ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

3D Printing เส้นทางที่ยังสดใสในโลกเครื่องประดับ

Oct 22, 2024
323 views
0 share

        หลายท่านคงคุ้นเคยหรือพอจะได้ยินได้รู้จักกับคำว่า “เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ” หรือ 3D Printing กันอยู่บ้างแล้ว 3D Printing เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์อย่างหนึ่งที่ได้มีการพัฒนาและนำมาใช้ในแวดวงของการผลิตเครื่องประดับมาเป็นระยะเวลาพอสมควร ในเบื้องต้นนี้มาทบทวนและทำความรู้จักกับเทคโนโลยีนี้กันอีกครั้ง

3D Printing คือเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการขึ้นรูปวัตถุ 3 มิติจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ด้วยการเติมเนื้อวัสดุเข้าไปทีละชั้น ซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการทุกขั้นตอน เทคนิคการเติมเนื้อวัสดุเข้าไปทีละชั้นนี้มีชื่อเรียกว่า Additive Manufacturing (AM) เพราะว่ามีข้อดีกว่าเทคนิคการขึ้นรูปทั่วไป ซึ่งก็คือการสูญเสียวัตถุดิบที่น้อยกว่า และหากจำแนกตามกระบวนการจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่

    - Fused Deposition Modeling (FDM) เป็นกระบวนการนำวัสดุที่จะใช้ขึ้นรูปมาหลอมละลายเป็นเส้น (Filament) เพื่อฉีดออกมาเป็นชิ้นงาน แล้วขึ้นรูปทีละชั้น มีข้อดีคือราคาถูก หาซื้อได้ง่าย ใช้งานง่าย และใช้ได้กับวัสดุที่หลากหลาย แต่ระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการทำงานและความละเอียดในการพิมพ์น้อยกว่าการพิมพ์แบบอื่น

    - Stereolithography (SLA) เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติชนิดแรกที่เกิดขึ้น โดยเป็นการใช้แสงอัลตราไวโอเลตยิงใส่ผิวเรซินของวัสดุ เพื่อให้เกิดการแข็งตัวทีละชั้น ข้อดีคือทำให้ได้ชิ้นงานที่มีความละเอียดสูง มีผิวเรียบ และความเร็วของการพิมพ์ไม่ลดลงเมื่อพิมพ์งานทีละหลายชิ้น แต่ก็มีข้อเสียคือเรซินเหลวที่ใช้ในการพิมพ์ค่อนข้างเลอะเทอะ เหม็น และเป็นอันตรายถ้าสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก

    - Selective Laser Sintering (SLS) เป็นกระบวนการใช้แสงเลเซอร์ยิงลงบนพื้นผิววัสดุ เพื่อให้วัสดุเกิดการหลอมเหลวเป็นเนื้อเดียวกัน โดยจะเลือกยิงเฉพาะจุด ข้อดีคือชิ้นงานที่ได้มีความแข็งแรงคงทน แต่ราคาของเครื่องพิมพ์ยังค่อนข้างสูง และวัสดุที่ใช้กับเครื่องพิมพ์แบบนี้ได้มีในวงจำกัดเมื่อเทียบกับเครื่องพิมพ์ชนิดอื่น

        ในปัจจุบันเทคโนโลยีประเภท Automation ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี 3D Printing ด้วย ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความสะดวกของเครื่อง 3D Printer ในอีกทางหนึ่ง

        จากรายงานของ Grand View Research ระบุว่ามูลค่าตลาด 3D Printing ของโลกในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 24.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ในช่วงปี 2024 ถึงปี 2030 ประมาณร้อยละ 23.5 และจะมีมูลค่าตลาดมากถึง 88.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2030 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่น่าสนใจเลยทีเดียว ทั้งนี้ในรายงานยังกล่าวถึงความก้าวหน้าของ 3D Printing ว่านอกจากความเร็วในการพิมพ์ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีการพัฒนาวัสดุพิมพ์ใหม่ และเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ที่ดีขึ้นด้วย

        - การเติบโตของ Smart Jewelry ที่มีการคาดการณ์ว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ จากความสามารถด้านสุขภาพ การติดตามในชีวิตประจำวัน และการส่งสัญญานในช่วงเวลาฉุกเฉิน และยังรวมไปถึงการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนที่ผสานเข้ากับชีวิตประจำวันในยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว

        - การใช้เทคโนโลยี Augmented Reality หรือ AR ในการเลือกซื้อและทดลองสวมใส่เครื่องประดับในโลกเสมือนผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังสามารถเพิ่มความมั่นใจในการเลือกซื้อเครื่องประดับออนไลน์ได้ด้วย

        - 3D Printing เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของการผลิตเครื่องประดับที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะช่วยให้นักออกแบบสามารถสร้างชิ้นงานที่ซับซ้อน ตรงตามแบบที่ต้องการได้ และยังช่วยให้ผู้บริโภคสามารถปรับแต่งเครื่องประดับของตนเอง จากการเลือกวัสดุ ลวดลาย และรายละเอียดส่วนบุคคล เช่น การแกะสลัก เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว 3D Printing ยังมีประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากกระบวนการเครื่องประดับแบบดั้งเดิมอาจเกิดการสูญเสียของชิ้นงานมากกว่า เทคโนโลยีนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการผลิตได้มากขึ้น ลดของเสีย และลดร่องรอยสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างมากที่ได้รวบรวมความสามารถในการปรับแต่งตามความต้องการและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเครื่องประดับได้เป็นอย่างดี


         จากรายงานของ Data Bridge Market Research ระบุว่ามูลค่าตลาดของเครื่องประดับที่พิมพ์ด้วย 3D Printing ในปี 2023 อยู่ที่ 9.38 พันล้านพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 25.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2031 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 13.50 ตั้งแต่ปี 2024 ถึงปี 2031 ทั้งนี้ยังกล่าวถึงการขับเคลื่อนของด้วย 3D Printing ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับไว้ดังนี้

ปัจจัยส่งเสริม

        - ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นมีส่วนช่วยเพิ่มความต้องการในเครื่องประดับที่พิมพ์ด้วย 3D Printing ด้วยความแม่นยำ ความรวดเร็ว และความหลากหลายในกระบวนการผลิตเครื่องประดับ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง มีความยืดหยุ่นในการออกแบบที่มากขึ้น และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งส่งผลให้เครื่องประดับที่มาจาก 3D Printing เป็นที่เข้าถึงง่ายขึ้นสำหรับนักออกแบบและผู้บริโภค

        - ความต้องการในเครื่องประดับที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมีความต้องการในเครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์และสื่อถึงรูปแบบและบุคลิกของตัวเอง การใช้เครื่องประดับที่พิมพ์ด้วย 3D Printing ช่วยให้นักออกแบบมีอิสระในการทดลองกับการออกแบบที่มีลวดลายที่ซับซ้อนจากวัสดุที่หลากหลาย ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของผู้ผู้บริโภคที่มีความสนใจในแฟชั่น ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยให้สามารถสร้างเครื่องประดับที่น่าสนใจและทันสมัย และมีจุดเด่นในภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันสูงได้

แนวโน้มโอกาส

        - การปรับแต่งตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นด้วย 3D Printing จากความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการเครื่องประดับที่ไม่ซ้ำกันและเฉพาะบุคคล เทคโนโลยีนี้ช่วยให้นักออกแบบสามารถรังสรรค์เครื่องประดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งความสามารถในการปรับแต่งเพื่อตอบสนองตามความต้องการของผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มีความต้องการในการใช้ 3D Printing ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        - การร่วมมือในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จากการร่วมมือระหว่างบริษัทที่ใช้เทคโนโลยี 3D Printing  นักออกแบบเครื่องประดับ และแบรนด์ต่างๆ ช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม การร่วมทรัพยากร และความเชี่ยวชาญ ซึ่งช่วยให้ผู้ร่วมมือสามารถสำรวจแนวคิดการออกแบบใหม่ วัสดุ และเทคนิคการผลิตใหม่ ส่งผลให้มีการพัฒนาชิ้นเครื่องประดับที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถนำความรู้และแนวโน้มของผู้บริโภคและตลาดเข้าสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้เครื่องประดับที่มาจาก 3D Printing  สามารถตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

        - ปัญหาทางทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมากขึ้นด้วยความสะดวกจากเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้การปกป้องการออกแบบหรือการละเมิดที่ไม่ได้รับอนุญาตกลายเป็นเรื่องยากขึ้น ซึ่ง 3D Printing ช่วยให้สามารถทำการออกแบบที่ซับซ้อนได้ง่ายมากขึ้น ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการทำของเลียนแบบและการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา โดยทำลายตลาดสำหรับการออกแบบต้นฉบับ สร้างความเสี่ยงทางกฎหมายและการเงินสำหรับนักออกแบบและแบรนด์