Edward Aloysius Murphy Jr. เป็นวิศวกรที่ทำงานให้กับกองทัพอากาศของสหรัฐฯ ซึ่งในปลายทศวรรษปี ค.ศ. 1940 ระหว่างการทดสอบระบบจรวดในระยะแรก ได้สังเกตเห็นว่า “หากในงานหรือภารกิจใดมีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากกว่าหนึ่งผลลัพธ์ และหนึ่งในผลลัพธ์ดังกล่าวจะมีผลที่เป็นหายนะหรือเหตุอันไม่พึงประสงค์ จะมีบางคนที่ดำเนินการไปในทางนั้น” ต่อมาข้อสังเกตนั้นได้ถูกตัดทอนเป็นความจริงอันโด่งดังที่ว่า “หากมีสิ่งใดที่สามารถผิดพลาดได้ ความผิดพลาดก็จะเกิดขึ้น”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฎของเมอร์ฟีที่กล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายนี้ ได้รับการขยายออกไปเพื่อหมายความรวมไปถึง “ไม่มีอะไรง่ายดายอย่างที่เห็น” และ “ทุกอย่างใช้เวลามากกว่าที่คุณคิด” ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นหลักการที่พวกเราในวงการอุตสาหกรรมเพชรนึกถึงหลังรัฐบาลของประเทศสมาชิก G7 มีมติในเดือนกุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 2022 ที่จะแบนการนำเข้าเพชร เครื่องประดับเพชร และเพชรสังเคราะห์จากรัสเซีย เพื่อตอบโต้การรุกรานประเทศยูเครน
อันดับแรก ผมขอย้ำว่าความเห็นของผมนับจากนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการสร้างความชอบธรรม หรือวิพากษ์วิจารณ์การคว่ำบาตรต่างๆ CIBJO เองก็ไม่ใช่องค์กรทางการเมือง และมีหลักการที่ให้สมาชิกของอุตสาหกรรมเฝ้าสังเกตกฎหมายในประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่และดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง หากมีการคว่ำบาตรในพื้นที่ใด ก็ต้องดำเนินการตามนั้น

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรู้สึกครึ่งๆ กลางๆ กับผลลัพธ์ทั้งหมดของการคว่ำบาตร และโดยเฉพาะผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ สำหรับคนจำนวนไม่น้อยในอุตสาหกรรมของเรา และโดยเฉพาะชาวเหมืองพื้นบ้านและบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก กฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ มีแนวโน้มที่จะไม่ชี้เฉพาะ หมายความว่าใม่ใช่แค่กลุ่มที่ตกเป็นเป้าที่จะได้รับผลกระทบ สิ่งนี้ทำให้เราต้องกล่าวถึงกฎของเมอร์ฟี
ปฏิกิริยาทันควันที่ไม่เกินคาดเดาของนักการเมือง
การตัดสินใจที่จะดำเนินการคว่ำบาตรเพชรและเครื่องประดับเพชรจากรัสเซียเป็นตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยของการตอบสนองทันควันโดยนักการเมือง ซึ่งดำเนินการหรืออย่างน้อยที่สุดก็ตั้งใจที่จะดำเนินการ โดยไม่ได้ไตร่ตรองให้ครบถ้วนทั้งกระบวนการ หรือไม่แม้แต่จะเข้าใจสถานการณ์จริงอย่างเหมาะสม
ความตั้งใจของ G7 ในการคว่ำบาตรได้ประกาศออกมาไม่นานหลังจากรัสเซียใช้สิทธิ์ยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยเป็นการเรียกร้องการคว่ำบาตรจากทั่วโลก การดำเนินการนี้ผ่านการตรึกตรองอย่างดีมากแค่ไหน? ผมจะไม่ขอตัดสิน แต่จะขอชี้ให้เห็นว่าไม่มีผู้เล่นหลักรายใดในอุตสาหกรรมเพชรได้รับเชิญให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจมาก่อน นอกจากนี้ การคว่ำบาตรเป็นการประกาศใช้เพียงฝ่ายเดียวและเกือบจะฝ่าฝืนกฎขององค์การการค้าโลก ซึ่งสมาชิก G7 ทั้งหมดเป็นผู้ร่วมลงนามและควรจะป้องกันการกีดกันฝ่ายเดียวในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ หนึ่งในกฎที่มีอยู่แล้วว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของ WTO ระบุว่าเพชรก้อนที่ขุดได้จากเหมืองในรัสเซียซึ่งได้รับการเจียระไนในประเทศที่สาม โดยผ่านการปรับปรุงอย่างมากจนเป็นสินค้าใหม่ที่มีความแตกต่าง จึงมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้รับพิกัดศุลกากรอื่น จะถือว่าเป็นเพชรเจียระไนแล้วจากประเทศที่สาม

ผู้เชี่ยวชาญของ G7 พยายามที่จะหาทางหลบเลี่ยงกฎเหล่านี้และยังคงจัดเพชรดิบจากรัสเซีย ซึ่งผ่านการเจียระไนนอกรัสเซียไว้ในการคว่ำบาตร โดยเรียกร้องให้ผู้ขนส่ง/ผู้ซื้อ รับรองว่า “เพชรเหล่านี้ไม่ได้มาจากการทำเหมือง การสกัด ผลิต หรือแปรรูป ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือเป็นบางส่วนในสหพันธรัฐรัสเซีย โดยไม่คำนึงว่า เพชรดังกล่าวได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงเป็นสินค้าอื่นนอกสหพันธรัฐรัสเซีย สิ่งนี้อาจนับว่าเป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนของกฎของเมอร์ฟี ที่ว่า “ในประเทศประชาธิปไตย เมื่อรัฐสภามีการประชุม ไม่มีเสรีภาพและความมั่งคั่งของประชาชนคนไหนปลอดภัย”
หลังการประกาศมติทางการเมืองนี้ของผู้นำรัฐสมาชิก G7 มีการตัดสินใจที่จะจัดตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานี้ ทว่าคณะกรรมการนี้มีเพียงเจ้าหน้าที่รัฐจากประเทศกลุ่ม G7 ซึ่งได้รับหน้าที่ในการตรวจสอบหาวิธีดำเนินการคว่ำบาตร กระนั้นก็ตามมีเพียงคณะกรรมการนี้ที่เริ่มหารือกับองค์กรเพชรต่างๆ รวมถึงผู้แทนของประเทศผู้ผลิตจากแอฟริกาที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ G7
ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ากฎของเมอร์ฟีที่ว่า “ทุกอย่างใช้เวลามากกว่าที่คุณคิด”นั้นถูกต้องจริงๆ อาจเป็นหลักฐานจากข้อเท็จจริงที่ว่า ขณะที่การคว่ำบาตรการค้าเพชรจากรัสเซียตั้งใจที่จะเริ่มในประเทศกลุ่ม G7 ทั้งหมดในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2022 แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้นจนวันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ. 2024 ที่เป็นเช่นนี้เพราะการนำเข้าเพชรจากรัสเซียมายังสหภาพยุโรปเป็นไปตามปกติจนถึงวันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ. 2024 ด้านคณะมนตรียุโรปนั้น หลังจากที่ได้หารือกับผู้ประกอบการในเบลเยี่ยม และได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลเบลเยี่ยมตามที่มีรายงาน แรกๆ ตกลงที่จะไม่ดำเนินการคว่ำบาตรจนกว่าจะมีการตั้งศูนย์การตรวจสอบเพชรก้อนใน Antwerp
และจากนั้นเรื่องราวเริ่มซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ฝ่ายเบลเยี่ยมร้องขอให้ทันทีที่พวกเขาก่อตั้งศูนย์ตรวจสอบหรือ “node” (จุดเชื่อมต่อ) อย่างที่เรียกกันในภายหลัง เพชรทั้งหมดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าในประเทศ G7 ต้องได้รับการถ่ายโอนมาจากสถานที่ที่มีการขุดเหมือง เพื่อให้ได้รับการบ่งชี้ว่าไม่ได้เป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากรัสเซีย หลังจากการทดสอบเพื่อการจำแนกและจัดทำเอกสารของเพชรเหล่านั้นแล้ว สินค้าเหล่านี้จะได้รับการบันทึกลงในระบบคอมพิวเตอร์เฉพาะส่วนกลาง เพื่อให้สามารถตรวจสอบเส้นทางได้ หลังจากนั้นสินค้าจะถูกส่งคืนกลับไปยังเจ้าของเดิมพร้อมใบรับรองแหล่งกำเนิดของกลุ่ม G7 ทางเบลเยี่ยมอธิบายว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ จะจัดการโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาหรือทดสอบอย่างสมบูรณ์ และหลังจากการสรรหาผู้ตรวจสอบประเมินเพชรเพิ่มเติมครั้งใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอระบบอื่นๆ ในการดำเนินการคว่ำบาตร ซึ่งรวมถึงระบบหนึ่งที่บังคับให้บริษัทแต่ละแห่งดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่มีความเข้มงวดที่เสนอโดยกลุ่มสมาคมใหญ่ของอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึง CIBJO และประสานงานโดย World Diamond Council แต่ระบบที่มี node เดียวของรัฐบาลเบลเยี่ยมเป็นระบบที่ได้รับไฟเขียวจากกลุ่ม G7
ปฏิกิริยาและปฏิกิริยาตอบโต้
แน่นอนไม่ใช่ทุกฝ่ายจะยินดีกับมติของ G7 ในบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยและส่งเสียงดังที่สุดคือรัฐบาลของประเทศผู้ผลิตเพชรในแอฟริกา ซึ่งขุ่นเคืองที่มีการยอมรับคำสั่งจาก G7 ซึ่งเข้ามาแทนที่สิทธิ์ในการตรวจสอบ ระบุ และบันทึกข้อมูลเพชรก้อนของพวกเขาเอง นอกจากนี้ ยังมีการประท้วงจากผู้ค้าเพชรในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นสมาชิก G7 และไม่พอใจเกี่ยวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะบังคับใช้กับพวกเขา เนื่องจาก Antwerp กำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางเพียงแห่งเดียวในการจัดทำเอกสารสำหรับเพชร
ด้วยกระแสลบที่ถาโถมเข้ามา และหลังจากที่ได้หารือกับผู้แทนของอุตสาหกรรมเพชรในประเทศต่างๆ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ G7 ตกลงที่จะแก้ไขแผนการดำเนินการบางส่วน ขณะนี้ แม้ว่าการคว่ำบาตรการนำเข้าเพชรจากรัสเซียอย่างเป็นทางการยังคงมีผลบังคับใช้ ก็มีการเสนอให้ยกเลิกหรือ “เลื่อน”ข้อบังคับหลายข้อ
ข้อเสนอที่จะกำหนดให้ Antwerp เป็นจุดนำเข้าเพียงจุดเดียวมายังตลาด G7 ได้ถูกเลื่อนออกไป โดยไม่มีการกำหนดวันที่ที่จะเริ่มดำเนินการ นอกจากนี้ เป็นที่ยอมรับว่า เพชรจากเหมืองในรัสเซียที่ได้รับการเจียระไนในประเทศที่สามถือได้ว่าเป็นเพชรเจียระไนแล้วจากประเทศที่สาม ซึ่งสอดคล้องกับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่มีอยู่แล้วของ WTO และในขณะเดียวกัน การคว่ำบาตรการนำเข้าเพชรสังเคราะห์รัสเซียในตอนนี้มีผลบังคับใช้แค่ในสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ ยังมีการอ้างถึงกฎระเบียบที่มีมาก่อนของสินค้า ซึ่งหมายถึงการยอมรับเพชรที่มีถิ่นกำเนิดจากที่ใดก็ได้ที่เข้ามายังตลาดก่อนวันที่ที่กำหนด ประเทศ G7 แต่ละประเทศได้ประกาศข้อกำหนดที่แตกต่างกันในการอนุญาตการนำเข้าเพชรน้ำหนักเกิน 1 กะรัต หากซื้อมาก่อนวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2024 และเพชรที่มีน้ำหนักเกิน 0.5 กะรัต หากซื้อมาก่อนวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2024 ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปกำหนดให้ผู้นำเข้าจัดเตรียมเอกสารเพื่อรับรองวันที่ที่ทำการซื้อ ในขณะที่หน่วยงานของสหรัฐฯ ยอมรับใบขนสินค้าขาเข้า

ความสงบอาจกำลังกลับมาหลังจากกว่าสองปีของความสับสน วิตกกังวล และ market disruption สิ่งเหล่านี้ล้วนหลีกเลี่ยงได้หากประเทศที่ตัดสินใจกำหนดข้อบังคับเปิดโอกาสที่จะสื่อสารกับเรา และเรียนรู้ในสิ่งที่เรารู้ เรายอมรับว่าเราไม่ได้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล แต่เราเป็นผู้ที่ต้องดำเนินการตามนโยบายเหล่านั้น
บางคนอาจแย้งว่าเราไม่อาจหลีกเลี่ยงกฎของเมอร์ฟีได้ มันก็อาจจะใช่ แต่ด้วยการเจรจาที่เหมาะสม ผลที่ตามมาอาจไม่เลวร้ายนัก
มาตรฐาน ISO สำหรับเพชรขนาดเล็กได้รับการอนุมัติแล้ว

ในการดำเนินการของ CIBJO นั้น Working Group 2 ของ ISO/TC 174 ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2017 เพื่อสร้างความสอดคล้องกันของคำศัพท์เฉพาะ การจำแนก และวิธีทดสอบที่ใช้สำหรับการบรรยายคุณภาพของเพชรไร้สี
เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องสังเกตว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเพชรแยกวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับคุณภาพของเพชรเม็ดเดี่ยวน้ำหนักเกินกว่า 0.25 กะรัต และวิธีการการจัดการ ควบคุม และบรรยายคุณภาพของเพชรแบบชุดที่แต่ละเม็ดมีน้ำหนักน้อยกว่า 0.25 กะรัต โดยในกรณีหลังนั้น บางครั้งเพชรหนึ่งชุดมีเพชรจำนวนกว่า 10,000 เม็ด
มาตรฐาน ISO 24016 – Grading Polished Diamonds ได้รับการประกาศใน ปี ค.ศ. 2020 ภายใต้ ISO/TC 174/WG2 ซึ่งว่าด้วยอัญมณีที่มีน้ำหนักเกิน 0.25 กะรัต ขณะนี้มาตรฐานดังกล่าวเป็นข้อมูลอ้างอิงตามปกติของ CIBJO Diamond Book
มาตรฐาน ISO 24016 ก็เป็นพื้นฐานให้กับการสร้างมาตรฐาน ISO สำหรับการตรวจสอบเพชรชุดที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 0.25 กะรัต ซึ่งกลายเป็นมาตรฐาน ISO 6893 - Inspection of batches of small diamonds
นอกจากนี้ยังมีมาตรฐาน ISO 18383 – Consumer Confidence in the Diamond Industry ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและการบรรยายเพชรเป็นหลัก มาตรฐาน ISO 24016 และ มาตรฐาน ISO 6893 ให้ภาพรวมที่ครบวงจรสำหรับการตรวจสอบและการจัดระดับเพชรธรรมชาติทั้งหมดที่ใช้โดยอุตสาหกรรมเครื่องประดับและนาฬิกา
หลังจากงาน 2023 CIBJO Congress ในชัยปุระ ISO/TC 174 WG2 ประชุมกันอีก 2 ครั้งเพื่อให้โครงร่างของมาตรฐาน ISO 6893 เสร็จสมบูรณ์ แต่การประชุมครั้งที่ 10 ที่เราจัดขึ้นเป็นการจัดเสมือนจริงในช่วงกลางเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2023
เราทำงานจนเสร็จสิ้นใน Vicenza ประเทศอิตาลี เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2024 และมีการประกาศเรื่องสำคัญสองเรื่องที่นั่น อันดับแรกคือการแก้ไขถ้อยคำที่พิมพ์ผิดเล็กน้อยในฉบับดั้งเดิมตามที่ผู้ทรงคุณวุฒิของ WG2 แจ้งเข้ามา และมาตรฐาน ISO 2024 ก็มีฉบับที่ 2 ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2024 ซึ่ง ขณะนี้มาตรฐานนี้มีความสมบูรณ์เช่นเดียวกับคำศัพท์เฉพาะของ CIBJO Diamond Book
ประกาศที่สอง ต้องขอบคุณความอุตสาหะของผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดในช่วงการประชุม WG2 สองครั้งก่อนหน้านี้ มาตรฐาน ISO 6893 – Inspection of batches of small diamonds ได้รับการประกาศไม่กี่วันก่อนการประชุม Vicenza
ถึงกระนั้นใน Vicenza ผม (Jean-Pierre Chalain) ขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านของ WG2 ที่ได้มีส่วนช่วยให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวในการจัดระดับเพชรและการตรวจสอบเพชรชุดขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่วางไว้ครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 2017
นอกจากนี้ผมยังต้องขอบคุณ Federation of Swiss Watch Industry หรือ FH สำหรับการสนับสนุนทางการเงินและ CIBJO ในความไว้วางใจ ผมจึงขอเรียนให้เพื่อนร่วมงานของผมทราบว่าเมื่อมาตรฐาน ISO ของเพชร ฉบับที่สามและฉบับสุดท้ายได้รับการประกาศ ผมมีความตั้งใจที่จะลาออกจากตำแหน่ง Convenor ของ ISO/TC 174/WG2
ความถูกต้องในการโฆษณาและการตลาด

Natural Diamond Council (NDC) มุ่งมั่นที่จะรักษาความไว้วางใจโดยการคุ้มครองผู้บริโภคจากการตลาดที่หลอกลวง ซึ่งทำลายความเชื่อมั่น และการสื่อสารที่เป็นธรรมและโปร่งใสนั้นเป็นประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมเพชร
เขตอำนาจศาลส่วนใหญ่ทั่วโลกมีกฎหมายและแนวทางที่สนับสนุนการเปิดเผยที่ครบถ้วนเหมาะสม นอกเหนือจากแนวทางของอุตสาหกรรมนานาชาติที่จัดทำโดย World Jewellery Confederation (CIBJO) NDC ยังได้ร่วมกับองค์กรอุตสาหกรรมที่ไม่แสวงหากำไรอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่คล้ายคลึงกัน และหากมีบริษัทที่หลอกลวงผู้บริโภค NDC จะยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอิสระที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างเช่น คำร้องเรียนโดย NDC ที่ยื่นให้กับ Advertising Standards Authority (ASA) ในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีคำศัพท์เฉพาะทางที่ใช้โดยผู้ค้าปลีกเพชร lab-grown หลายราย ที่เรายืนยันว่าทำให้เกิดความเข้าใจผิด ดิฉันมีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบถึงผลลัพธ์ที่ดี
ASA สนับสนุนคำร้องเรียนของเราที่มีต่อ Skydiamond ในการทำการตลาดและการโฆษณาเพชร lab-grown ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด คำตัดสินระบุว่า Skydiamond ไม่สามารถใช้คำว่า “diamonds”, “diamonds made entirely from the sky” และ “Skydiamond” เพื่อบรรยายอัญมณีที่สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการ โดยไม่มีคำขยายที่ชัดเจนและเด่นชัดที่ระบุว่าเป็นอัญมณีประเภท lab-grown หรือสังเคราะห์
นอกจากนี้ ASA ได้สั่งห้ามไม่ให้ Skydiamond ใช้คำว่า “real diamonds” เพื่อบรรยายเพชรสังเคราะห์
ASA ยังได้สืบสวนโฆษณาโดย Lark & Berry ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบ โดย ASA ได้แจ้งให้บริษัทดังกล่าวทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในโฆษณา และบริษัทก็ได้ตกลงที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นรวมไปถึงการใช้คำว่า “cultured diamond” และ “diamond” โดยไม่มีคำขยายที่เหมาะสมเมื่อกล่าวถึงสินค้าสังเคราะห์ของบริษัท บริษัทเห็นชอบที่จะออกโฆษณาใหม่เพื่อให้มีคำขยาย เช่น “synthetic”, “laboratory-grown” หรือ “laboratory-created” คำตัดสินได้รับการประกาศว่าได้รับการดำเนินการแก้ไขอย่างไม่เป็นทางการบนเว็บไซต์ของ ASA
ในทำนองเดียวกัน ASA ได้สืบสวนโฆษณาโดยบริษัทที่มีชื่อว่า Idyl ซึ่งมีแนวโน้มที่จะฝ่าฝืนกฎระเบียบ โดย ASA ได้แจ้งให้บริษัททราบถึงประเด็นต่างๆ ที่มีในโฆษณาซึ่งพุ่งเป้าไปยังผู้บริโภคชาวสหราชอาณาจักร และ Idyl ตกลงที่จะแก้ไขส่วนต่างๆ ในโฆษณาเหล่านั้น ซึ่งรวมถึง “diamonds, “diamond sparkle”’ “fine diamond jewellery”, “sustainable diamonds” หรือ “Diamonds of the Future” ในการบรรยายอัญมณีสังเคราะห์ของพวกเขาที่ไม่มีคำขยายที่ชัดเจนและโดดเด่น “synthetic”, “laboratory-grown” หรือ “laboratory-created” หรือคำศัพท์อื่นๆ ที่อาจทำให้เข้าใจโดยผู้บริโภคว่ามีความหมายเหมือนกัน คำตัดสินได้รับการประกาศในฐานะการดำเนินการแก้ไขอย่างไม่เป็นทางการบนเว็บไซต์ของ ASA
ใน ค.ศ. 2020 National Association of Jewellers (NAJ) ในสหราชอาณาจักรยกระดับ Diamond Terminology Guideline ไปสู่สถานะของ Primary Authority Advice ซึ่งได้รับการรับรองและเป็นที่ยอมรับโดย Trading Standards ในตลาดสหราชอาณาจักร Diamond Terminology Guideline จัดทำขึ้นจากมาตรฐาน ISO 18383 – Consumer Confidence in the Diamond Industry และ CIBJO Diamond Blue Book
ในปี ค.ศ. 2023 ในสหรัฐฯ National Advertising Division (NAD) ของ BBB National Program แนะนำให้ Agape Diamonds, LLC แก้ไขการโฆษณาของพวกเขาโดยการเปิดเผยแหล่งกำเนิดของอัญมณีเพชรเลียนแบบ (simulated diamond) และเพชร lab-grown (LGDs) อย่างชัดเจนและมีจิตสำนึก Natural Diamond Council ได้โต้แย้งว่าการตลาดของ Agape ซึ่งรวมถึงการนำเสนอสินค้าสำหรับจำหน่ายบนเว็บไซต์ ฝ่าฝืน Federal Trade Commissions (FTC) Jewelry Guides เพราะไม่ได้เปิดเผยแหล่งกำเนิดของอัญมณีอย่างชัดเจนและสะดุดตา
NAD แนะนำว่าโฆษณาทั้งหมดให้ Agape เพิ่มคำบ่งชี้ที่เหมาะสม (เช่น “simulated หรือ “laboratorygGrown”) ก่อนคำว่า “diamond” หรือ “stone” ทันที โดยมีความโดดเด่นเท่าเทียมกันเพื่อเป็นการเปิดเผยอย่างชัดเจนถึงธรรมชาติและแหล่งกำเนิดของสินค้า และข้อเท็จจริงที่ว่ามันไม่ใช่เพชรที่มาจากการทำเหมืองอัญมณี สิ่งนี้สอดคล้องกับ FTC Jewelry Guides ซึ่งรวมถึงการโฆษณาที่มีภาพของสินค้าโดยมีหรือไม่มีข้อความบรรยายใดๆ
การดำเนินการเปิดเผยที่เหมาะสมตามแนวทางปฏิบัติและกฎหมายของประเทศเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในระยะยาว
คำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการบรรยายห่วงโซ่อุปทานอย่างมีความรับผิดชอบ
CIBJO Jewellery Industry Supply Chain Nomenclature Committee เป็นหัวหอกในความพยายามสร้างมาตรฐานทางคำศัพท์เฉพาะทางในอุตสาหกรรมเครื่องประดับทั่วโลก โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการจัดหาที่มีความรับผิดชอบ ความยั่งยืน และเอกสารรับรองที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันในความเติบโตก้าวหน้าของภาคส่วนนี้ ความสำคัญของภาษาที่มีความชัดเจนและเป็นหนึ่งเดียวกันก็ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
หน้าที่ของคณะกรรมการคือการสร้างคำศัพท์เฉพาะที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานของอุตสาหกรรมและข้อบังคับที่มีอำนาจควบคุม ขณะเดียวกันก็จัดทำแนวทางสำหรับธุรกิจในการใช้คำศัพท์เฉพาะเหล่านี้อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสและความไว้วางใจของผู้บริโภค
ภายใต้การดูแลของประธานทั้งสองคือ Dr. Gaetano Cavalieri ประธานของ CIBJO และ Purvi Shah Head of Ethical and Sustainable Value Chains ของ De Beers Group หน้าที่หลักที่ได้รับมอบหมายของคณะกรรมการ Supply Chain Nomenclature Committee คือ การจัดทำคำจำกัดความที่ชัดเจนและไม่กำกวมที่สามารถใช้งานได้ในระดับสากล เพื่อรับรองถึงความสอดคล้องกันทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทานเครื่องประดับ การดำเนินการนี้มีความสำคัญสำหรับการส่งเสริมความโปร่งใสและการสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดที่มีคำศัพท์ เช่น “responsibly sourced” และ “sustainable” ต้องได้รับการใช้งานที่มีการพิสูจน์และมีหลักฐานยืนยัน
คณะกรรมการประกอบด้วยผู้เล่นที่หลากหลายในอุตสาหกรรมตั้งแต่บริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงองค์กรชั้นนำที่มุ่งมั่นในแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ คณะกรรมการนี้เป็นตัวแทนของคณะกรรมการ CIBJO ทั้งคณะ โดยครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ เช่น เพชรธรรมชาติ พลอยสี และมุก เพื่อรับรองถึงแนวทางที่ครอบคลุมและครบถ้วนในการพัฒนาคำศัพท์เฉพาะ
ตลอดปี ค.ศ. 2024 Nomenclature Committee ประชุม 7 ครั้ง โดยมีความคืบหน้าอย่างมากในการทำให้คำศัพท์เฉพาะมีความสอดคล้องกัน การประชุมเหล่านี้เป็นไปด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยคณะกรรมการนำเอามุมมองอันหลากหลายของอุตสาหกรรมมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่าคำศัพท์เฉพาะที่ได้รับการจัดทำมีทั้งความครอบคลุมและสะท้อนแนวปฏิบัติปัจจุบันในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษามาตรฐานที่สูงและแนวปฏิบัติที่ดี
คำศัพท์เฉพาะหลักที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในแนวทางการร่าง ประกอบด้วย “responsibly sourced”, “ethical”, “sustainable material”, และ “grandfathered” ในบรรดาคำอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงคำเฉพาะที่สำคัญเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน เช่น “Chain of Custody”, “Chain of Accountability”, และ “Traceability” คำเฉพาะเหล่านี้จำเป็นสำหรับการสื่อสารคุณค่าทางอุตสาหกรรมให้แก่ผู้บริโภค และงานของคณะกรรมการในการสร้างมาตรฐานให้กับศัพท์เฉพาะเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญ
คณะกรรมการได้เริ่มให้คำแนะนำในการร่างสำหรับศัพท์เฉพาะที่สำคัญเหล่านี้ โดยมีเป้าหมายในการสร้างมาตรฐานการใช้งานทั่วทั้งอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การดำเนินการนี้ยังเป็นไปเพื่อให้แน่ใจว่าจะสอดคล้องกับกฎระเบียบการคุ้มครองผู้บริโภคในอนาคตอันใกล้ เช่น Green Guide ของ FTC และ Green Claims Directive ของสหภาพยุโรป
คณะกรรมการมีแผนที่จะนำเสนอความคืบหน้าใน CIBJO Congress ที่จะมาถึงนี้ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะเป็นจุดหมายที่สำคัญในงานที่กำลังดำเนินอยู่นี้ โดยจะเป็นพื้นที่สำคัญในการแสดงถึงความสำเร็จ ซึ่งตอกย้ำช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งในการเดินทางไปสู่อุตสาหกรรมเครื่องประดับที่มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบ
ในการจัดทำศัพท์เฉพาะที่มีความชัดเจนและมีมาตรฐาน คณะกรรมการไม่เพียงส่งเสริมความโปร่งใสและความไว้วางใจของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังสร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียมกันให้กับผู้มีส่วนร่วมทั้งหมดในอุตสาหกรรม และรับรองความพร้อมในการตอบสนองความต้องการตามกฎระเบียบใหม่ๆ ในปัจจุบันและอนาคต
แปลและเรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กุมภาพันธ์ 2568