
Generative AI พลังในการสร้างสรรค์อัญมณีและเครื่องประดับ
แต่เดิมเมื่อพูดถึงAI เรามักจะนึกถึงหุ่นยนต์และเทคโนโลยีในหนังไซไฟที่เป็นจินตนาการถึงโลกอนาคต ทว่าในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความจริง โดยเฉพาะ AI ที่ถูกนำมาใช้ในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ช่วยลดเวลา ลดต้นทุน และสร้างไอเดียใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
การเติบโตของ AI
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หมายถึง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่หรือซับซ้อนได้รวดเร็วและแม่นยำ ทำให้มนุษย์สามารถใช้เทคโนโลยี AI ช่วยในการคิดและแก้ไขปัญหา ปัจจุบันมีการนำ AI มาใช้ในหลายรูปแบบ เช่น การแปลภาษา การสนทนาโต้ตอบ การวินิจฉัยโรค ยานพาหนะอัตโนมัติ การจัดการข้อมูล การให้คำปรึกษาทางการเงิน และการสร้างภาพหรือวีดิโอ ซึ่งช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงาน
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดระบุว่า การลงทุนใน AI ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 14.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2556 เป็น 189.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 แม้จะลดลงจาก 234.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่สองของการลดลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นก็ตาม สำหรับปี 2566 ประเทศที่ลงทุนใน AI มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา จีน สหราชอาณาจักร เยอรมนี และสวีเดน ตามลำดับ
ภาพการลงทุนภาคเอกชนในเอไอของประเทศชั้นนำ ในปี 2566 จาก https://www.wisdomtree.com/
นอกจากนี้ การใช้ AI ในองค์กรทั่วโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้น โดยภูมิภาคที่นำ AI มาใช้มากที่สุดคือ อเมริกาเหนือ 61% (+2%) เอเชียแปซิฟิก 58% (+3%) และยุโรป 57% (+9%) เป้าหมายหลักคือ ระบบตอบรับอัตโนมัติของศูนย์บริการ การตลาดแบบเฉพาะบุคคล การหาลูกค้าใหม่ และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์
ข้อมูลจาก Explodingtopics พบว่าในปี 2566 บริษัททั่วโลกนำ AI มาใช้ 35% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 20% ขณะที่มากกว่า 50% ของบริษัทที่เหลือมีแผนจะนำ AI มาใช้ในปี 2567 สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน มีการใช้ AI อยู่ 42%
ทำความรู้จัก Generative AI
ในปี 2566 การลงทุนใน Generative AI หรือ Gen AI มีมูลค่าถึง 25.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมี ChatGPT เป็นตัวหลักที่ทำให้ Gen AI ได้รับความสนใจและเติบโตอย่างก้าวกระโดด แล้ว Gen AI ต่างจาก AI ทั่วไปอย่างไร
Gen AI เป็น AI ประเภทหนึ่งที่ใช้โครงข่ายประสาทเทียม (Neural Network) ซึ่งช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลข้อมูลและสร้างเนื้อหาใหม่ๆ เช่น การสนทนา เรื่องราว รูปภาพ วิดีโอ และเพลง โดยสามารถฝึกให้เรียนรู้ภาษามนุษย์ ภาษาโปรแกรม ศิลปะ เคมี ชีววิทยา หรือวิชาอื่นๆ ที่มีความซับซ้อน ด้วยการเรียนรู้ซ้ำจากข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาใหม่ๆ
เมื่อเปรียบเทียบกับ AI แบบเดิม เช่น AI หมากรุก Siri หรือ Alexa ที่ใช้การเรียนรู้จากข้อมูลที่ใส่ลงไปและตัดสินใจจากข้อมูลนั้นๆ Gen AI สามารถสร้างหรือคิดค้นสิ่งใหม่ขึ้นมาจากข้อมูลที่มีอยู่ได้ จึงถือเป็นก้าวถัดไปของ AI แบบดั้งเดิม และมีหลายองค์กรได้นำมาใช้งานแล้วในธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจโฆษณาและการตลาด ภาคการเงินการธนาคาร บริการสุขภาพและเภสัชกรรม สื่อและความบันเทิง เป็นต้น
ภาพเครื่องมือและแพลตฟอร์ม Gen AI ที่มีชื่อและเป็นที่นิยม จาก https://www.turing.com/
Gen AI กับงานออกแบบเครื่องประดับ
การนำ AI มาใช้ในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับนอกจากจะช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงาน สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และเพิ่มความสะดวกในการทำงานแล้ว Gen AI ยังช่วยในการออกแบบเครื่องประดับด้วยการขยายขอบเขตของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ นักออกแบบทั้งมือใหม่และมืออาชีพสามารถใช้ Gen AI ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์และโดดเด่น โดยมีแนวทางในการเลือก AI ที่เหมาะต่อการใช้งานดังนี้
• การเลือกซอฟต์แวร์: การเลือกซอฟต์แวร์ AI ที่เหมาะสมเป็นขั้นตอนสำคัญ เพราะแต่ละตัวมีจุดเด่นและความสามารถต่างกัน ทั้งการสร้างรูปภาพหรือวิดีโอ ซึ่งขึ้นอยู่กับฐานข้อมูล ชุดการประมวลผล และคำสั่ง (Prompt) ที่ใช้ ควรเลือกซอฟต์แวร์ที่ตรงกับความต้องการและงบประมาณ ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างการใช้ Prompt เดียวกันใน Gen AI สี่แพลตฟอร์มเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของผลลัพธ์ที่ได้
ภาพสร้อยข้อมือประดับไพลินจากการเขียน Prompt เดียวกัน ใน Gen AI สี่แพลตฟอร์ม โดยนายพุทธิพร วิชัยดิษฐ
แถวบนจากซ้ายไปขวา ครีเอทจาก Fotor และ Adobe Firefly แถวล่างจากซ้าย ครีเอทจาก Bing และ Midjourney
• การกำหนดแนวทางในการออกแบบ: การกำหนด Prompt อย่างละเอียด เช่น วัสดุ รูปร่าง และลักษณะเด่น จะช่วยให้ AI สามารถออกแบบงานที่มีรายละเอียดซับซ้อนขึ้น ทักษะการเขียน Prompt นี้ต้องมีการศึกษาและฝึกฝนเช่นกัน
• การเขียน Prompt ที่ดี: Prompt ที่ดีควรประกอบด้วยการอธิบายสิ่งที่ต้องการ องค์ประกอบสำคัญ คำศัพท์เฉพาะ มุมมอง อารมณ์ของภาพ สี ขนาด ความละเอียด และการใช้เครื่องหมายเพื่อแยกกลุ่มข้อมูล เช่น แหวนเพชรทรงกลมคลาสสิก | ทองขาว 18K | เพชรเม็ดเดี่ยว 1 กะรัต | ก้านแหวนเรียวบาง | ภาพถ่ายระยะใกล้ | แสงนุ่มนวลสะท้อนจากเหลี่ยมเพชร | พื้นหลังสีขาว | คุณภาพสูง โฟกัสชัดลึก การใช้ Prompt ดังกล่าวใน Adobe Firefly และ Bing Image Creator ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันดังรูป
ภาพแหวนเพชรที่เขียน Prompt ใน Adobe Firefly (ซ้าย) และ Bing Image Creator (ขวา) โดยนายพุทธิพร วิชัยดิษฐ
• การทบทวนและปรับปรุง: ภาพที่ได้จาก AI อาจต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นต้นแบบสำหรับชิ้นงานจริง ควรตรวจสอบข้อกำหนดการใช้งานของภาพจากแต่ละแพลตฟอร์ม เพราะบางรายที่เก็บค่าบริการอาจนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้ ขณะที่บางรายที่ไม่คิดค่าบริการอาจไม่สามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้
Gen AI ที่น่าสนใจสำหรับงานออกแบบเครื่องประดับ
ปัจจุบันมี Gen AI หลายแพลตฟอร์มจากหลายบริษัทที่พัฒนาออกสู่ตลาดให้ผู้บริโภคเลือกใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่างานที่ต้องการสร้างสรรค์ควรใช้กับ AI แบบใดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด สำหรับงานออกแบบทั่วไปและงานออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ มี Gen AI 3 แพลตฟอร์มที่น่าสนใจ ดังนี้
Adobe Firefly
Adobe ได้เปิดตัว Adobe Firefly โปรแกรมออกแบบด้วย AI ที่ผสานเข้ากับแอปพลิเคชันต่างๆ ของ Adobe เช่น Photoshop ช่วยให้สามารถสร้างและตกแต่งรูปภาพได้อย่างครบวงจร รองรับการสร้างจากข้อความและรูปภาพ เลือกอัตราส่วนภาพได้ เช่น 1:1, 3:4, 4:3 และ 16:9 มีเมนูเพิ่มลักษณะเฉพาะของรูป เช่น Bokeh painting, Digital Art และ Hyper Realistic รวมทั้งโทนสี แสงเงา และมุมกล้องที่ช่วยให้การสร้างสรรค์ภาพง่ายขึ้น
นอกจากนี้ Adobe Firefly ยังมีเครื่องมือการแต่งภาพอื่นๆ ที่สามารถใช้ได้หากสมัครสมาชิก Premium Plan ที่มีค่าบริการเริ่มต้นที่ 4.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน จุดเด่นของ Adobe Firefly คือ ความสามารถในการทำงานร่วมกับแอปพลิเคชัน Adobe อื่นๆ ความหลากหลายของฟีเจอร์ การใช้งานง่าย เหมาะกับทั้งมือใหม่และมืออาชีพ และการใช้ภาพจาก Adobe Stock ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ จึงสามารถใช้เชิงพาณิชย์ได้
อย่างไรก็ตาม Gen AI แพลตฟอร์มนี้ก็ยังมีข้อด้อยเช่น ภาพมีลายน้ำสำหรับการใช้งานแบบไม่เสียค่าสมาชิก ไม่มี Negative Prompt (คำสั่งระบุสิ่งที่ไม่ต้องการให้ปรากฏในภาพ) ภาพบุคคลและภาพที่มีรายละเอียดซับซ้อนยังไม่สมจริงเท่า AI ชั้นนำอื่นๆ ราคาค่าบริการรายเดือนค่อนข้างสูง และเครื่องมือหลายชนิดต้องเสียค่าสมาชิกจึงจะสามารถใช้งานได้
Bing Image Creator
Bing Image Creator ของ Microsoft ใช้โมเดลสร้างภาพ DALL-E จาก OpenAI ที่พัฒนา ChatGPT โดยรองรับ DALL-E 3 ทำให้การสร้างภาพตามคำสั่งมีความแม่นยำและรายละเอียดสูงขึ้น รองรับการใช้งานทั้งบนคอมพิวเตอร์และมือถือ มีตัวอย่างและวิธีสร้างสรรค์รูปภาพให้ศึกษา พร้อมให้เหรียญฟรีวันละ 15 เหรียญ ใช้สร้างภาพ 1 เหรียญต่อครั้ง ปกติได้ภาพ 4 ภาพ (บางครั้ง 1-3 ภาพ) รองรับ Prompt กว่า 100 ภาษา รวมถึงภาษาไทย แต่ควรใช้คำสั่งภาษาอังกฤษหากมีคำศัพท์เฉพาะ
Microsoft ยังได้ผสาน Copilot ที่ทำงานร่วมกับ Microsoft 365 ในการสร้างภาพผ่าน https://copilot.microsoft.com/ โดยเลือกเมนู Designer และใส่ Prompt เช่น “สร้างรูปภาพ ผู้หญิงไทยสวมใส่เครื่องประดับทับทิม สไตล์มินิมอล ที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน แสงเงาสวย ภาพคมชัด สมจริง” รูปที่ได้สามารถบันทึกหรือสร้างโฟลเดอร์ใน Bing ได้
ทั้งนี้ จุดเด่นของ Bing อยู่ที่การใช้งานได้ฟรีผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ ใช้บัญชี Microsoft เดิมได้ ทำงานร่วมกับบริการอื่นๆ ของ Microsoft อย่างราบรื่น สร้างภาพได้หลากหลายรูปแบบและสไตล์ อีกทั้งยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จุดด้อยก็คือ ไม่สามารถปรับแต่งภาพเพิ่มเติม และไม่มีเครื่องมือเฉพาะทาง
Midjourney
Midjourney เป็น AI ชั้นนำในการสร้างภาพ เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2565 โดย David Holz ใช้งานผ่าน Discord ซึ่งต่างจาก Gen AI อื่น ๆ หลังเปิดตัวได้ 6 เดือน มีผู้ใช้เกิน 1 ล้านคน รวดเร็วเป็นอันดับ 5 รองจาก Threads, ChatGPT, Instagram, และ Spotify ในปี 2566 มีผู้ใช้งานกว่า 19 ล้านคน และในปี 2567 คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพที่สร้างจาก Midjourney มีความสวยงามและรายละเอียดสูง พร้อมเครื่องมือปรับแต่งภาพหลายรูปแบบ เช่น การ Zoom In, Zoom Out และขยายภาพ ภาพที่สร้างสามารถใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ตามข้อกำหนด
ทั้งนี้ จุดเด่นของ Midjourney ประกอบด้วย ความสามารถในการสร้างภาพคุณภาพสูงและสมจริง มีเครื่องมือปรับแต่งภาพต่อเนื่องจากภาพเดิม นำภาพจากภายนอกมาใช้อ้างอิงได้ และใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ มีการปรับปรุงและพัฒนาต่อเนื่อง แต่ข้อด้อยก็มีไม่น้อยได้แก่ ผู้ใช้ต้องมีเวลาในการเรียนรู้การใช้งาน ต้องสมัครและใช้งานผ่าน Discord เท่านั้น ช่อง Discord เป็นช่องสาธารณะสามารถเห็น Prompt และผลงานของผู้ใช้คนอื่นได้ (สามารถตั้งค่าใช้งานโหมดช่องส่วนตัวได้) และต้องเสียค่าบริการเริ่มต้นที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

ปัจจุบัน มีกฎหมายควบคุม AI อย่างเป็นรูปธรรมเพียงในสหภาพยุโรป ซึ่งเพิ่งผ่านร่างกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้ AI ที่มีความเสี่ยงสูงตามที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอ โดยมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวและมีผลกระทบสูง ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ การขนส่ง พลังงาน และกิจการภาครัฐที่สำคัญ การใช้ AI ในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะต้องปฏิบัติตามแนวทางของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัด โดยการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบจะเริ่มในปี 2569 นอกจากนี้ จีนยังออกกฎระเบียบควบคุมการสร้างและใช้งาน AI และมีหน่วยงานดูแลโดยตรง ขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างและศึกษากฎหมาย เพื่อให้ยืดหยุ่นและควบคุมการใช้งาน AI โดยไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
สำหรับรูปภาพหรืองานที่สร้างขึ้นจาก Gen AI ยังมีข้อถกเถียงเรื่องลิขสิทธิ์และความเป็นเจ้าของ โดยในปี 2566 ศาลแขวงกรุงวอชิงตันดีซีตัดสินว่าภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ ผลงานศิลปะที่สร้างโดย AI โดยไม่มีมนุษย์มีส่วนร่วม ไม่สามารถจดสิทธิบัตรหรือขอลิขสิทธิ์ได้
บทสรุป
Generative AI เป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ เช่น ข้อความ รูปภาพ เสียง และวิดีโอ เทคโนโลยีนี้กำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งธุรกิจและสังคม รวมถึงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นการใช้เชิงพาณิชย์โดยตรง ผู้ใช้งานจึงควรทดสอบประสิทธิภาพของ AI แต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน การใช้ AI เป็นการสร้างสรรค์เพื่อค้นหาไอเดียและนำผลงานที่ได้ไปต่อยอด ไม่ควรนำมาใช้งานโดยตรง เนื่องจากภาพที่ได้อาจละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ตั้งใจหากภาพนั้นคล้ายคลึงกับงานที่มีลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ AI ยังคงมีการพัฒนาและนำเสนอสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ผลงานที่สร้างด้วย AI จะเป็นความสร้างสรรค์หรือภัยคุกคาม ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้งานของแต่ละบุคคล
จัดทำโดย นายพุทธิพร วิชัยดิษฐ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กันยายน 2567