
โลกแห่งการประมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
การประมูลอัญมณีและเครื่องประดับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีประวัติยาวนานและน่าสนใจ ตลาดการประมูลเป็นสถานที่ที่นักสะสมและนักลงทุนมากมายเข้ามาเพื่อซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับที่มีมูลค่าสูง นอกจากทองคำกับโลหะเงินแล้ว อัญมณีทั้งเพชรและพลอยสีต่างก็เป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนสนใจเช่นกัน ด้วยคุณสมบัติที่เป็นสินทรัพย์คงทน มูลค่าคงอยู่ไม่ลดลงไปตามกาลเวลา และยังสามารถนำมาช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้ในยามจำเป็นอีกด้วย
บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง McKinsey & Company คาดการณ์ว่าหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 พฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มอุตสาหกรรมฟุ่มเฟือยจะเปลี่ยนไป คนทุกวัยจะหันมาให้ความสำคัญกับหลักประกันระยะยาวมากขึ้นด้วยการครอบครองสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ซึ่งมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของอัญมณีทั้งเพชรและพลอยสีที่มีมาตลอดถือเป็นหนึ่งในหลักประกันระยะยาวที่ได้รับความสนใจไม่น้อย หากนับตั้งแต่อดีตผู้คนนิยมนำอัญมณีมีค่ามาทำเป็นเครื่องประดับสวมใส่เพื่อความสวยงาม และแสดงถึงฐานะทางสังคม หรือเป็นสิริมงคลจนกลายเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น และเนื่องด้วยอัญมณีที่เกิดจากธรรมชาติเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งนับวันยิ่งหายาก ราคาจึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาพ: https://aec10news.com
การประมูลอัญมณีและเครื่องประดับเป็นกระบวนการที่มีความน่าสนใจและซับซ้อน ซึ่งต้องใช้ความรอบคอบในการเลือกซื้อและเลือกขาย การศึกษาขั้นตอนในการประมูลอัญมณีและเครื่องประดับจึงเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่ควรศึกษาก่อนเข้าร่วมการประมูล โดยทั่วไปข้อควรรู้ในการประมูลอัญมณีและเครื่องประดับมีดังนี้
- ศึกษาเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับ: ก่อนที่จะเข้าร่วมงานประมูลควรศึกษาเกี่ยวกับประวัติของอัญมณีและเครื่องประดับ รูปแบบ คุณลักษณะ และคุณค่าของแต่ละชิ้นที่สนใจ รวมถึงการตรวจสอบความสมบูรณ์และคุณภาพของสินค้าด้วย
- เลือกงานประมูลที่เชื่อถือได้: ค้นหาบริษัทประมูลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงการ ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับงานประมูล วันเวลา และสถานที่
- ตรวจสอบสภาพของสินค้า: ก่อนที่จะประมูล ต้องตรวจสอบสภาพของอัญมณีและเครื่องประดับอย่างละเอียด ตรวจสอบความสมบูรณ์ และความสวยงาม
- กำหนดราคาสูงสุด: กำหนดราคาสูงสุดที่พร้อมจ่าย และไม่เกินความสามารถในการจ่าย
- เข้าร่วมงานประมูล: เมื่อเข้าร่วมงานประมูลควรติดตามการประมูลอย่างใกล้ชิด และหากชนะการประมูล ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้รับสินค้าตามที่ต้องการ
- เรียนรู้จากประสบการณ์: การประมูลอัญมณีและเครื่องประดับเป็นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะได้รับประสบการณ์และความรู้ใหม่ ๆ จากการเข้าร่วมงานประมูลในทุกครั้ง
ตัวอย่างแหล่งการประมูลชั้นนำของโลก
Sotheby’s (โซธบี) ก่อตั้งขึ้นในปี 1744 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเริ่มต้นจากการประมูลหนังสือโบราณ ปัจจุบันเป็นบริษัทประมูลที่มีอายุมากที่สุดในโลก ซึ่งดำเนินการประมูลมากกว่า 50 ประเภทสินค้า รวมถึงผลงานศิลปะ นาฬิกา เครื่องประดับ กระเป๋า และเฟอร์นิเจอร์ นอกจากการประมูลแบบสด ยังมีการประมูลออนไลน์ให้เลือกด้วย ซึ่งมีสถานที่ประมูลทั้งหมด 9 แห่งทั่วโลก เช่น ฮ่องกง นิวยอร์ก ลอนดอน เป็นต้น
Christie’s (คริสตี้) เป็นบริษัทประมูลที่มีชื่อเสียงใกล้เคียงกับ Sotheby’s ในฐานะบริษัทประมูลที่มีอายุมากเช่นกัน ก่อตั้งขึ้นในปี 1766 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีสถานที่ประมูลใน 10 แห่งทั่วโลก เช่น ฮ่องกง นิวยอร์ก ลอนดอน เป็นต้น โดยมีการจัดประมูลมากถึงประมาณ 350 ครั้งต่อปี และดำเนินการประมูลมากกว่า 80 ประเภทสินค้า ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะ นาฬิกา เครื่องประดับ กระเป๋า และเฟอร์นิเจอร์
Heritage Auctions (เฮริเทจ ออคชั่น) ก่อตั้งขึ้นในปี 1976 ที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทประมูลที่มีชื่อเสียงในการประมูลเหรียญโบราณที่หายาก นอกจากเหรียญโบราณแล้ว ยังมีการประมูลผลงานศิลปะ นาฬิกา เครื่องประดับ และของหายากอื่นๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ของสะสมทางกีฬา วิดีโอเกม โปสเตอร์ภาพยนตร์ อสังหาริมทรัพย์ระดับสูงด้วย
Phillips Auctioneers (ฟิลลิปส์ ออคชั่น) ก่อตั้งขึ้นในปี 1796 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นบริษัทประมูลที่มีชื่อเสียงในการประมูลที่หลากหลายประเภทสินค้า โดยเน้นผลงานศิลปะ อาหาร และอสังหาริมทรัพย์ ในปัจจุบัน Phillips เน้นการประมูลนาฬิกาย้อนยุค และแม้ว่าก่อนการประมูลผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรอง แต่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมการประมูลและลงทะเบียนได้ ซึ่งได้มีการเพิ่มบริการประมูลออนไลน์ที่ทำให้สามารถเข้าร่วมการประมูลสดทางโทรศัพท์หรือออนไลน์ได้ด้วย
ตัวอย่างการประมูลเครื่องประดับอันโด่งดัง
คอลเลกชันของ Elizabeth Taylor ชื่อแรกที่เกิดขึ้นในใจของคนเมื่อพูดถึงนักสะสมเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงคือ Elizabeth Taylor คอลเลกชันที่น่าทึ่งของเธอถูกประมูลที่ Christie’s ที่นิวยอร์กในเดือนธันวาคม ปี 2011 การประมูลสิ้นสุดลงด้วยตัวเลขที่ยิ่งใหญ่คือ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 115,932,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก The Collection of Elizabeth Taylor: The Legendary Jewels Evening Sale พร้อมทำสถิติการประมูลหลายรายการ โดยรายการที่น่าประทับใจที่สุดคือ เพชร Elizabeth Taylor ขนาด 33.19 กะรัต เจียระไนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี D ซึ่งเป็นเพชรที่ไม่มีตำหนิ ถูกประมูลไปในราคา 8,818,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ และสามารถทำสถิติการประมูลสำหรับเพชรสีขาวต่อหน่วยกะรัตที่ 265,697 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ภาพ: https://blog.worthy.com
ทั้งนี้ยังมีเครื่องประดับชิ้นอื่นที่โดดเด่นจากคอลเลกชันของ Elizabeth Taylor คือต่างหูประดับเพชรน้ำหนัก 6.5 กะรัต และมรกตขนาด 23.46 กะรัต ได้ถูกประมูลโดย Bvlgari ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องประดับที่ Elizabeth Taylor ชื่นชอบ ด้วยราคา 6,578,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีแหวนทับทิมและเพชรจาก Van Cleef & Arpels ที่มีน้ำหนัก 8.24 กะรัต ประมูลได้ในราคา 4,226,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมไปถึงสร้อยคอ La Peregrina ที่ตกแต่งด้วยไข่มุก เพชร และทับทิม ประมูลไปด้วยมูลค่า 11,842,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว
คอลเลกชันของดัชเชสออฟวินด์เซอร์ วอลลิส ซิมป์สัน ความน่าสนใจจากประวัติศาสตร์ ถึงขั้นที่สามีของเธอ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ต้องสละราชบัลลังก์เพื่อแต่งงาน นอกจากความเสื่อมโทรม ความขัดแย้ง และเรื่องราวความรักแล้ว ดัชเชสออฟวินด์เซอร์ยังเป็นนักสะสมที่มีความหลงใหลในเครื่องประดับอย่างมาก การประมูลในเดือนเมษายน ปี 1987 ที่ชื่อว่า The Jewels of the Duchess of Windsor สิ้นสุดลงด้วยรายได้รวมทั้งสิ้น 50.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คอลเลกชันของดัชเชสออฟวินด์เซอร์ วอลลิส ซิมป์สัน ประกอบด้วยเครื่องประดับประมาณ 300 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบจาก Cartier, Suzanne Belperron และ Van Cleef & Arpels
และเมื่อ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2010 Sotheby’s ลอนดอน ได้จัดงานประมูลเครื่องประดับของดัชเชสออฟวินด์เซอร์อีกครั้ง ในการประมูล Exceptional Jewels and Precious Objects Formerly in the Collection of The Duchess of Windsor สิ้นสุดลงด้วยรายได้รวมทั้งสิ้น 7,975,550 ปอนด์ จากเครื่องประดับที่โดดเด่นมาก ได้แก่ ต่างหูมรกตและเพชรขนาด 20.46 กะรัต ที่ประมูลในราคา 205,250 ปอนด์ คลิปรูปนกฟลามิงโก้ที่ประมูลในราคา 1,721,250 ปอนด์ และสร้อยข้อมือแพนเธอร์ของ Cartier ที่มีรูปร่างเหมือนเสือดำที่ประมูลในราคา 4,521,250 ปอนด์
ภาพ: https://blog.worthy.com
โลกแห่งอัญมณีและเครื่องประดับนั้นมีความน่าหลงใหลในตัวเองอยู่แล้ว ‘โลกแห่งการประมูลอัญมณีและเครื่องประดับ’ ได้เข้ามาเพิ่มความน่าหลงใหลของชิ้นงานเหล่านั้นยิ่งขึ้นไปอีก แต่ความหลงใหลอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะก้าวเข้าสู่โลกแห่งนี้ ผู้สนใจควรจะต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจให้ครบถ้วน ทั้งในเรื่องของชิ้นงาน วิธีการประมูล ความน่าเชื่อถือของแหล่งประมูล และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อคิดว่ามีความพร้อมแล้วก็สามารถตัดสินใจก้าวเข้าสู่โลกแห่งเวทมนต์นี้ เพื่อออกตามหาและค้นพบเสน่ห์ที่น่าหลงใหลด้วยรอยยิ้มได้เลย
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤษภาคม 2567
ข้อมูลอ้างอิง
2. https://blog.yazjewels.com/understanding-vintage-jewellery-auctions/
3. https://biz.starbuyers-global-auction.com/en/article/9
4. https://blog.worthy.com/knowledge-center/jewelry/five-impressive-celebrity-jewelry-auctions/
5. https://elitetraveler.com/features/most-amazing-jewelry-auctions-of-all-time