
ทิศทางตลาดเครื่องประดับทองของโลกในปี 2568
เครื่องประดับทองมีส่วนแบ่งมากที่สุดในกลุ่มเครื่องประดับทั้งหมด เนื่องจากเป็นโลหะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดที่ใช้ในการผลิตเครื่องประดับทุกประเภททั่วโลก ซึ่งผู้บริโภคที่ซื้อทองคำมักได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม สภาพตลาดในท้องถิ่น และขนบธรรมเนียมประเพณี ปัจจุบันผู้บริโภคกำลังมองหาสิ่งที่มากกว่าดีไซน์แบบดั้งเดิม โดยสไตล์มินิมอล ลวดลายเรขาคณิต ชิ้นส่วนเครื่องประดับที่สั่งทำพิเศษ และอิทธิพลจากวัฒนธรรมต่างๆ กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ภาพรวมตลาดเครื่องประดับทองของโลกในปี 2568
ตลาดเครื่องประดับทองคำทั่วโลกในปี 2568 คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าราคาเครื่องประดับทองจะมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น โดยนักวิเคราะห์ต่างคาดว่าราคาทองคำในปี 2568 อาจขึ้นไปแตะระดับ 3,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองของโลก แต่ความนิยมบริโภคเครื่องประดับทองจะไม่ลดลงมากนัก เนื่องจากกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ความต้องการเครื่องประดับที่สั่งทำพิเศษและมีคุณภาพสูงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความสำคัญทางวัฒนธรรมและประเพณีของทองคำในอินเดียและจีน ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของตลาดเครื่องประดับทองของโลก โดย Verified Market Research คาดว่าความต้องการเครื่องประดับทองมีมูลค่ากว่า 353,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 และจะเพิ่มสูงถึง 510,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2574
อินเดีย
อินเดียเป็นผู้บริโภคเครื่องประดับทองรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีการบริโภคทองคำประมาณ 600-700 ตันต่อปี ซึ่งการบริโภคเครื่องประดับทองในประเทศ คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 14-18% ในปี 2568 ท่ามกลางความผันผวนของราคาทองคำ แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ดีขึ้นและอุปสงค์ตามเทศกาลสำคัญ เช่น Diwali และ Akshaya Tritiya และงานแต่งงาน ที่ผู้คนต้องการบริโภคเครื่องประดับทองในระดับสูง นอกจากนี้ ทองคำยังถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงและมีคุณค่าทางวัฒนธรรม ผู้หญิงอินเดียส่วนใหญ่ถือว่าการเป็นเจ้าของเครื่องประดับทองคำเป็นการสะสมความมั่งคั่งและแสดงสถานะ ปัจจัยเหล่านึ้จะช่วยผลักดันตลาดเครื่องประดับทองในอินเดียให้ขยายตัวสูงขึ้น
ภาพจาก https://nikitajewels.com/
ส่วนแนวโน้มความต้องการของชาวอินเดียนั้น เป็นเครื่องประดับหรูหรา เครื่องประดับที่ผสมผสานประเพณีดั้งเดิมเข้ากับความทันสมัย รวมถึงเครื่องประดับสั่งทำก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การผลิตเครื่องประดับที่ยั่งยืนและมีจริยธรรมก็กำลังกำหนดทิศทางของตลาดอินเดีย เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับตัวเลือกเครื่องประดับที่มีความยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าจะเติบโตในระยะยาว อย่างไรก็ดี ความต้องการเครื่องประดับทองของอินเดียอาจเผชิญกับความกดดันในระยะสั้น เนื่องจากความผันผวนของราคาทองคำค่อนข้างสูง แต่ความต้องการการลงทุนคาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนความต้องการเครื่องประดับทองอยู่
จีน
จีนเป็นผู้บริโภคทองคำรายใหญ่อันดับสองของโลก ในปี 2567 ความต้องการเครื่องประดับทองคำในจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในไตรมาสที่สาม ความต้องการทองคำรวมลดลง 22% เหลือ 218 ตัน และการบริโภคเครื่องประดับทองลดลง 29% เหลือ 130 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการลดลงนี้คือราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อเครื่องประดับทอง นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนที่ซบเซายังส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง ส่งผลให้ยอดขายของร้านค้าเครื่องประดับในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สภาทองคำโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2568 ความต้องการเครื่องประดับทองจะลดลงประมาณ 3% หลังจากที่มีการลดลงอย่างมากในปี 2567 เนื่องจากทางการจีนผลักดันการบรรลุเป้าหมายการเติบโต แม้ว่าจะมีความกังวลว่าตลาดเครื่องประดับทองของจีนอาจใกล้ถึงจุดอิ่มตัว แต่การลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่ง อาจจะเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางแห่งประเทศจีน(People's Bank of China: PBoC) อาจประกาศการซื้อทองคำเพิ่มเติมในปีนี้
ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดเครื่องประดับทองในจีน ได้แก่ ทองคำเป็นของขวัญยอดนิยมที่มอบให้กันในโอกาสพิเศษ เช่น วันตรุษจีน งานแต่งงาน และวันเกิด รวมถึงความเชื่อในเรื่องโชคลาภและความมั่งคั่ง
สำหรับสไตล์เครื่องประดับทองที่มีแนวโน้มเติบโตในตลาดจีน เนื่องจากตอบสนองต่อรสนิยมและความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน อาทิ การออกแบบที่เรียบง่าย ทันสมัย และเหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน เครื่องประดับแบบมินิมอล เช่น สร้อยคอ แหวน หรือกำไลที่ดูบางเบาและมีดีไซน์ที่ไม่ซับซ้อน และเครื่องประดับทองที่ตกแต่งด้วยพลอยสี เพชร หรือไข่มุก ช่วยเพิ่มความหลากหลายและความหรูหรา เหมาะกับกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับสูง เป็นต้น
สหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในตลาดเครื่องประดับทองที่สำคัญระดับโลก แม้จะไม่ใช่ผู้บริโภครายใหญ่ที่สุด แต่มีความต้องการเครื่องประดับทองเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ผู้บริโภคมักเป็นกลุ่มชนชั้นกลางถึงชนชั้นสูงที่มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มที่มองหาเครื่องประดับเพื่อการลงทุน โดยทองคำขาว (White Gold) และทองคำสีเหลือง 14K เป็นที่นิยม เนื่องจากมีสีสันที่เข้ากับแฟชั่นและราคาที่จับต้องได้เมื่อเทียบกับ 18K หรือ 24K ซึ่งความต้องการเครื่องประดับทองจะพุ่งสูงในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น คริสต์มาส วาเลนไทน์ และงานแต่งงาน
ปัจจุบันคนอเมริกันนิยมเครื่องประดับทองที่ออกแบบให้ดูทันสมัยและใช้งานได้ทุกวัน รวมถึงมีความสนใจซื้อทองคำในรูปแบบเหรียญหรือทองคำแท่งมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับทองคำที่มาจากแหล่งผลิตที่มีจริยธรรม (Ethical Gold) และมีความยั่งยืน ทั้งนี้ ความนิยมทองคำที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล และการออกแบบที่ผสมผสานเครื่องประดับทองกับวัสดุอื่น เช่น เพชร พลอย หรืออัญมีสังเคราะห์ มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
จากข้อมูลของ Statista.com คาดการณ์ว่า ตลาดเครื่องประดับสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวสูงถึงระดับ 65,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 1.33% ในช่วงปี 2568-2572
ตะวันออกกลาง
ตะวันออกกลางเป็นผู้บริโภคเครื่องประดับทองรายใหญ่ของโลก โดยประเทศที่เป็นตลาดสำคัญสำหรับเครื่องประดับทองในภูมิภาคนี้ เช่น ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เป็นต้น
ซาอุดีอาระเบีย:
จากข้อมูลของ Statista ได้คาดการณ์ว่าตลาดเครื่องประดับในซาอุดีอาระเบียจะสร้างรายได้จำนวนมากถึง 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 3.20% ในช่วงปี 2568 ถึง 2572 โดยมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อการเติบโต อาทิ ประชากรมีกำลังซื้อสูงขึ้นและค่านิยมในสังคมที่ชื่นชอบการสวมใส่เครื่องประดับ การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับการมอบเครื่องประดับเป็นของขวัญในงานแต่งงาน งานหมั้น หรือการฉลองการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร เป็นต้น
ทองคำมีความสำคัญอย่างยิ่งในวัฒนธรรมซาอุดีอาระเบีย มักจะเชื่อมโยงกับสถานะทางสังคม ความร่ำรวย และเป็นส่วนสำคัญของงานแต่งงานหรืองานทางศาสนา ซึ่งการให้ทองเป็นของขวัญถือเป็นมงคล ความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมนี้ ส่งผลให้เครื่องประดับทองเป็นที่นิยมในตลาดนี้อยู่เสมอ และมีสัดส่วนมากที่สุดในตลาดเครื่องประดับ นอกจากนี้ เครื่องประดับที่ทำจากเพชรและอัญมณีอื่นๆ ยังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความซับซ้อนมากขึ้นและชอบที่จะเป็นเจ้าของสินค้าระดับไฮเอนด์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ยังมีส่วนทำให้ตลาดเครื่องประดับเติบโตอีกด้วย
ทั้งนี้ ความต้องการเครื่องประดับทองและเพชรรูปแบบดั้งเดิมยังเติบโตดี โดยเฉพาะการออกแบบที่หรูหรา ซับซ้อน และประณีต อย่างไรก็ดี อิทธิพลของแฟชั่นตะวันตกมีการเติบโตอย่างมากต่อผู้บริโภคชาวซาอุดีอาระเบียรุ่นใหม่ที่หันมาเลือกเครื่องประดับร่วมสมัยและเรียบง่ายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกระแสทั่วโลกมากขึ้น ในปี 2567 40% ของประชากรในเมืองใหญ่ๆ เช่น ริยาดและเจดดาห์ยอมรับความนิยมด้านแฟชั่นแบบตะวันตกมากขึ้น โดยมีความนิยมเครื่องประดับผสมผสานกับสไตล์ตะวันตกมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากการเปิดรับสื่อต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และร้านค้าปลีกเครื่องประดับระดับไฮเอนด์จากต่างประเทศ (อาทิ Chopard, Piaget, Lazurde, Mouawad, and Damas) ที่เข้าสู่ตลาดซาอุดีอาระเบียเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นด้วย
ภาพจาก www.ediwfashion.shop
นอกจากนี้ ความต้องการเครื่องประดับแบบสั่งทำกำลังกลายเป็นเทรนด์สำคัญในตลาดเครื่องประดับของซาอุดีอาระเบีย โดยในปี 2567 ยอดขายเครื่องประดับสั่งทำเพิ่มขึ้น 18% สะท้อนถึงความต้องการการออกแบบเฉพาะบุคคลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเทรนด์นี้มาแรงมากในกลุ่มบุคคลที่มีรายได้สูงที่มองหาสินค้าสั่งทำพิเศษเฉพาะบุคคล และยังเป็นเทรนด์ที่เติบโตต่อเนื่องในปีนี้และในอนาคต
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์:
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงเป็นประเทศที่มีความต้องการเครื่องประดับทองมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แม้ว่าระดับการบริโภคจะลดลง เนื่องจากราคาทองคำที่พุ่งขึ้นสูงในปี 2567 โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความต้องการเครื่องประดับทองเกือบ 40 ตันต่อปี
ในปี 2567 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความต้องการเครื่องประดับทองต่อหัวของผู้บริโภคมากเป็นอันดับสองของโลกที่ 5.07 กรัม รองจากฮ่องกงซึ่งมีความต้องการของผู้บริโภคต่อหัวอยู่ที่ 5.12 กรัม อันเป็นผลมาจาก GDP ต่อหัวที่สูงของประเทศ ความสำคัญทางวัฒนธรรมของทองคำ การจับจ่ายสินค้าปลอดภาษี ภาคการท่องเที่ยวที่คึกคัก และการค้าปลีกที่แข็งแกร่ง รวมถึงสถานะของทองคำในฐานะการลงทุนที่ปลอดภัย ปัจจัยเหล่านี้ช่วยเพิ่มการบริโภคทองคำในประเทศนี้ได้อย่างมาก
จากข้อมูลของ Statista.com คาดว่า รายรับในตลาดเครื่องประดับของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะสูงถึง 710 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 (โดยเครื่องประดับทองครองสัดส่วนสูงสุดในกลุ่มเครื่องประดับ) และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2568 – 2572 ราว 2.38% ต่อปี และยอดขายในตลาดเครื่องประดับราว 74% จะเป็นเครื่องประดับหรูหรา
สำหรับแนวโน้มรูปแบบเครื่องประดับทองที่ชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ เครื่องประดับสั่งทำตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งออกแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงวัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่มีจริยธรรมมากขึ้น ผู้บริโภครุ่นใหม่มองหาเครื่องประดับที่มีน้ำหนักเบาที่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน และเปลี่ยนความสนใจซื้อเครื่องประดับทองจาก 22K เป็น 18K เพิ่มมากขึ้น
ในอนาคตตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และความต้องการทองคำสำหรับเครื่องประดับในงานแต่งงานและการลงทุนในประเทศนี้จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขยายตัวสูงขึ้น อีกทั้งรัฐบาลของประเทศยังมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ อันจะส่งผลให้ประชาชนมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นด้วย
ภาพจาก www.khaleejtimes.com
บทสรุป
การเติบโตของตลาดเครื่องประดับทองได้รับแรงหนุนจากปัจจัยหลายประการ เช่น 1) กำลังซื้อและจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นในตลาดศักยภาพ เช่น จีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เพิ่มความต้องการเครื่องประดับทองอย่างมีนัยสำคัญ โดยเครื่องประดับทองมักเกี่ยวข้องกับงานแต่งงาน เทศกาล และงานมงคลต่างๆ ส่วนการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในตลาดดังกล่าว สร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ต้องการสินค้าแฟชั่นและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งเครื่องประดับทองเป็นทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยและสินทรัพย์ทางการเงิน จึงได้รับความนิยมมาก 2) การเติบโตของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและการพัฒนาแบรนด์ท้องถิ่น ช่วยให้เครื่องประดับทองเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ผู้ผลิตมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการปรับดีไซน์และน้ำหนักของเครื่องประดับทอง ให้เหมาะกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าใหม่มากขึ้น และ 3) เครื่องประดับทองไม่เพียงเป็นเครื่องประดับ แต่ยังถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ผู้บริโภคในประเทศที่มีศักยภาพดังกล่าวข้างต้น มักซื้อทองคำและเครื่องประดับทองเพื่อเก็บสะสมเป็นการลงทุนระยะยาว
สำหรับแนวการแข่งขันของตลาดเครื่องประดับทองในปัจจุบันและอนาคตนั้น จะต้องเป็นเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผสมผสานเทคโนโลยีกับทักษะฝีมือของช่างฝีมือท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อีกทั้งบริษัทเครื่องประดับหรือแบรนด์ต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและความยั่งยืน การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล และเพิ่มประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างและช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดให้ได้เพิ่มขึ้น
จัดทำโดย นางสาววาสนา สมเนตร์
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มีนาคม 2568
ข้อมูลอ้างอิง
2) Gold Jewelry Market Valuation – 2024-2031, available at https://www.verifiedmarketresearch.com/product/gold-jewelry-market/. (Retrieved December 20, 2024).
3) Gold jewellery consumption to grow 14-18 pc in FY25 in value terms: Report
https://economictimes.indiatimes.com/industry/cons-products/fashion-/-cosmetics-/-jewellery/gold-jewellery-consumption-to-grow-14-18-pc-in-fy25-in-value-terms-report/articleshow/116401503.cms?utm_source=contentofinterest&utm_medium=text&utm_campaign=cppst. /(Retrieved Jan 2, 2024).
4) India’s Jewellery Market Shines Bright, Projected To Hit $100 Bn In 2025, available at https://www.businessworld.in/article/indias-jewellery-market-shines-bright-projected-to-hit-100-bn-in-2025-543763. (Retrieved Jan 2, 2024).
5) Macro Intelligence: is gold set to outshine other investments in 2025?, available at https://www.ig.com/en-ch/news-and-trade-ideas/macro-intelligence-is-gold-set-to-outshine-other-investments-in-2025-250108. (Retrieved Jan 2, 2024).
6) Jewelry - Saudi Arabia, available at https://www.statista.com/outlook/cmo/accessories/watches-jewelry/jewelry/saudi-arabia. (Retrieved Jan 2, 2024).
7) Saudi Arabia Jewelry Market Overview, available at https://www.kenresearch.com/industry-reports/saudi-arabia-jewelry-market. (Retrieved Jan 2, 2024).
8) Jewelry - United Arab Emirates, available at https://www.statista.com/outlook/cmo/accessories/watches-jewelry/jewelry/united-arab-emirates.
9) UAE’s gold jewellery demand is world’s 5th largest, available at https://www.zawya.com/en/markets/commodities/uaes-gold-jewellery-demand-is-worlds-5th-largest-xlth4904
10) UAE's High Gold Jewellery Demand: Insights and Global Trends 2024, available at https://world-arabia.com/articles/uae-s-high-gold-jewellery-demand-insights-and-global-trends-2024/
11) Dubai’s Shifting Trend from Gold to Diamonds, https://www.damacproperties.com/en/blog/dubais-shifting-trend-gold-diamonds. https://world-arabia.com/articles/uae-s-high-gold-jewellery-demand-insights-and-global-trends-2024/
12) Dubai: Is it time to shift from gold to diamonds? Changing jewellery trends seen at shops, available at https://www.khaleejtimes.com/business/markets/dubai-is-it-time-to-shift-from-gold-to-diamonds-changing-jewellery-trends-seen-at-shops?_refresh=true
13) Gold Jewelry Global Business Report 2024-2030: Rising Consumer Demand for Luxury and Status Symbols Propels Growth - ResearchAndMarkets.com, available at https://www.businesswire.com/news/home/20241105423761/en/Gold-Jewelry-Global-Business-Report-2024-2030-Rising-Consumer-Demand-for-Luxury-and-Status-Symbols-Propels-Growth---ResearchAndMarkets.com
14) United States Luxury Fine Jewelry Market Expected to Reach USD 24,374.3 Million by 2034, Driven by Sustainability and Personalization Trends | Future Market Insights. available at https://www.globenewswire.com/news-release/2024/12/04/2991628/0/en/United-States-Luxury-Fine-Jewelry-Market-Expected-to-Reach-USD-24-374-3-Million-by-2034-Driven-by-Sustainability-and-Personalization-Trends-Future-Market-Insights.html