เสริมศักยภาพสินค้าเหนือกาลเวลาในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง
จากรายงานพิเศษของคณะกรรมการด้านเทคโนโลยีของสมาพันธ์เครื่องประดับโลก หรือ CIBJO ที่มี Stephane Fischler เป็นประธานระบุว่า บทบาทของคณะกรรมการเทคโนโลยีนั้นเกี่ยวข้องกับการศึกษาผลกระทบทั้งในปัจจุบันและอนาคตของสิ่งประดิษฐ์ต่อประสบการณ์ของมนุษย์ ดังนั้น ขณะที่คณะกรรมการฯ ชุดนี้ศึกษาระบบที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ไม่มีชีวิต ก็ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ และผู้ที่พึ่งพาทั้งในด้านสินค้าและรายได้จากอุตสาหกรรมนี้ด้วยเช่นกัน
ความได้เปรียบในการแข่งขันจากการวิเคราะห์ข้อมูล
มีปัจจัย 3 ประการซึ่งมีส่วนทำให้เกิดรายงานฉบับนี้ ประการแรกคือ การนำเสนอโดย Mahiar Borhanjo ซีอีโอของแพลตฟอร์ม UNI ที่แสดงให้เห็นถึงพลังและศักยภาพของข้อมูล ปัจจัยที่สองคือ งานวิจัยว่าด้วยเรื่อง Deep Learning และการจำแนกประเภทอัญมณี ที่หนึ่งในผู้เขียนคือ Daniel Nyfeler กรรมการผู้จัดการของ Gübelin Gem Lab และประการสุดท้ายคือ งาน Apple Conference เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่รวมถึง แว่น Apple Vision Pro ซึ่งเป็นหน่วยแสดงผลสวมศีรษะแบบ “Mixed Reality” (VR & AR) โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่าความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นไปเพื่อเปิดโอกาสและเสริมประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรมฯ
ภาพ: www.cibjo.org
การนำเสนอโดย Mahiar แสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันมีความจำเป็นในการใช้ตัวเลขที่ตรวจสอบยืนยันได้ในการทำให้กระบวนการภายใน รวมไปถึงกระบวนการทางการเงินเกิดประสทธิภาพสูงสุด และสร้างเสริมความสัมพันธ์ทั้งกับลูกค้าและผู้จัดหาวัตถุดิบเพื่อให้มั่นใจถึงความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งยังต้องเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์และวิธีดำเนินการโดยยึดตามข้อมูลที่ได้มานั้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดด้วย
กล่าวโดยสรุป คือการเก็บรวบรวม ตรวจสอบยืนยัน และทำความเข้าใจ แล้วจึงปกป้องข้อมูลได้กลายเป็นกระบวนการที่จำเป็นในการช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญได้ทุกสถานการณ์ และกระบวนการเหล่านี้นี่เองที่เป็นปัจจัยช่วยให้ผู้ประกอบการบางรายได้เปรียบในการแข่งขัน
ศักยภาพของ AI ในการพลิกเกม
เราต่างเข้าใจกันดีว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ต้องอาศัย Deep Learning และอัลกอริทึ่มที่ตั้งโปรแกรมตามต้นแบบ หรือหมายความว่า ข้อมูลที่มีอยู่แล้วและการปฏิบัติการที่ได้กำหนดไว้จะเป็นตัวตัดสินข้อมูลที่ได้
ดังนั้น เราไม่ได้กำลังพูดถึงเรื่องของ “ความจริง” เพราะข้อมูลที่ได้คัดเลือกมาอาจมีความลำเอียงปะปนอยู่ อย่างน้อยๆ ในระยะแรกระบบจะมีน่าเชื่อถือพอๆ กับแหล่งที่มาและขอบเขตของข้อมูลที่ป้อนเข้าไป อีกทั้งนอกจากตัวบทกฎหมายในอนาคตแล้ว ยังมีความเสี่ยงมากในเรื่องการให้ข้อมูลผิดพลาด ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบได้ เพราะเราไม่รู้หรือเข้าใจกระบวนการในการเก็บรวบรวม ทวนสอบ หรือทำความเข้าใจข้อมูลดังกล่าว
แต่ในระยะยาว AI ที่มี Deep Learning จะเป็นตัวพลิกเกมที่สามารถเปลี่ยนโฉมห่วงโซ่อุปทานอัญมณีและเครื่องประดับได้แทบจะแน่นอน เนื่องจากในขณะที่การให้ข้อมูลผิดพลาดเป็นเรื่องที่ต้องกังวล แต่ Deep Learning ก็กระตุ้นองค์ประกอบของการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง หมายความว่าเมื่อเวลาผ่านไปและ Data Pool มีขนาดใหญ่ขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลของระบบจะมีความแม่นยำยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้คอมพิวเตอร์แสดงความคิดสร้างสรรค์ได้อีกด้วย
ผลกระทบต่อตำแหน่งงานและความคิดสร้างสรรค์
AI จะส่งผลอย่างไรต่อตำแหน่งงานและรายได้ คำตอบคือ ยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีตัวบ่งชี้อยู่ โดยผลกระทบหนึ่งที่เป็นไปได้และเกี่ยวข้องกับสังคมโดยรวม นั่นคือเรื่องการจัดสรรเวลา ผู้บริโภคจะมีเวลาว่างมากขึ้น สิ่งนี้จะส่งผลอย่างไร และจะมีผลดีต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
การจัดระดับอัญมณีและการตรวจวิเคราะห์อัญมณีนั้นเป็นอีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึง เพราะกระบวนการทั้งสองนี้ยังต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงความผิดพลาดของมนุษย์ไปได้ การเอ่ยอ้างว่านักอัญมณีศาสตร์ที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีและมีประสบการณ์สูงนั้นมีทักษะเชี่ยวชาญในการตรวจสอบความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในสี มลทิน และการสะท้อนแสงของอัญมณีชนิดต่างๆ ได้ แต่จะถูกต้องแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้
ขณะที่การจัดระดับอัญมณีและตรวจวิเคราะห์อัญมณีแบบอัตโนมัติโดยใช้ AI นั้น ในช่วงแรกเมื่อนักพัฒนาป้อนอัลกอริทึ่มที่มีข้อมูลต่างๆ เข้าไปแล้ว เราอาจคาดหวังถึงผลลัพธ์การจัดระดับที่ตรงกัน และตราบเท่าที่ยังมีข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อยระหว่างระบบต่างๆ อยู่ การจัดระดับทั้งหมดยังต้องถือว่าเป็น “ความคิดเห็น” เช่นเดียวกับการรายงานผลจากนักอัญมณีศาสตร์ที่เป็นคนจริง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป การจัดระดับและตรวจวิเคราะห์อัญมณีที่ใช้ระบบ AI เหล่านี้จะเรียนรู้ในการแยกแยะรูปแบบมากขึ้น แล้วจึงทดสอบและขัดเกลาทักษะเหล่านี้โดยใช้ชุดข้อมูลจำนวนมากขึ้น ระบบอัตโนมัตินั้นสร้างขึ้นโดยมีความสามารถในการพัฒนาความแม่นยำและความสามารถในการทำซ้ำได้แทบจะไม่จำกัด
โลกแห่งความจริงเสมือน
การเปิดตัวแว่น Apple Vision Pro แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอีกก้าวในการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ และสิ่งประดิษฐ์ คนหนุ่มสาวต่างให้การต้อนรับทั้ง Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ในอุปกรณ์ชิ้นนี้มากขึ้น นำไปสู่การมองเห็นถึงโอกาสและความท้าทายอย่างมากจากสิ่งแวดล้อมดิจิทัลที่มีต่อผู้ค้าปลีกเครื่องประดับ
เริ่มจากความท้าทาย องค์กรต้องผสมผสานความเชี่ยวชาญที่จำเป็นเพื่อให้เกิดการนำข้อมูลที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่าน VR และ AR ต้องศึกษาและประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ที่เหมาะสมของการลงทุนทั้งในคน ฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงและประมวลผลข้อมูลมีความเข้มงวดและเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความกังวลมากขึ้นถึงผลกระทบและการปกป้องสุขภาพจิตของผู้ใช้ และท้ายสุด อุปกรณ์ และระบบการติดตามที่ใช้ AI และ VR เช่น Blockchain ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เป็นต้น
ภาพนางแบบ เครื่องประดับ และแว่นวีอาร์ ที่ล้วนถูกสร้างขึ้นด้วย ChatGPT
ภาพ: www.cibjo.org
โอกาสนั้นมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะในการสร้าง Big Data ซึ่งอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนำไปใช้ได้ ในอนาคตจะสามารถทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคได้แบบเรียลไทม์มากขึ้น แนะนำสินค้าที่เข้ากับลูกค้าแต่ละรายโดยอาศัยข้อมูลมากขึ้น ตรวจสอบการไหลของสินค้าและสินค้าคงคลังได้ดีขึ้น และกำหนดราคาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด Big Data จะเพิ่มประสิทธิภาพของต้นทุนและกระบวนการต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพการค้าปลีกแบบออนไลน์และออฟไลน์ ตลอดจนประสบการณ์ของผู้บริโภค รวมถึงการทดลองสวมใส่สินค้าแบบเสมือนจริงได้อีกด้วย
ใช้ประโยชน์สูงสุดจากประสบการณ์ใหม่
คำถามที่มีในตอนนี้คือ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจะหาประโยชน์สูงสุดจากโอกาสที่เทคโนโลยีมอบให้ได้อย่างไร ปัจจุบัน AI ที่มีการเรียนรู้แบบ Deep Learning ร่วมกับอุปกรณ์ AR และ VR กำลังสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การผลิต การจัดระดับ ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ และการตลาด ประสิทธิภาพของ AI จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ธุรกิจต้องยอมรับเทรนด์นี้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งการตลาด
ประเด็นหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมฯ ต้องให้ความสนใจก็คือ การรักษาความไว้วางใจของผู้บริโภค เพราะธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับยังต้อง “เกี่ยวข้องกับมนุษย์” อย่างมาก ร้านค้าปลีกและการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าหน้าร้านยังคงมีบทบาทสำคัญและมีโอกาสอยู่อีกมาก ร้านค้าปลีกจะต้องพัฒนาและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสบการณ์การซื้อหน้าร้าน การพบและสบตากับตัวบุคคลยังคงเป็นรูปแบบหลักในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ
การบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับการดำเนินงานของธุรกิจ การค้นหาแนวทางที่ดีที่สุดและการผสมผสานที่เหมาะสมในการดึงดูด การให้ข้อมูล การสร้างความประทับใจ และรักษาลูกค้านั้นขึ้นอยู่กับแต่ละกิจการ ในระหว่างที่ก้าวเดินไปข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมฯ ต้องเรียนรู้ที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงการใช้ข้อมูลที่ได้มาในรูปแบบที่ถูกกฎหมายให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด การจะเติบโตก้าวหน้าในโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ จำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อไม่ให้รั้งท้าย แต่ประเด็นสำคัญคือ วิธีการและการหาแนวทางใหม่ในการบอกเล่าเรื่องราว เพราะอัญมณี โลหะมีค่า และเครื่องประดับอันวิจิตรตระการตายังคงทรงคุณค่าเหนือกาลเวลาไม่เปลี่ยนแปลง
แปลและเรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ข้อมูลอ้างอิง