อินเดียยืนหนึ่ง เครื่องประดับแพลทินัมเติบโตสูง
แพลทินัมเป็นหนึ่งในโลหะมีค่าที่นิยมนำมาผลิตเครื่องประดับ จากการที่แพลทินัมเป็นโลหะที่ทนทาน สวยงาม ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ทำให้เป็นตัวเลือกยอดนิยมในเครื่องประดับแท้รวมทั้งคอลเลคชั่นของแบรนด์เครื่องประดับล้ำค่าระดับไฮเอนด์ของโลก โดยเฉพาะตลาดสำคัญของโลกอย่างอินเดียที่มีอุปสงค์จากผู้บริโภคเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
จากการเปิดเผยของ Platinum Jewellery Business Review (PJBR) ซึ่งเผยแพร่โดย Platinum Guild International (PGI) องค์กรระดับโลกที่ส่งเสริมการตลาดเครื่องประดับแพลทินัม พบว่า อินเดียสามารถครองอันดับหนึ่งในไตรมาส 2 ของปี 2566 ด้วยยอดค้าปลีกเติบโตสูงถึงสองหลักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แซงหน้าตลาดที่สำคัญอื่นๆ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน จากผลลัพธ์ที่เป็นบวกนี้ PGI ถือว่ามีส่วนสำคัญจากการใช้
กลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดที่ได้ผล ทำให้เกิดแรงดึงดูดสร้างความสนใจให้แพลทินัมมีส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น
ในไตรมาส 2 ตลาดเครื่องประดับแพลทินัมในอินเดีย ขยายตัวสูงถึง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการแต่งงานในช่วงเทศกาล Akshaya Tritya ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญที่ได้รับการเฉลิมฉลองในฐานะเทศกาลแห่งความเจริญรุ่งเรือง ทำให้ชาวอินเดียนิยมจัดงานมงคลทั้งการเริ่มต้นโครงการใหม่ การลงทุน รวมทั้งการแต่งงาน ขณะที่ PGI ได้ร่วมจัดแคมเปญโฆษณาทั้ง Platinum Love Bands และ Platinum Evara เพื่อผลักดันเครื่องประดับแพลทินัมในช่วงนี้ด้วย
ภาพโฆษณา Platinum Love Bands จาก https://brandequity.economictimes.indiatimes.com/
นอกจากอินเดียแล้ว ในแดนอาทิตย์อุทัย ยอดขายเครื่องประดับแพลทินัมเติบโตเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 9 โดยไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องประดับแพลทินัมที่เป็นโซ่ สไตล์ Kihei ในกลุ่มผู้ชายเติบโตสูงที่สุด ตามด้วยผู้หญิงวัยรุ่นเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ขยายตัวได้ดีในไตรมาส 2 นี้
ส่วนในสหรัฐฯ พันธมิตรทางธุรกิจของ PGI หลายแห่งล้วนมียอดขายลดลงเฉลี่ย 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทาง PGI ได้เข้าไปช่วยให้ความรู้และอบรมการขายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นยอดขายในตลาดนี้
เช่นเดียวกับในจีนที่กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลงจากปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้พันธมิตรทางธุรกิจของ PGI มียอดขายลดลงเฉลี่ย 17% โดย PGI พยายามเข้าไปใช้โอกาสส่งเสริมการตลาดในมณฑลเหลียวหนิงและมณฑลกวางตุ้งในช่วงเทศกาลชอปปิง รวมถึง PGI ยังได้ร่วมเป็นเจ้าภาพโปรโมชั่นวันแห่งความรัก ในช่วงเทศกาลวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ครอบคลุมเครือข่ายร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ 33 แห่ง ซึ่งมีอัตราการเติบโตของยอดขายถึง 120% ตลอดช่วงระยะเวลาส่งเสริมการขาย
ความต้องการเครื่องประดับแพลทินัมนั้นได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆ อย่างการส่งเสริมการตลาด แรงจูงใจจากดาราหรือผู้มีชื่อเสียง รวมทั้งการซื้อเพื่อการลงทุน ซึ่งนอกจากตลาดสำคัญทั้งสี่แห่งแล้ว ยังมีอีกหลายตลาดทั่วโลก ซึ่งมีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องประดับแพลทินัม แต่ในช่วงเวลานี้ต้องยกให้แดนภารตะที่ยืนหนึ่งในตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับแพลทินัม
จัดทำโดย นายพุทธิพร วิชัยดิษฐ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤศจิกายน 2566