ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

ทองคำ ความมั่งคั่งในพลวัตของตลาดทองคำโลก

May 30, 2025
2010 views
0 share

        ทองคำเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอดนับแต่อดีต กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นสินทรัพย์ที่โดดเด่นและสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในโลกการเงิน โดยแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวสูงขึ้นของระดับราคาในปี 2567 โดยราคาได้พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 28% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มีการทำระดับสถิติราคาสูงสุดหลายครั้งตลอดปี อีกทั้งอุปสงค์ทองคำโลกยังพุ่งสูงขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีมูลค่าทะลุหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 3 ของปี 2567 ซึ่งเน้นย้ำถึงเสน่ห์ที่ยั่งยืนของโลหะมีค่าชนิดนี้

ภาพรวมสถานการณ์ทองคำโลก

ฝั่งอุปทานทองคำนั้น ในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 เป็นทองคำจากเหมืองอยู่ในระดับ 3,661.23 ตัน เพิ่มขึ้น 0.47% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับทองคำรีไซเคิลปี 2567 อยู่ที่ระดับ 1,370 ตัน เพิ่มขึ้น 10.98% เมื่อเทียบกับปีก่อน 

ด้านอุปสงค์ทองคำรวมในปี 2567 อยู่ในระดับ 4,974.47 ตัน (รวมการซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาด: OTC) เพิ่มขึ้น 0.58% หากไม่รวม OTC คิดเป็นปริมาณ 4,553.75 ตัน เพิ่มขึ้น 11.79% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมีการบริโภคที่สำคัญ 4 ส่วนหลักๆ คือ เครื่องประดับทอง, การลงทุน, ธนาคารกลางและสถาบันการเงิน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยในปี 2567 มีรายละเอียดดังนี้

1. เครื่องประดับทอง เป็นส่วนที่มีการบริโภคมากที่สุด จำนวน 1877.10 ตัน ด้วยสัดส่วน 41.22% ปรับตัวลดลง 11.06% เมื่อเทียบปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 2,110.58 ตัน ซึ่งราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่

ทำให้การบริโภคส่วนนี้อ่อนแอลง

2. การลงทุน คิดเป็นจำนวน 1,179.53 ตัน มีสัดส่วน 25.90% สูงเป็นอันดับ 2 ด้วยราคาทองคำซึ่งมีการปรับตัวสูงขึ้นตลอดปี ทั้งยังทำสถิติสูงสุดหลายครั้ง ส่งผลให้ความต้องการทองคำในส่วนนี้สูงขึ้นตามไปด้วย โดยเพิ่มขึ้น 24.75% ซึ่งนับเป็นปีที่มีการลงทุนทองคำสูงสุดในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2563 

3. ธนาคารกลางและสถาบันการเงิน มีจำนวน 1,044.63 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 22.94% ลดลง 0.59% โดยมีแรงซื้อเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 4 และนับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่ธนาคารกลางฯ ซื้อสุทธิเกิน 1,000 ตัน 

4. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า มีจำนวน 326.08 ตัน สัดส่วนเท่ากับ 7.16% ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.85% โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวได้ดีจากการเติบโตของเทคโนโลยีเอไอ ทำให้ต้องใช้ทั้งซีพียู หน่วยความจำ และเซนเซอร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนต้องใช้ทองคำเป็นส่วนประกอบ 

ตารางอุปทานและอุปสงค์ทองคำ


ทิศทางราคาทองคำโลก

ในปี 2567 นั้น มีราคาทองคำเฉลี่ยอยู่ที่ 2,386.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 22.97% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยของปีก่อนหน้า ทั้งยังสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ถึง 40 ครั้ง ตลอดปีที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปัจจัยหนุนราคาทองคำมาจากการเริ่มต้นของการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ตามด้วยธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก ความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินการสะสมทองคำอย่างต่อเนื่อง โดยมีโมเมนตัมการซื้อเร่งตัวขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 53.57% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

เมื่อพิจารณาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ราคาทองคำมีทิศทางเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จากราคาเฉลี่ยในปี 2558 ที่มีมูลค่า 1,160.06 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ มาอยู่ที่ราคาเฉลี่ยเท่ากับ 2,386.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในปี 2567 เพิ่มขึ้นถึง 105.70% ซึ่งทองคำได้รับการพิสูจน์และยอมรับในฐานะเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่

        นักลงทุนให้ความสนใจและนิยมเป็นหนึ่งในสินทรัพย์หลักในพอร์ตลงทุน ซึ่งสามารถจำแนกจุดเด่นได้ดังนี้

1. ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤต 

2. ทองมีความสัมพันธ์ต่อทรัพย์สินอื่นๆ ทำให้สามารถช่วยกระจายความเสี่ยงได้

3. ทองคำมีสภาพคล่องสูงและสามารถซื้อขายได้ในตลาดทั่วโลก 

กราฟราคาทองคำตั้งแต่ปี 2015-กุมภาพันธ์ 2025 จาก https://goldprice.org/gold-price-history.html

ในปี 2568 นักวิเคราะห์จำนวนมากใน Wall Street มีมุมมองเชิงบวกต่อทองคำ โดยเห็นว่า ราคาทองยังเป็นทิศทางขาขึ้นจากสัญญาณกระทิงของราคาทอง โดย Goldman Sachs ปรับคาดการณ์ราคาทองคำปีนี้ อยู่ที่ระดับ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่ UBS Group ปรับคาดการณ์ราคาหลังจากทองคำทะลุ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ว่า ราคาทองคำจะไปถึงระดับ 3,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านความขัดแย้งทางการค้าโลก ธนาคารกลางยังซื้อทองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (คาดว่า ณ สิ้นปี จะมีจำนวนมากกว่า 1,000 ตัน) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เหล่านี้ล้วนส่งผลบวกต่อราคาทองคำ

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่น่าจูงใจต่อการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งเน้นย้ำถึงเสน่ห์ที่ยั่งยืนของโลหะมีค่านี้ในฐานะสินทรัพย์ที่ควรมีไว้ในพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อย รายใหญ่ และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้นักลงทุนเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารการลงทุนทองคำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั้งยังสามารถลงทุนได้ทุกที่ทุกเวลา จึงเปิดโอกาสให้สร้างผลตอบแทนได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในขณะที่ปัจจุบันทองคำมีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย ดังเช่นการซื้อทองคำในรูปแบบกายภาพโดยตรง สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) กองทุนรวม ETF ทองคำ (Gold ETFs) การซื้อหุ้นบริษัทเหมืองทอง และการซื้อทองคำทางออนไลน์ (Digital Gold) เป็นต้น

การบริโภคเครื่องประดับทองของโลก

เมื่อพิจารณาเฉพาะการบริโภคเครื่องประดับทองนั้น ในปี 2567 ปรับตัวลดลงเหลือ 1,877.10 ตัน จาก 2,110.58 ตัน ลดลง 11.06% ซึ่งนับเป็นปีที่แรงซื้อเครื่องประดับทองอ่อนแอ จากกการที่ราคาทองทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องหลายครั้ง ราคาที่สูงขึ้นจึงส่งผลทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อทองในรูปเครื่องประดับลดลง ในส่วนผู้บริโภครายใหญ่อย่างอินเดียและจีน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึง 55.54% ของการบริโภคเครื่องประดับทองทั่วโลก ปรับตัวลง 2.15% และ 23.95% ตามลำดับ เช่นเดียวกับตลาดอันดับ 3 และ 5 อย่างสหรัฐอเมริกา และทูร์เคีย ที่ปรับตัวลง 3.48% และ 2.93% ตามลำดับ 

ส่วนรัสเซีย ตลาดอันดับ 4 สามารถขยายตัวได้ 3.84% เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ทำให้ชาวรัสเซียหันมาซื้อทองคำเป็นสินทรัพย์ทางเลือกเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาครัฐยังดำเนินนโยบายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากที่เคยเรียกเก็บในอัตรา 20% เพื่อสนับสนุนการค้าปลีก จึงทำให้ตลาดภายในประเทศเติบโตได้ดี

จีน

แต่เดิมนั้นจีนเป็นประเทศผู้บริโภคเครื่องประดับทองเบอร์หนึ่งของโลกมาต่อเนื่องยาวนาน กระทั่งเริ่มประสบปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นเป็นปัจจัยกดดันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนให้ชะลอตัวลงอย่างมาก โดยตลอดปี 2567 จีนมีการบริโภคเครื่องประดับทอง 479.25 ตัน ลดลงจาก 630.15 ตัน ในปีก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นปีที่การบริโภคเครื่องประดับทองของจีนอ่อนแอมากที่สุดตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา 

ตามรายงานของ World Gold Council ระบุว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงท่ามกลางการเติบโตของรายได้ที่ชะลอตัวและราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลในทางลบต่อความต้องการเครื่องประดับทองคำในประเทศตลอดปี 2024 แม้ว่าความต้องการได้เพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคมก่อนถึงปีใหม่ที่ผ่านมาและเทศกาลตรุษจีน แต่มุมมองในอนาคตยังคงเป็นไปในทางลบ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวลง ผู้บริโภคโดยเฉพาะวัยรุ่นเปลี่ยนไปเลือกซื้อทองคำที่มีน้ำหนักลดลงทดแทน รวมทั้งซื้อเครื่องประดับแพลทินัม เงิน และวัสดุทางเลือกอื่นๆ เช่น ไทเทเนียม เรซิน ที่มีรูปแบบทันสมัย เนื่องจากราคาย่อมเยาว์กว่า

จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้ผู้ค้าปลีกหลายรายเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ด้วยการพัฒนาคอลเลกชันให้หลากหลาย มีความพิเศษเฉพาะเพื่อให้โดดเด่นจากคู่แข่ง ขณะเดียวกันการออกแบบที่ทันสมัยซึ่งผสมผสานทองคำกับโลหะมีค่าชนิดอื่นให้มีสีสันหลากหลาย หรือประดับพลอยสี โดยผสมผสานวัฒนธรรมดั้งเดิมกับนวัตกรรมสมัยใหม่เข้าด้วยกัน กำลังดึงดูดผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่

ภาพซ้าย ต่างหูเงินชุบทอง 18K ประดับด้วยเพทาย ภาพขวา สร้อยคอทองเหลืองชุบทอง 18K ประดับเพทาย จากแบรนด์ YVMIN

ที่มา: https://yvmin.com/collections/

อินเดีย

ในปีที่ผ่านมาแม้ว่าการบริโภคเครื่องประดับทองของอินเดียจะหดตัวลง 2.15% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก แต่หดตัวน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำในการบริโภคเครื่องประดับทอง ทั้งยังมีการบริโภคเครื่องประดับทองมากที่สุดในโลกแซงหน้าจีนขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ด้วยปริมาณ 563.38 ตัน โดยรัฐบาลอินเดียได้ปรับลดภาษีนำเข้าทองคำจาก 15% เหลือเพียง 6% ตั้งแต่ 24 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 โดยหวังลดการลักลอบนำเข้าทองคำเลี่ยงภาษี รวมทั้งช่วยลดต้นทุนผู้ค้าเครื่องประดับทอง เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระตุ้นยอดขายในประเทศ

ล่าสุดภาครัฐยังขยายมาตรการลดภาษีนำเข้าพิกัด 7113 เครื่องประดับแท้ (เครื่องประดับทอง, เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับแพลทินัม และเครื่องประดับโลหะมีค่าอื่นๆ) จาก 25% เหลือ 20% ร่วมกับการลดภาษีนำเข้าแพลทินัมจาก 25% เหลือ 5% ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ 2568

จากข้อมูลของ World Gold Council ระบุว่า อุปสงค์ทองคำในปี 2568 ของอินเดีย มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน ด้วยปัจจัยจากราคาทองคำที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้บริโภคชะลอการซื้อเครื่องประดับทอง มีการนำทองรูปพรรณเก่ามาขายมากขึ้น รวมทั้งแลกเปลี่ยนทองเก่ากับเครื่องประดับใหม่ที่มีน้ำหนักลดลง โดยการซื้อเครื่องประดับทองมุ่งเน้นตามความจำเป็น เช่น เพื่อการแต่งงาน ขณะที่การลงทุนทองคำยังเติบโตได้ดี 

ขณะที่แนวโน้มตลาดในปีนี้ สร้อยคอโชคเกอร์ลวดลายซับซ้อนทำจากทองในรูปแบบดั้งเดิมอย่าง Kundan กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับงานแต่งงานและงานเทศกาล การสวมสร้อยคอเป็นชั้นๆ การผสมผสานดีไซน์แบบดั้งเดิมกับสมัยใหม่ เครื่องประดับที่มีสีสันสดใส และดีไซน์แบบมินิมอลที่เหมาะสำหรับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน เป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่

ภาพเครื่องประดับแบบ Kundan และเครื่องประดับแบบมินิมอล จาก Pinterest

ไทย

ไทยนับแต่โบราณนั้นมีความเกี่ยวพันกับทองคำมายาวนาน มีการค้นพบโบราณวัตถุที่เป็นทองคำแท้ มีการทำลวดลายอันวิจิตรงดงามจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องประดับทองของจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดเพชรบุรี ที่ถือเป็นงานศิลปะชั้นสูงอันโดดเด่นมีการสลักลวดลายแบบศิลปะไทยโบราณในชิ้นแต่ละชิ้นงาน โดยใช้ทองคำที่มีความบริสุทธิ์ของทองคำสูง 99.5% แตกต่างจากเครื่องประดับทองในปัจจุบันที่นิยมใช้ความบริสุทธิ์ของทองคำอยู่ที่ 96.5% กระทั่งกลายเป็นเสมือนมาตรฐานที่นิยมใช้กันทั่วประเทศ โดยย่านค้าทองคำที่สำคัญของประเทศทั้งยังมีความเก่าแก่ยาวนานมากว่า 150 ปี คือ ถนนเยาวราช ที่มีร้านค้าทองเรียงรายตลอดสายมากกว่าร้อยร้านค้า กระทั่งได้ชื่อว่า ถนนสายทองคำ 

ในปี 2567 ไทยมีการบริโภคทองคำเป็นอันดับที่ 10 ของโลก คิดเป็นปริมาณทั้งหมด 48.79 ตัน เพิ่มขึ้น 13.01% จากปีก่อนหน้า โดยเป็นการบริโภคเครื่องประดับทอง 8.99 ตัน ลดลง 2.33% ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากราคาทองที่สูงขึ้นตามตลาดโลก กระตุ้นให้ผู้บริโภคขายคืนทองเก่าที่ถือครองอยู่เพื่อทำกำไรระยสั้นเพิ่มขึ้น อีกทั้งการต้องจ่ายเงินสูงขึ้นในการบริโภคเครื่องประดับทองคำ จึงมีผู้บริโภคบางส่วนอาจเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสู่การบริโภคเครื่องประดับทองที่น้ำหนักน้อยลง หรือทองที่มีค่าความบริสุทธิ์ลดลง เช่น ทอง 18K โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ขณะที่บางส่วนยังมองเครื่องประดับเป็นการลงทุนจะยังคงซื้อเพื่อสวมใส่และสะสมมูลค่าไปในเวลาเดียวกัน ในส่วนการลงทุนทองคำของไทยนั้น เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน ซึ่งในปี 2567 มีปริมาณ 39.80 ตัน เพิ่มขึ้น 17.16%  

อย่างไรก็ตาม ด้วยวัฒนธรรมและค่านิยมที่มีมายาวนานของคนไทยกับทองคำ ทำให้ทั้งเครื่องประดับทองและทองคำแท่ง เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง เก็บสะสมมูลค่า รวมทั้งส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2567 มีผู้ประกอบการร้านทองทั่วประเทศที่จดทะเบียนนิติบุคคลที่ยังดำเนินกิจการอยู่มีจำนวน 9,728 ราย เพิ่มขึ้น 303 ราย จากปีก่อนหน้า

จากการสัมภาษณ์คุณธีรเดช สินธพเรืองชัย เลขาธิการสมาคมค้าทองคำ ให้ข้อมูลว่า ผู้ซื้อทองคำทั้งทองรูปพรรณและในส่วนเก็งกำไรทองคำแท่งลดลง จากปัจจัยเรื่องราคาทองที่สูงขึ้น โดยกรณีร้านทองต่างจังหวัดนั้น จะขึ้นอยู่กับผู้บริโภคที่เป็นเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ หากราคาผลผลิตดี คนส่วนนี้จะนำมาซื้อทองเพื่อสวมใส่ 

        ทั้งยังสามารถเก็บสะสมเพิ่มมูลค่า และสามารถซื้อขายเป็นเงินสดได้ง่าย ขณะที่ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางการตลาดอีกส่วนหนึ่งที่ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อเครื่องประดับทองที่น้ำหนักไม่สูง ชิ้นเล็ก เน้นรูปแบบดีไซน์ และให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่รู้จักมีชื่อเสียง หากเป็นเครื่องประดับทองตั้งแต่ราว 1-2 บาทขึ้นไป ผู้บริโภคยังเลือกที่จะมาซื้อหน้าร้านเป็นหลัก โดยรูปแบบและดีไซน์มีความแตกต่างกันตามแต่ละช่วงวัย อย่างคนเจนเอ็กซ์จะเน้นสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน ทองมีความแข็งแรงคงทน ขณะที่คนเจนแซดจะเน้นดีไซน์ ความสวยงามและแบรนด์ของร้านทอง นอกจากนี้ ด้วยทักษะและความชำนาญของช่างไทยทำให้มาตรฐานทอง 96.5 เป็นที่นิยมชื่นชอบเพิ่มขึ้นในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เห็นได้จากลูกค้าที่เป็นชาวเมียนมา ลาว หรือกัมพูชา นิยมซื้อทองไทย เพื่อสะสมความมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้น

คุณธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทฮั่วเซ่งเฮง หนึ่งในผู้ค้าทองรายใหญ่ของประเทศ กล่าวว่า ผู้ซื้อทองคำโดยทั่วไปจะมีอายุในช่วง 30-40 ปี แต่กลุ่มประชากรที่อายุน้อยกว่ากำลังเพิ่มการซื้อทองคำมากขึ้นโดยเป็นการสะสมทองคำเพื่อการออม ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลมาจากคำแนะนำด้านการเงินจากโซเชียลมีเดียและผู้ทรงอิทธิพลในออนไลน์ แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มการซื้อขายทองคำจึงเติบโตได้ดี ซึ่งการสร้างแนวทางทำธุรกรรมที่ปลอดภัย และให้ความรู้เพิ่มเติมจะสามารถดึงดูดผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่คุณวรวรรณ ตัณฑชน กรรมการผู้จัดการบริษัท ชายน์นิ่งโกลด์ จิวเวลรี่ จำกัด ได้ให้ความเห็นว่า ในช่วงนี้ราคาทองเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังมีแรงซื้อจากผู้บริโภคอยู่ โดยกลุ่มผู้บริโภคมีทั้งที่เป็นคนวัยทำงานที่มีกำลังซื้อสูง นิยมสวมใส่เครื่องประดับในชีวิตประจำวัน และนักลงทุนที่นิยมทองคำแท่ง โดยช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมสูงขึ้น ซึ่งในปี 2568 ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ การเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสำคัญจะส่งผลต่อนโยบายการค้า กระทบภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งทำให้ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนและกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน รวมทั้งวัฒนธรรมคนเอเชียยังมีความนิยมในทองคำสูง จึงยังเป็นโอกาสให้ทองคำยังมีการเติบโตได้ ในระยะถัดไปมีโอกาสทำ New High ได้ ขึ้นกับปัจจัยด้านสงครามความขัดแย้งอื่นๆ ประกอบด้วย ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด 

ภาพจาก Shining Gold

  ความสวยงามของทองคำ ไม่เพียงสะท้อนออกมาผ่านความวิจิตรงดงามด้วยรูปแบบเครื่องประดับยังเชื่อมโยงกับความเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนนิยมใช้เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งมักให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในการลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งทิศทางแนวโน้มราคาทองคำในปีนี้ยังแรงส่งให้เพิ่มขึ้น โดยเป็นผลดีต่อการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่อาจกระทบในส่วนเครื่องประดับทองให้มีแรงซื้อลดลง ซึ่งผู้ประกอบการอาจเน้นรูปแบบใหม่ที่มีน้ำหนักเบา ดีไซน์ทันสมัย มีความคงทน และสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน โดยการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการออกแบบและงานฝีมือ จะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมเครื่องประดับทองตลาดโลกได้

         


จัดทำโดย นายพุทธิพร วิชัยดิษฐ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พฤษภาคม 2568