ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

ชี้ช่องเจาะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับตะวันออกกลาง (ตอนที่ 1)

May 24, 2023
1793 views
2 shares

       ตะวันออกกลางเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) อันประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย ประเทศเหล่านี้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่เองไม่ได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากต้องการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วยังต้องการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับอีกด้วย จึงเป็นตลาดที่มีโอกาสดีสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

        สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี เป็นประเทศดาวเด่นที่ต้องนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ของตะวันออกกลาง โดยยูเออีเป็นประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตดี ประชาชนมีกำลังซื้อสูงมาก และยังเป็นประตูสู่ตะวันออกกลาง หากใครเจาะตลาดนี้ได้จะทำให้สินค้ากระจายต่อไปยังอีก 5 ประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับได้อีกด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูลของ World Economics พบว่าในปี 2022 ยูเออี มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ราว 810,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการขยายตัวราว 6% เมื่อเทียบกับปี 2021 และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 80,352 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 6 ของโลก

        ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในยูเออี

        ยูเออีเป็นตลาดสินค้าหรูที่เติบโตมากที่สุดในภูมิภาค และบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แม้ว่าจะสามารถผลิตเครื่องประดับได้เองในประเทศ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จากสถิติ Global Trade Atlas พบว่า ในปี 2022 ยูเออีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับราว 38,793.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแหล่งนำเข้าหลักใน 5 อันดับแรกคือ สหราชอาณาจักร อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม และฮ่องกง ตามลำดับ สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ทองคำ เพชรก้อน เพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และอัญมณีสังเคราะห์ ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 21 โดยส่วนมากเป็นการนำเข้าเครื่องประดับทองและเพชรเจียระไน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันราว 81% ที่เหลือเป็นการนำเข้าพลอยสีทั้งพลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน

Dubai Gold Souk ภาพ: www.timeoutdubai.com

         สำหรับแหล่งค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญของยูเออีตั้งอยู่ในรัฐดูไบ รัฐที่มีชื่อเสียงด้านการค้าทองคำและเครื่องประดับทองมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนได้รับสมญานามว่า “City of Gold” ซึ่งมีตลาดค้าทองดั้งเดิมอย่าง Dubai Gold Souk หรือเรียกว่า Deira Gold Souk ถือว่าเป็นตลาดค้าทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่นิยมของชาวอาหรับและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะเป็นตลาดซื้อขายทองคำปลอดภาษี จึงมีราคาถูกกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ดูไบยังเป็นศูนย์กลางค้าเพชรที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกและได้ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางค้าเพชรก้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

        

ครื่องประดับทองใน Deira Gold Souk ภาพ:www.travelvui.com

         ทั้งนี้ ชาวยูเออีนิยมบริโภคทองคำและเครื่องประดับทองมากที่สุด โดยเครื่องประดับทองทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ก็สามารถขายได้ดีในตลาดนี้ เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมและประเพณีการสวมใส่เครื่องประดับที่สืบต่อกันมา เป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคม การให้เป็นของขวัญในเทศกาลสำคัญ อย่างพิธีแต่งงาน หรือวันสำคัญทางศาสนา เช่น เทศกาลฉลองหลังวันถือศีลอด (Eid AI Fitr) เป็นต้น และเป็นมรดกตกทอดไปสู่รุ่นลูกหลาน รวมถึงเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยทองคำแท่งที่ได้รับความนิยมในตลาดนี้จะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม 500 กรัม 250 กรัม และ 116.6 กรัม ส่วนเครื่องประดับทองที่ชาวยูเออีนิยมมีค่าความบริสุทธิ์ 18, 21 และ 22 กะรัต จากข้อมูลของ World Gold Council พบว่าในปี 2022 ผู้บริโภคชาวยูเออีซื้อเครื่องประดับทองเกือบ 50 ตัน เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปี 2021 นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

         สำหรับรูปแบบเครื่องประดับทองที่กำลังเป็นที่นิยมหลังจากโควิดคลี่คลายจะเป็นการออกแบบเฉพาะบุคคลที่ผลิตเป็นพิเศษ และมีชิ้นเดียว โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ชื่นชอบเครื่องประดับที่เรียบง่าย ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ราคาที่เข้าถึงได้ และใส่ได้ในทุกโอกาส นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มหันมาซื้อเครื่องประดับที่ทำจากโลหะมีค่าอื่นๆ มากขึ้น ได้แก่ แพลทินัม เงิน โรสโกลด์ และทองขาว รวมถึงความต้องการเครื่องประดับเพชรตกแต่งด้วยมรกต ทับทิม และไพลิน ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยูเออียังให้ความสำคัญกับการบริโภคทองคำที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

แบรนด์ Maveroc ภาพ: https://maveroc.com

        ชาวยูเออีมีกำลังซื้อสูงชื่นชอบสินค้าคุณภาพสูง แบรนด์เนม ขณะที่ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในยูเออีก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากกำลังซื้อของคนในประเทศและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในยูเออีมากขึ้น ซึ่งมักจะซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับติดตัวกลับไปด้วย เพราะมีราคาถูกกว่าประเทศอื่นๆ เห็นได้จากข้อมูลของ Euromonitor ที่ระบุว่าในปี 2022 ยอดขายปลีกเครื่องประดับในยูเออีมีมูลค่าประมาณ 11,736 ล้านเดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (3,197.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)  และในช่วงระหว่างปี 2022 – 2027 ยอดขายปลีกเครื่องประดับในตลาดนี้จะเติบโตเฉลี่ยราว 4% ต่อปี ดังนั้น หากผู้ประกอบการมีสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีคุณภาพดี ก็จะทำให้เข้าไปสู่ตลาดศักภาพนี้ได้ไม่ยากนัก

        กฎระเบียบการนำเข้าในยูเออี

        ปัจจุบันยูเออีเก็บภาษีนำเข้าอัญมณีและเครี่องประดับในอัตรา 0-5% และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 5% แต่หากเป็นการนำเข้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม GCC และ GAFTA[2] จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า สำหรับกฎระเบียบการนำเข้าไปยังยูเออี แต่ละรัฐจะมีหน่วยงานศุลกากรดำเนินการภายใต้แนวกำหนดของคณะกรรมการแห่งชาติด้านภาษีและนโยบายเป็นการทั่วไป ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องมีใบอนุญาตนำเข้าและเป็นสมาชิกของหอการค้าและอุตสาหกรรม ส่วนขั้นตอนการผ่านพิธีการทางศุลกากรและเอกสารการนำเข้าเป็นไปตามหลักสากลทั่วไป

ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อร่วมงานแสดงสินค้า จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า แต่จะต้องส่งออกสินค้าภายใน 90 วันนับจากวันนำเข้า สำหรับเครื่องประดับที่ผลิตจากโลหะมีค่าทุกชิ้นจะต้องประทับตราสัญลักษณ์ (Hallmark) ที่ระบุค่าความบริสุทธิ์ และน้ำหนักลงบนเครื่องประดับ ส่วนอัญมณีที่วางจำหน่ายทุกเม็ดจะต้องได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่ได้มาตรฐานสากล

บาห์เรน

           แม้ว่าบาห์เรนจะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่ก็เป็นหนึ่งในตลาดศักยภาพสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพราะมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ประชากรมีกำลังซื้อสูง มีบรรยากาศที่น่าลงทุนและเป็นมิตรกับชาวต่างชาติ และมีระบบเศรษฐกิจการค้าแบบเสรี รวมถึงเปิดกว้างทางวัฒนธรรมมากกว่าประเทศอาหรับอื่นๆ จากข้อมูลของ World Economics พบว่าในปี 2022 บาห์เรนมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศราว 100,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตสูงกว่า 6% เมื่อเทียบกับปี 2021 และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 56,524 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 24 ของโลก   

          ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในบาห์เรน

       สินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับที่นิยมในหมู่ชาวบาห์เรนก็คือ ทองคำและเครื่องประดับทอง ซึ่งนอกจากจะนิยมซื้อเครื่องประดับทองล้วนแล้ว ยังมีความต้องการเครื่องประดับทองตกแต่งเพชรและพลอยสีเพิ่มขึ้นด้วย โดยชาวบาห์เรนปัจจุบันชื่นชอบเครื่องประดับที่มีดีไซน์เฉพาะตัว คุณภาพสูง และมีตราประทับรับรองมาตรฐาน

        สำหรับแหล่งซื้อขายทองคำและเครื่องประดับสำคัญของประเทศอยู่ในตลาดค้าทองคำดั้งเดิมในกรุงมานามา (Manama) เรียกว่า Gold Souk ที่ก่อตั้งมากว่า 200 ปี และแหล่งค้าทองคำแห่งใหม่ที่เรียกว่า Gold City Mall ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจาก Gold Souk ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ผลิต จำหน่าย นำเข้าและส่งออกทองคำและโลหะมีค่าในบาห์เรนมีจำนวนรวมประมาณ 450 ราย และทองคำที่ขายได้อย่างถูกกฎหมายในบาห์เรนจะมีค่าความบริสุทธิ์อยู่ระหว่าง 14 - 24 กะรัต

        

Bahrain Gold Souk ภาพ https://www.flickr.com

        อย่างไรก็ดี อัญมณีและเครื่องประดับที่จำหน่ายในบาห์เรนส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ จากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2022 บาห์เรนนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วยมูลค่า 656.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.39% จากปี 2021 โดยนำเข้าจาก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าใน 5 อันดับแรก โดยส่วนใหญ่กว่า 62% เป็นการนำเข้าทองคำ รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง (สัดส่วนราว 31%) ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 8 เกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าเครื่องประดับทอง

        

ภาพ: https://www.afar.com/places/gold-city-manama

           ตลาดเครื่องประดับในบาห์เรนมีแนวโน้มเติบโตในแนวบวก จากปัจจัยกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งนิยมซื้อเครื่องประดับทองเพื่อใช้ในพิธีแต่งงาน และมอบเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลสำคัญ ได้แก่ วันถือศีลอด (Eid al-Fitr) หรือวันอีดเล็กถือเป็นงานปีใหม่ของชาวมุสลิม และวันอีดุลอัฎฮา (Eid Al-Adha) หรือวันอีดใหญ่ ซึ่งเริ่มหลังจากเสร็จการประกอบพิธีฮัจญ์ อีกทั้งยังมีปัจจัยผลักดันจากนักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้และประเทศในกลุ่มอาหรับที่มักเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ทั้งนี้ จากข้อมูล Statista คาดการณ์ว่าในปี 2023 ยอดขายเครื่องประดับบาห์เรนจะอยู่ที่ราว 43.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงปี 2023 – 2026 จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5.23% ต่อปี    

        กฎระเบียบการนำเข้าในบาห์เรน

         การส่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปบาห์เรนนั้น ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0-5% และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 5% แต่หากเป็นการนำเข้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม GCC และ GAFTA จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า

        ขั้นตอนการนําเข้าสินค้ารวมถึงเอกสารประกอบการนําเข้าของบาห์เรนเป็นไปตามหลักสากล หากแต่มีกฎระเบียบและข้อกําหนดบางประการที่เกี่ยวข้องกับการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น เครื่องประดับที่ผลิตจากโลหะมีค่าจะต้องประทับตรารับรองคุณภาพ ซึ่งเครื่องประดับทองที่จำหน่ายในบาห์เรนได้เป็นเครื่องประดับทอง 14, 18, 21 และ 22 กะรัต ส่วนเครื่องประดับเงินและแพลทินัม จะต้องมีปริมาณของโลหะดังกล่าวเป็นส่วนประกอบอย่างน้อย 830 ส่วนใน 1,000 ส่วน และ 950 ส่วน ใน 1,000 ส่วน ตามลําดับ และห้ามนำเข้าเครื่องประดับที่ตกแต่งด้วยไข่มุกเลี้ยง แต่อนุญาตให้นำเข้าเครื่องประดับไข่มุกธรรมชาติได้

       บาห์เรน เป็นหนึ่งในประเทศอ่าวอาหรับที่มีกำลังซื้อสูง มีที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของภูมิภาคและใกล้ชิดกับประเทศสมาชิก GCC โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรถึงกว่า 35 ล้านคน และยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวจำนวนมาก บาห์เรนจึงเป็นตลาดศักยภาพแห่งหนึ่งสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และยังถือเป็นประตูการค้าบานหนึ่งไปสู่ประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศในตะวันออกกลางโดยรอบ

คูเวต

       คูเวตเป็นประเทศเล็กๆ ในตะวันออกกลางที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่งร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ จากข้อมูลของ World Economics พบว่าในปี 2022 คูเวตมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ราว 291,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตสูงกว่า 8% เมื่อเทียบกับปี 2021 และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 66,470 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 14 ของโลก โดยคูเวตเป็นตลาดสินค้าหรูที่เติบโตมากที่สุดเป็นอันดับสามในภูมิภาค รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย

       ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในคูเวต    

        แม้ว่าคูเวตจะผลิตเครื่องประดับได้เอง หากแต่กิจการผลิตส่วนมากมีขนาดเล็ก เป็นธุรกิจครอบครัว มีแรงงานช่างผลิตส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียและปากีสถาน ผลิตเครื่องประดับด้วยมือ ใช้เครื่องมือเครื่องจักรอย่างง่ายๆ ทำให้ผลิตเครื่องประดับได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2022 คูเวตนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วยมูลค่า 477.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2021 โดยแหล่งนำเข้าใน 5 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ตุรกี และไทย ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่กว่า 51% เป็นการนำเข้าเครื่องประดับทอง รองลงมาเป็นทองคำ เครื่องประดับเทียม และพลอยสี ตามลำดับ

        

ภาพ: https://www.kuwaittimes.com

           ด้านการบริโภคพบว่า ชาวคูเวตนิยมซื้อเครื่องประดับทองมากที่สุด เพื่อเป็นของขวัญในเทศกาลสำคัญ เป็นการออมและการลงทุน ซึ่งเครื่องประดับทองที่นิยมอยู่เสมอเป็นสไตล์ท้องถิ่นดั้งเดิมมีค่าความบริสุทธิ์ 21 และ 22 กะรัต อีกทั้งชาวคูเวตยังมีแนวโน้มบริโภคเครื่องประดับทอง 18 กะรัตตกแต่งด้วยเพชรมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่จะชื่นชอบเครื่องประดับเพชรรูปแบบทันสมัย ชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา สไตล์ตะวันตก และเครื่องประดับทองตกแต่งพลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็ง (ทับทิม แซปไฟร์ มรกต) และพลอยเนื้ออ่อนก็กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับแหล่งซื้อขายทองคำและเครื่องประดับสำคัญของประเทศ อาทิ The Central Gold Souk บนถนน Ali Al-Salem และ Souk Al-Watiya ตั้งอยู่บนถนน Watiya Abu Bakr เป็นต้น    

         กฎระเบียบการนำเข้าในคูเวต

         การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของคูเวตนั้น ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 0 – 5% หากเป็นการนำเข้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม GCC และ GAFTA จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า และคาดว่าจะเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% ในปี 2024

        ทั้งนี้ อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าควบคุม ผู้นำเข้าจึงต้องขออนุญาตจากรัฐบาล ซึ่งใบอนุญาตนี้เรียกว่า Special Import License จะมีอายุเพียง 1 ปี ผู้นำเข้าจะต้องต่อใบอนุญาตทุกปี และผู้นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับได้จะต้องจดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเข้าต่อกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และขึ้นทะเบียนเป็น  สมาชิกของหอการค้าและอุตสาหกรรมคูเวตด้วย

       ส่วนเครื่องประดับที่ผลิตจากโลหะมีค่าที่จำหน่ายในคูเวตทุกชิ้นจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานกำหนด โดยจะต้องมีค่าความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่า 18 กะรัต ส่วนเครื่องประดับเงินและแพลทินัมจะต้องมีปริมาณโลหะดังกล่าวเป็นส่วนประกอบอย่างน้อย 800 ส่วน ใน 1,000 ส่วน และ 950 ส่วน ใน 1,000 ส่วน ตามลําดับ และจะต้องสลักเครื่องหมายรับรองคุณภาพบนตัวเรือนเพื่อแสดงค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่าด้วย     

        คูเวตเป็นประเทศมุสลิมสายกลาง มีเสถียรภาพทางการเงินและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสูง ประชากรมีรายได้และกำลังซื้อสูง และเปิดรับสินค้าจากต่างประเทศ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจึงมีโอกาสสูงในการขยายการส่งออกไปยังตลาดคูเวต     

ช่องทางการเข้าสู่ตลาด

          จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าตะวันออกกลางถือเป็นตลาดศักยภาพสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หากผู้ประกอบการสนใจเข้าสู่ตลาดดังกล่าว สามารถเจาะตลาดผ่าน Distribution Center หรือผ่านผู้นำเข้าท้องถิ่นซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวกและรวดเร็ว และควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อหาคู่ค้าหรือพันธมิตรที่จะนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในตลาดดังกล่าว โดยงานสินค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญ ได้แก่ The Watch & Jewellery Middle East Show จัดขึ้นที่รัฐซาร์จาห์ในช่วงเดือนมีนาคมและตุลาคม และ JGT Dubai Jewellery Show ในรัฐดูไบ ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของยูเออี Jewellery Arabia ณ กรุงมานามา ในบาห์เรน มักจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน และ The Gold and Jewelry Exhibition ในนครคูเวตซิตี้ จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการได้พบปะกับลูกค้าโดยตรงแล้ว ยังอาจสำรวจตลาดและสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคได้ในคราวเดียวกันด้วย


จัดทำโดย นางสาววาสนา สมเนตร์

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

---------------------------------------------------------

[1] อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 16 มีนาคม 2566: 1 USD = 3.67 เดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จาก https://wise.com

[2] กลุ่มเขตการค้าเสรีอาหรับ หรือ The Greater Arab Free Trade Area Agreement ประกอบด้วย 18 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย บาห์เรน อียิปต์ อีรัก จอร์แดน คูเวต เลบานอน ลิเบีย โมร็อกโก โอมาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซูดาน ซีเรีย ตูนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน

ข้อมูลอ้างอิง


1) World Economics, United Arab Emirates's GDP PPP per Capita [Online]. Available at. https://www.worldeconomics.com/Wealth/United%20Arab%20Emirates.aspx (Retrieved November 8, 2022).
2) Khaleejtimes online, World Bank hikes UAE’s growth forecast for 2022, 2023 [Online]. Available at. https://www.khaleejtimes.com/business/world-bank-hikes-uaes-growth-forecast-for-2022-2023. (Retrieved January 9, 2023).
3) UAE Gems & Jewelry Market, [Online]. Available at. www.researchandmarkets.com/reports/ 4793205/uae-gems-and-jewelry-market-by-type-gold. (Retrieved January 9, 2023).
4) Image RetailMe. ‘There is a demand and appetite for Jewellery in the GCC region’ [Online]. Available at. https://www.imagesretailme.com/trends/there-is-demand-and-appetite-for-jewellery-in-the-gcc-region/ (Retrieved January 9, 2023).
5) Gulf Business. UAE becomes world’s largest rough diamond trading hub [Online]. Available at https://gulfbusiness.com/uae-becomes-worlds-largest-rough-diamond-trading-hub/ (Retrieved January 12, 2023).
6) Dubai – buy gold. Dubai, UAE – the city of gold. [Online]. Available at https://alliance-dubai.net/ our-services/dubai-business-news-newsletter/newsletter-august-2013-2/dubai-buy-gold-dubai-uae-the-city-of-gold/. (Retrieved January 12, 2023).
7) Internationalfinance. [Online]. Available at https://internationalfinance.com/jewellery-sector-hits-purple-patch-in-uae-as-gold-diamond-sales-see-massive-rise/ (Retrieved November 8, 2022).
8) Bahrain GDP growth to hit 6% this year: Fitch [Online]. Available at www.tradearabia.com/news/ BANK_404531.html (Retrieved January 12, 2023).
9) Gold shines bright in Bahrain market. [Online]. Available at www.zawya.com/en/markets/gold-shines-bright-in-bahrain-market-habmrxes. (Retrieved January 12, 2023).
10) Purchase Only Hallmarked Gold, Warns Bahrain Official. [Online]. Available at www.newsofbahrain.com/bahrain/81753.html. (Retrieved January 13, 2023).
11) Jewellery Hand Crafts in the State of Kuwait. [Online]. Available at https://encyclocraftsapr.com/ jewellery-hand-crafts-in-the-state-of-kuwait/. (Retrieved January 13, 2023).
12) Kuwait’s Almuffadal Jewellery brings a burst of unique designs, glitters in the power of online sales. [Online]. Available at https://retailjewellerworld.com/kuwaits-almuffadal-jewellery-brings-a-burst-of-unique-designs-glitters-in-the-power-of-online-sales/. (Retrieved January 13, 2023).
13) Gold Souqs in Kuwait. [Online]. Available at https://www.visit-kuwait.com/living/shopping/gold-souqs-in-kuwait. (Retrieved January 13, 2023).
14) Deira Gold Souk. [Online]. Available at https://www.travelvui.com/united-arab-emirates/dubai/deira-gold-souk/. (Retrieved January 13, 2023).
15) Oud Fashion Talks การประชุมสัมมนาแฟชั่นครั้งแรกของคูเวต ที่กรุยทางสู่จุดหมายด้านแฟชั่นของภูมิภาค. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.vogue.co.th/fashion/article/oud-fashion-talk-2022-at-Kuwait (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565)
16) เจาะตลาดตะวันออกกลาง...ไม่ยากอย่างที่คิด. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา www.bangkokbanksme.com/en/middle-east-marketing. (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565)

เอกสารแนบ


ความคิดเห็น


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

ชี้ช่องเจาะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับตะวันออกกลาง (ตอนที่ 1)

May 24, 2023
1793 views
2 shares

       ตะวันออกกลางเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) อันประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย ประเทศเหล่านี้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่เองไม่ได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากต้องการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วยังต้องการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับอีกด้วย จึงเป็นตลาดที่มีโอกาสดีสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

        สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี เป็นประเทศดาวเด่นที่ต้องนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ของตะวันออกกลาง โดยยูเออีเป็นประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตดี ประชาชนมีกำลังซื้อสูงมาก และยังเป็นประตูสู่ตะวันออกกลาง หากใครเจาะตลาดนี้ได้จะทำให้สินค้ากระจายต่อไปยังอีก 5 ประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับได้อีกด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูลของ World Economics พบว่าในปี 2022 ยูเออี มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ราว 810,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการขยายตัวราว 6% เมื่อเทียบกับปี 2021 และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 80,352 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 6 ของโลก

        ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในยูเออี

        ยูเออีเป็นตลาดสินค้าหรูที่เติบโตมากที่สุดในภูมิภาค และบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แม้ว่าจะสามารถผลิตเครื่องประดับได้เองในประเทศ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จากสถิติ Global Trade Atlas พบว่า ในปี 2022 ยูเออีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับราว 38,793.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแหล่งนำเข้าหลักใน 5 อันดับแรกคือ สหราชอาณาจักร อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม และฮ่องกง ตามลำดับ สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ทองคำ เพชรก้อน เพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และอัญมณีสังเคราะห์ ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 21 โดยส่วนมากเป็นการนำเข้าเครื่องประดับทองและเพชรเจียระไน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันราว 81% ที่เหลือเป็นการนำเข้าพลอยสีทั้งพลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน

Dubai Gold Souk ภาพ: www.timeoutdubai.com

         สำหรับแหล่งค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญของยูเออีตั้งอยู่ในรัฐดูไบ รัฐที่มีชื่อเสียงด้านการค้าทองคำและเครื่องประดับทองมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนได้รับสมญานามว่า “City of Gold” ซึ่งมีตลาดค้าทองดั้งเดิมอย่าง Dubai Gold Souk หรือเรียกว่า Deira Gold Souk ถือว่าเป็นตลาดค้าทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่นิยมของชาวอาหรับและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะเป็นตลาดซื้อขายทองคำปลอดภาษี จึงมีราคาถูกกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ดูไบยังเป็นศูนย์กลางค้าเพชรที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกและได้ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางค้าเพชรก้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

        

ครื่องประดับทองใน Deira Gold Souk ภาพ:www.travelvui.com

         ทั้งนี้ ชาวยูเออีนิยมบริโภคทองคำและเครื่องประดับทองมากที่สุด โดยเครื่องประดับทองทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ก็สามารถขายได้ดีในตลาดนี้ เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมและประเพณีการสวมใส่เครื่องประดับที่สืบต่อกันมา เป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคม การให้เป็นของขวัญในเทศกาลสำคัญ อย่างพิธีแต่งงาน หรือวันสำคัญทางศาสนา เช่น เทศกาลฉลองหลังวันถือศีลอด (Eid AI Fitr) เป็นต้น และเป็นมรดกตกทอดไปสู่รุ่นลูกหลาน รวมถึงเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยทองคำแท่งที่ได้รับความนิยมในตลาดนี้จะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม 500 กรัม 250 กรัม และ 116.6 กรัม ส่วนเครื่องประดับทองที่ชาวยูเออีนิยมมีค่าความบริสุทธิ์ 18, 21 และ 22 กะรัต จากข้อมูลของ World Gold Council พบว่าในปี 2022 ผู้บริโภคชาวยูเออีซื้อเครื่องประดับทองเกือบ 50 ตัน เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปี 2021 นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

         สำหรับรูปแบบเครื่องประดับทองที่กำลังเป็นที่นิยมหลังจากโควิดคลี่คลายจะเป็นการออกแบบเฉพาะบุคคลที่ผลิตเป็นพิเศษ และมีชิ้นเดียว โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ชื่นชอบเครื่องประดับที่เรียบง่าย ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ราคาที่เข้าถึงได้ และใส่ได้ในทุกโอกาส นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มหันมาซื้อเครื่องประดับที่ทำจากโลหะมีค่าอื่นๆ มากขึ้น ได้แก่ แพลทินัม เงิน โรสโกลด์ และทองขาว รวมถึงความต้องการเครื่องประดับเพชรตกแต่งด้วยมรกต ทับทิม และไพลิน ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยูเออียังให้ความสำคัญกับการบริโภคทองคำที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

แบรนด์ Maveroc ภาพ: https://maveroc.com

        ชาวยูเออีมีกำลังซื้อสูงชื่นชอบสินค้าคุณภาพสูง แบรนด์เนม ขณะที่ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในยูเออีก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากกำลังซื้อของคนในประเทศและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในยูเออีมากขึ้น ซึ่งมักจะซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับติดตัวกลับไปด้วย เพราะมีราคาถูกกว่าประเทศอื่นๆ เห็นได้จากข้อมูลของ Euromonitor ที่ระบุว่าในปี 2022 ยอดขายปลีกเครื่องประดับในยูเออีมีมูลค่าประมาณ 11,736 ล้านเดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (3,197.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)  และในช่วงระหว่างปี 2022 – 2027 ยอดขายปลีกเครื่องประดับในตลาดนี้จะเติบโตเฉลี่ยราว 4% ต่อปี ดังนั้น หากผู้ประกอบการมีสินค้าที่มีเอกลักษณ์ มีคุณภาพดี ก็จะทำให้เข้าไปสู่ตลาดศักภาพนี้ได้ไม่ยากนัก

        กฎระเบียบการนำเข้าในยูเออี

        ปัจจุบันยูเออีเก็บภาษีนำเข้าอัญมณีและเครี่องประดับในอัตรา 0-5% และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 5% แต่หากเป็นการนำเข้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม GCC และ GAFTA[2] จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า สำหรับกฎระเบียบการนำเข้าไปยังยูเออี แต่ละรัฐจะมีหน่วยงานศุลกากรดำเนินการภายใต้แนวกำหนดของคณะกรรมการแห่งชาติด้านภาษีและนโยบายเป็นการทั่วไป ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องมีใบอนุญาตนำเข้าและเป็นสมาชิกของหอการค้าและอุตสาหกรรม ส่วนขั้นตอนการผ่านพิธีการทางศุลกากรและเอกสารการนำเข้าเป็นไปตามหลักสากลทั่วไป

ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อร่วมงานแสดงสินค้า จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า แต่จะต้องส่งออกสินค้าภายใน 90 วันนับจากวันนำเข้า สำหรับเครื่องประดับที่ผลิตจากโลหะมีค่าทุกชิ้นจะต้องประทับตราสัญลักษณ์ (Hallmark) ที่ระบุค่าความบริสุทธิ์ และน้ำหนักลงบนเครื่องประดับ ส่วนอัญมณีที่วางจำหน่ายทุกเม็ดจะต้องได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่ได้มาตรฐานสากล

บาห์เรน

           แม้ว่าบาห์เรนจะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่ก็เป็นหนึ่งในตลาดศักยภาพสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพราะมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ประชากรมีกำลังซื้อสูง มีบรรยากาศที่น่าลงทุนและเป็นมิตรกับชาวต่างชาติ และมีระบบเศรษฐกิจการค้าแบบเสรี รวมถึงเปิดกว้างทางวัฒนธรรมมากกว่าประเทศอาหรับอื่นๆ จากข้อมูลของ World Economics พบว่าในปี 2022 บาห์เรนมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศราว 100,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตสูงกว่า 6% เมื่อเทียบกับปี 2021 และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 56,524 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 24 ของโลก   

          ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในบาห์เรน

       สินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับที่นิยมในหมู่ชาวบาห์เรนก็คือ ทองคำและเครื่องประดับทอง ซึ่งนอกจากจะนิยมซื้อเครื่องประดับทองล้วนแล้ว ยังมีความต้องการเครื่องประดับทองตกแต่งเพชรและพลอยสีเพิ่มขึ้นด้วย โดยชาวบาห์เรนปัจจุบันชื่นชอบเครื่องประดับที่มีดีไซน์เฉพาะตัว คุณภาพสูง และมีตราประทับรับรองมาตรฐาน

        สำหรับแหล่งซื้อขายทองคำและเครื่องประดับสำคัญของประเทศอยู่ในตลาดค้าทองคำดั้งเดิมในกรุงมานามา (Manama) เรียกว่า Gold Souk ที่ก่อตั้งมากว่า 200 ปี และแหล่งค้าทองคำแห่งใหม่ที่เรียกว่า Gold City Mall ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจาก Gold Souk ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ผลิต จำหน่าย นำเข้าและส่งออกทองคำและโลหะมีค่าในบาห์เรนมีจำนวนรวมประมาณ 450 ราย และทองคำที่ขายได้อย่างถูกกฎหมายในบาห์เรนจะมีค่าความบริสุทธิ์อยู่ระหว่าง 14 - 24 กะรัต

        

Bahrain Gold Souk ภาพ https://www.flickr.com

        อย่างไรก็ดี อัญมณีและเครื่องประดับที่จำหน่ายในบาห์เรนส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ จากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2022 บาห์เรนนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วยมูลค่า 656.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.39% จากปี 2021 โดยนำเข้าจาก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าใน 5 อันดับแรก โดยส่วนใหญ่กว่า 62% เป็นการนำเข้าทองคำ รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง (สัดส่วนราว 31%) ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 8 เกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าเครื่องประดับทอง

        

ภาพ: https://www.afar.com/places/gold-city-manama

           ตลาดเครื่องประดับในบาห์เรนมีแนวโน้มเติบโตในแนวบวก จากปัจจัยกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งนิยมซื้อเครื่องประดับทองเพื่อใช้ในพิธีแต่งงาน และมอบเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลสำคัญ ได้แก่ วันถือศีลอด (Eid al-Fitr) หรือวันอีดเล็กถือเป็นงานปีใหม่ของชาวมุสลิม และวันอีดุลอัฎฮา (Eid Al-Adha) หรือวันอีดใหญ่ ซึ่งเริ่มหลังจากเสร็จการประกอบพิธีฮัจญ์ อีกทั้งยังมีปัจจัยผลักดันจากนักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้และประเทศในกลุ่มอาหรับที่มักเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ทั้งนี้ จากข้อมูล Statista คาดการณ์ว่าในปี 2023 ยอดขายเครื่องประดับบาห์เรนจะอยู่ที่ราว 43.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงปี 2023 – 2026 จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5.23% ต่อปี    

        กฎระเบียบการนำเข้าในบาห์เรน

         การส่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปบาห์เรนนั้น ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0-5% และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 5% แต่หากเป็นการนำเข้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม GCC และ GAFTA จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า

        ขั้นตอนการนําเข้าสินค้ารวมถึงเอกสารประกอบการนําเข้าของบาห์เรนเป็นไปตามหลักสากล หากแต่มีกฎระเบียบและข้อกําหนดบางประการที่เกี่ยวข้องกับการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น เครื่องประดับที่ผลิตจากโลหะมีค่าจะต้องประทับตรารับรองคุณภาพ ซึ่งเครื่องประดับทองที่จำหน่ายในบาห์เรนได้เป็นเครื่องประดับทอง 14, 18, 21 และ 22 กะรัต ส่วนเครื่องประดับเงินและแพลทินัม จะต้องมีปริมาณของโลหะดังกล่าวเป็นส่วนประกอบอย่างน้อย 830 ส่วนใน 1,000 ส่วน และ 950 ส่วน ใน 1,000 ส่วน ตามลําดับ และห้ามนำเข้าเครื่องประดับที่ตกแต่งด้วยไข่มุกเลี้ยง แต่อนุญาตให้นำเข้าเครื่องประดับไข่มุกธรรมชาติได้

       บาห์เรน เป็นหนึ่งในประเทศอ่าวอาหรับที่มีกำลังซื้อสูง มีที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของภูมิภาคและใกล้ชิดกับประเทศสมาชิก GCC โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรถึงกว่า 35 ล้านคน และยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวจำนวนมาก บาห์เรนจึงเป็นตลาดศักยภาพแห่งหนึ่งสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และยังถือเป็นประตูการค้าบานหนึ่งไปสู่ประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศในตะวันออกกลางโดยรอบ

คูเวต

       คูเวตเป็นประเทศเล็กๆ ในตะวันออกกลางที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่งร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ จากข้อมูลของ World Economics พบว่าในปี 2022 คูเวตมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ราว 291,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตสูงกว่า 8% เมื่อเทียบกับปี 2021 และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 66,470 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 14 ของโลก โดยคูเวตเป็นตลาดสินค้าหรูที่เติบโตมากที่สุดเป็นอันดับสามในภูมิภาค รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย

       ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในคูเวต    

        แม้ว่าคูเวตจะผลิตเครื่องประดับได้เอง หากแต่กิจการผลิตส่วนมากมีขนาดเล็ก เป็นธุรกิจครอบครัว มีแรงงานช่างผลิตส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียและปากีสถาน ผลิตเครื่องประดับด้วยมือ ใช้เครื่องมือเครื่องจักรอย่างง่ายๆ ทำให้ผลิตเครื่องประดับได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2022 คูเวตนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วยมูลค่า 477.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2021 โดยแหล่งนำเข้าใน 5 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ตุรกี และไทย ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่กว่า 51% เป็นการนำเข้าเครื่องประดับทอง รองลงมาเป็นทองคำ เครื่องประดับเทียม และพลอยสี ตามลำดับ

        

ภาพ: https://www.kuwaittimes.com

           ด้านการบริโภคพบว่า ชาวคูเวตนิยมซื้อเครื่องประดับทองมากที่สุด เพื่อเป็นของขวัญในเทศกาลสำคัญ เป็นการออมและการลงทุน ซึ่งเครื่องประดับทองที่นิยมอยู่เสมอเป็นสไตล์ท้องถิ่นดั้งเดิมมีค่าความบริสุทธิ์ 21 และ 22 กะรัต อีกทั้งชาวคูเวตยังมีแนวโน้มบริโภคเครื่องประดับทอง 18 กะรัตตกแต่งด้วยเพชรมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่จะชื่นชอบเครื่องประดับเพชรรูปแบบทันสมัย ชิ้นเล็ก น้ำหนักเบา สไตล์ตะวันตก และเครื่องประดับทองตกแต่งพลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็ง (ทับทิม แซปไฟร์ มรกต) และพลอยเนื้ออ่อนก็กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับแหล่งซื้อขายทองคำและเครื่องประดับสำคัญของประเทศ อาทิ The Central Gold Souk บนถนน Ali Al-Salem และ Souk Al-Watiya ตั้งอยู่บนถนน Watiya Abu Bakr เป็นต้น    

         กฎระเบียบการนำเข้าในคูเวต

         การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของคูเวตนั้น ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 0 – 5% หากเป็นการนำเข้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม GCC และ GAFTA จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า และคาดว่าจะเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% ในปี 2024

        ทั้งนี้ อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าควบคุม ผู้นำเข้าจึงต้องขออนุญาตจากรัฐบาล ซึ่งใบอนุญาตนี้เรียกว่า Special Import License จะมีอายุเพียง 1 ปี ผู้นำเข้าจะต้องต่อใบอนุญาตทุกปี และผู้นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับได้จะต้องจดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเข้าต่อกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และขึ้นทะเบียนเป็น  สมาชิกของหอการค้าและอุตสาหกรรมคูเวตด้วย

       ส่วนเครื่องประดับที่ผลิตจากโลหะมีค่าที่จำหน่ายในคูเวตทุกชิ้นจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานกำหนด โดยจะต้องมีค่าความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่า 18 กะรัต ส่วนเครื่องประดับเงินและแพลทินัมจะต้องมีปริมาณโลหะดังกล่าวเป็นส่วนประกอบอย่างน้อย 800 ส่วน ใน 1,000 ส่วน และ 950 ส่วน ใน 1,000 ส่วน ตามลําดับ และจะต้องสลักเครื่องหมายรับรองคุณภาพบนตัวเรือนเพื่อแสดงค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่าด้วย     

        คูเวตเป็นประเทศมุสลิมสายกลาง มีเสถียรภาพทางการเงินและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจสูง ประชากรมีรายได้และกำลังซื้อสูง และเปิดรับสินค้าจากต่างประเทศ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจึงมีโอกาสสูงในการขยายการส่งออกไปยังตลาดคูเวต     

ช่องทางการเข้าสู่ตลาด

          จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าตะวันออกกลางถือเป็นตลาดศักยภาพสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หากผู้ประกอบการสนใจเข้าสู่ตลาดดังกล่าว สามารถเจาะตลาดผ่าน Distribution Center หรือผ่านผู้นำเข้าท้องถิ่นซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวกและรวดเร็ว และควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อหาคู่ค้าหรือพันธมิตรที่จะนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในตลาดดังกล่าว โดยงานสินค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญ ได้แก่ The Watch & Jewellery Middle East Show จัดขึ้นที่รัฐซาร์จาห์ในช่วงเดือนมีนาคมและตุลาคม และ JGT Dubai Jewellery Show ในรัฐดูไบ ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของยูเออี Jewellery Arabia ณ กรุงมานามา ในบาห์เรน มักจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน และ The Gold and Jewelry Exhibition ในนครคูเวตซิตี้ จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการได้พบปะกับลูกค้าโดยตรงแล้ว ยังอาจสำรวจตลาดและสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคได้ในคราวเดียวกันด้วย


จัดทำโดย นางสาววาสนา สมเนตร์

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

---------------------------------------------------------

[1] อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 16 มีนาคม 2566: 1 USD = 3.67 เดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จาก https://wise.com

[2] กลุ่มเขตการค้าเสรีอาหรับ หรือ The Greater Arab Free Trade Area Agreement ประกอบด้วย 18 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย บาห์เรน อียิปต์ อีรัก จอร์แดน คูเวต เลบานอน ลิเบีย โมร็อกโก โอมาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซูดาน ซีเรีย ตูนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน

ข้อมูลอ้างอิง


1) World Economics, United Arab Emirates's GDP PPP per Capita [Online]. Available at. https://www.worldeconomics.com/Wealth/United%20Arab%20Emirates.aspx (Retrieved November 8, 2022).
2) Khaleejtimes online, World Bank hikes UAE’s growth forecast for 2022, 2023 [Online]. Available at. https://www.khaleejtimes.com/business/world-bank-hikes-uaes-growth-forecast-for-2022-2023. (Retrieved January 9, 2023).
3) UAE Gems & Jewelry Market, [Online]. Available at. www.researchandmarkets.com/reports/ 4793205/uae-gems-and-jewelry-market-by-type-gold. (Retrieved January 9, 2023).
4) Image RetailMe. ‘There is a demand and appetite for Jewellery in the GCC region’ [Online]. Available at. https://www.imagesretailme.com/trends/there-is-demand-and-appetite-for-jewellery-in-the-gcc-region/ (Retrieved January 9, 2023).
5) Gulf Business. UAE becomes world’s largest rough diamond trading hub [Online]. Available at https://gulfbusiness.com/uae-becomes-worlds-largest-rough-diamond-trading-hub/ (Retrieved January 12, 2023).
6) Dubai – buy gold. Dubai, UAE – the city of gold. [Online]. Available at https://alliance-dubai.net/ our-services/dubai-business-news-newsletter/newsletter-august-2013-2/dubai-buy-gold-dubai-uae-the-city-of-gold/. (Retrieved January 12, 2023).
7) Internationalfinance. [Online]. Available at https://internationalfinance.com/jewellery-sector-hits-purple-patch-in-uae-as-gold-diamond-sales-see-massive-rise/ (Retrieved November 8, 2022).
8) Bahrain GDP growth to hit 6% this year: Fitch [Online]. Available at www.tradearabia.com/news/ BANK_404531.html (Retrieved January 12, 2023).
9) Gold shines bright in Bahrain market. [Online]. Available at www.zawya.com/en/markets/gold-shines-bright-in-bahrain-market-habmrxes. (Retrieved January 12, 2023).
10) Purchase Only Hallmarked Gold, Warns Bahrain Official. [Online]. Available at www.newsofbahrain.com/bahrain/81753.html. (Retrieved January 13, 2023).
11) Jewellery Hand Crafts in the State of Kuwait. [Online]. Available at https://encyclocraftsapr.com/ jewellery-hand-crafts-in-the-state-of-kuwait/. (Retrieved January 13, 2023).
12) Kuwait’s Almuffadal Jewellery brings a burst of unique designs, glitters in the power of online sales. [Online]. Available at https://retailjewellerworld.com/kuwaits-almuffadal-jewellery-brings-a-burst-of-unique-designs-glitters-in-the-power-of-online-sales/. (Retrieved January 13, 2023).
13) Gold Souqs in Kuwait. [Online]. Available at https://www.visit-kuwait.com/living/shopping/gold-souqs-in-kuwait. (Retrieved January 13, 2023).
14) Deira Gold Souk. [Online]. Available at https://www.travelvui.com/united-arab-emirates/dubai/deira-gold-souk/. (Retrieved January 13, 2023).
15) Oud Fashion Talks การประชุมสัมมนาแฟชั่นครั้งแรกของคูเวต ที่กรุยทางสู่จุดหมายด้านแฟชั่นของภูมิภาค. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.vogue.co.th/fashion/article/oud-fashion-talk-2022-at-Kuwait (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565)
16) เจาะตลาดตะวันออกกลาง...ไม่ยากอย่างที่คิด. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา www.bangkokbanksme.com/en/middle-east-marketing. (สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565)

เอกสารแนบ

เราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้   ตั้งค่า ยอมรับ

×
140 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 4 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
โทรศัพท์: 0 2634 4999 ต่อ 444
โทรสาร: 0 2634 4970