ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

โลกออนไลน์กับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในยุค New Normal

Oct 16, 2020
3021 views
0 share

        ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดการดำเนินวิถีชีวิตแบบปกติใหม่ หรือเรียกว่า New Normal เช่น การทำงานจากที่บ้านกลายเป็นเรื่องปกติ การทำกิจกรรมผ่านโลกดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ภาคธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนแปลงตาม หลายธุรกิจได้หันมาทำการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือธุรกิจ E-Commerce มากขึ้น รวมถึงธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับที่หันมาจัดแสดงสินค้าออนไลน์ (Virtual Event) แทนการจัดงานแบบปกติและ/หรือขายสินค้าด้วยการไลฟ์สด (Live Streaming) กันมากขึ้น คาดว่าสิ่งเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไปแม้จะพ้นวิกฤตโควิดไปแล้ว 

วิกฤตโควิดเร่งธุรกิจเข้าสู่โลกออนไลน์  

การค้าออนไลน์มีมานานแล้วแต่อาจจะยังไม่มีการใช้กันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่จากมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด ที่ดำเนินการกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ทำให้ผู้คนต้องอยู่ในบ้านมากขึ้น และหันไปซื้อสินค้าเกือบทุกชนิดผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มจะกลายเป็นพฤติกรรมถาวรแม้โควิด-19 จะดีขึ้นในอนาคต และในที่สุดอาจจะกลายเป็นความเคยชินกับการซื้อสินค้าออนไลน์ จึงกระตุ้นให้กลุ่มร้านค้าต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและทำธุรกิจ E-Commerce โดยเร็วยิ่งขึ้น เพื่อนำธุรกิจจากออฟไลน์เข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ หรือ O2O (Offline to Online) 

นับตั้งแต่หลายประเทศได้เริ่มมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้การค้าออนไลน์ทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากรายงานของ Bazaarvoice พบว่าคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ทั่วโลกในเดือนมีนาคม 2563 เพิ่มขึ้น 21% และเพิ่มสูงถึง 96% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2562 ส่งผลให้ยอดขายหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ขยายตัวสูงขึ้นและมีผลประกอบการที่น่าพอใจ อาทิ Amazon ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม E-Commerce ยักษ์ใหญ่ของโลกสามารถทำยอดขายในไตรมาส 2 ปี 2563 ได้เพิ่มสูงขึ้น 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือ eBay มียอดขายไตรมาสที่ 2 ในตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นถึง 34.6% และตลาดระหว่างประเทศเติบโตถึง 26.3% ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 15 ปี


ที่มา: https://www.business.com (ข้อมูลในเดือนเมษายน 2563)

        นอกจากนี้ eMarketer คาดการณ์ว่าในปี 2563 ตลาด E-Commerce ทั่วโลกจะเติบโตราว 16.5% และมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาด E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดสามอันดับแรกของโลก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ ซึ่งการค้าเครื่องประดับจะได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของการค้าออนไลน์มากขึ้นด้วยเช่นกัน โดย Technavio คาดการณ์ว่าในระหว่างปี 2563-2567 ตลาดเครื่องประดับออนไลน์ทั่วโลกจะเติบโตได้เฉลี่ยปีละ 15% 

ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเข้าสู่โลกออนไลน์ในยุค New Normal

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในยุค New Normal ที่เข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจำเป็นต้องปรับตัวทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่โลกดิจิทัลในมิติต่างๆ มากขึ้น ได้แก่

Virtual Event* : 

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การจัดงานแสดงสินค้าหรืองานอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย จำเป็นต้องยกเลิกหรือเลื่อนการจัดงานออกไปอย่างไม่มีกำหนด อย่างไรก็ดี เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ผู้จัดอีเวนต์ในหลายธุรกิจไม่ว่าจะเป็นงานคอนเสิร์ต งานสัมมนา งานสัปดาห์หนังสือ หรืองานแสดงสินค้าต่างๆ จึงเลือกปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน โดยหันมาทำ Virtual Event หรืองานแสดงสินค้าออนไลน์ โดยมีตัวอย่างสำหรับงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ดังนี้

The Antwerp World Diamond Centre (AWDC) ร่วมมือกับ Israeli Diamond Institute (IDI) จัดงานแสดงสินค้าอัญมณีเพชรออนไลน์เป็นครั้งแรก ในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม ถึง 4 เมษายน 2563 ผ่านแพลตฟอร์ม Virtual Diamond Boutique ที่ให้เฉพาะผู้ค้าชาวเบลเยียมและอิสราเอลเข้าร่วมงานในฐานะผู้ขายอัญมณีเพชรและเครื่องประดับเพชร ส่วนคนชาติอื่นให้เข้าร่วมงานในฐานะผู้ซื้อได้เท่านั้น ซึ่งทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น

แพลตฟอร์ม Virtual Diamond Boutique

ที่มา: https://www.vdbapp.com/


        Indian Fashion Jewelry & Accessories Show (IFJAS) เป็นอีกหนึ่งงานแสดงสินค้าเครื่องประดับแฟชั่นชั้นนำของอินเดียที่เลือกจัดให้มีอีเว้นต์เครื่องประดับอัญมณีออนไลน์เป็นครั้งแรก โดยจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-4 มิถุนายน 2563 ซึ่งผู้เข้าร่วมออกร้านในอีเวนต์ออนไลน์ครั้งนี้เป็นโรงงานผู้ผลิตอัญมณีชั้นนำของอินเดียที่มาจากเมืองที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับแฟชั่นและแอกเซสซอรีของประเทศ ได้แก่ นิวเดลี อัครา มุมไบ โนอิดา ลัคเนาว์ ชัยปุระ โมราดาบัด ฟาริดาบัด คุรุคราม ฟิโรซาบัด โกลกาตา พาราณสี และอัมริตสา โดยงานแสดงสินค้านี้เหมาะกับผู้นำเข้า ค้าส่ง ค้าปลีก ผู้แทนจำหน่าย ร้านแฟรนไชส์ และห้างสรรพสินค้า ที่กำลังมองหาสินค้าเครื่องประดับอัญมณีแฟชั่นและแอกเซสซอรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและราคาไม่สูง

ที่มา: https://ifjas.in/

JCK ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญอันดับต้นในสหรัฐอเมริกาและของโลก ได้จัดงานแสดงสินค้าออนไลน์ครั้งแรกในชื่อว่า “JCK Virtual 2020” ในระหว่างวันที่ 10-14 สิงหาคม 2563 โดย JCK ได้เชิญผู้ซื้อและผู้ค้าปลีกทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงาน โดยมีผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้กว่า 3,500 ราย สำหรับกิจกรรมทั้งหมดภายในงานซึ่งจะทำผ่านระบบ JCK Virtual Platform ประกอบด้วยกิจกรรมเสมือนจริง ได้แก่ โชว์รูมแสดงสินค้าเครื่องประดับอัญมณีของผู้ประกอบการต่างๆ ห้องพบปะระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้อ มีการจับคู่ธุรกิจ และงานสัมมนาในหัวข้อต่างๆ

ที่มา: https://virtual.jckonline.com 

        Bangkok Gems & Jewelry Fair งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับชั้นนำของไทยและของโลก ก็มีกำหนดจัดงานแสดงสินค้าออนไลน์ระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2563 ภายใต้ชื่องาน BGJF Special Edition – On Ground to Online Exhibition” เพื่อตอบโจทย์การค้าแบบ New Normal ในช่วงที่การเดินทางระหว่างประเทศยังคงเป็นไปได้ยาก โดยรูปแบบการจัดงานจะเปิดให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ตลอดจนผู้ที่สนใจจะเข้าชมสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลก สามารถเข้าชมผ่านทางออนไลน์ เสมือนกับเดินทางมาชมงานแสดงสินค้าจริง อีกทั้งยังจัดให้มีการเจรจาธุรกิจในช่วงการจัดงานผ่านทางออนไลน์ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ

        อย่างไรก็ดี Virtual Event ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะแพลตฟอร์มการทำอีเวนต์มีมาได้ระยะหนึ่งแล้ว หากแต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าปัจจุบัน ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีอยู่ก่อนแล้วอย่าง Jewelry Virtual Fair (JVF) ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีลักษณะเสมือนเป็นโชว์รูมเครื่องประดับอัญมณี อีกทั้งยังเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับตลาดและเทรนด์ของเครื่องประดับอัญมณีด้วย ปัจจุบันมีผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าออนไลน์ และนักออกแบบ เข้าร่วมเป็นสมาชิกกว่า 800 คน จากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกสมัครใช้บริการได้ทั้งแบบมีค่าใช้จ่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย 

ที่มา: https://www.jewelryvirtualfair.com/en/

        จากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น และสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการรวมตัวกัน ผู้จัดอีเวนต์ไม่อาจจัดงานในรูปแบบปกติได้ ทำให้ Virtual Event ได้รับความนิยมมากขึ้น และมีแนวโน้มที่ Virtual Event จะไม่ได้เป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มชั่วคราวอีกต่อไป แต่อาจกลายเป็นรูปแบบหลักของผู้จัดอีเวนต์ที่จะนำไปใช้ผสมผสานกับอีเวนต์ออฟไลน์ 

Live Streaming** :

นับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา การไลฟ์สดขายสินค้ากลายเป็นเทรนด์ใหม่ในตลาด E-Commerce ที่ผู้ประกอบการต่างพยายามปรับรูปแบบการขายเพื่อให้ทันต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาเกือบทุกธุรกิจไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า อสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร รถยนต์ เครื่องสำอาง หรือแม้กระทั่งเครื่องประดับมีค่าต่างหันมาใช้การไลฟ์สดขายสินค้า (Live Streaming) จนทำให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานและประเภทสินค้า และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากสถิติของ Global Trends ระบุว่า ในปี 2563 มูลค่าทางการตลาดของการไลฟ์สดทั่วโลกมีมากถึง 20,000 ล้าน-ดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มเป็น 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2569 ตามการคาดการณ์ของ Trendsmarketresearch

        สำหรับตลาดที่ใช้กลยุทธ์การไลฟ์สดขายสินค้าซึ่งเติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด ก็คือ จีน***  ที่เป็นต้นกำเนิดการไลฟ์สดขายสินค้ามาตั้งแต่ปี 2557 โดยผู้ประกอบการเกือบทุกประเภทสินค้าต่างหันมาใช้กลยุทธ์การไลฟ์สดขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มยอดนิยมของจีนอย่าง Taobao และ JD.Com เป็นต้น ซึ่งมีตั้งแต่แบรนด์ท้องถิ่นไปจนถึงแบรนด์หรูพรีเมี่ยม อาทิ Lanvin แบรนด์กระเป๋าหรูจากฝรั่งเศส โดยคุณ Guo Guangchang เจ้าของบริษัท Fosun ที่ได้เข้าซื้อกิจการแบรนด์ Lanvin เข้าร่วมไลฟ์สดเพียง 5 นาที ก็สามารถขายสินค้ามูลค่า 4,060 ดอลลาร์สหรัฐได้ทันที หรือ Burberry ที่จัดไลฟ์สดบนแพลตฟอร์ม Taobao มีผู้เข้าชมถึง 1.4 ล้านวิว เป็นต้น รวมถึงแบรนด์เครื่องประดับชั้นนำของโลกอย่าง Tiffany & Co. หรือ Chow Tai Fook แบรนด์เครื่องประดับชั้นนำจากฮ่องกง ก็ไม่พลาดโอกาสสร้างยอดขายผ่านการไลฟ์สดเช่นกัน

ภาพการไลฟ์สดขายเครื่องประดับในจีน

ที่มา:https://insideretail.asia/2020/04/07/how-chinese-jeweller-ideal-transformed-staff-into-live-streaming-kols/


คุณ Guo Guangchang เจ้าของบริษัท Fosun

ไลฟ์สดขายกระเป๋า Lanvin

ที่มา: https://www.everydaymarketing.co

        ไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่การไลฟ์สดขยายตัวได้สูงมาก โดย Shoplus เผยยอดขายจากการไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเติบโตสูงกว่า 2.16 เท่า เพราะผู้บริโภคชาวไทยหันมาซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นมาก โดยสินค้าที่ซื้อมีความหลากหลายตั้งแต่เครื่องประดับทอง เสื้อผ้า ไปจนถึงเจลล้างมือ และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมที่ผ่านมา มีร้านค้าทองหลายรายไลฟ์สดขายทองรูปพรรณแท้ผ่านเฟซบุ๊ก ได้รับออเดอร์เพิ่มสูงกว่า 2 เท่าเลยทีเดียว

        ทั้งนี้ ลูกค้าในปัจจุบันมักต้องการเห็นสินค้าจริง รวมถึงวิธีการใช้งานสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้า และต้องการให้ผู้ค้าตอบกลับในทันที การโฆษณาขายสินค้าผ่านรูปภาพ และวิดีโอ จึงเริ่มไม่น่าสนใจ ผู้ขายไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ พูดคุย หรือตอบกลับลูกค้าได้อย่างทันที ในขณะที่ไลฟ์สดสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้หมด จึงช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อของลูกค้า และทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้เร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ และลูกค้าไว้วางใจในการสั่งซื้อสินค้าจากแบรนด์มากขึ้น 

        โลกธุรกิจหลังยุคโควิด-19 จะเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความคุ้นเคยและถูกจริตกับโลกออนไลน์ จะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับจึงจำเป็นต้องสร้างโอกาสจากวิถีชีวิตใหม่ที่ผู้บริโภคเริ่มคุ้นชิน โดยเร่งรุกตลาดผ่านช่องทางออนไลน์อย่างจริงจัง เพราะตลาดออนไลน์ยังเติบโตได้อีกมาก อีกทั้งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้สามารถตอบโจทย์หรือสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ อันจะช่วยหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจยังเติบโตได้ต่อไป


Virtual Event เป็นการจำลองสภาพแวดล้อมของงานอีเวนต์จากที่ต้องมีสถานที่ที่ใช้ในการจัดงาน ย้ายฐานมาสู่หน้าจอออนไลน์ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานสามารถมีส่วนร่วมผ่านช่องทางออนไลน์ได้จากทุกแห่งบนโลก และสามารถสัมผัสกับเนื้อหาแบบเดียวกับงานอีเวนต์ที่จัดขึ้นในโลกแห่งความจริง เหมาะกับการจัดงานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่มีผู้ร่วมงานจำนวนมากจากหลายๆ ประเทศ ไม่จำเป็นต้องใช้สถานที่จริงในการจัดงาน และช่วยเพิ่มการเข้าถึงของผู้เข้าร่วมงานและการสัมผัสประสบการณ์ของงานได้อย่างใกล้ชิด

** การไลฟ์สดเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มยอดขายในรูปแบบวิดีโอผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสามารถไลฟ์ด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านแพลตฟอร์มหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook, Instagram และ Youtube เป็นต้น หรือจะไลฟ์ผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce อาทิ Amazon และ Taobao เป็นต้น

*** คิวซีซีด็อทคอม เผยว่า ในปี 2562 ยอดการจดทะเบียนไลฟ์สตรีมในจีนอยู่ที่ 5,684 ราย และในช่วงการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ยอดการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการไลฟ์สตรีมเริ่มพุ่งสูงในเดือนมีนาคม และเพิ่มสูงมากในเดือนพฤษภาคม ซึ่งมียอดการขึ้นทะเบียนอยู่ที่ 2,877 ราย สูงกว่า 6.84 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2562