มองแนวโน้มผ่านงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับฮ่องกง
เมื่อเร็วๆ นี้ HKTDC Research ได้เผยแพร่ผลการสำรวจผู้ซื้อและผู้ขายจำนวน 732 คนในงานแสดงสินค้า Hong Kong International Jewellery Show 2023 และ Hong Kong International Diamond, Gem and Pearl Show 2023 พบว่าผู้ค้าอัญมณีคาดว่ายอดขายอัญมณีและเครื่องประดับจะเพิ่มขึ้นในปีนี้และปี 2567 และน่าจะทำให้บริษัทเติบโตเท่ากับระดับก่อนการเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19
ทั้งนี้ ผู้ค้ามองว่าการฟื้นตัวของกำลังซื้อของลูกค้าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในปีนี้และปีหน้า ตามมาด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากตลาดเกิดใหม่ และโอกาสทางธุรกิจจากการค้าปลีกออนไลน์
ภาพ:https://www.elle.com/
เนื่องจากมีการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงทำให้ผู้ค้าหันมาขายสินค้าออนไลน์มากขึ้นด้วย ซึ่งผู้ค้าที่ตอบแบบสอบถาม 62% ใช้ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ ส่วนอีก 38% ยังคงขายสินค้าผ่านหน้าร้าน โดยผู้ขายส่วนใหญ่ยังมองว่าการค้าอีคอมเมิรซ์มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น จึงวางกลยุทธ์การขายออนไลน์ให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางธุรกิจหลัก ซึ่งจะสร้างโอกาสเติบโตสำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในอนาคต สำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ผู้ค้าใช้มากที่สุดคือ Alibaba รองลงมาเป็น Amazon, Taobao, hktdc.com และ eBay ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มเครื่องประดับที่มีโอกาสขายดีที่สุดเป็นเครื่องประดับแฟชั่น เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากกำลังมองหาเครื่องประดับราคาไม่แพงและใช้งานได้หลากหลาย สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ รองลงมาคือเครื่องประดับมีค่า เครื่องประดับจากดีไซเนอร์ และเครื่องประดับสำหรับงานแต่งงานและโอกาสพิเศษ ส่วนอัญมณีที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากที่สุดคือ เพชร รองลงมาคือ ทับทิม ไข่มุก และมรกต ตามลำดับ
ตลาดผู้บริโภคอัญมณีและเครื่องประดับของโลกที่มีโอกาสเติบโตสูงคือ จีน และฮ่องกง อย่างไรก็ดี ผู้ค้ามองว่ามีปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายเครื่องประดับในปีหน้าได้คือ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ซึ่งจะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก รวมถึงต้นทุนการผลิตและต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นก็น่าจะส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีก ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าได้
จากข้อมูลข้างต้น ถือเป็นแนวทางที่ช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าได้ตรงความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายในปี 2567 อย่างไรก็ดี พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจึงต้องติดตาม ศึกษา และปรับกลยุทธ์ เปลี่ยนวิธีการ และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทันที รวมถึงปรับแนวคิดรูปแบบการทำการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง
จัดทำโดย นางสาววาสนา สมเนตร์
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2566
ข้อมูลอ้างอิง