พลิกธุรกิจเครื่องประดับ: เทคโนโลยีที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง
ความก้าวหน้าครั้งสำคัญทางเทคโนโลยีมักนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การใช้ประโยชน์จากไฟนับเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าดังกล่าว เช่นเดียวกับการคิดค้นดินปืน เครื่องจักรไอน้ำ ไฟฟ้า เครื่องยนต์เผาไหม้ ทรานซิสเตอร์ คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และอินเทอร์เน็ต ในทุกเหตุการณ์เหล่านี้ เราสามารถบ่งชี้ถึงความแตกต่างของโลกก่อนเกิดนวัตกรรมดังกล่าวและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากนั้น
แวดวงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก็มีจุดเปลี่ยนของตนเองเช่นกัน ซึ่งบางส่วนก็เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเรา ส่วนใหญ่แล้วจุดเปลี่ยนดังกล่าวมาจากการดัดแปลงเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในแวดวงอื่นๆ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ ในแวดวงธุรกิจที่มีขนาดจำกัดเช่นนี้ เราไม่ได้มีทุนมหาศาลเพื่อลงทุนพัฒนาระบบที่เป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ อีกทั้งการนำเทคโนโลยีมาขัดเกลาและผลิตซ้ำก็ยังขาดความคุ้มค่าในแง่ขนาด แต่ในกรณีที่เรานำเทคโนโลยีจากแวดวงอื่นมาใช้งานได้เป็นผลสำเร็จนั้น ผลลัพธ์ที่ตามมาก็เป็นรูปเป็นร่างอยู่พอสมควร
สำหรับภาคธุรกิจเพชร จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือการพัฒนาเครื่องมือพล็อตตำแหน่งเพชรก้อนด้วยระบบไฟฟ้าเชิงแสง (Electro-Optical) ในยุคทศวรรษ 1990 ซึ่งช่วยให้เราสามารถแยกการตัดสินใจในกระบวนการตัดแต่งและเจียระไนเพชรออกจากขั้นตอนการผลิตเพชรได้เป็นครั้งแรก ในเวลาที่เทคโนโลยีนี้เข้ามานั้น มีการใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อตัดแต่งและเจียระไนเพชรอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เนื่องจากยังต้องอาศัยคนงานผู้มีความชำนาญสูงมาคอยตรวจสอบอัญมณีอย่างสม่ำเสมอและปรับแต่งแก้ไขตามความจำเป็น
ระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการตัดสินใจนับเป็นการปฏิวัติวงการ เนื่องจากช่วยให้เราพัฒนาวิธีการผลิตซึ่งใช้ผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่คนมาประเมินวิธีการที่ดีที่สุดในการแปรรูปเพชรก้อน จากนั้นก็ลงมือทำการผลิตจริงตามเกณฑ์ที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนดไว้ผ่านระบบอัตโนมัติซึ่งควบคุมโดยคนงานที่ผ่านการอบรมมาโดยเฉพาะ เทคโนโลยีได้สร้างกระบวนการทำงานในอุตสาหกรรมเพชรซึ่งมีส่วนสำคัญคล้ายกระบวนการในโรงงานผลิตรถยนต์
ผลสืบเนื่องที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
เช่นเดียวกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีส่วนใหญ่ ผลสืบเนื่องจากระบบและวิธีการทำงานใหม่นี้มีอยู่หลายประการและอาจไม่ตรงตามที่เราคาดการณ์ไว้เสมอไป
เทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มได้รับการพัฒนาในศูนย์กลางการผลิตเพชรที่มีค่าจ้างแรงงานสูง เช่น เบลเยียมและอิสราเอล โดยผู้นำในอุตสาหกรรมเชื่อว่าระบบอัตโนมัติเป็นทางออกที่แท้จริงเพียงประการเดียวในการกระจายกำลังการผลิตไปยังศูนย์กลางการผลิตที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อินเดีย และบางคนก็เข้าใจผิดว่าจะสามารถป้องกันการส่งออกความรู้จากประเทศผู้พัฒนาเทคโนโลยีได้
เครื่องมือพล็อตตำแหน่งเพชรก้อนด้วยระบบไฟฟ้าเชิงแสง (Electro-Optical)
โดยรวมแล้วกระบวนการผลิตแบบใหม่น่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยไปเพียงเล็กน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าบริษัทนั้นต้องมีทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อการลงทุน แต่เนื่องจากระบบมีลักษณะที่เน้นการวิเคราะห์ เน้นความแม่นยำ และเน้นประสิทธิภาพอยู่แล้วในตัว จึงหมายความว่าการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากกำลังการผลิตที่สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากการได้รับผลผลิตที่สูงขึ้นจากเพชรก้อน ตลอดจนการตัดสินใจด้านการผลิตที่สอดคล้องกับสภาพตลาดปัจจุบันมากยิ่งขึ้นด้วย ความสามารถนี้พัฒนาไปตามเทคโนโลยีการพล็อตตำแหน่งเพชรที่มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้สามารถวิเคราะห์เพชรก้อนได้อย่างเจาะลึกเพื่อตรวจหาตำหนิและความไม่สมบูรณ์แบบที่มองจากภายนอกได้ยาก
แต่เทคโนโลยีนี้ก็ไม่ได้หยุดยั้งหรือชะลอการถ่ายเทกำลังการผลิตจากภูมิภาคตะวันตกไปยังตะวันออก และอันที่จริงผู้ได้รับผลประโยชน์หลักก็คือศูนย์กลางการผลิตซึ่งแต่เดิมถูกเรียกว่าเป็นแหล่งผลิตที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำอย่างอินเดียและตามมาด้วยจีน เทคโนโลยีนี้กลับกลายมาเป็นวิธีการอันทรงประสิทธิภาพเพื่อลดช่องว่างในแง่คุณภาพขั้นสุดท้ายของผลผลิตเพชรเจียระไนตามที่เข้าใจกันมาแต่เดิม
เทคโนโลยีนี้ยังได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของอุตสาหกรรมเพชรในอินเดียซึ่งทุกวันนี้เป็นผู้เจียระไนเพชรกว่า 9 ใน 10 จากที่เคยเป็นอุตสาหกรรมแบบพื้นบ้านที่คนงานนั่งทำงานกันบนพื้นเสียเป็นส่วนใหญ่ ทุกวันนี้อุตสาหกรรมเพชรในอินเดียกลายเป็นกิจการที่ใช้ระบบอัตโนมัติ มีโรงงานขนาดใหญ่ติดเครื่องปรับอากาศพร้อมด้วยพนักงานนับแสนๆ ราย
ในระดับโลกนั้น เทคโนโลยีนี้ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของเราต่อสายการผลิต เจ้าของโรงงานผลิตเพชรไม่จำเป็นต้องอยู่ที่โรงงานเพื่อคอยควบคุมกระบวนการแปรรูปเพชรทุกๆ เม็ดอีกต่อไป แต่อาจทำงานอยู่ในอาคารอื่น เมืองอื่น หรือแม้กระทั่งประเทศอื่นก็ได้
จุดกำเนิดคลังสมองของอุตสาหกรรม
การพัฒนาอุปกรณ์พล็อตตำแหน่งด้วยระบบไฟฟ้าเชิงแสงเป็นกรณีศึกษาสำหรับอุตสาหกรรมเพชร แต่ก็มีจุดเปลี่ยนจากเทคโนโลยีอีกมากมายในอุตสาหกรรมเครื่องประดับซึ่งส่งผลเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการออกแบบเครื่องประดับ เครื่องพิมพ์สามมิติซึ่งสร้างโมเดลที่ละเอียดแม่นยำจากการวาดในคอมพิวเตอร์ รวมถึงสร้างเครื่องประดับจริงๆ ขึ้นมาได้ด้วย เทคโนโลยีด้านการใช้อุณหภูมิและแรงดันสูง ตลอดจนการฉายรังสีเพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนสีของอัญมณี การหาลำดับดีเอ็นเอ (DNA sequencing) ในอุตสาหกรรมมุก ปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ อีกมาก
เนื่องจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด อุตสาหกรรมนี้จึงจำเป็นต้องจับตามองความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงพูดคุยกันเกี่ยวกับผลสืบเนื่องจากเทคโนโลยีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ด้วยเหตุนี้เองคณะกรรมการบริหารของ CIBJO จึงได้ก่อตั้งคณะกรรมการด้านเทคโนโลยีขึ้นในปี 2019 ระหว่างการประชุมประจำปีในบาห์เรน โดย Mr. Stephane Fischler ได้รับเลือกให้มาเป็นประธานของคณะกรรมการใหม่ชุดนี้
เป้าหมายสำคัญของคณะกรรมการคือการพัฒนาความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมวงการและมีแนวโน้มว่าจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องประดับในไม่กี่ปีข้างหน้า โดยทำงานในลักษณะ “คลังสมอง” ที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลและพูดคุยอภิปรายแนวคิดต่างๆ จากนั้นก็ส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ไปยังสมาชิก CIBJO และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้สามารถสร้างผลกำไรได้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว รวมถึงมีโครงสร้างและระบบการเงินที่ยืดหยุ่นรับความเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น
การพลิกโฉมธุรกิจเครื่องประดับ
ตลอดประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมนี้ เทคโนโลยีที่พลิกโฉมวงการอย่างแท้จริงมักอยู่ในภาคการทำเหมืองและการผลิตเป็นหลัก ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคค้าปลีก ได้ดำเนินงานตามรูปแบบธุรกิจที่ผ่านการพิสูจน์มายาวนาน
ทว่าเมื่อมีการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้งานในด้านต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษ 1990 และการตลาดทางโซเชียลมีเดียได้เริ่มเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ปี 2007 เมื่อ Facebook เปิดตัวแพลตฟอร์มโฆษณาที่แยกเป็นเอกเทศ จึงทำให้ธุรกิจเครื่องประดับและผู้ค้าต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำธุรกิจตามไปด้วย แต่ผู้ค้ายังคงลังเล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่แน่ใจว่าลูกค้าของตนพร้อมแล้วหรือยังที่จะทำธุรกรรมซื้อสินค้าราคาสูงทางออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่ไม่สามารถสัมผัสจับต้องและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ด้วยตนเองได้
แต่อย่างที่เราทุกคนทราบกันดีในเวลานี้ ความกังวลส่วนใหญ่ได้จางหายไปในปี 2020 เมื่อกิจการร้านค้าไม่สามารถเปิดหน้าร้านของตนได้ระยะหนึ่งจากการระบาดของโควิด-19 และแม้เมื่อเปิดร้านได้ ก็ต้องจำกัดจำนวนคนที่จะเข้ามาในร้าน ดังนั้นการทำการตลาดและการขายทางออนไลน์จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นแทนที่จะเป็นเพียงทางเลือกสำหรับคนที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเท่านั้น
คณะกรรมการของเราเริ่มต้นทำงานก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังจากนั้น แต่งานของเรายิ่งทวีความสำคัญกว่าที่เคยเป็นมา วิกฤติครั้งนี้มอบโอกาสในการเรียนรู้ รวมถึงอาจปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ค้าปลีกและผู้ค้าส่งทำความเข้าใจและเปิดรับสภาพตลาดในปัจจุบันและอนาคต
การปรับเปลี่ยนสู่สภาพแวดล้อมที่ผสมผสานโลกจริงและโลกดิจิทัล
สำหรับผู้ค้าปลีก การรักษาลูกค้าไว้มีความท้าทายยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ เราจะรับมืออย่างไรกับผู้บริโภคปัจจุบันซึ่งอยู่ทั้งใน “โลกจริง” และ “โลกดิจิทัล” หรือที่เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า “ฟิจิทัล” (phygital) หน้าร้านจริงกับร้านบนโลกออนไลน์จะมาประสานและช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันได้อย่างไร
คำถามที่เราต้องถามตัวเองไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ทำอย่างไรเราจึงจะพัฒนาเครื่องมือใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อเสริมประสบการณ์ภายในร้าน และช่วยให้ผู้ขายแต่ละรายยังคงเป็นผู้จัดหาสินค้าที่ “ไม่ตกยุค” ในระบบนิเวศน์ที่ส่งตรงถึงผู้บริโภค (Direct-to-Consumer: DTC) ซึ่งพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
เราจะสร้างและรักษาความเชื่อมั่นในระบบที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีได้อย่างไร
แม้ว่าทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด แต่เทคโนโลยีจากอัลกอริธึม “อัจฉริยะ” จะช่วยส่งเสริมหรือแม้กระทั่งทดแทนการใช้มนุษย์ได้หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น เราควรมุ่งความสนใจในเรื่องใด และจะลดภัยคุกคามให้น้อยที่สุดพร้อมกับเพิ่มประโยชน์ที่จะได้รับให้มากที่สุดได้อย่างไร
เราจะใช้เทคโนโลยีและอัลกอริธึมเพื่อสร้างความสนใจของผู้บริโภคและสร้างความภักดีในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างไร และเราจะดำเนินการโดยคำนึงถึงความถูกต้องได้อย่างไร เมื่อโซเชียลมีเดียขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งสามารถกำหนดเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่น่าดึงดูดมากที่สุดและบ่อยครั้งก็เป็นกลุ่มที่อ่อนไหวด้วย
การขายเครื่องประดับเป็นเรื่องของการนำเสนอเรื่องราว และความสามารถของพนักงานขายก็มักจะวัดกันที่ความสำเร็จในการนำเรื่องราวนั้นมาเล่าต่อเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าแต่ละราย พนักงานขายจึงต้องเรียนรู้ที่ใช้สัญชาตญาณเพื่อค้นหาว่าลูกค้าสนใจสิ่งใดผ่านการพูดคุยและกิริยาท่าทางต่างๆ
ในการที่ AI จะจำลองสิ่งที่พนักงานขายทำตามสัญชาตญาณนั้น AI จะต้องรวบรวมข้อมูลทางดิจิทัลทั้งของลูกค้าเดิมและว่าที่ลูกค้า ฐานข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างประสบการณ์ที่จะช่วยรักษาความภักดีและความไว้วางใจของลูกค้า
แต่ละครั้งที่ผู้บริโภคคลิกเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์การขายทางออนไลน์ หรือเข้ามาที่หน้าร้านของคุณ คุณจะมีโอกาสได้เก็บข้อมูลและช่วยให้ซอฟต์แวร์ AI ของคุณได้เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม ส่งผลให้คุณจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลที่ช่วยสร้างความแตกต่าง
ในแวดวงธุรกิจปัจจุบัน ข้อมูลอาจนับได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงสุด จึงต้องมีการกำหนดมาตรฐานในการจัดการข้อมูลขึ้นมาว่าควรทำอย่างไรจึงจะสามารถเก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์ และนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัย โลกเทคโนโลยีเต็มไปด้วยการถกเถียงกันในประเด็นเหล่านี้ และประเด็นดังกล่าวก็ได้สร้างความสับสนให้แก่แวดวงอุตสาหกรรม และองค์กรผู้ควบคุมกฎระเบียบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
ลองนึกถึงข้อมูลส่วนตัวและอาจรวมถึงข้อมูลลับจำนวนมหาศาลที่ประชากรส่วนใหญ่บนโลกมอบให้กับบริษัทโซเชียลมีเดีย สมมติว่าคู่แข่งของคุณลงทุนด้วยการซื้อข้อมูลดังกล่าว จึงสามารถปรับแนวทางของบริษัทให้เหมาะกับผู้บริโภคแต่ละรายโดยใช้ตัวแปรมากมาย เช่น รายได้ ตำแหน่งที่ตั้งเชิงภูมิศาสตร์ รสนิยมความชอบ ความเห็นทางการเมืองและความเชื่อทางศาสนา ข้อมูลเกี่ยวกับวันเกิดและโอกาสสำคัญในครอบครัว ความสัมพันธ์ และอื่นๆ อีกมาก จากนั้นก็ปรับแต่งแคมเปญทางการตลาดโดยใช้ข้อมูลเหล่านี้ ระบุตัวผู้บริโภคเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เจาะจงในโอกาสเฉพาะ คุณจะรับมือกับความท้าทายนี้ได้หรือไม่หากคุณยังคงทำการตลาดเครื่องประดับแบบเดิมเหมือนที่คุณทำมานานหลายทศวรรษ
การลงทุนในเทคโนโลยีด้านข้อมูลน่าจะถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ค้าปลีกทุกวันนี้เพื่อจะได้กำหนดอนาคตและสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ
ความท้าทายและภัยคุกคามด้านข้อมูล
แต่การจัดการข้อมูลก็นำมาซึ่งความท้าทาย ความรับผิดชอบ และความเสี่ยงนานาประการ ความปลอดภัยเป็นหนึ่งในนั้น การแฮ็คข้อมูลเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการปกป้องกิจการของคุณจากผู้ประสงค์ร้ายซึ่งมักระบุตัวไม่ได้ ที่จะมา “ลักพาตัว” ข้อมูลของคุณไปเรียกค่าไถ่
การจัดการข้อมูลที่ผู้อื่นให้มานั้นเป็นความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงและมีกฎควบคุมแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยข้อกำหนดจะเข้มงวดเป็นพิเศษในสหภาพยุโรป ซึ่งได้บังคับใช้กฎ General Data Protection Regulation (GDPR) ในปี 2016 เพื่อเป็นกรอบในการวางแนวทางสำหรับการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคดังกล่าว
GDPR กำหนดว่าบริษัทในยุโรปจะทำอะไรได้บ้างกับข้อมูลทางดิจิทัล ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ว่ากิจการเหล่านี้จะสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมหรือไม่กับกิจการในประเทศอื่นๆ ซึ่งกฎหมายมีความเคร่งครัดน้อยกว่าและมีการบังคับใช้ไม่มากเท่า
ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลและตรวจสอบว่าไม่ได้มีการบิดเบือน การใช้ AI จะมีประโยชน์เพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลที่ AI ได้รับเป็นสำคัญ ยิ่งข้อมูลมีความเอนเอียงมาก ก็ยิ่งเป็นไปได้ที่ซอฟต์แวร์ AI จะนำคุณไปยังทิศทางที่อาจผิดพลาดได้
อย่าลืมว่าคุณต้องมีความระมัดระวังและคอยควบคุมสถานการณ์อยู่เสมอ แม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล แต่การบริหารงานอย่างมีเหตุผลและสุขุมรอบคอบก็ต้องอาศัยการรักษาสมดุลที่พอเหมาะระหว่างมันสมองของมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์
บทบาทของมนุษย์ในกระบวนการ
ห่วงโซ่อุปทานของเราแตกต่างจากเมื่อยี่สิบปีก่อนโดยสิ้นเชิงโดยสาเหตุสำคัญก็คือเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลทั้งต่อการทำเหมือง การผลิต การออกแบบ การตลาด และการเงิน
แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์อย่างเราๆ จะเป็นผู้กำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ไม่ว่าคอมพิวเตอร์จะมีประสิทธิภาพสูงเพียงใดก็ไม่อาจเทียบได้กับสติปัญญา จินตนาการ และอิสระทางความคิดจากมันสมองของมนุษย์
เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเราในการตัดสินใจผ่านการคิดวิเคราะห์และนำไปลงมือปฏิบัติ แต่ขณะเดียวกันการนำเทคโนโลยีมาใช้จนเกินความเหมาะสมก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้าใจศักยภาพตลอดจนข้อจำกัดของเทคโนโลยี
ข้อมูลอ้างอิง