มุมมองผู้บริโภคสะท้อนแนวโน้มทางการตลาดอัญมณี Lab Grown Diamond
จากผลสำรวจทัศนคติของผู้บริโภคและภาคธุรกิจเกี่ยวกับอัญมณีเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการ หรือ Lab Grown Diamond ของบริษัทด้านการตลาดเครื่องประดับและอัญมณีในสหรัฐ The MVEye หรือชื่อเดิมว่า MVI Marketing ระบุว่าอัญมณีเพชรที่มนุษย์ผลิตขึ้นนั้นเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคและมีผู้ซื้อหามาครอบครองเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้ว โดยในขณะนี้เพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการมีวางจำหน่ายอยู่ราวร้อยละ 2-3 ของเพชรในตลาดโลก
ในรายงาน Gaining Critical Mass: 2020 Lab Grown Diamond Consumer & Trade Research Report ที่เผยแพร่เดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัท The MVEye ทำการสำรวจผู้บริโภคชาวสหรัฐกว่า 1,000 คนที่มีอายุ 23-55 ปีและซื้อเครื่องประดับอัญมณีเพชรในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยพบว่า ผู้รับการสำรวจร้อยละ 80 รู้จักเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการ จากเดิมที่มีคนรู้จักไม่ถึงร้อยละ 10 ในปี 2012 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 58 ในปี 2018 นอกจากนี้ ผู้บริโภคร้อยละ 8 ระบุว่าตนเองเป็นเจ้าของเครื่องประดับอัญมณีเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการด้วย
ผู้บริโภคเกือบ 1 ใน 3 ระบุว่ารู้จักเพชรที่ผลิตโดยห้องปฏิบัติการจากผู้ขายเครื่องประดับที่นำเสนอสินค้าในขณะที่กำลังหาซื้อแหวนหมั้นหรือเครื่องประดับอัญมณี และอีกร้อยละ 21 รู้จักเพชรกลุ่มนี้จากสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Facebook, Instagram และ YouTube
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อเพชรกลุ่มนี้เพราะเป็นสินค้าที่คุ้มค่าเมื่อเทียบราคากับขนาด เพื่อที่จะได้ประหยัดงบลงและได้เพชรขนาดใหญ่ขึ้นในราคาที่ถูกลง ในขณะที่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นปัจจัยสำคัญรองลงมา โดยการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงสิ่งเสริมแต่งให้ดูดีสำหรับดึงดูดผู้บริโภครุ่นใหม่ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่สร้างคุณค่า