ปลาแหวกว่ายในสายธารสัญลักษณ์แห่งความโชคดี
‘ปลา’ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำซึ่งมีความสัมพันธ์กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฎในหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ อาทิ ภาพเขียนสีรูปปลาอายุกว่า 3,000 ปี ณ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น ซึ่งนอกจากประโยชน์ในด้านการเป็นแหล่งอาหารแล้ว มันยังมีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ทางความเชื่อซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ศาสนา และอารยธรรมของมนุษย์ในทุกมุมโลก
ตัวอย่างของความเชื่อในยุคโบราณอันเกี่ยวกับปลา ได้แก่ ชาวนครบาบิโลน* เชื่อว่า ปลาคือสัญลักษณ์แห่งชีวิตและความสุข ด้านชาวสแกนดิเนเวียเชื่อว่ามันคือสัญลักษณ์แห่งความมุ่งมั่น ขณะที่ชาวเคลต์เชื่อว่าปลาคือสัญลักษณ์ของความรู้ และสติปัญญา เป็นต้น
ในวัฒนธรรมความเชื่อของชาวจีน ปลาเป็นสัตว์มงคล เนื่องจากคำว่า “หยู” (鱼) ซึ่งแปลว่า ปลา ออกเสียงคล้ายกับคำว่า “หยู” (余) ที่มีความหมายว่า “มีเหลือ” ดังนั้น ชาวจีนจึงถือว่าปลาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และความมั่งคั่งร่ำรวย
ต่างหูทอง 3 กษัตริย์ รูปปลา ทำจากทอง 18 กะรัต ประดับอัญมณีเพชร
เครื่องประดับโดย: Bvlgari
ขณะที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่ามีปลาดุกขนาดมหึมาชื่อว่า ‘นะมะสุ’ นอนหลับใหลอยู่ใต้เกาะญี่ปุ่น โดยทุกครั้งที่เจ้าปลาดุกยักษ์นี้ขยับตัวจะทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนและเกิดเป็นแผ่นดินไหว นอกจากนี้ ยังมีปลาอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีความสำคัญกับวัฒนธรรมของชาวอาทิตย์อุทัย นั่นคือ ‘ปลาคาร์ฟ’ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าปลาคาร์ฟเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุข และความโชคดี เราจึงมักพบเห็นปลาคาร์ฟตัวโตหลากสีแหวกว่ายอยู่ในน้ำตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน วัดวาอาราม หรือศาลเจ้า ทั้งยังปรากฎอยู่ตามสิ่งของต่างๆ อาทิ รูปภาพ จานชาม และธงรูปปลาคาร์ฟ อีกด้วย
เข็มกลัดที่ออกแบบเป็นปลาคาร์ฟ ประดับด้วยเพชรและพลอยสี
เครื่องประดับโดย: Graff
ข้อมูลอ้างอิง
2. Catholic Encyclopedia. Symbolism of Fish. Retrieved 6 January 2020 from https://www.catholicity.com/encyclopedia/f/fish,symbolism_of.html
3. Japan Info. (31 ธันวาคม 2560). 10 เครื่องรางนำโชคยอดนิยมของคนญี่ปุ่นที่ควรมีไว้ในครอบครอง. เข้าถึง 6 มกราคม 2563 จาก https://jpninfo.com/thai/3958