จีนเผชิญความท้าทายและเปิดรับโอกาสในธุรกิจเครื่องประดับ
ร้านค้าปลีกแบรนด์ Shining House
ธุรกิจเครื่องประดับของจีนกำลังฟื้นตัวในภาพรวม แต่ปัจจัยบ่งชี้สำคัญแสดงให้เห็นว่าผู้ค้าปลีกและค้าส่งเครื่องประดับยังคงเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องในแง่ผลประกอบการและผลกำไร
ปี 2022 นับเป็นปีที่ยากลำบากเป็นพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องประดับจีน การระบาดของโควิดในหลายเมือง บวกกับการล็อคดาวน์เต็มรูปแบบภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวดของทางการจีนนั้น ส่งผลอย่างหนักต่อตลาดเครื่องประดับและศูนย์กลางการผลิต เช่น เซินเจิ้น กว่างโจว เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง
ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ยอดขายเครื่องประดับจากการสุ่มตัวอย่างหลักในกลุ่มผู้ขายเครื่องประดับที่มียอดขายต่อปีตั้งแต่ 5 ล้านหยวน (ประมาณ 759,000 เหรียญสหรัฐ) ขึ้นไปนั้น ลดลงร้อยละ 1.3 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 แต่ยอดขายก็เติบโตขึ้นร้อยละ 2.2 ในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2022 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 แสดงให้เห็นการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ยอดขายเครื่องประดับในช่วงเทศกาลเดือนธันวาคมที่ผ่านมากลับลดลงถึงร้อยละ 18.4 ต่อเนื่องจากเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2022 ที่ลดลงร้อยละ 2.7 และ 7 ตามลำดับ ยอดขายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 จึงฉุดให้ทั้งปี 2022 จีนมียอดขายเครื่องประดับลดลงร้อยละ 6 เหลือเพียงราว 44,420 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเครื่องประดับทองล้วนยังคงได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน เช่นเดียวกับเครื่องประดับไข่มุก ผู้ประกอบการอิสระรายย่อยต้องเผชิญความท้าทายสูง ในขณะที่ร้านค้าเครือข่ายหลายแห่งก็ได้รับกำไรในอัตราที่ต่ำลง
เสน่ห์ดึงดูดของเพชร
เครื่องประดับเพชรสร้างยอดขาย 15,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 13.9 ของยอดค้าปลีกเครื่องประดับโดยรวมของจีนในปี 2021 อีกทั้งยังเป็นภาคธุรกิจเครื่องประดับที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากเครื่องประดับทองเกลี้ยง ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 58.3 ของยอดขายทั้งหมด
ตลาดเครื่องประดับเพชรของจีนกำลังรับแรงกดดันอย่างหนักเมื่อเทียบกับปี 2020 และ 2021 โดยสาเหตุหลักมาจากการที่ตลาดผู้บริโภคมีความท้าทายเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากการชะลอตัวในธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับเพชร
Winny Chun ประธานของ Shining House ผู้ค้าปลีกเครื่องประดับเพชรในจีน มองว่าผลประกอบการที่ไม่ดีนักเกิดจากการที่ตลาดยังคงกังวลในประเด็นสาธารณสุขและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ผู้ซื้อชาวจีนเลือกใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้นและเก็บออมเงินเพิ่มขึ้นพอสมควรในช่วงครึ่งแรกของปี 2022
แบรนด์ Shining House
“เพชรขนาดใหญ่มียอดค้าปลีกลดต่ำลงเนื่องจากลูกค้าและนักสะสมฐานะร่ำรวยได้ลดงบประมาณลง ยอดขายสินค้ากระแสหลักในกลุ่มเครื่องประดับแต่งงานซึ่งเป็นเพชรขนาด 0.50 ถึง 2 กะรัตก็ลดลงเช่นกัน” Chun กล่าว
ในยุคของชีวิตวิถีใหม่ Shining House ซึ่งดำเนินกิจการร้านค้าราว 500 แห่งในจีน มีจุดมุ่งหมายที่จะกระตุ้นธุรกิจผ่านการประสานรวมกิจการและระบบการขายหลายช่องทาง ผู้ค้าปลีกรายนี้ขยายอิทธิพลของแบรนด์ ด้วยกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ที่หลากหลาย รวมถึงการทำงานกับแอมบาสซาเดอร์รายใหม่ๆ โดยรายหนึ่งเป็นตัวแทนของแบรนด์ ขณะที่อีกรายหนึ่งนำเสนอเพชรจดสิทธิบัตรของทางบริษัท
ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ทางบริษัทได้เปิดตัวแคมเปญประชาสัมพันธ์แบบหลายช่องทาง โดยมีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ช่องทางการสื่อสารของตนเอง นอกจากนี้ทางแบรนด์ยังได้พัฒนาช่องทางใหม่ๆ รวมถึงโครงการทางการตลาดร่วมกับแบรนด์ระดับสูงอย่าง Diamond House x DIOR, Lancôme และ Rolex อีกทั้งยังร่วมงานกับกิจการขนาดใหญ่และขนาดกลาง เช่น บริษัทเทคโนโลยี Vivo และ Industrial and Commercial Bank of China Ltd ในโครงการ “ร้านป๊อปอัพ” ร้านป๊อปอัพเป็นร้านค้าแบบชั่วคราวซึ่งสามารถประกอบและรื้อออกได้อย่างรวดเร็ว โดยมักตั้งอยู่ในบริเวณที่มีผู้คนพลุกพล่านในศูนย์การค้าหรือภายในร้านขนาดใหญ่
การค้าเพชร
Huang Weiming ประธานของ Zuan Ming Diamond กล่าวว่า ผู้ค้าเพชรส่วนมากพบว่ายอดค้าส่งและอัตรากำไรลดลงมากในปี 2022 เมื่อเทียบกับสองปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ Zuan Ming Diamond เป็นผู้นำเข้าเพชรที่ติดกลุ่มห้าอันดับแรกในจีนตามการจัดอันดับโดย Shanghai Diamond Exchange (SDE) เมื่อปี 2021
ข้อมูลจาก SDE แสดงให้เห็นว่าการนำเข้าเพชรเจียระไนจากเดือนมกราคมถึงกันยายน 2022 มาอยู่ที่ 1,588 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 31.4 จากช่วงเดียวกันเมื่อปี 2021 การชะลอตัวเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกเป็นหลัก ขณะที่ในเดือนมิถุนายน 2022 นั้นการนำเข้าเพชรอยู่ที่ 441 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากปี 2021 ขณะที่การนำเข้าในไตรมาสที่สามของปี 2022 อยู่ในระดับคงตัว
ตามข้อมูลจาก Huang การนำเข้าและการค้าส่งเพชรของจีนเชื่อมโยงกับตลาดเพชรโลกอย่างใกล้ชิด ราคาเพชรพุ่งสูงขึ้นในปี 2020 และ 2021 ช่วยให้ผู้ค้ามีความมั่นใจในการเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลัง และต่อมาผู้ค้าก็ได้รับประโยชน์จากราคาที่พุ่งสูงขึ้น แต่สถานการณ์กลับเปลี่ยนแปลงไปในปี 2022
“ในปี 2022 ตลาดค้าส่งได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์และยอดขายเครื่องประดับแต่งงานที่ลดลง และยิ่งถูกซ้ำเติมหนักเมื่อการนำเข้าและการค้าส่งเพชรต้องหยุดชะงักในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2022” Huang อธิบาย “ราคาเพชรเจียระไนที่ลดต่ำลง การผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการที่เพชรเจียระไนจากต่างประเทศมีปริมาณลดลง ล้วนส่งผลทำให้สินค้าคงคลังของผู้ค้าลดลงด้วย”
ตลาดเพชรที่ผ่านการรับรองคุณภาพยังคงเน้นเพชรขนาด 0.50 ถึง 1.99 กะรัต สี F-I และระดับความใส VS-SI นอกจากนี้ยังพบว่าเพชรขนาด 2 ถึง 5 กะรัตซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 6 ของมูลค่ายอดขายทั้งหมด ก็มีปริมาณการค้าส่งเพิ่มขึ้น
แบรนด์ Shining House
Zuan Ming Diamond ทำงานกับธนาคารเพื่อให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่แก่ลูกค้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อช่วยส่งเสริมการนำเข้าเพชรและพลอยสีผ่านแพลตฟอร์มของทางบริษัท
Huang เผยว่า บริการนี้แตกต่างจากบริการทางการเงินทั่วไปตรงที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ประกันจึงไม่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วม บริษัทได้อาศัยกระบวนการที่เข้มงวด การประเมินอย่างละเอียดถี่ถ้วน และการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรเทาความเสี่ยงเป็นการทดแทน ซึ่งบริการทางการเงินรูปแบบใหม่นี้ช่วยให้เรารักษามูลค่ายอดขายรวมและผลกำไรในปีนี้เอาไว้ได้ ในขณะที่ผู้ค้ารายอื่นมีผลประกอบการลดต่ำลงมาก
โอกาสในตลาดจีน
ภาคส่วนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก็แสดงให้เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวหลังช่วงล็อคดาวน์
ราคาทับทิม แซปไฟร์ และมรกต หรือที่เรียกว่า “บิ๊กทรี” ในแวดวงการค้าอัญมณี เติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2022 โดยทับทิมมีราคาเพิ่มสูงขึ้นถึงราวๆ ร้อยละ 30 แซปไฟร์คุณภาพสูงก็มีราคาเพิ่มสูงขึ้นในจีนเช่นกัน เนื่องจากมีปริมาณอุปทานจำกัดอันเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในศรีลังกา
“ธุรกิจเครื่องประดับในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ถึงร้อยละ 50 ของตลาดเครื่องประดับพลอยสีระดับสูง ได้ประสบปัญหาหยุดชะงักในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2022” Lin Xifeng ประธานหอการค้าพลอยสีและเครื่องประดับของกวางตุ้งกล่าว
เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงแล้ว ตลาดระดับสูงยังคงแทบไม่ได้รับผลใดๆ ขณะที่ตลาดระดับกลางและระดับล่างหดตัวลงตามความเชื่อมั่นที่ลดลงของผู้บริโภค Lin เสริมว่าร้านค้าแบบดั้งเดิม ช่องทางการขายผ่าน WeChat และอีคอมเมิร์ซ ก็มียอดขายลดต่ำลงเช่นกัน
ยอดค้าปลีกเครื่องประดับพลอยสีอยู่ที่ 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปี 2021 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.4 ของยอดขายเครื่องประดับทั้งหมดในปี 2021 นับเป็นภาคธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้ารองจากเครื่องประดับทองเกลี้ยง เครื่องประดับเพชร เครื่องประดับหยก และเครื่องประดับเนไฟรต์
แบรนด์ Caibai Jewelry
Lin กล่าวว่าจีนยังคงมีศักยภาพในการเติบโตเนื่องจากเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหม่สำหรับพลอยสี อย่างไรก็ดี แนวโน้มในปี 2023 ยังคงพบอุปสรรคจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศ
ธุรกิจไข่มุกเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีแนวโน้มสดใสในแวดวงเครื่องประดับจีน ยอดขายเครื่องประดับไข่มุกอยู่ที่ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของยอดค้าปลีกเครื่องประดับทั้งหมดในปี 2021 ในการประชุมไข่มุกโลกเมื่อปี 2022 นายกเทศมนตรีเมืองซูจี (Zhuji) เมืองหลวงแห่งไข่มุกของจีน กล่าวว่าอุตสาหกรรมไข่มุกในซูจีมีมูลค่ารวม 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021
ตามข้อมูลจาก Tu Xingcai ประธานของ Shenzhen Pearl Trade Association อุตสาหกรรมไข่มุกทั้งค้าปลีกและค้าส่งเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2022 “ผู้บริโภคหนุ่มสาวหันมาซื้อไข่มุกในศูนย์การค้ามากขึ้นเรื่อยๆ และมีการขายไข่มุกผ่านทางไลฟ์สตรีมมากขึ้นด้วยเช่นกัน” Tu ระบุ “แสดงให้เห็นว่าเมื่อเทียบกับเครื่องประดับหมวดอื่นๆ ไข่มุกเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการซื้อให้ตัวเองและการประดับตกแต่งร่างกาย และผู้บริโภคก็มักจะซื้อเพื่อนำมาใส่ในชีวิตประจำวัน”
ในขณะเดียวกัน ผู้ค้าปลีกไข่มุกก็นำรูปแบบธุรกิจทางออนไลน์และออฟไลน์มาใช้งานประสานกันมากขึ้น เช่น ผู้ขายนำผลิตภัณฑ์ใหม่มาเปิดตัวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง WeChat Moments, Xiaohongshu หรือ The Little Red Book ตลอดจนช่องทางอีคอมเมิร์ซอื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าไปชมสินค้าได้ด้วยตัวเอง รวมถึงทำธุรกรรมซื้อขายผ่านทางออนไลน์
ตัวอย่างเช่น ตามข้อมูลจากรายงานของ TikTok ไข่มุกน้ำจืดและไข่มุกน้ำเค็มมีส่วนแบ่งตลาดบน TikTok ที่ร้อยละ 72 และร้อยละ 28 ตามลำดับ โดยยอดขายส่วนใหญ่มาจากสร้อยคอและต่างหูไข่มุกน้ำจืด รวมถึงต่างหูไข่มุกน้ำเค็ม
แบรนด์ Shenzhen Matis Jewelry
Tu เผยว่าการประมูลไข่มุกส่วนใหญ่ในธุรกิจค้าส่งของจีนในช่วงปี 2020-2021 ถูกเลื่อนการจัดงานออกไป และผู้ค้าไข่มุกก็ไม่สามารถพึ่งเครื่องมือทางดิจิทัลเพื่อดึงดูดผู้ซื้อได้เนื่องจากไข่มุกเป็นสินค้าที่ต้องอาศัยการตรวจสอบผ่านการดูด้วยตนเอง แพลตฟอร์มของ The Shenzhen Bonded Jewellery and Jade Service ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 2020 เพื่อเป็นช่องทางในการค้าไข่มุกที่มีประสิทธิภาพ สะดวก และถูกต้องตามกฎหมายสำหรับการซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ในปัจจุบันมีการจัดงานเลือกชมผลิตภัณฑ์ผ่านทางแพลตฟอร์มประมาณสองครั้งต่อเดือน
Tu กล่าวว่าทางสมาคม Shenzhen Pearl Industry Association คอยติดตามความเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มในตลาดไข่มุกอย่างใกล้ชิด โดยได้รวบรวมข้อมูลภายในอุตสาหกรรมและข้อมูลของสมาชิกอยู่เป็นประจำ อีกทั้งทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน นอกจากนี้ทางสมาคมยังรับผิดชอบด้านการกำกับดูแลไลฟ์สตรีม การขายทางออฟไลน์ การค้าส่ง งานแสดงสินค้า กิจกรรมการชมสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์ม งานประมูล และการจัดอบรมต่างๆ โดยทั้งหมดล้วนมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไข่มุกของจีนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ตลาดเครื่องประดับจีนในหลายภาคส่วนถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่ยังเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพชรและพลอยสี ยอดค้าปลีกเครื่องประดับในจีนเมื่อปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปี 2020 ขณะที่การนำเข้าเพชรเจียระไนในปี 2021 เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากปี 2020 จนทำสถิติสูงสุดที่เกือบ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ยอดค้าปลีกในปี 2021 จึงเป็นฐานมูลค่าที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2022 ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าเป็น “ปีที่ยุ่งยากซับซ้อน” ผู้ค้าปลีกและผู้ค้าส่งหลายรายพยายามตรึงสถานการณ์ให้กิจการเดินหน้าต่อไปได้ในปี 2022 และคาดการณ์ว่าแนวโน้มในปี 2023 จะยังทรงตัวหรือมีความหวังมากขึ้นแต่ก็ยังคงต้องระมัดระวัง
รายรับและกำไรของบริษัทจดทะเบียนด้านเครื่องประดับในจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2022
หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ
ที่มา: รายงานทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตาราง
ข้อมูลอ้างอิง