ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

ชี้ช่องเจาะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับตะวันออกกลาง (ตอนจบ)

May 30, 2023
1925 views
0 share

        ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงศักยภาพตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของ 3 ประเทศในตะวันออกกลางของกลุ่ม GCC ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และคูเวต ไปแล้ว ในตอนที่ 2 นี้จะได้กล่าวถึงการเจาะตลาดอีก 3 ประเทศที่เหลือ ซึ่งก็เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นโอกาสสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเช่นกัน ได้แก่ โอมาน กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย 

โอมาน  

โอมานเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีความมั่งคั่งด้านทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักที่สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ จากข้อมูลของ World Economics พบว่าในปี 2022 โอมานมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ราว 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตราว 5% เมื่อเทียบกับปี 2021 และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 37,890 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 47 ของโลก  

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในโอมาน

โอมานมีชื่อเสียงด้านการผลิตเครื่องประดับเงินด้วยมือที่ถ่ายทอดจากครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น เรียกว่า  Bedouin Jewelry หรือ Omani Silver โดยช่างชาวโอมานมีความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องประดับเงินด้วยศิลปะแท้ของประเทศที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ ซึ่งการสวมใส่เครื่องประดับเงินในโอมานสะท้อนถึงความร่ำรวยและสัญลักษณ์ทางศาสนา นอกจากนี้ โอมานยังมีการผลิตเครื่องประดับทอง 21 และ 22 กะรัต ซึ่งการผลิตเครื่องประดับส่วนใหญ่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชาวโอมาน ชาวเอเชียใต้ที่เข้าไปอยู่ทำงานและท่องเที่ยวในโอมาน

        ด้านการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับ ในอดีตชาวโอมานนิยมสวมใส่เครื่องประดับเงินท้องถิ่น แต่ปัจจุบันนิยมบริโภคเครื่องประดับทองมากที่สุด และมีแนวโน้มต้องการเครื่องประดับทองตกแต่งเพชรและพลอยสีเพิ่มมากขึ้น และตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในโอมานก็มีแนวโน้มขยายตัวดี เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และแม้ว่าโอมานจะสามารถผลิตเครื่องประดับได้เอง แต่ผู้บริโภคยุคใหม่ชื่นชอบสินค้าที่มีรูปแบบสวยงาม ทันสมัย และคุณภาพสูง จึงมีความต้องการสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น 

        ทั้งนี้ Global Trade Atlas รายงานการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศต่างๆ ไปยังโอมานในปี 2022 เป็นมูลค่า 122.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.20% เมื่อเทียบจากปี 2021 ซึ่งประเทศผู้ส่งออกหลักไปยังโอมานใน 5 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บาห์เรน และจอร์แดน ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกส่วนมากเกือบ 66% เป็นทองคำ รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง (สัดส่วนราว 30%) ที่เหลือเป็นเครื่องประดับเทียม ส่วนไทยเป็นผู้ส่งออกในอันดับที่ 13 ของโอมาน โดยเครื่องประดับทองเป็นสินค้าส่งออกหลัก รองลงมาเป็นเครื่องประดับเทียม และพลอยสี (พลอยก้อนและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน) ตามลำดับ 

        กฎระเบียบการนำเข้าในโอมาน

        การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของโอมาน ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 0-5% และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 5% แต่หากเป็นการนำเข้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม GCC และ GAFTA จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า 

        โอมานไม่มีข้อจํากัดในการนําเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ แต่สินค้าที่มีราคาสูงกว่า 1,000 เรียลโอมาน (ประมาณ 2,600 ดอลลาร์สหรัฐ)  และจะต้องมีใบอนุญาตนําเข้า (Import License) ซึ่งออกโดย Oman Chamber of Commerce and Industry (OCCI) ส่วนขั้นตอนการผ่านพิธีการทางศุลกากรและเอกสารการนำเข้าเป็นไปตามหลักสากลทั่วไป ทั้งนี้ โลหะมีค่าที่นำเข้าไปจำหน่ายในโอมานจะต้องมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ จากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล ส่วนการนำเข้าอัญมณีหรือเครื่องประดับตกแต่งอัญมณีจะต้องแสดงข้อมูลประเภทอัญมณี คุณภาพ และน้ำหนักในใบกำกับสินค้าด้วย

        โอมานมีนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างชาติอย่างเสรีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ซึ่งวัฒนธรรมการทําธุรกิจกับชาวโอมานโดยทั่วไปจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างความเชื่อใจและความเป็นมิตรต่อกัน ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีกำลังซื้อสูงและให้ความสําคัญต่อคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเป็นอย่างมาก ฉะนั้น สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สวยงาม และมีคุณภาพสูง พร้อมใบรับรองคุณภาพจึงมีโอกาสเจาะตลาดศักยภาพแห่งนี้ 

กาตาร์

กาตาร์ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ไข่มุกแห่งเปอร์เซีย” แม้ว่าจะเป็นประเทศขนาดเล็กมีลักษณะเป็นเกาะล้อมรอบด้วยทะเล มีพื้นดินติดกับซาอุดีอาระเบียประเทศเดียวเท่านั้น แต่กลับเป็นประเทศมั่งคั่งร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยรายได้หลักของกาตาร์มาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนถึง 85% ของการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นสัดส่วน 60% ของ GDP จากข้อมูลของ World Economics พบว่าในปี 2022 กาตาร์มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศราว 258,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตราว 3.6% เมื่อเทียบกับปี 2021 และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 106,004 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 4 ของโลก ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มอาหรับ

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในกาตาร์

        เนื่องจากค่าครองชีพและค่าจ้างแรงงานในกาตาร์อยู่ในระดับสูง บริษัทผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งรายเล็กและรายใหญ่จึงมักนําเข้าสินค้าเพื่อมาจําหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ จากสถิติ Global Trade Atlas ในปี 2022 พบว่า กาตาร์นำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นมูลค่า 2,323.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 125% จากปี 2021 โดยแหล่งนำเข้าหลักใน 5 อันดับแรก ได้แก่ สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ตามลำดับ โดยนำเข้าเครื่องประดับทองมากที่สุดในสัดส่วนราว 94% รองลงมาเป็นเพชรเจียระไน และทองคำ ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 6 โดยเกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าเครื่องประดับทอง

        สำหรับรสนิยมการบริโภคของชาวกาตาร์ก็คล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง นั่นคือ นิยมซื้อเครื่องประดับทองมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่มีค่าความบริสุทธิ์ 18 และ 22 กะรัต ทั้งแบบสมัยใหม่และแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังต้องการเครื่องประดับเพชรเพิ่มขึ้นด้วย โดยชาวกาตาร์มักซื้อเครื่องประดับในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนา เช่น หลังวันถือศีลอด (Eid AI Fitr) เป็นต้น และซื้อเป็นของขวัญให้คนสำคัญในโอกาสพิเศษอย่างวันคล้ายวันเกิด หรือวันครบรอบแต่งงาน เป็นต้น ส่วนปัจจัยผลักดันความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับของผู้บริโภคในกาตาร์ ได้แก่ รูปแบบทันสมัย คุณภาพสูง มีจริยธรรมและความยั่งยืน

 

ภาพ: www.qatar-tribune.com

        ทั้งนี้ ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของกาตาร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของ Statista ได้คาดการณ์ว่าในปี 2023 รายได้ในกลุ่มเครื่องประดับอยู่ที่ราว 87.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงปี 2023 – 2026 จะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5.69%

        กฎระเบียบการนำเข้าในกาตาร์

        การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในกาตาร์ ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 0 – 5% ไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากเป็นการนำเข้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม GCC และ GAFTA จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า 

        ผู้นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับได้จะต้องเป็นผู้ประกอบการชาวกาตาร์ หรือบริษัทร่วมทุนระหว่างต่างชาติกับชาวกาตาร์ การขออนุญาตนำเข้าจะต้องดำเนินการโดยหุ้นส่วนชาวกาตาร์เท่านั้น และบริษัทจะต้องขอจดทะเบียนนำเข้าจากกระทรวงธุรกิจและการค้า (Ministry of Business and Trade) และต้องขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของหอการค้าและอุตสาหกรรมกาตาร์ (Qatar Chamber of Commerce and Industry) ด้วย

        แม้ว่าการขายเครื่องประดับที่ทำจากโลหะมีค่าจะยังไม่มีการบังคับประทับตราเครื่องหมายรับรองคุณภาพ หากแต่เป็นระบบสมัครใจ แต่อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เกี่ยวกับโลหะมีค่าควรประทับเครื่องหมายรับรองค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่าบนตัวเรือน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ส่วนขั้นตอนนำเข้าผ่านพิธีการทางศุลกากรใช้การแสดงเอกสารตามมาตรฐานสากล

        นอกจากนี้ บุคคลใดที่เดินทางเข้าหรือออกจากประเทศกาตาร์ และครอบครองเงินตรา พันธบัตร ตราสารเปลี่ยนมือ โลหะมีค่า หรือหินมีค่า ที่มีมูลค่าเกินกว่า 50,000 ริยาลกาตาร์ (ประมาณ 13,699.40 ดอลลาร์สหรัฐ)  จะต้องกรอกแบบฟอร์มสำแดงสิ่งของต่อศุลกากร และให้รายละเอียดอื่นๆ ตามที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรร้องขอ

กาตาร์เป็นตลาดสินค้าหรูที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สะท้อนให้เห็นจากชอปปิงมอลล์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ซึ่งธุรกิจสินค้าหรูของประเทศมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตต่อไป จากรายงานของ  Mordor Intelligence ระบุว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าหรูในกาตาร์มีมูลค่าราว 1,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าในปี 2023 จะเติบโตเฉลี่ย 2.55% เนื่องจากรายได้ที่สูงขึ้น ทำให้ชาวกาตาร์ต้องการบริโภคสินค้าหรูซึ่งรวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับราคาแพงมากขึ้นด้วย ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในการบุกตลาดระดับกลางถึงบนในกาตาร์

ซาอุดีอาระเบีย

ซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ด้วยจำนวนประชากรกว่า 35 ล้านคน และเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่งคั่งและร่ำรวยมากจากการค้าน้ำมันดิบเป็นรายได้หลัก ซึ่งซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก และมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองเป็นอันดับสองของโลกรองจากเวเนซุเอลา หรือมีปริมาณน้ำมันดิบ 266,500 ล้านบาร์เรล ทำให้ประชากรมีรายได้สูง จากข้อมูลของ World Economics พบว่าในปี 2022 ซาอุดีอาระเบียมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศราว 1.732 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตราว 8.7% เมื่อเทียบกับปี 2021 และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 68,045 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 13 ของโลก โดยซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดสินค้าหรูที่เติบโตมากที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในซาอุดีอาระเบีย

ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตทองคำที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 5,000 ปี โดยผลิตทองคำในเหมืองแห่งแรกชื่อว่า Mahd Adh Dhab ตั้งแต่สมัยกษัตริย์โซโลมอนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าผลิตทองคำไปแล้วกว่า 6 ล้านออนซ์ และน่าจะเหลือทองคำในแหล่งนี้อีกกว่า 1 ล้านออนซ์ นอกจากนี้ยังมีการผลิตทองคำในเหมือง Mansoura and Masarah แคว้นมักกะห์ (Makkah region) คาดกันว่ามีกำลังการผลิตทองคำและเงินในเหมืองแห่งนี้ได้ประมาณ 250,000 ออนซ์ และล่าสุดในช่วงปลายปี 2565 The Saudi Geological Survey ได้ประกาศว่าค้นพบแหล่งแร่ทองคำแห่งใหม่ในเขต Aba al-Raha ในเมืองเมดินา (Medina) ซึ่งรัฐบาลจะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเหมืองแห่งนี้ อีกทั้งยังพบอัญมณีในบางพื้นที่ของประเทศด้วย ซึ่งอัญมณีที่ผลิตได้ ได้แก่ มูนสโตน แซปไฟร์ เบริล แอมะซอไนต์ ควอตซ์ เพอริโด และการ์เน็ต เป็นต้น

  ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตเครื่องประดับรายใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง โดยมีผู้ผลิตเครื่องประดับทองหลายร้อยราย มีร้านจำหน่ายเครื่องประดับทั่วประเทศอยู่ราว 6,000 แห่ง มีแรงงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับประมาณ 30,000 คน แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะผลิตเครื่องประดับได้เอง แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องประดับรูปแบบทันสมัย จึงมีความต้องการนำเข้าจากต่างประเทศ จากสถิติ Global Trade Atlas พบว่า ในปี 2022 ซาอุดีอาระเบียนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นมูลค่าประมาณ 3,710.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 125% จากปี 2021 โดยนำเข้าจาก 5 ตลาดหลัก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร จีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ตามลำดับ ซึ่งนำเข้าทองคำมากที่สุดในสัดส่วนราว 74% รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเทียม ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 6 โดยนำเข้าเครื่องประดับทอง (สัดส่วน 89%) และเครื่องประดับเงิน (สัดส่วน 10%) ตามลำดับ

 

ภาพ: https://saudigazette.com.sa

ส่วนด้านการบริโภค ซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับทองและเพชรรายใหญ่ของโลก เครื่องประดับทองที่จำหน่ายในซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่มีค่าความบริสุทธิ์ 18 และ 22 กะรัต จากข้อมูลของ World Gold Council พบว่า ในปี 2022 ซาอุดีอาระเบียมีความต้องการบริโภคเครื่องประดับทอง 37.9 ตัน (เป็นอันดับสองในภูมิภาคตะวันออกกลางรองจากยูเออี) หรือเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปี 2021

ตลาดเครื่องประดับในซาอุดีอาระเบียเติบโตสูงขึ้นมากหลังจากโควิดคลี่คลาย ปัจจัยมาจากราคาน้ำมันซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศเพิ่มขึ้น และรายได้ของชนชั้นกลางปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้ชาวซาอุดีอาระเบียมีความต้องการบริโภคสินค้าหรูและสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นได้จากยอดขายรวมในกลุ่มเครื่องประดับทองและเครื่องประดับอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นถึง 36% ในไตรมาส 2 ของปี 2022 (ข้อมูลจาก ARAB News) 

        กฎระเบียบการนำเข้าในซาอุดีอาระเบีย

        การนําเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของซาอุดีอาระเบียนั้น ผู้นําเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 0-5% แต่หากเป็นการนำเข้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม GCC และ GAFTA จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียยังเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 15% แต่หากเป็นทองคำที่มีค่าความบริสุทธิ์มากกว่า 99% ขึ้นไป ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

        สำหรับการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังซาอุดีอาระเบียนั้น จะต้องมีใบรับรองมาตรฐาน Certificate of Conformity หรือ CoC ของสำนักงานมาตรฐานสินค้า SASO (Saudi Arabian Standard Organization) ส่วนพิธีการศุลกากรและเอกสารสำหรับส่งออกเป็นไปตามมาตรฐานสากลทั่วไป 

        ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียมีข้อกำหนดทางเทคนิคสำหรับเครื่องประดับและแอคเซสเซอรี่ที่จำหน่ายในประเทศ โดยอนุญาตให้มีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 500 ppm ปริมาณแคดเมียมไม่เกิน 100 ppm และในส่วนของนิกเกิลนั้น หากเป็นเครื่องประดับที่สอดผ่านผิวหนังให้มีอัตราการแพร่ไม่เกิน 0.2 ไมโครกรัม/ตารางเซนติเมตร/สัปดาห์ ส่วนเครื่องประดับที่สัมผัสกับผิวภายนอก ให้มีอัตราการแพร่ได้ไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/ตารางเซนติเมตร/สัปดาห์ และเครื่องประดับทองที่ส่งเข้าไปจำหน่ายในซาอุดีอาระเบียจะต้องมีค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทองตั้งแต่ 18 กะรัตขึ้นไป ส่วนเครื่องประดับเงินจะต้องมีปริมาณเนื้อเงินอย่างน้อย 92.5% และจะต้องมีตราประทับเครื่องหมายรับรองคุณภาพให้ถูกต้อง

        ซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง ประชาชนมีกำลังซื้อสูง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากนโยบายของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานที่ได้ประกาศ “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030)” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายลดการพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันดิบ แต่เน้นสร้างรายได้จากหลากหลายช่องทางเข้าประเทศมากขึ้น เปิดกว้างด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศ คาดว่าจะมีการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 เพื่อก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 15 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ฉะนั้น ตลาดซาอุดีอาระเบียจึงเป็นอีกหนึ่งตลาดศักยภาพสูงสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ

ช่องทางการเข้าสู่ตลาด 

        ด้วยเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 54 ล้านคน มีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงมาก ดังนั้น ตะวันออกกลางจึงถือเป็นตลาดศักยภาพสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หากผู้ประกอบการไทยสนใจเข้าสู่ตลาดดังกล่าว สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

        1. ศึกษาพฤติกรรมการซื้อสินค้า รสนิยมความชอบของผู้บริโภคชาวอาหรับ และทำความเข้าใจวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งประเทศในกลุ่ม GCC มีรากฐานในวัฒนธรรมอาหรับและความเชื่อของศาสนาอิสลามคล้ายกัน รูปแบบสินค้าจะต้องไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม โดยเครื่องประดับต้องไม่มีสัญลักษณ์ที่เป็นรูปคน รูปสัตว์ ไม้กางเขนหรือรูปบูชาของศาสนาอื่นๆ เป็นต้น 

        2. เดินทางไปศึกษาและสำรวจลู่ทาง แสวงหาข้อมูล ไปสัมผัสประเทศเป้าหมายด้วยตนเอง เพื่อประเมินว่าจะขายสินค้าประเภทใดเข้าสู่ตลาด หรือจะใช้กลยุทธ์ใดในการเจาะตลาดแต่ละประเทศอย่างได้ผล

        3. เรียนรู้วัฒนธรรมการทำธุรกิจกับชาวอาหรับ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับพันธมิตรหรือคู่ค้า เช่น สถานที่ราชการในซาอุดีอาระเบียจะเข้าทำงาน 7.00 น. ถึง 14.00 น. การประชุมธุรกิจกับชาวซาอุดีอาระเบียจะเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 20.00 น. เนื่องจากช่วงเวลากลางวันอากาศร้อนมาก ชาวอาหรับส่วนใหญ่จะนอนพักผ่อนในช่วงกลางวันและทำงานตอนกลางคืน เป็นต้น 

        4. หาคู่ค้าในท้องถิ่นที่ดี โดยอาจขอคำแนะนำจากหน่วยงานของรัฐที่ประจำอยู่ในประเทศนั้นๆ ให้ช่วยแนะนําหุ้นส่วนท้องถิ่นที่น่าเชื่อถือ หรือช่วยจัดการจับคู่ธุรกิจให้ได้พบปะกับผู้นำเข้าในประเทศเป้าหมาย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรสร้างมิตรภาพ ความน่าเชื่อถือ และให้เกียรติกับคู่ค้าของตน ก็จะช่วยให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในตลาดนี้ได้มากขึ้น 

        5. เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อหาคู่ค้าหรือพันธมิตรที่จะนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในตลาด โดยงานแสดงสินค้าสำคัญในแต่ละประเทศ ได้แก่

                5.1 โอมาน: Muscat International Jewelry Exhibition กรุงมัสกัต ซึ่งมักจัดงานในช่วงเดือนธันวาคม

                5.2 กาตาร์: Doha Jewelry & Watches Exhibition กรุงโดฮา ปกติจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์

                5.3 ซาอุดีอาระเบีย: Saudi Jewelry Show ณ กรุงริยาด จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม หรือ Jewelry Salon ณ กรุงริยาดและเมืองเจดดาห์ มักจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์

        ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยนอกจากจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในแต่ละประเทศแล้ว ยังควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ งานไทยแลนด์เอ็กซิบิชั่น ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในบาห์เรน โอมาน โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้พบปะกับผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าสินค้าโดยตรง และได้ทราบถึงโอกาสในการขยายธุรกิจส่งออกสินค้า ตลอดจนเป็นการสร้างภาพลักษณ์สินค้าของไทย และเพิ่มมูลค่าการค้าไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางได้อย่างต่อเนื่อง


จัดทำโดย นางสาววาสนา สมเนตร์

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


ข้อมูลอ้างอิง


1) “โอมาน” โอกาสใหม่ทางการค้าที่น่าจับตาของไทย, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://globthailand.com/oman-270422/.(สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565)
2) เจาะตลาดตะวันออกกลาง...ไม่ยากอย่างที่คิด, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.bangkokbanksme.com /en/middle-east-marketing. (สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565)
3) คุยกับทูต | อิสซา อับดุลเลาะฮ์ ญาบิร อัลอาลาวี รัฐสุลต่านโอมาน (2), [ออนไลน์]. แหล่งที่มา www.matichonweekly.com/column/article_614778. (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565)
4) ประวัติประเทศกาตาร์ ไข่มุกแห่งเปอร์เซีย ดินแดนร่ำรวยแห่งตะวันออกกลาง[ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://travel.trueid.net/detail/gwn6Xdojdgmw. (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565)
5) อัตราภาษีนำเข้าและกฎระเบียบการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ, แหล่งที่มา https://infocenter.git.or.th/ th/category/tax-rates-and-regulations. (สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565)
6) Oman: Showcasing traditional Omani jewellery, [Online]. Available at https://timesofoman.com/ article/ 80523-travel-oman-showcasing-traditional-omani-jewellery. (Retrieved March 14, 2022).
7) Why is Qatar one of the richest countries in the world and how much oil does it have? [Online]. Available at https://en.as.com/latest_news/why-is-qatar-one-of-the-richest-countries-in-the-world-and-how-much-oil-does-it-have-n/. (Retrieved March 15, 2022).
8) Jewelry – Qatar, [Online]. Available at www.statista.com/outlook/cmo/accessories/watches-jewelry/jewelry/qatar. (Retrieved March 17, 2022).
9) Qatar regarded as world’s fastest growing luxury market: Report, [Online]. Available at https://thepeninsulaqatar.com/article/10/05/2022/qatar-regarded-as-worlds-fastest-growing-luxury-market-report. (Retrieved March 17, 2022).
10) Qatar Luxury Jewelry Market Plot Concludes Heavy Growth With CAGR Of 6.3% By 2028, [Online]. Available at https://news.marketersmedia.com/qatar-luxury-jewelry-market-plot-concludes-heavy-growth-with-cagr-of-63-by-2028/88923252. (Retrieved March 17, 2022).
11) Saudi Arabia, [Online]. Available at https://www.kefi-goldandcopper.com/projects/saudi-arabia/country-info. (Retrieved March 20, 2022).
12) Saudi Arabia’s largest gold mine to begin operations Q1 2022 - Ma'aden CEO, [Online]. Available at https://www.arabnews.com/node/1957626/business-economy. (Retrieved March 20, 2022).
13) Gold, copper deposits found in Saudi Arabia's Medina, [Online]. Available at https://economictimes. indiatimes.com/news/international/us/gold-copper-deposits-found-in-saudi-arabias-medina/ articleshow/94405011.cms. (Retrieved March 20, 2022).
14) Saudi Arabia’s jewelry sector tops economic activities, with 36% jump in sales in Q2, [Online]. Available at https://www.arabnews.com/node/2144976/business-economy. (Retrieved March 22, 2022).
15) JEWELS FROM SAUDIARABIA [Online]. Available at http://www.thenewjewelleruae.me/ Top_Stories/Saudi_Arabia.html. (Retrieved March 22, 2022).
16) Saudi's ZATCA: VAT applicable to gold if its purity level is below 99%, [Online]. Available at https://www.zawya.com/en/economy/gcc/saudis-zatca-vat-applicable-to-gold-if-its-purity-level-is-below-99-oy91mqhs. (Retrieved March 24, 2022).
17) Saudi Arabia aims to be among 15 top global economies with $7tr plan, [Online]. Available at https://www.arabnews.com/node/1945791/business-economy. (Retrieved March 24, 2022).

เอกสารแนบ


ความคิดเห็น


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

ชี้ช่องเจาะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับตะวันออกกลาง (ตอนจบ)

May 30, 2023
1925 views
0 share

        ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงศักยภาพตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของ 3 ประเทศในตะวันออกกลางของกลุ่ม GCC ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และคูเวต ไปแล้ว ในตอนที่ 2 นี้จะได้กล่าวถึงการเจาะตลาดอีก 3 ประเทศที่เหลือ ซึ่งก็เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นโอกาสสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเช่นกัน ได้แก่ โอมาน กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย 

โอมาน  

โอมานเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีความมั่งคั่งด้านทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักที่สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ จากข้อมูลของ World Economics พบว่าในปี 2022 โอมานมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ราว 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตราว 5% เมื่อเทียบกับปี 2021 และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 37,890 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 47 ของโลก  

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในโอมาน

โอมานมีชื่อเสียงด้านการผลิตเครื่องประดับเงินด้วยมือที่ถ่ายทอดจากครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น เรียกว่า  Bedouin Jewelry หรือ Omani Silver โดยช่างชาวโอมานมีความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องประดับเงินด้วยศิลปะแท้ของประเทศที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ ซึ่งการสวมใส่เครื่องประดับเงินในโอมานสะท้อนถึงความร่ำรวยและสัญลักษณ์ทางศาสนา นอกจากนี้ โอมานยังมีการผลิตเครื่องประดับทอง 21 และ 22 กะรัต ซึ่งการผลิตเครื่องประดับส่วนใหญ่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชาวโอมาน ชาวเอเชียใต้ที่เข้าไปอยู่ทำงานและท่องเที่ยวในโอมาน

        ด้านการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับ ในอดีตชาวโอมานนิยมสวมใส่เครื่องประดับเงินท้องถิ่น แต่ปัจจุบันนิยมบริโภคเครื่องประดับทองมากที่สุด และมีแนวโน้มต้องการเครื่องประดับทองตกแต่งเพชรและพลอยสีเพิ่มมากขึ้น และตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในโอมานก็มีแนวโน้มขยายตัวดี เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และแม้ว่าโอมานจะสามารถผลิตเครื่องประดับได้เอง แต่ผู้บริโภคยุคใหม่ชื่นชอบสินค้าที่มีรูปแบบสวยงาม ทันสมัย และคุณภาพสูง จึงมีความต้องการสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น 

        ทั้งนี้ Global Trade Atlas รายงานการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศต่างๆ ไปยังโอมานในปี 2022 เป็นมูลค่า 122.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.20% เมื่อเทียบจากปี 2021 ซึ่งประเทศผู้ส่งออกหลักไปยังโอมานใน 5 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บาห์เรน และจอร์แดน ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกส่วนมากเกือบ 66% เป็นทองคำ รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง (สัดส่วนราว 30%) ที่เหลือเป็นเครื่องประดับเทียม ส่วนไทยเป็นผู้ส่งออกในอันดับที่ 13 ของโอมาน โดยเครื่องประดับทองเป็นสินค้าส่งออกหลัก รองลงมาเป็นเครื่องประดับเทียม และพลอยสี (พลอยก้อนและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน) ตามลำดับ 

        กฎระเบียบการนำเข้าในโอมาน

        การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของโอมาน ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 0-5% และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 5% แต่หากเป็นการนำเข้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม GCC และ GAFTA จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า 

        โอมานไม่มีข้อจํากัดในการนําเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ แต่สินค้าที่มีราคาสูงกว่า 1,000 เรียลโอมาน (ประมาณ 2,600 ดอลลาร์สหรัฐ)  และจะต้องมีใบอนุญาตนําเข้า (Import License) ซึ่งออกโดย Oman Chamber of Commerce and Industry (OCCI) ส่วนขั้นตอนการผ่านพิธีการทางศุลกากรและเอกสารการนำเข้าเป็นไปตามหลักสากลทั่วไป ทั้งนี้ โลหะมีค่าที่นำเข้าไปจำหน่ายในโอมานจะต้องมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ จากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล ส่วนการนำเข้าอัญมณีหรือเครื่องประดับตกแต่งอัญมณีจะต้องแสดงข้อมูลประเภทอัญมณี คุณภาพ และน้ำหนักในใบกำกับสินค้าด้วย

        โอมานมีนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างชาติอย่างเสรีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ซึ่งวัฒนธรรมการทําธุรกิจกับชาวโอมานโดยทั่วไปจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างความเชื่อใจและความเป็นมิตรต่อกัน ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีกำลังซื้อสูงและให้ความสําคัญต่อคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเป็นอย่างมาก ฉะนั้น สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สวยงาม และมีคุณภาพสูง พร้อมใบรับรองคุณภาพจึงมีโอกาสเจาะตลาดศักยภาพแห่งนี้ 

กาตาร์

กาตาร์ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ไข่มุกแห่งเปอร์เซีย” แม้ว่าจะเป็นประเทศขนาดเล็กมีลักษณะเป็นเกาะล้อมรอบด้วยทะเล มีพื้นดินติดกับซาอุดีอาระเบียประเทศเดียวเท่านั้น แต่กลับเป็นประเทศมั่งคั่งร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยรายได้หลักของกาตาร์มาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนถึง 85% ของการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นสัดส่วน 60% ของ GDP จากข้อมูลของ World Economics พบว่าในปี 2022 กาตาร์มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศราว 258,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตราว 3.6% เมื่อเทียบกับปี 2021 และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 106,004 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 4 ของโลก ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มอาหรับ

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในกาตาร์

        เนื่องจากค่าครองชีพและค่าจ้างแรงงานในกาตาร์อยู่ในระดับสูง บริษัทผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งรายเล็กและรายใหญ่จึงมักนําเข้าสินค้าเพื่อมาจําหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ จากสถิติ Global Trade Atlas ในปี 2022 พบว่า กาตาร์นำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นมูลค่า 2,323.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 125% จากปี 2021 โดยแหล่งนำเข้าหลักใน 5 อันดับแรก ได้แก่ สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ตามลำดับ โดยนำเข้าเครื่องประดับทองมากที่สุดในสัดส่วนราว 94% รองลงมาเป็นเพชรเจียระไน และทองคำ ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 6 โดยเกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าเครื่องประดับทอง

        สำหรับรสนิยมการบริโภคของชาวกาตาร์ก็คล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง นั่นคือ นิยมซื้อเครื่องประดับทองมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่มีค่าความบริสุทธิ์ 18 และ 22 กะรัต ทั้งแบบสมัยใหม่และแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังต้องการเครื่องประดับเพชรเพิ่มขึ้นด้วย โดยชาวกาตาร์มักซื้อเครื่องประดับในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนา เช่น หลังวันถือศีลอด (Eid AI Fitr) เป็นต้น และซื้อเป็นของขวัญให้คนสำคัญในโอกาสพิเศษอย่างวันคล้ายวันเกิด หรือวันครบรอบแต่งงาน เป็นต้น ส่วนปัจจัยผลักดันความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับของผู้บริโภคในกาตาร์ ได้แก่ รูปแบบทันสมัย คุณภาพสูง มีจริยธรรมและความยั่งยืน

 

ภาพ: www.qatar-tribune.com

        ทั้งนี้ ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของกาตาร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของ Statista ได้คาดการณ์ว่าในปี 2023 รายได้ในกลุ่มเครื่องประดับอยู่ที่ราว 87.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงปี 2023 – 2026 จะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5.69%

        กฎระเบียบการนำเข้าในกาตาร์

        การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในกาตาร์ ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 0 – 5% ไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากเป็นการนำเข้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม GCC และ GAFTA จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า 

        ผู้นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับได้จะต้องเป็นผู้ประกอบการชาวกาตาร์ หรือบริษัทร่วมทุนระหว่างต่างชาติกับชาวกาตาร์ การขออนุญาตนำเข้าจะต้องดำเนินการโดยหุ้นส่วนชาวกาตาร์เท่านั้น และบริษัทจะต้องขอจดทะเบียนนำเข้าจากกระทรวงธุรกิจและการค้า (Ministry of Business and Trade) และต้องขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของหอการค้าและอุตสาหกรรมกาตาร์ (Qatar Chamber of Commerce and Industry) ด้วย

        แม้ว่าการขายเครื่องประดับที่ทำจากโลหะมีค่าจะยังไม่มีการบังคับประทับตราเครื่องหมายรับรองคุณภาพ หากแต่เป็นระบบสมัครใจ แต่อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เกี่ยวกับโลหะมีค่าควรประทับเครื่องหมายรับรองค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่าบนตัวเรือน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ส่วนขั้นตอนนำเข้าผ่านพิธีการทางศุลกากรใช้การแสดงเอกสารตามมาตรฐานสากล

        นอกจากนี้ บุคคลใดที่เดินทางเข้าหรือออกจากประเทศกาตาร์ และครอบครองเงินตรา พันธบัตร ตราสารเปลี่ยนมือ โลหะมีค่า หรือหินมีค่า ที่มีมูลค่าเกินกว่า 50,000 ริยาลกาตาร์ (ประมาณ 13,699.40 ดอลลาร์สหรัฐ)  จะต้องกรอกแบบฟอร์มสำแดงสิ่งของต่อศุลกากร และให้รายละเอียดอื่นๆ ตามที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรร้องขอ

กาตาร์เป็นตลาดสินค้าหรูที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สะท้อนให้เห็นจากชอปปิงมอลล์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ซึ่งธุรกิจสินค้าหรูของประเทศมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตต่อไป จากรายงานของ  Mordor Intelligence ระบุว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าหรูในกาตาร์มีมูลค่าราว 1,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าในปี 2023 จะเติบโตเฉลี่ย 2.55% เนื่องจากรายได้ที่สูงขึ้น ทำให้ชาวกาตาร์ต้องการบริโภคสินค้าหรูซึ่งรวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับราคาแพงมากขึ้นด้วย ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในการบุกตลาดระดับกลางถึงบนในกาตาร์

ซาอุดีอาระเบีย

ซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ด้วยจำนวนประชากรกว่า 35 ล้านคน และเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่งคั่งและร่ำรวยมากจากการค้าน้ำมันดิบเป็นรายได้หลัก ซึ่งซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก และมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองเป็นอันดับสองของโลกรองจากเวเนซุเอลา หรือมีปริมาณน้ำมันดิบ 266,500 ล้านบาร์เรล ทำให้ประชากรมีรายได้สูง จากข้อมูลของ World Economics พบว่าในปี 2022 ซาอุดีอาระเบียมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศราว 1.732 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตราว 8.7% เมื่อเทียบกับปี 2021 และประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 68,045 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็นอันดับที่ 13 ของโลก โดยซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดสินค้าหรูที่เติบโตมากที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในซาอุดีอาระเบีย

ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตทองคำที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 5,000 ปี โดยผลิตทองคำในเหมืองแห่งแรกชื่อว่า Mahd Adh Dhab ตั้งแต่สมัยกษัตริย์โซโลมอนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าผลิตทองคำไปแล้วกว่า 6 ล้านออนซ์ และน่าจะเหลือทองคำในแหล่งนี้อีกกว่า 1 ล้านออนซ์ นอกจากนี้ยังมีการผลิตทองคำในเหมือง Mansoura and Masarah แคว้นมักกะห์ (Makkah region) คาดกันว่ามีกำลังการผลิตทองคำและเงินในเหมืองแห่งนี้ได้ประมาณ 250,000 ออนซ์ และล่าสุดในช่วงปลายปี 2565 The Saudi Geological Survey ได้ประกาศว่าค้นพบแหล่งแร่ทองคำแห่งใหม่ในเขต Aba al-Raha ในเมืองเมดินา (Medina) ซึ่งรัฐบาลจะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเหมืองแห่งนี้ อีกทั้งยังพบอัญมณีในบางพื้นที่ของประเทศด้วย ซึ่งอัญมณีที่ผลิตได้ ได้แก่ มูนสโตน แซปไฟร์ เบริล แอมะซอไนต์ ควอตซ์ เพอริโด และการ์เน็ต เป็นต้น

  ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตเครื่องประดับรายใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง โดยมีผู้ผลิตเครื่องประดับทองหลายร้อยราย มีร้านจำหน่ายเครื่องประดับทั่วประเทศอยู่ราว 6,000 แห่ง มีแรงงานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับประมาณ 30,000 คน แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะผลิตเครื่องประดับได้เอง แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องประดับรูปแบบทันสมัย จึงมีความต้องการนำเข้าจากต่างประเทศ จากสถิติ Global Trade Atlas พบว่า ในปี 2022 ซาอุดีอาระเบียนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นมูลค่าประมาณ 3,710.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 125% จากปี 2021 โดยนำเข้าจาก 5 ตลาดหลัก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร จีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ตามลำดับ ซึ่งนำเข้าทองคำมากที่สุดในสัดส่วนราว 74% รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเทียม ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าในอันดับที่ 6 โดยนำเข้าเครื่องประดับทอง (สัดส่วน 89%) และเครื่องประดับเงิน (สัดส่วน 10%) ตามลำดับ

 

ภาพ: https://saudigazette.com.sa

ส่วนด้านการบริโภค ซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับทองและเพชรรายใหญ่ของโลก เครื่องประดับทองที่จำหน่ายในซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่มีค่าความบริสุทธิ์ 18 และ 22 กะรัต จากข้อมูลของ World Gold Council พบว่า ในปี 2022 ซาอุดีอาระเบียมีความต้องการบริโภคเครื่องประดับทอง 37.9 ตัน (เป็นอันดับสองในภูมิภาคตะวันออกกลางรองจากยูเออี) หรือเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปี 2021

ตลาดเครื่องประดับในซาอุดีอาระเบียเติบโตสูงขึ้นมากหลังจากโควิดคลี่คลาย ปัจจัยมาจากราคาน้ำมันซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศเพิ่มขึ้น และรายได้ของชนชั้นกลางปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้ชาวซาอุดีอาระเบียมีความต้องการบริโภคสินค้าหรูและสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นได้จากยอดขายรวมในกลุ่มเครื่องประดับทองและเครื่องประดับอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นถึง 36% ในไตรมาส 2 ของปี 2022 (ข้อมูลจาก ARAB News) 

        กฎระเบียบการนำเข้าในซาอุดีอาระเบีย

        การนําเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของซาอุดีอาระเบียนั้น ผู้นําเข้าจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 0-5% แต่หากเป็นการนำเข้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม GCC และ GAFTA จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียยังเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 15% แต่หากเป็นทองคำที่มีค่าความบริสุทธิ์มากกว่า 99% ขึ้นไป ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

        สำหรับการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังซาอุดีอาระเบียนั้น จะต้องมีใบรับรองมาตรฐาน Certificate of Conformity หรือ CoC ของสำนักงานมาตรฐานสินค้า SASO (Saudi Arabian Standard Organization) ส่วนพิธีการศุลกากรและเอกสารสำหรับส่งออกเป็นไปตามมาตรฐานสากลทั่วไป 

        ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียมีข้อกำหนดทางเทคนิคสำหรับเครื่องประดับและแอคเซสเซอรี่ที่จำหน่ายในประเทศ โดยอนุญาตให้มีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 500 ppm ปริมาณแคดเมียมไม่เกิน 100 ppm และในส่วนของนิกเกิลนั้น หากเป็นเครื่องประดับที่สอดผ่านผิวหนังให้มีอัตราการแพร่ไม่เกิน 0.2 ไมโครกรัม/ตารางเซนติเมตร/สัปดาห์ ส่วนเครื่องประดับที่สัมผัสกับผิวภายนอก ให้มีอัตราการแพร่ได้ไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/ตารางเซนติเมตร/สัปดาห์ และเครื่องประดับทองที่ส่งเข้าไปจำหน่ายในซาอุดีอาระเบียจะต้องมีค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทองตั้งแต่ 18 กะรัตขึ้นไป ส่วนเครื่องประดับเงินจะต้องมีปริมาณเนื้อเงินอย่างน้อย 92.5% และจะต้องมีตราประทับเครื่องหมายรับรองคุณภาพให้ถูกต้อง

        ซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในตะวันออกกลาง ประชาชนมีกำลังซื้อสูง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากนโยบายของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานที่ได้ประกาศ “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030)” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายลดการพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันดิบ แต่เน้นสร้างรายได้จากหลากหลายช่องทางเข้าประเทศมากขึ้น เปิดกว้างด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศ คาดว่าจะมีการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 เพื่อก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 15 ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ฉะนั้น ตลาดซาอุดีอาระเบียจึงเป็นอีกหนึ่งตลาดศักยภาพสูงสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ

ช่องทางการเข้าสู่ตลาด 

        ด้วยเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 54 ล้านคน มีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงมาก ดังนั้น ตะวันออกกลางจึงถือเป็นตลาดศักยภาพสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หากผู้ประกอบการไทยสนใจเข้าสู่ตลาดดังกล่าว สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้

        1. ศึกษาพฤติกรรมการซื้อสินค้า รสนิยมความชอบของผู้บริโภคชาวอาหรับ และทำความเข้าใจวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งประเทศในกลุ่ม GCC มีรากฐานในวัฒนธรรมอาหรับและความเชื่อของศาสนาอิสลามคล้ายกัน รูปแบบสินค้าจะต้องไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม โดยเครื่องประดับต้องไม่มีสัญลักษณ์ที่เป็นรูปคน รูปสัตว์ ไม้กางเขนหรือรูปบูชาของศาสนาอื่นๆ เป็นต้น 

        2. เดินทางไปศึกษาและสำรวจลู่ทาง แสวงหาข้อมูล ไปสัมผัสประเทศเป้าหมายด้วยตนเอง เพื่อประเมินว่าจะขายสินค้าประเภทใดเข้าสู่ตลาด หรือจะใช้กลยุทธ์ใดในการเจาะตลาดแต่ละประเทศอย่างได้ผล

        3. เรียนรู้วัฒนธรรมการทำธุรกิจกับชาวอาหรับ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับพันธมิตรหรือคู่ค้า เช่น สถานที่ราชการในซาอุดีอาระเบียจะเข้าทำงาน 7.00 น. ถึง 14.00 น. การประชุมธุรกิจกับชาวซาอุดีอาระเบียจะเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 20.00 น. เนื่องจากช่วงเวลากลางวันอากาศร้อนมาก ชาวอาหรับส่วนใหญ่จะนอนพักผ่อนในช่วงกลางวันและทำงานตอนกลางคืน เป็นต้น 

        4. หาคู่ค้าในท้องถิ่นที่ดี โดยอาจขอคำแนะนำจากหน่วยงานของรัฐที่ประจำอยู่ในประเทศนั้นๆ ให้ช่วยแนะนําหุ้นส่วนท้องถิ่นที่น่าเชื่อถือ หรือช่วยจัดการจับคู่ธุรกิจให้ได้พบปะกับผู้นำเข้าในประเทศเป้าหมาย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรสร้างมิตรภาพ ความน่าเชื่อถือ และให้เกียรติกับคู่ค้าของตน ก็จะช่วยให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในตลาดนี้ได้มากขึ้น 

        5. เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อหาคู่ค้าหรือพันธมิตรที่จะนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในตลาด โดยงานแสดงสินค้าสำคัญในแต่ละประเทศ ได้แก่

                5.1 โอมาน: Muscat International Jewelry Exhibition กรุงมัสกัต ซึ่งมักจัดงานในช่วงเดือนธันวาคม

                5.2 กาตาร์: Doha Jewelry & Watches Exhibition กรุงโดฮา ปกติจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์

                5.3 ซาอุดีอาระเบีย: Saudi Jewelry Show ณ กรุงริยาด จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม หรือ Jewelry Salon ณ กรุงริยาดและเมืองเจดดาห์ มักจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์

        ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยนอกจากจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในแต่ละประเทศแล้ว ยังควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ งานไทยแลนด์เอ็กซิบิชั่น ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในบาห์เรน โอมาน โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้พบปะกับผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าสินค้าโดยตรง และได้ทราบถึงโอกาสในการขยายธุรกิจส่งออกสินค้า ตลอดจนเป็นการสร้างภาพลักษณ์สินค้าของไทย และเพิ่มมูลค่าการค้าไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางได้อย่างต่อเนื่อง


จัดทำโดย นางสาววาสนา สมเนตร์

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


ข้อมูลอ้างอิง


1) “โอมาน” โอกาสใหม่ทางการค้าที่น่าจับตาของไทย, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://globthailand.com/oman-270422/.(สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565)
2) เจาะตลาดตะวันออกกลาง...ไม่ยากอย่างที่คิด, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.bangkokbanksme.com /en/middle-east-marketing. (สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565)
3) คุยกับทูต | อิสซา อับดุลเลาะฮ์ ญาบิร อัลอาลาวี รัฐสุลต่านโอมาน (2), [ออนไลน์]. แหล่งที่มา www.matichonweekly.com/column/article_614778. (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565)
4) ประวัติประเทศกาตาร์ ไข่มุกแห่งเปอร์เซีย ดินแดนร่ำรวยแห่งตะวันออกกลาง[ออนไลน์]. แหล่งที่มา https://travel.trueid.net/detail/gwn6Xdojdgmw. (สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565)
5) อัตราภาษีนำเข้าและกฎระเบียบการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ, แหล่งที่มา https://infocenter.git.or.th/ th/category/tax-rates-and-regulations. (สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565)
6) Oman: Showcasing traditional Omani jewellery, [Online]. Available at https://timesofoman.com/ article/ 80523-travel-oman-showcasing-traditional-omani-jewellery. (Retrieved March 14, 2022).
7) Why is Qatar one of the richest countries in the world and how much oil does it have? [Online]. Available at https://en.as.com/latest_news/why-is-qatar-one-of-the-richest-countries-in-the-world-and-how-much-oil-does-it-have-n/. (Retrieved March 15, 2022).
8) Jewelry – Qatar, [Online]. Available at www.statista.com/outlook/cmo/accessories/watches-jewelry/jewelry/qatar. (Retrieved March 17, 2022).
9) Qatar regarded as world’s fastest growing luxury market: Report, [Online]. Available at https://thepeninsulaqatar.com/article/10/05/2022/qatar-regarded-as-worlds-fastest-growing-luxury-market-report. (Retrieved March 17, 2022).
10) Qatar Luxury Jewelry Market Plot Concludes Heavy Growth With CAGR Of 6.3% By 2028, [Online]. Available at https://news.marketersmedia.com/qatar-luxury-jewelry-market-plot-concludes-heavy-growth-with-cagr-of-63-by-2028/88923252. (Retrieved March 17, 2022).
11) Saudi Arabia, [Online]. Available at https://www.kefi-goldandcopper.com/projects/saudi-arabia/country-info. (Retrieved March 20, 2022).
12) Saudi Arabia’s largest gold mine to begin operations Q1 2022 - Ma'aden CEO, [Online]. Available at https://www.arabnews.com/node/1957626/business-economy. (Retrieved March 20, 2022).
13) Gold, copper deposits found in Saudi Arabia's Medina, [Online]. Available at https://economictimes. indiatimes.com/news/international/us/gold-copper-deposits-found-in-saudi-arabias-medina/ articleshow/94405011.cms. (Retrieved March 20, 2022).
14) Saudi Arabia’s jewelry sector tops economic activities, with 36% jump in sales in Q2, [Online]. Available at https://www.arabnews.com/node/2144976/business-economy. (Retrieved March 22, 2022).
15) JEWELS FROM SAUDIARABIA [Online]. Available at http://www.thenewjewelleruae.me/ Top_Stories/Saudi_Arabia.html. (Retrieved March 22, 2022).
16) Saudi's ZATCA: VAT applicable to gold if its purity level is below 99%, [Online]. Available at https://www.zawya.com/en/economy/gcc/saudis-zatca-vat-applicable-to-gold-if-its-purity-level-is-below-99-oy91mqhs. (Retrieved March 24, 2022).
17) Saudi Arabia aims to be among 15 top global economies with $7tr plan, [Online]. Available at https://www.arabnews.com/node/1945791/business-economy. (Retrieved March 24, 2022).

เอกสารแนบ

เราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้   ตั้งค่า ยอมรับ

×
140 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 4 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
โทรศัพท์: 0 2634 4999 ต่อ 444
โทรสาร: 0 2634 4970
external-site