ข้อมูลพื้นฐานอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
กระบวนการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม: ทองรูปพรรณ
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ ครอบคลุมทองรูปพรรณที่มีความบริสุทธิ์ของทองคำประเภทและสัญลักษณ์ต่างๆ และทองรูปพรรณที่มีสีเป็นไปตามธรรมชาติของทองคำและที่มีสีอื่นๆ ด้วย แต่ไม่ครอบคลุมถึงสินค้ารูปพรรณที่ทำจากโลหะอื่นที่ชุบด้วยทองคำ
การออกแบบเครื่องประดับ
การออกแบบเครื่องประดับมิใช่เพียงการวาดภาพ นอกเหนือจากความสามารถในการวาดภาพและความคิดสร้างสรรค์ในเชิงศิลปะแล้ว นักออกแบบยังต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวัสดุและขั้นตอนในการผลิตเครื่องประดับด้วย เพราะแบบของเครื่องประดับที่สวยงามก็ไร้ประโยชน์หากไม่สามารถผลิตขึ้นมาเป็นเครื่องประดับได้ หรือแม้ว่าจะสามารถผลิตออกมาได้ แต่ไม่สามารถใช้สวมใส่ได้จริงก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน ดังนั้น นักออกแบบจำเป็นจะต้องทราบว่าเมื่อผลิตออกมาแล้วเครื่องประดับจะมีสัดส่วนอย่างไร และจะต้องคำนึงถึงวัสดุที่จะนำมาใช้ ตลอดจนความต้องการของผู้ซื้ออีกด้วย
การเจียระไนพลอยสี
กล่าวกันว่าการเจียระไนพลอยในประเทศไทยมีต้นกำเนิดมาจากชาวไทยใหญ่ที่ได้รับการถ่ายทอดทักษะมาจากชาวพม่าอีกทอดหนึ่ง ในอดีตการเจียระไนยังไม่สามารถทำให้พลอยเกิดประกายได้มากนัก แต่ปัจจุบันการเจียระไนได้รับการพัฒนาปรับปรุงเรื่อยมาจนสามารถดึงประกายของพลอยออกมาได้มากกว่าในอดีต
การเจียระไนเพชร
แม้ว่าอัญมณีส่วนใหญ่จะมีความแวววาวตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่การเจียระไนที่ดีจะยิ่งส่งให้อัญมณีเหล่านั้นเปล่งประกายแวววาวได้มากยิ่งขึ้น การเจียระไนเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และความรู้ เนื่องจากการเจียระไนสามารถทำให้อัญมณีมีค่ามากยิ่งขึ้นหรือน้อยลงได้
การหล่อตัวเรือนเครื่องประดับ
การหล่อตัวเรือนเครื่องประดับนั้น หลังจากที่ได้แม่พิมพ์ยางแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนการหล่อเครื่องประดับ ซึ่งปัจจุบันการผลิตเครื่องประดับระดับอุตสาหกรรมนิยมใช้วิธีเผาไล่ขี้ผึ้ง (Lost Wax) การหล่อตัวเรือนเครื่องประดับโดยใช้วิธีเผาไล่ขี้ผึ้งมีข้อดีหลายประการ อาทิ ชิ้นงานที่ได้มีมาตรฐานเดียวกัน และช่วยประหยัดเวลา สามารถผลิตเครื่องประดับได้คราวละมากๆ
การทำต้นแบบเครื่องประดับ
การทำต้นแบบเครื่องประดับเป็นกระบวนการต่อจากการออกแบบเครื่องประดับ เมื่อช่างผลิตเครื่องประดับได้แบบมาแล้วจะทำการผลิตเป็นเครื่องประดับ โดยการเริ่มทำต้นแบบก่อน ในการทำต้นแบบเครื่องประดับ อันดับแรกช่างฝีมือจะต้องทำการวินิจฉัยแบบก่อน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มขั้นตอนการปั้นดินน้ำมัน การทำต้นแบบ และการทำแม่พิมพ์ยาง ตามลำดับ
การชุบและเคลือบผิวเครื่องประดับ
การชุบและเคลือบผิวชิ้นงานเครื่องประดับนอกจากวัตถุประสงค์เพื่อความสวยงามแล้ว ยังเป็นการป้องกันการเกิดออกไซด์บริเวณผิว ซึ่งจะทำให้เครื่องประดับหมองอีกด้วย การชุบและเคลือบผิวเครื่องประดับส่วนใหญ่จะเป็นการชุบทองและโลหะกลุ่มแพลทินัม เช่น โรเดียม พาลาเดียม โดยมีหลายวิธีได้แก่ การพ่นความร้อน การชุบโดยการจุ่มร้อน การชุบเคลือบผิวด้วยไอกายภาพ การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า แต่วิธีที่ได้รับความนิยมในระดับอุตสาหกรรมมากที่สุดคือ การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า
การประดับอัญมณี
ขั้นตอนการประดับอัญมณีบนชิ้นงานเครื่องประดับประกอบด้วย การแต่งและประกอบตัวเรือน การขัดเงาตัวเรือน และการฝังอัญมณีบนชิ้นงานเครื่องประดับ