
เพชรสังเคราะห์เส้นทางที่สดใสในตลาดงานแต่งงานของอินเดีย
Lab Grown Diamond หรือเพชรสังเคราะห์เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบันเมื่อเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้วยังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย จากรายงานล่าสุดของ Report Ocean ระบุถึงภาพรวมตลาดเพชรสังเคราะห์ของโลกว่า ตลาดเพชรสังเคราะห์ของโลกในปี 2020 มีมูลค่าประมาณ 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 27,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2027 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 6.7% ในช่วงปี 2021-2027 ซึ่งเพชรสังเคราะห์ถูกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ และอุตสาหกรรมเครื่องประดับโดยเฉพาะความต้องการเพชรสังเคราะห์ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับนั้นมีการเติบโตอย่างมาก เนื่องจากกระแสนิยมด้านแฟชั่นที่เพิ่มขึ้น และราคาที่จับต้องได้ของเครื่องประดับที่ผลิตจากเพชรสังเคราะห์
ทั้งนี้ในรายงานยังคาดการณ์ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนการเติบโตในสองประเด็นคือ
1) การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอุตสาหกรรมยานยนต์ เพชรสังเคราะห์ถูกนำมาใช้มากขึ้นในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น สำหรับการเจาะ ตัด และขัดเงา การเติบโตของอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีโครงการสำคัญ เช่น Smart City Mission และ Housing for All เป็นส่วนส่งเสริมกิจกรรมการก่อสร้าง ทำให้ความต้องการเพชรสังเคราะห์เพิ่มขึ้น
2) ข้อได้เปรียบด้านต้นทุน เพชรสังเคราะห์มีราคาที่คุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับเพชรธรรมชาติ ส่งผลให้มีการนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้แล้วเพชรสังเคราะห์ยังปราศจากปัญหาด้านจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองเพชรธรรมชาติ ซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตของตลาดได้ในอีกทางหนึ่ง
และปัจจัยที่อาจกระทบต่อตลาดเพชรสังเคราะห์ในสองประเด็นคือ
1) การขาดความรู้ความเข้าใจ แม้เพชรสังเคราะห์จะมีข้อดีหลายประการ แต่ยังมีผู้บริโภคจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพชรสังเคราะห์ หลายคนยังคงมองว่าเพชรธรรมชาติมีคุณภาพเหนือกว่าและไม่ทราบถึงประโยชน์และคุณสมบัติของเพชรสังเคราะห์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาด
2) ผลกระทบจาก COVID-19 อุตสาหกรรมเหมืองแร่และการผลิตเพชรสังเคราะห์ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ถึงแม้ว่ากิจกรรมการทำเหมืองจีนจะเริ่มกลับมาเป็นปกติหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดแล้ว แต่ยังมีความผันผวนของราคาที่เกิดจากสถานการณ์โรคระบาดอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมปลายทางที่ใช้เพชรสังเคราะห์ได้
เพื่อเป็นการยืนยันการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดเพชรสังเคราะห์ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของ Morgan Stanley ธนาคารเพื่อการลงทุน ที่ระบุไว้ว่าเพชรสังเคราะห์คิดเป็นประมาณ 14.3% ของอุปทานเพชรรวมในปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 16 ล้านกะรัต เมื่อเทียบกับเพชรธรรมชาติที่ถูกขุดใหม่จำนวน 112 ล้านกะรัต ความน่าสนใจในตัวเลขนี้คือ แนวโน้มดังกล่าวที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอุปทานเพชรสังเคราะห์ ขณะที่อุปทานเพชรธรรมชาติยังคงที่หรือกำลังลดลง และจากแบบจำลองอุปสงค์และอุปทานของ Morgan Stanley ทำให้เห็นส่วนแบ่งของเพชรสังเคราะห์ในตลาดเพชรรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 18% และในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 21.3% โดยมีอุปทานสูงถึง 25.1 ล้านกะรัต เทียบกับเพชรธรรมชาติ 118 ล้านกะรัต
หากมองถึงผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์จะพบว่าจีนและอินเดียเป็นสองผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดนี้ โดยปีที่ผ่านมา จีนมีสัดส่วนการผลิต 9.3% ของอุปทานเพชรรวม และในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 12.7% และอินเดียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับสอง คิดเป็น 2.9% ในปีนี้
นอกจากอินเดียจะมีความน่าสนใจในฐานะผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์รายใหญ่ของโลกแล้ว ในส่วนของตลาดผู้บริโภคเพชรสังเคราะห์อินเดียยังมีความน่าสนใจอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความนิยมในงานแต่งงาน งานแต่งงานในอินเดียกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยมุ่งไปสู่การใช้งบประมาณที่ใหญ่ขึ้น จัดงานแต่งงานในสถานที่หรูหรา และความนิยมที่เพิ่มขึ้นของเพชรสังเคราะห์ และการเลือกที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จากรายงานของ Business Standard ระบุว่างานแต่งงานในอินเดียในปี 2024 มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยงบประมาณเฉลี่ยสำหรับการแต่งงานอยู่ที่ 36.5 แสนรูปี (ประมาณ 1.42 ล้านบาท) และงานแต่งงานในสถานที่หรูหราหรือ Destination Weddings มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 51.1 แสนรูปี (ประมาณ 1.98 ล้านบาท) ที่สำคัญคือ 9% ของงานแต่งงานมีค่าใช้จ่ายเกินสิบล้านรูปี ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมในงานเฉลิมฉลองที่ผสมผสานความหรูหรากับประเพณีอย่างเห็นได้ชัด
และจากรายงานอุตสาหกรรมงานแต่งงานประจำปีของ WedMeGood พบว่า 45.5% ของเจ้าสาวเลือกใช้เพชรสังเคราะห์ โดยเฉพาะในแหวนหมั้นมีการเลือกใช้เพชรสังเคราะห์มากที่สุด นอกจากนี้ 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังเลือกตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการวางแผนงานแต่งงานร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการบริจาคอาหารส่วนเกินจากงาน หรือการลดการใช้พลาสติก ซึ่งเทรนด์นี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของคู่รักยุคใหม่ในการผสมผสานความยั่งยืนเข้ากับการเฉลิมฉลองที่มีความหมายเข้าด้วยกัน
ข้อมูลข้างต้นเห็นได้ว่าคนอินเดียเริ่มยอมรับเพชรสังเคราะห์ในงานแต่งงานมากขึ้น เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในเครื่องประดับแต่งงานในบางส่วน และไปเพิ่มมูลค่าที่เป็นความหมายในส่วนอื่นแทน และแม้ว่าตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียจะมีมูลค่าสูงถึง 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ส่วนแบ่งตลาดของเครื่องประดับเพชรมีเพียง 5% เท่านั้น อย่างไรก็ตามความต้องการเพชรสังเคราะห์กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมู่ลูกค้าที่ไม่เคยซื้อเพชรมาก่อน
ทั้งนี้ Storyboard18 ได้มีการระบุปัจจัยผลักดันการเติบโต ความท้าทาย และโอกาสของตลาดเพชรสังเคราะห์ในอินเดียไว้ดังนี้
1) ต้นทุนที่คุ้มค่า เพชรสังเคราะห์มีราคาต่ำกว่าเพชรธรรมชาติอย่างมาก ตัวอย่างเช่น เพชรธรรมชาติขนาด 2 กะรัต อาจมีราคา 1,500,000 รูปี (ประมาณ 585,000 บาท) ในขณะที่เพชรสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมีราคาเพียง 40,000 รูปี
2) การขยายตัวของตลาด Vidita Kochar ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Jewelbox กล่าวว่าการตอบรับต่อคอลเลคชันแหวนหมั้นเพชรสังเคราะห์นั้นยอดเยี่ยม ผู้บริโภคชื่นชอบความสามารถในการซื้อเพชรที่ใหญ่ขึ้นและโดดเด่นในงบประมาณที่จำกัด
3) ความรู้ความเข้าใจและการยอมรับที่เพิ่มขึ้น Kochar คาดการณ์ว่าความต้องการเพชรสังเคราะห์จะเติบโตที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 30-40% ในอีก 5-7 ปีข้างหน้า โดยมีอินเดียเป็นผู้บริโภคเพชรสังเคราะห์รายใหญ่ที่สุดในโลก
4) ความท้าทาย มูลค่าของเพชรโดยเฉพาะเพชรธรรมชาติ ขนาดเกิน 1 กะรัต ลดลงถึง 30-35% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนระมัดระวังในการลงทุนในธุรกิจเพชรธรรมชาติ
5) โอกาส การผลิตเพชรสังเคราะห์ใช้เวลาเพียง 2 เดือน ทำให้ตอบสนองความต้องการในตลาดได้รวดเร็ว นอกจากนี้การขยายตลาดไปยังเมืองระดับรอง (Tier 2 และ Tier 3) จะช่วยกระตุ้นความต้องการเพิ่มเติม
ด้วยปัจจัยทั้งภาพรวมทั่วโลก และภาพรวมในประเทศอินเดีย เพชรสังเคราะห์กำลังเปลี่ยนแปลงภาพรวมของตลาดเครื่องประดับแต่งงานในอินเดีย ทั้งในด้านความต้องการ ความนิยม และพฤติกรรมผู้บริโภค ความสนใจในตัวเลือกที่ยั่งยืน และผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกและงานแต่งงานในอินเดีย ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่สดใสในอนาคตอย่างแน่นอน
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤษภาคม 2568
ข้อมูลอ้างอิง
2.https://www.forbes.com/sites/timtreadgold/2024/09/23/diamond-mining-losing-its-sparkle-as-lab-grown-market-share-rises/
3.https://www.storyboard18.com/how-it-works/more-sparkle-for-less-lab-grown-diamonds-transform-wedding-jewellery-choices-in-india-46915.htm
4.https://www.ndtvprofit.com/economy-finance/wedding-marriages-industry-india-lab-grown-diamonds-preference
5.https://www.business-standard.com/india-news/2024-weddings-are-all-about-luxe-lab-grown-sparkle-social-media-report-124112900784_1.html