แหวนกล...เครื่องประดับอัตลักษณ์ผสานกับการตกแต่งอัญมณีอันน่าทึ่งของเมืองจันท์
แหวนกล หรือแหวนกลไกปริศนา เป็นเครื่องประดับอัตลักษณ์ของจังหวัดจันทบุรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยการออกแบบตัวเรือนผสานกับอัญมณีที่ใช้เทคนิคกลไกอันซับซ้อนเข้าช่วยให้เครื่องประดับมีความน่าทึ่ง แตกต่างจากเครื่องประดับทั่วไปอย่างชัดเจน เพราะแหวนกลไม่ได้นำเสนอเพียงแค่รูปลักษณ์ที่สวยงามแต่ยังแฝงไปด้วยกลยุทธ์การนำเสนอที่ดึงดูดให้ผู้ใช้งานได้ฝึกทักษะ สมาธิ และกระบวนการทางความคิดไปในตัว อันถือเป็นเสน่ห์และจุดขายที่สำคัญของแหวนกลเมืองจันท์
เรื่องราวของแหวนกลเมืองจันท์
การทำแหวนกลเมืองจันท์ ไม่มีจุดเริ่มต้นที่ปรากฎเป็นหลักฐานแน่ชัด มีเพียงข้อสันนิษฐานว่าอาจเริ่มต้นมาจากช่างชาวจีนที่มาตั้งรกรากในจันทบุรี และมีการถ่ายทอดเทคนิคกันภายในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น บ้างก็ว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจเริ่มต้นมาจากพ่อค้าชาวอาหรับที่เดินทางมาค้าขายอัญมณี และได้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญางานช่างนี้ให้แก่คนไทย เพราะการทำแหวนกลเป็นเทคนิคที่มีมานานหลายร้อยปี ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมการทำแหวนกลของชาวอาหรับ หรือทางแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเรียกว่า Puzzle Ring หรือ Turkish Wedding Ring ที่มีลักษณะเป็นแหวนซ้อนเกี่ยวไขว้กันสองวงขึ้นไป เน้นลวดลายทางเรขาคณิต โดยปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่นิยมสำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวันอยู่ และอาจมีการตกแต่งตัวเรือนเพิ่มเติมด้วยเพชรเจียระไน สำหรับใช้เป็นแหวนแต่งงานด้วย
ภูมิปัญญาการผลิตแหวนกลในจันทบุรี เป็นงานสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งปัจจุบันพบว่าจำนวนช่างฝีมืออัญมณีที่ผลิตเครื่องประดับในลักษณะดังกล่าวแทบจะไม่มีเหลือแล้ว เนื่องจากทุกกระบวนการในการผลิตแหวนกลต้องอาศัยความปราณีตสูง เพราะต้องทำด้วยมือทุกขั้นตอน และต้องอาศัยทั้งจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การวางแผนที่รอบคอบ รวมทั้งความอดทน เพราะหากเกิดกรณีที่ไม่สามารถผสานกลไกประกอบเป็นลวดลายบนหัวแหวนที่สมบูรณ์ได้ ช่างจะต้องหลอมแก้ไขใหม่เกือบทั้งหมด ทำให้ภาพรวมของการผลิตแหวนกลหนึ่งวง จำเป็นต้องใช้เวลานานกว่าเครื่องประดับทั่วไป เมื่อช่างฝีมือไม่ค่อยนิยมผลิตกันนัก ทำให้ภูมิปัญญาการผลิตแหวนกลเมืองจันท์ค่อยๆ สูญหายไปตามกาลเวลา
อย่างไรก็ตาม ภูมิปัญญาการทำแหวนกลในปัจจุบัน ยังมีปรากฎอยู่ที่ “บ้านแหวนกล เมืองจันท์” ซึ่งเป็นบ้านของครูชูเกียรติ เนียมทอง หรือช่างหรีด ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของช่างทำแหวนกลในจันทบุรี โดยช่างหรีดเริ่มต้นฝึกฝนการทำแหวนกลมาตั้งแต่เด็ก อาศัยการถ่ายทอดวิชาจากครูสายัณห์ ภูมิศักดิ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าเขย โดยเริ่มแรกของการฝึกเป็นการเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือช่างประเภทต่างๆ แล้วจึงค่อยๆ พัฒนามาทำแหวนเรียบ และแหวนปลอกมีด พร้อมทั้งเป็นผู้ช่วยช่างอยู่นานหลายปี รวมแล้วใช้เวลาในการฝึกฝน และจดจำเทคนิคประมาณสิบกว่าปี จึงสามารถผลิตแหวนกลชิ้นแรกของตนเองขึ้นมาได้ ปัจจุบันช่างหรีดยังคงรับผลิตแหวนกลเป็นอาชีพหลักในการเลี้ยงครอบครัว โดยสามารถผลิตชิ้นงานได้ 2 - 3 ชิ้นต่อเดือน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของชิ้นงาน และงานทุกชิ้นนอกจากจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของแหวนกล คือ มีรูปลักษณ์สวยงาม ได้สัดส่วน และซ้อนประกอบกันได้พอดีแล้ว ยังต้องผสานไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกและความมุ่งมั่นตั้งใจของช่าง เพื่อให้แหวนกลที่ถูกผลิตออกมามีความโดดเด่นเฉพาะตัวไม่ซ้ำกับชิ้นอื่น
อัตลักษณ์และรูปแบบปัจจุบันของแหวนกลเมืองจันท์