ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

ตลาดอีคอมเมิร์ซเมืองรองของจีน โอกาสทองอัญมณีและเครื่องประดับไทย

Jul 7, 2022
2975 views
7 shares

            ปัจจุบันเศรษฐกิจประเทศจีนได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่น่าจับตามอง จากรายงานของ World Economics ระบุว่าประชากรจีนมีกำลังซื้อโดยเฉลี่ยคนละ 200,414.68 หยวนต่อปี หรือ คิดเป็น 29,830.72 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งทำให้จีนมีกำลังซื้อมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างปักกิ่ง และเมืองหลัก ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น ที่เป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจและมีประชากรอยู่อาศัยจำนวนมาก ในขณะเดียวกันเมืองรองของจีนก็เป็นเมืองที่น่าสนใจไม่ต่างกัน เนื่องด้วยนโยบายของจีนที่ต้องการพัฒนาเมืองรองและยกระดับชีวิตของประชากรเมืองรองด้วย ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ที่ทำธุรกิจที่มองหาช่องทางตลาดใหม่ 

            จากการประชุมสภาจีนประจำปี 2022 ได้มีนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานของเมืองรอง และส่งเสริมให้การค้าขายเมืองรองเข้าสู่รูปแบบค้าขายออนไลน์ ส่งผลให้เมืองรองที่ยังไม่ถูกพัฒนาเท่าที่ควร ได้รับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อระบบเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้น ย่อมส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ ขยายฐานการผลิตไปเมืองรองด้วยเช่นกัน สร้างโอกาสและรายได้ ทำให้กำลังซื้อของคนในเมืองรองจะเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นผู้ที่สนใจเข้าสู่ตลาดจีนควรทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมธุรกิจของเมืองรอง เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม และสามารถเข้าไปแข่งขันในประเทศจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความน่าสนใจของตลาดเมืองรอง

            เมืองรองของประเทศจีนมีทั้งหมด 30 เมือง จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศประจำประเทศจีนและธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่าบางเมืองอย่างเซี่ยเหมิน ฝูโจว และอู๋ซี เป็น 3 เมืองรองที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามแผนพัฒนาชาติ ทำให้โครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำงานในเมืองดังกล่าวมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าเมืองรองอื่นในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้สนใจเข้าสู่ตลาดจีนโดยเน้นไปที่เมืองรองที่มีรายได้ต่อหัวสูงก่อน แล้วขยายธุรกิจไปเมืองรองอื่นๆ 

รูปที่ 1 รายได้ต่อหัวของประชากรเมืองเซี่ยเหมิน ฝูโจว และอู๋ซี (หน่วย : หยวน)

ที่มา : CEIC จัดทำภาพโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


            ก่อนเข้าสู่ตลาดจีน ควรเข้าใจสภาพแวดล้อมธุรกิจเป็นอันดับแรก เพราะเป็นตัวตัดสินความอยู่รอดของธุรกิจ ข้อมูลธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานว่า มีเมืองรองที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูงสุด 9 เมืองจาก 30 เมือง ได้แก่ (1) เซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน (2) ฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน (3) อู๋ซี มณฑลเจียงซู (4) คุนหมิง มณฑลยูนนาน (5) ฮาร์บิน มณฑลเฮย์หลงเจียง (6) ฉางชุน มณฑลจี๋หลิน (7) เวินโจว มณฑลเจ้อเจียง (8) ฉือเจียจวง มณฑลเหอเป่ย์ และ (9) หนานหนิง เป็นเมืองรองที่รัฐบาลมีการเร่งพัฒนาทุกด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานภายในเมืองรอง ทำให้ประชากรในเมืองอื่นๆ เข้ามาหางานทำ ส่งผลให้อัตราขยายตัวของประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ทันสมัย กำลังซื้อของเมืองข้างต้นสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเมืองรองอื่นๆ ทำให้มีศักยภาพในการบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้มากขึ้น รวมไปถึงสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับด้วย 

            นอกจากนี้ข้อมูลจาก Euromonitor ยังระบุว่า เมืองรองและเมืองขนาดกลางของจีนจะมีประชากรประมาณ 4 – 10 ล้านคน ตลาดค้าปลีกยังไม่อิ่มตัว จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการชาวต่างชาติที่จะเข้าสู่ตลาดนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีการพัฒนาและยกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคในเมืองขนาดกลางดีขึ้นและในเมืองขนาดกลางมีผู้บริโภคซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงอาศัยอยู่ ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังเปิดรับสินค้าและไลฟ์สไตล์จากต่างประเทศด้วย

ตลาดอีคอมเมิร์ซในเมืองรองของจีน

            นอกจากการพัฒนาเมืองรองแล้วนั้น การประชุมสภาจีนยังวางแนวทางพัฒนาตลาดอีคอมเมิร์ซในเมืองรองควบคู่ไปด้วย ทำให้มูลค่ายอดขายสินค้าออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคเมืองรองคิดเป็นร้อยละ 19.60 ซึ่งนโยบายของรัฐบาลจีนต้องการให้สัดส่วนการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคเมืองรองมีสัดส่วนที่สูงขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในจีน

รูปที่ 2 สัดส่วนการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคระดับเมืองต่างๆ ในประเทศจีน

ที่มา : STATISTA จัดทำภาพโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนได้คาดว่าภายในปี 2022 ยอดขายสินค้าออนไลน์จะมีมูลค่า 19.35 ล้านล้านหยวนหรือประมาณ 2.88 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเติบโตขึ้นร้อยละ 13.02 และยังคาดการณ์ไปถึงปี 2025 ว่าจะมียอดขายสินค้าออนไลน์สูงถึง 25.29 ล้านล้านหยวนหรือประมาณ 3.76 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นโอกาสของรูปแบบการค้าออนไลน์ในประเทศจีนที่สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง

รูปที่ 3 มูลค่ายอดขายสินค้าออนไลน์ในประเทศจีน (หน่วย : ล้านล้านหยวน)

ที่มา : MINISTRY OF COMMERCE OF THE PEOPLE'S REPUBLIC OF CHINA and STATISTA จัดทำภาพโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


            การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซนั้น เนื่องมาจากผู้บริโภคสามารถใช้สมาร์ทโฟนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้การซื้อสินค้าออนไลน์ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมไปถึงระบบการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าไวขึ้น และเกิดการซื้อซ้ำได้เร็วขึ้นด้วย ข้อมูลจาก eCommerceDB ที่สำรวจรายการสินค้าที่ผู้บริโภคจีนสั่งซื้อผ่านออนไลน์ในหนึ่งวัน  พบว่า หมวดกระเป๋าและเครื่องประดับอยู่ในอันดับที่ 6 คิดเป็นอัตราการซื้อผ่านออนไลน์ในหนึ่งวันร้อยละ 31 โดยแบ่งเป็นผู้หญิงร้อยละ 62 ส่วนเพศชายร้อยละ 38

รูปที่ 4 กำไรทองคำที่จำหน่ายในประเทศจีน


ที่มา : BizNews

การบริโภคเครื่องประดับในประเทศจีน

รูปที่ 5 มูลค่าการบริโภคเครื่องประดับภายในประเทศจีน (หน่วย : ล้านหยวน)

ที่มา : STATISTA จัดทำภาพโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            จากแผนภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การบริโภคเครื่องประดับภายในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปี 2020 ประเทศจีนต้องเผชิญกับปัญหาโควิด 19 ทำให้มูลค่าการบริโภคเครื่องประดับลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์โควิด 19 เริ่มผ่อนคลายทำให้มูลค่าการบริโภคกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะการบริโภคทองคำ เพชร และหยกกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้

            ทองคำ

            ประเทศจีนเป็นหนึ่งในผู้บริโภคทองคำรายใหญ่ของโลก ซึ่งวัฒนธรรมของชาวจีนมีการมอบทองคำให้แก่บุคคลผู้เป็นที่รักและญาติ เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ สำหรับผู้บริโภคกลุ่มเบบี้บูม และ Gen-X นิยมซื้อเครื่องประดับทองคำ 24 K จากร้านค้าทองชั้นนำ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อและสะสมความมั่งคั่ง ส่วนกลุ่มมิลเลนเนียล และ Gen-Z นิยมบริโภคเครื่องประดับทองคำ 18 K เนื่องจากราคาไม่แพงและเป็นเครื่องประดับที่ทันสมัย ซึ่งคนกลุ่มนี้นิยมซื้อจากร้านค้าออนไลน์เพราะสามารถซื้อหาได้ง่าย นอกจากนี้ข้อมูลจาก DaXue Consulting รายงานว่า สัดส่วนการบริโภคเครื่องประดับทองของชาวจีนคิดเป็นร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับเครื่องประดับชนิดอื่นๆ สำหรับเมืองรองและเมืองที่ต่ำกว่าเมืองรอง ให้ความสำคัญกับการบริโภคเครื่องประดับทองมากขึ้น โดยผู้บริโภคเมืองรองยังนิยมซื้อเครื่องประดับทองและทองคำแท่งไว้เพื่อเป็นการเก็งกำไร ผู้บริโภคเมืองรองจะเลือกซื้อเครื่องประดับทองที่ราคาไม่สูงผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Tmall, Taobao และ Kuaishou ส่วนเครื่องประดับทองที่มีราคาสูงและเครื่องประดับแต่งงาน นั้นมักนิยมรวบรวมข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแล้วไปซื้อสินค้าที่หน้าร้านค้า เช่นเดียวกับผู้บริโภคในเมืองหลัก

            เพชร

            ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล และ Gen-Z ลดความนิยมบริโภคเครื่องประดับทองลง แต่หันมาบริโภคเครื่องประดับเพชรแทน จากรายงานของบริษัทวิจัยรายใหญ่ของจีนอย่าง Zhihu พบว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้หันมาให้ความสำคัญกับเครื่องประดับเพชรจากร้านที่มีชื่อเสียงอย่าง Tiffany & Co. และ Cartier ที่สามารถสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ นอกจากนั้น งานวิจัยของ Hong Kong Trade Development Council ได้รายงานว่า ผู้บริโภคชาวจีนร้อยละ 80 ซื้อเครื่องประดับเพชรที่มีแบบและลวดลายที่เหมือนกับเครื่องประดับเพชรในยุค 80 และ 90 เพราะรูปแบบที่หรูหราและมีเรื่องราวของเครื่องประดับชิ้นนั้น จึงถูกเลือกเป็นเครื่องประดับในวันแต่งงานของชาวจีนรุ่นใหม่ ส่วนผู้บริโภคเมืองรองเลือกซื้อเครื่องประดับเพชรเหมือนกับเมืองหลัก โดยเลือกซื้อเครื่องประดับเพชรจากแบรนด์ดังที่สามารถสั่งผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ส่วนร้านค้าเครื่องประดับเพชรรายย่อยในเมืองรองจะเน้นการขายหน้าร้าน แต่มีบางส่วนที่ใช้แพลต์ฟอร์มออนไลน์และการไลฟ์สตรีมเป็นช่องทางเพิ่มเติมควบคู่กับการขายหน้าร้าน เพราะเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ชม

            หยก

            เนื่องจากกระแสชาตินิยมในประเทศจีนที่มีอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่หันมาซื้อเครื่องประดับหยกมาใส่มากขึ้น จากข้อมูลของ Gem and Jewelry Trade Association of China รายงานว่า ผู้ค้าหยกร้อยละ 56 จะนำเสนอสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Dou Yin (Tiktok), Wei Xin (Wechat) และ Jing Dong (JD) เป็นต้น ในประเทศจีนมีผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลบริโภคหยกร้อยละ 44 นอกจากนั้น ผู้บริโภคชาวจีนซื้อหยกผ่านช่องทางออนไลน์ร้อยละ 60 นอกจากนั้นบริษัทวิจัยอย่าง iiMedia Research ได้สำรวจข้อมูลการบริโภคเครื่องประดับหยกในเมืองรอง พบว่า ผู้บริโภคช่วงอายุ 25 – 35 ปี รับชมการขายหยกผ่านการไลฟ์สตรีมร้อยละ 39.4 แต่กลุ่มผู้บริโภคในเมืองรองที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ไม่นิยมซื้อหยกผ่านช่องทางออนไลน์เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ แต่ให้ความสำคัญกับการซื้อหยกผ่านหน้าร้าน

            ประเทศจีนนั้น ไม่เพียงแต่เป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งในปัจจุบันความเจริญไม่จำเพาะอยู่ในเมืองหลักอีกต่อไป เมื่อมีการส่งเสริมจากภาครัฐ ในการพัฒนาการค้าขายของเมืองรองให้เข้าสู่รูปแบบการค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จึงนับเป็นจังหวะที่ดีในการขยายตลาดออนไลน์เข้าสู่เมืองรองในเวลาที่โอกาสเปิดรับเช่นนี้ 


จัดทำโดย กิตติวัฒน์ สุวรรณลี

พุทธิพร วิชัยดิษฐ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)



ข้อมูลอ้างอิง


1. Ministry of Commerce of the People's Republic of China. December 8, 2021. Report: Global e-commerce will grow by an average of 47% in the next 5 years, and China's growth rate will lead the rest of Asia. [Online]. Available at: http://tradeinservices.mofcom.gov.cn/.
2. CEIC. Disposable Income per Capita: Urban. [Online]. Available at: https://www.ceicdata.com/en.
3. INSIDER INTELLIGENCE. July 9, 2021. China Ecommerce Forecast 2021 Alibaba Is Losing Share, Social Is Booming, and Everyone Is Livestreaming [Online]. Available at: https://www.emarketer.com/content/china-ecommerce-forecast-2021.
4. สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ. พฤศจิกายน 2561. รู้จักเมืองรองในจีน โอกาสสําหรับสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีน. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.ditp.go.th/contents_attach/431076/431076.pdf.
5. สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ. ตุลาคม 2557. E-commerce จีน ธุรกิจที่น่าจับตามอง. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://ditp.go.th/contents_attach/89133/89133.pdf.
6. ECOMMERCEDB. November 2021. eCommerce in China – top product categories. [Online]. Available at: https://ecommercedb.com/.
7. DAXUE CONSULTING. December 9, 2021. How young consumers and low-tier cities are shaping China’s jewelry market. [Online]. Available at: https://daxueconsulting.com/how-millenials-and-low-tier-cities-are-shaping-chinas-jewelry-market/#pll_switcher.
8. APVIZ. Inside China's Jewelry market: everything you need to know about today's consumer. [Online]. Available at: https://apviz.io/blog/china-jewelery-market-consumers/.
9. QianZhan JingJiXue Ren. January 14, 2022. Analysis of the development status and market size of China's jadeite industry in 2022. Short videos and live broadcasts have become the mainstream consumer market. [Online]. Available at: https://www.qianzhan.com/analyst/detail/220/220114-0d60ceb8.html.

เอกสารแนบ


ความคิดเห็น


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

ตลาดอีคอมเมิร์ซเมืองรองของจีน โอกาสทองอัญมณีและเครื่องประดับไทย

Jul 7, 2022
2975 views
7 shares

            ปัจจุบันเศรษฐกิจประเทศจีนได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่น่าจับตามอง จากรายงานของ World Economics ระบุว่าประชากรจีนมีกำลังซื้อโดยเฉลี่ยคนละ 200,414.68 หยวนต่อปี หรือ คิดเป็น 29,830.72 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งทำให้จีนมีกำลังซื้อมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างปักกิ่ง และเมืองหลัก ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น ที่เป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจและมีประชากรอยู่อาศัยจำนวนมาก ในขณะเดียวกันเมืองรองของจีนก็เป็นเมืองที่น่าสนใจไม่ต่างกัน เนื่องด้วยนโยบายของจีนที่ต้องการพัฒนาเมืองรองและยกระดับชีวิตของประชากรเมืองรองด้วย ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ที่ทำธุรกิจที่มองหาช่องทางตลาดใหม่ 

            จากการประชุมสภาจีนประจำปี 2022 ได้มีนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานของเมืองรอง และส่งเสริมให้การค้าขายเมืองรองเข้าสู่รูปแบบค้าขายออนไลน์ ส่งผลให้เมืองรองที่ยังไม่ถูกพัฒนาเท่าที่ควร ได้รับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อระบบเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้น ย่อมส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ ขยายฐานการผลิตไปเมืองรองด้วยเช่นกัน สร้างโอกาสและรายได้ ทำให้กำลังซื้อของคนในเมืองรองจะเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นผู้ที่สนใจเข้าสู่ตลาดจีนควรทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมธุรกิจของเมืองรอง เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม และสามารถเข้าไปแข่งขันในประเทศจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความน่าสนใจของตลาดเมืองรอง

            เมืองรองของประเทศจีนมีทั้งหมด 30 เมือง จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศประจำประเทศจีนและธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่าบางเมืองอย่างเซี่ยเหมิน ฝูโจว และอู๋ซี เป็น 3 เมืองรองที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามแผนพัฒนาชาติ ทำให้โครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น ประชาชนที่อยู่อาศัยและทำงานในเมืองดังกล่าวมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าเมืองรองอื่นในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้สนใจเข้าสู่ตลาดจีนโดยเน้นไปที่เมืองรองที่มีรายได้ต่อหัวสูงก่อน แล้วขยายธุรกิจไปเมืองรองอื่นๆ 

รูปที่ 1 รายได้ต่อหัวของประชากรเมืองเซี่ยเหมิน ฝูโจว และอู๋ซี (หน่วย : หยวน)

ที่มา : CEIC จัดทำภาพโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


            ก่อนเข้าสู่ตลาดจีน ควรเข้าใจสภาพแวดล้อมธุรกิจเป็นอันดับแรก เพราะเป็นตัวตัดสินความอยู่รอดของธุรกิจ ข้อมูลธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานว่า มีเมืองรองที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูงสุด 9 เมืองจาก 30 เมือง ได้แก่ (1) เซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน (2) ฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน (3) อู๋ซี มณฑลเจียงซู (4) คุนหมิง มณฑลยูนนาน (5) ฮาร์บิน มณฑลเฮย์หลงเจียง (6) ฉางชุน มณฑลจี๋หลิน (7) เวินโจว มณฑลเจ้อเจียง (8) ฉือเจียจวง มณฑลเหอเป่ย์ และ (9) หนานหนิง เป็นเมืองรองที่รัฐบาลมีการเร่งพัฒนาทุกด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานภายในเมืองรอง ทำให้ประชากรในเมืองอื่นๆ เข้ามาหางานทำ ส่งผลให้อัตราขยายตัวของประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ทันสมัย กำลังซื้อของเมืองข้างต้นสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเมืองรองอื่นๆ ทำให้มีศักยภาพในการบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้มากขึ้น รวมไปถึงสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับด้วย 

            นอกจากนี้ข้อมูลจาก Euromonitor ยังระบุว่า เมืองรองและเมืองขนาดกลางของจีนจะมีประชากรประมาณ 4 – 10 ล้านคน ตลาดค้าปลีกยังไม่อิ่มตัว จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการชาวต่างชาติที่จะเข้าสู่ตลาดนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีการพัฒนาและยกระดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคในเมืองขนาดกลางดีขึ้นและในเมืองขนาดกลางมีผู้บริโภคซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงอาศัยอยู่ ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังเปิดรับสินค้าและไลฟ์สไตล์จากต่างประเทศด้วย

ตลาดอีคอมเมิร์ซในเมืองรองของจีน

            นอกจากการพัฒนาเมืองรองแล้วนั้น การประชุมสภาจีนยังวางแนวทางพัฒนาตลาดอีคอมเมิร์ซในเมืองรองควบคู่ไปด้วย ทำให้มูลค่ายอดขายสินค้าออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคเมืองรองคิดเป็นร้อยละ 19.60 ซึ่งนโยบายของรัฐบาลจีนต้องการให้สัดส่วนการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคเมืองรองมีสัดส่วนที่สูงขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในจีน

รูปที่ 2 สัดส่วนการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคระดับเมืองต่างๆ ในประเทศจีน

ที่มา : STATISTA จัดทำภาพโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จีนได้คาดว่าภายในปี 2022 ยอดขายสินค้าออนไลน์จะมีมูลค่า 19.35 ล้านล้านหยวนหรือประมาณ 2.88 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเติบโตขึ้นร้อยละ 13.02 และยังคาดการณ์ไปถึงปี 2025 ว่าจะมียอดขายสินค้าออนไลน์สูงถึง 25.29 ล้านล้านหยวนหรือประมาณ 3.76 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นโอกาสของรูปแบบการค้าออนไลน์ในประเทศจีนที่สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง

รูปที่ 3 มูลค่ายอดขายสินค้าออนไลน์ในประเทศจีน (หน่วย : ล้านล้านหยวน)

ที่มา : MINISTRY OF COMMERCE OF THE PEOPLE'S REPUBLIC OF CHINA and STATISTA จัดทำภาพโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


            การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซนั้น เนื่องมาจากผู้บริโภคสามารถใช้สมาร์ทโฟนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้การซื้อสินค้าออนไลน์ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมไปถึงระบบการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าไวขึ้น และเกิดการซื้อซ้ำได้เร็วขึ้นด้วย ข้อมูลจาก eCommerceDB ที่สำรวจรายการสินค้าที่ผู้บริโภคจีนสั่งซื้อผ่านออนไลน์ในหนึ่งวัน  พบว่า หมวดกระเป๋าและเครื่องประดับอยู่ในอันดับที่ 6 คิดเป็นอัตราการซื้อผ่านออนไลน์ในหนึ่งวันร้อยละ 31 โดยแบ่งเป็นผู้หญิงร้อยละ 62 ส่วนเพศชายร้อยละ 38

รูปที่ 4 กำไรทองคำที่จำหน่ายในประเทศจีน


ที่มา : BizNews

การบริโภคเครื่องประดับในประเทศจีน

รูปที่ 5 มูลค่าการบริโภคเครื่องประดับภายในประเทศจีน (หน่วย : ล้านหยวน)

ที่มา : STATISTA จัดทำภาพโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            จากแผนภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การบริโภคเครื่องประดับภายในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปี 2020 ประเทศจีนต้องเผชิญกับปัญหาโควิด 19 ทำให้มูลค่าการบริโภคเครื่องประดับลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์โควิด 19 เริ่มผ่อนคลายทำให้มูลค่าการบริโภคกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะการบริโภคทองคำ เพชร และหยกกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้

            ทองคำ

            ประเทศจีนเป็นหนึ่งในผู้บริโภคทองคำรายใหญ่ของโลก ซึ่งวัฒนธรรมของชาวจีนมีการมอบทองคำให้แก่บุคคลผู้เป็นที่รักและญาติ เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ สำหรับผู้บริโภคกลุ่มเบบี้บูม และ Gen-X นิยมซื้อเครื่องประดับทองคำ 24 K จากร้านค้าทองชั้นนำ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อและสะสมความมั่งคั่ง ส่วนกลุ่มมิลเลนเนียล และ Gen-Z นิยมบริโภคเครื่องประดับทองคำ 18 K เนื่องจากราคาไม่แพงและเป็นเครื่องประดับที่ทันสมัย ซึ่งคนกลุ่มนี้นิยมซื้อจากร้านค้าออนไลน์เพราะสามารถซื้อหาได้ง่าย นอกจากนี้ข้อมูลจาก DaXue Consulting รายงานว่า สัดส่วนการบริโภคเครื่องประดับทองของชาวจีนคิดเป็นร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับเครื่องประดับชนิดอื่นๆ สำหรับเมืองรองและเมืองที่ต่ำกว่าเมืองรอง ให้ความสำคัญกับการบริโภคเครื่องประดับทองมากขึ้น โดยผู้บริโภคเมืองรองยังนิยมซื้อเครื่องประดับทองและทองคำแท่งไว้เพื่อเป็นการเก็งกำไร ผู้บริโภคเมืองรองจะเลือกซื้อเครื่องประดับทองที่ราคาไม่สูงผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Tmall, Taobao และ Kuaishou ส่วนเครื่องประดับทองที่มีราคาสูงและเครื่องประดับแต่งงาน นั้นมักนิยมรวบรวมข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแล้วไปซื้อสินค้าที่หน้าร้านค้า เช่นเดียวกับผู้บริโภคในเมืองหลัก

            เพชร

            ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล และ Gen-Z ลดความนิยมบริโภคเครื่องประดับทองลง แต่หันมาบริโภคเครื่องประดับเพชรแทน จากรายงานของบริษัทวิจัยรายใหญ่ของจีนอย่าง Zhihu พบว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้หันมาให้ความสำคัญกับเครื่องประดับเพชรจากร้านที่มีชื่อเสียงอย่าง Tiffany & Co. และ Cartier ที่สามารถสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ นอกจากนั้น งานวิจัยของ Hong Kong Trade Development Council ได้รายงานว่า ผู้บริโภคชาวจีนร้อยละ 80 ซื้อเครื่องประดับเพชรที่มีแบบและลวดลายที่เหมือนกับเครื่องประดับเพชรในยุค 80 และ 90 เพราะรูปแบบที่หรูหราและมีเรื่องราวของเครื่องประดับชิ้นนั้น จึงถูกเลือกเป็นเครื่องประดับในวันแต่งงานของชาวจีนรุ่นใหม่ ส่วนผู้บริโภคเมืองรองเลือกซื้อเครื่องประดับเพชรเหมือนกับเมืองหลัก โดยเลือกซื้อเครื่องประดับเพชรจากแบรนด์ดังที่สามารถสั่งผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ส่วนร้านค้าเครื่องประดับเพชรรายย่อยในเมืองรองจะเน้นการขายหน้าร้าน แต่มีบางส่วนที่ใช้แพลต์ฟอร์มออนไลน์และการไลฟ์สตรีมเป็นช่องทางเพิ่มเติมควบคู่กับการขายหน้าร้าน เพราะเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ชม

            หยก

            เนื่องจากกระแสชาตินิยมในประเทศจีนที่มีอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่หันมาซื้อเครื่องประดับหยกมาใส่มากขึ้น จากข้อมูลของ Gem and Jewelry Trade Association of China รายงานว่า ผู้ค้าหยกร้อยละ 56 จะนำเสนอสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Dou Yin (Tiktok), Wei Xin (Wechat) และ Jing Dong (JD) เป็นต้น ในประเทศจีนมีผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลบริโภคหยกร้อยละ 44 นอกจากนั้น ผู้บริโภคชาวจีนซื้อหยกผ่านช่องทางออนไลน์ร้อยละ 60 นอกจากนั้นบริษัทวิจัยอย่าง iiMedia Research ได้สำรวจข้อมูลการบริโภคเครื่องประดับหยกในเมืองรอง พบว่า ผู้บริโภคช่วงอายุ 25 – 35 ปี รับชมการขายหยกผ่านการไลฟ์สตรีมร้อยละ 39.4 แต่กลุ่มผู้บริโภคในเมืองรองที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ไม่นิยมซื้อหยกผ่านช่องทางออนไลน์เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ แต่ให้ความสำคัญกับการซื้อหยกผ่านหน้าร้าน

            ประเทศจีนนั้น ไม่เพียงแต่เป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งในปัจจุบันความเจริญไม่จำเพาะอยู่ในเมืองหลักอีกต่อไป เมื่อมีการส่งเสริมจากภาครัฐ ในการพัฒนาการค้าขายของเมืองรองให้เข้าสู่รูปแบบการค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จึงนับเป็นจังหวะที่ดีในการขยายตลาดออนไลน์เข้าสู่เมืองรองในเวลาที่โอกาสเปิดรับเช่นนี้ 


จัดทำโดย กิตติวัฒน์ สุวรรณลี

พุทธิพร วิชัยดิษฐ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)



ข้อมูลอ้างอิง


1. Ministry of Commerce of the People's Republic of China. December 8, 2021. Report: Global e-commerce will grow by an average of 47% in the next 5 years, and China's growth rate will lead the rest of Asia. [Online]. Available at: http://tradeinservices.mofcom.gov.cn/.
2. CEIC. Disposable Income per Capita: Urban. [Online]. Available at: https://www.ceicdata.com/en.
3. INSIDER INTELLIGENCE. July 9, 2021. China Ecommerce Forecast 2021 Alibaba Is Losing Share, Social Is Booming, and Everyone Is Livestreaming [Online]. Available at: https://www.emarketer.com/content/china-ecommerce-forecast-2021.
4. สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ. พฤศจิกายน 2561. รู้จักเมืองรองในจีน โอกาสสําหรับสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีน. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.ditp.go.th/contents_attach/431076/431076.pdf.
5. สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ. ตุลาคม 2557. E-commerce จีน ธุรกิจที่น่าจับตามอง. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://ditp.go.th/contents_attach/89133/89133.pdf.
6. ECOMMERCEDB. November 2021. eCommerce in China – top product categories. [Online]. Available at: https://ecommercedb.com/.
7. DAXUE CONSULTING. December 9, 2021. How young consumers and low-tier cities are shaping China’s jewelry market. [Online]. Available at: https://daxueconsulting.com/how-millenials-and-low-tier-cities-are-shaping-chinas-jewelry-market/#pll_switcher.
8. APVIZ. Inside China's Jewelry market: everything you need to know about today's consumer. [Online]. Available at: https://apviz.io/blog/china-jewelery-market-consumers/.
9. QianZhan JingJiXue Ren. January 14, 2022. Analysis of the development status and market size of China's jadeite industry in 2022. Short videos and live broadcasts have become the mainstream consumer market. [Online]. Available at: https://www.qianzhan.com/analyst/detail/220/220114-0d60ceb8.html.

เอกสารแนบ

เราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้   ตั้งค่า ยอมรับ

×
140 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 4 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
โทรศัพท์: 0 2634 4999 ต่อ 444
โทรสาร: 0 2634 4970
external-site