SCS ร่วมมือกับ ARM สร้างแนวทางความยั่งยืนให้ทองคำ
ในช่วงที่ผ่านมาการเกิดขึ้นของไวรัสโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก กลายเป็นตัวเร่งผลักดันให้ผู้คนทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการ ที่มีการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงหลักความมีจริยธรรม เน้นความยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคนี้กลายเป็นกระแสหลักที่มีส่วนเข้ามาผลักดันให้ผู้ผลิตในแต่ละภาคอุตสาหกรรมต้องสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่มีการสร้างมาตรฐานด้านจริยธรรมให้เป็นที่ยอมรับในตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ล่าสุดได้มีความร่วมมือของ SCS Global Services (SCS) องค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมทั้งทำหน้าที่ในการตรวจสอบ การทดสอบ และการพัฒนามาตรฐาน ได้ร่วมมือกับ Alliance for Responsible Mining (ARM) องค์กรระดับโลกที่ให้การสนับสนุนทําเหมืองแร่แบบดั้งเดิมและขนาดเล็กในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของคนงานเหมืองและชุมชน ซึ่งทั้งสององค์กรได้ประกาศข้อตกลงในการขยายมาตรฐาน SCS-007 ที่ใช้เพื่อจัดอันดับความยั่งยืนสำหรับเครื่องประดับ เพื่อรวมการรับรองทองคําที่มาจากเหมืองแร่แบบดั้งเดิมและเหมืองขนาดเล็ก (ASM) เข้าไปด้วย
เป้าหมายของความร่วมมือนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการเหมืองแร่เพื่อความยั่งยืนของ ARM ได้รับการประเมินทองคําที่มาจากเหมืองภายใต้มาตรฐาน SCS-007 และทําการตลาดให้กับผู้บริโภคว่าเป็น "ทองคําที่ได้รับการรับรองความยั่งยืน"
ภาพสัญลักษณ์มาตรฐาน SCS-007 จาก www.3blmedia.com
ทั้งนี้ ภายใต้มาตรฐาน SCS-007 นั้น ประกอบไปด้วย 5 เสาหลัก คือ แหล่งที่มาโปร่งใสตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบที่มีจริยธรรม การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ กระบวนการผลิตที่เน้นความยั่งยืน และการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
นอกจากนี้ จากการสำรวจของ ARM พบว่า ผู้บริโภคอัญมณีและเครื่องประดับในปัจจุบันถึง 75% ให้ความสำคัญต่อประเด็นการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน การใช้แรงงานเด็ก และการทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การที่มีมาตรฐาน SCS-007 จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่า เครื่องประดับทองคำที่ลูกค้าเลือกซื้อหานั้น มาจากแหล่งที่มีความรับผิดชอบและเชื่อถือได้
การร่วมมือกันของ SCS กับ ASM นั้น จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้น เพื่อก่อให้เกิดความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อโลกใบนี้ เพราะเราคงไม่อาจเติบโตอย่างยั่งยืนได้หากโลกนี้ไม่มีทรัพยากรให้เราได้ใช้สอยดังเดิมอีกต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
2) Alliance for Responsible Mining. 2022. SCS 007 Sustainable Jewelry Standard to Include Artisanal Gold Mines. [Online]. Available at: www.responsiblemines.org. (Retrieved Retrieved April 22, 2022).