รัฐบาลโมซัมบิกได้ออกประกาศเรื่องการส่งออกอัญมณีและทองคำที่ผลิตในประเทศจะต้องมีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป มาตรการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการส่งออกโลหะมีค่าและอัญมณีตามแนวทางของ Kimberley Process Certification Scheme อันจะเป็นการส่งเสริมการค้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วยความโปร่งใส รวมถึงป้องกันการจัดหาเงินทุนสำหรับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน การก่อการร้าย เป็นต้น
การนำใบรับรองแหล่งกำเนิดและบรรจุภัณฑ์มาใช้นี้เป็นไปตามข้อบังคับสำหรับการจำหน่ายเพชร โลหะมีค่า และอัญมณี ที่ได้ผ่านการอนุมัติตามพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 25/2558 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 โดยหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าจะระบุว่าอัญมณีและทองคำนั้นๆ มาจากประเทศโมซัมบิก เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อว่าสินค้าเหล่านี้ผลิตโดยคำนึงถึงข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ใส่ใจในสิทธิมนุษยชน และเป็นการนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากเอกสารต่างๆ ล้วนได้รับการรับรองจากรัฐบาลโมซัมบิก ทั้งนี้ ในอดีตหลายบริษัทในโมซัมบิกต้องประสบปัญหาในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดต่างประเทศที่ต้องใช้ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า จนเป็นเหตุให้ต้องหันไปจำหน่ายสินค้าผ่านผู้ค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าแทนที่จะค้าขายกับผู้ซื้อได้โดยตรง
www.git.or.th
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลโมซัมบิกบังคับให้การส่งออกอัญมณีและทองคำจะต้องมีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า น่าจะเป็นโมเดลที่ทำให้ประเทศผู้ผลิตโลหะมีค่าและอัญมณีรายอื่นๆ ในแถบทวีปแอฟริกาต้องปฏิบัติตาม เนื่องจากปัจจุบันมีกระแสเรียกร้องถึงการแสดงที่มาของอัญมณี การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มาก จึงทำให้หลายประเทศผู้ผลิตจะต้องปรับตัวให้ทันกระแสดังกล่าว
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติหรือ GIT ได้แสดงความเห็นว่า มาตรการของรัฐบาลโมซัมบิกข้างต้นนั้น เป็นไปตามกระแสการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนหรือ SDGs ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมฯ ถือเป็นการตอบรับอย่างเป็นรูปธรรมต่อกระแสเรียกร้องการแสดงความรับผิดชอบต่อทรัพยากรและสังคม ซึ่งโดยปกติรัฐบาลในประเทศเจ้าของแหล่งวัตถุดิบมักจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อความโปร่งใสและสอบกลับไปยังต้นทางได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันในตลาดโลกมีกระแสเรียกร้องให้ค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับโดยคำนึงถึงจริยธรรมและความยั่งยืนเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยในฐานะพ่อค้าคนกลางพลอยสีและผู้ผลิตเครื่องประดับตกแต่งอัญมณีชั้นนำของโลกจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับกระแส โดยซื้ออัญมณีและโลหะมีค่าจากผู้ผลิตที่มีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า และจัดทำระบบรองรับการเปิดเผยแหล่งที่มาของสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทานไปจนถึงส่งมอบให้แก่ลูกค้าปลายทางให้ได้ มิฉะนั้น พ่อค้าไทยก็จะเสียโอกาส ลูกค้าจะหันไปซื้อสินค้าจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ แทน
นายสุเมธ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ภาครัฐฯ อาจต้องสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการไทยให้ซื้อขายสินค้าที่มีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า และเข้าระบบแสดงเอกสารการซื้อขายที่ชัดเจน โดยมอบสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ และในส่วนของ GIT นั้น จะได้เร่งสร้างการรับรู้และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการเข้าสู่ระบบการค้าด้วยจริยธรรมและความยั่งยืนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมฯ รวมถึงเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวต่อมาตรการต่างๆ ที่อาจกลายเป็นกำแพงการค้าได้ในอนาคต”
ภาพ: https://furtherafrica.com/2019/07/18/mwiriti-discovers-large-gold-deposit-in-northern-mozambique/