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติให้เข้าสู่ตลาดศักยภาพอย่างซาอุดีอาระเบียได้มากขึ้น


ที่มาภาพ: https://lifeinsaudiarabia.net

            อย่างไรก็ดี การผลิตสินค้าจำหน่ายในตลาดนี้ ควรจะต้องศึกษารูปแบบสินค้าที่ไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม อาทิ เครื่องประดับต้องไม่มีสัญลักษณ์ที่เป็นรูปคน รูปสัตว์ ไม้กางเขนหรือรูปบูชาของศาสนาอื่นๆ เป็นต้น และศึกษาแนวทางการรับรองมาตรฐานสินค้าตาม SASO ส่วนการเข้าตลาดนั้น เนื่องจากความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุดีอาระเบียห่างกันไปนานหลายทศวรรษ หน่วยงานภาครัฐจึงต้องเป็นผู้เริ่มต้นในการหาคู่ค้าและจัดให้มีการจับคู่ธุรกิจระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการสนับสนุนข้อมูลสำคัญสำหรับการทำธุรกิจค้าขายในซาอุดีอาระเบีย และหาช่องทางให้นำสินค้าเข้าไปจำหน่ายได้ ซึ่งอาจเป็นรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าให้ผู้ประกอบการได้พบปะกันผ่านช่องทางต่างๆ ก็น่าจะช่วยให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเข้าไปในตลาดซาอุดีอาระเบียได้ง่ายและเร็วมากขึ้น 


ข้อมูลอ้างอิง


1) กรุงเทพธุรกิจ. 2565. สนค. ชี้ตลาดซาอุฯ โอกาสฟื้นฟูการค้า เปิดประตูสู่ตะวันออกกลาง. [ออนไลน์]. https://www.bangkokbiznews.com/business/986841. (สืบค้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565)
2) Thai PBS. 2565. นักวิชาการย้อนรอย ไทย-ซาอุดีอาระเบีย : จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”. [ออนไลน์]. https://news.thaipbs.or.th/content/311925. (สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565)
3) Wafy Networks for IT LLC. 2021. Gemstones and their locations in Saudi Arabia. [Online]. Available at: https://www.wafyapp.com/en/article/gemstones-and-their-locations-in-saudi-arabia. (Retrieved February 15, 2022).
4) Arab News.2022. Saudi Arabia’s largest gold mine to begin operations Q1 2022 - Ma'aden CEO. [Online]. Available at: https://www.arabnews.com/node/1957626/business-economy. (Retrieved February 15, 2022).
5) The New Jeweller UAE. JEWELS FROM SAUDI ARABIA Making a mark in the International Markets. [Online]. Available at: http://www.thenewjewelleruae.me/Top_Stories/Saudi_Arabia.html. (Retrieved February 18, 2022).
6) GulfInsider. 2021. Saudisation: Jobs in gold shops to be localised in 2022. [Online]. Available at: https://www.gulf-insider.com/saudisation-jobs-in-gold-shops-to-be-localised-in-2022/. (Retrieved February 18, 2022).
7) SGS Thailand. 2022. [Online]. Available at: https://www.sgs.co.th/. (Retrieved February 21, 2022).

เอกสารแนบ

เราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้   ตั้งค่า ยอมรับ

×
140 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 4 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
โทรศัพท์: 0 2634 4999 ต่อ 444
โทรสาร: 0 2634 4970
external-site