เศรษฐกิจฟื้นตัวเพิ่มอุปสงค์เครื่องประดับทองในไตรมาสที่ 2 ปี 2021
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกบวกกับบรรยากาศที่ดีขึ้นในตลาดช่วยกระตุ้นความต้องการเครื่องประดับทองในไตรมาสที่สองของปี 2021 หลังจากเผชิญความท้าทายจากโรคระบาด”
ตามข้อมูลจากรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำในไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) รายงานว่า อุปสงค์เครื่องประดับทองเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากช่วงเดียวกันของปี 2020 มาอยู่ที่ 390.7 ตัน โดยจีนและสหรัฐมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ที่มา: Gold Demand Trends Q2 2021, World Gold Council.
อย่างไรก็ตาม WGC เผยว่า แม้ว่าอุปสงค์เครื่องประดับทองจะมีการเติบโตแข็งแกร่งในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020 แต่เนื่องจากมีสถานการณ์ที่ไม่ปกติในปี 2020 ฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2019 ก็แสดงให้เห็นว่าความต้องการเครื่องประดับทองในไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 นั้นต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2019 ที่มีปริมาณความต้องการ 529.8 ตัน และปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 26
ขณะที่ความต้องการเครื่องประดับทองช่วงครึ่งปีแรกในปีนี้อยู่ที่ 873.7 ตัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 57 เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2020 ที่มีอุปสงค์เพียง 558.0 ตัน แต่เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2019 กลับลดลงร้อยละ 18 เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2019 มีความต้องการเครื่องประดับทองสูงถึง 1,065.0 ตัน
สำหรับตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับทองที่สำคัญของโลกก็คือ จีน อินเดีย และสหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศจีนที่ปรับตัวดีขึ้นช่วยกระตุ้นอุปสงค์เครื่องประดับทองในไตรมาสที่ 2 ให้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 147 ตัน นับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ด้วยอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 62 จากช่วงเดียวกันของปี 2020 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองของจีนในช่วงครึ่งปีแรกมาอยู่ที่ 338 ตัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.22 เท่า จากช่วงเดียวกันของปี 2020 สาเหตุหลักมาจากการเปรียบเทียบกับฐานเดิมที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและปัจจัยอื่นๆ ที่กระตุ้นการบริโภค โดยเครื่องประดับทองแบบดั้งเดิมยังคงดึงดูดความสนใจผู้บริโภคในตลาดจีน ขณะที่เครื่องประดับในเทรนด์ที่เรียกว่า ‘Guochao’ (国潮) อันเป็นกระแสแฟชั่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมจีนผสมผสานกับสไตล์ของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ในการออกแบบสินค้าต่างๆ รวมถึงเครื่องประดับที่สร้างสรรค์โดยแบรนด์เครื่องประดับในท้องถิ่น จนได้รับความนิยมในหมู่ผู้ซื้อหนุ่มสาวชาวจีนเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
แบรนด์ Chow Sang Sang
เครื่องประดับเทรนด์ Guochao
ที่มา: https://www.aliexpress.com และ https://www.sohu.com
ส่วนอินเดีย ความต้องการเครื่องประดับทองในไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 มาอยู่ที่ 55.1 ตัน จากช่วงเดียวกันของปี 2020 ที่มีความต้องการเพียง 44 ตัน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 กลับลดลงถึงร้อยละ 67 เนื่องจากตลาดเครื่องประดับอินเดียอยู่ในภาวะเงียบเหงา จากการหยุดชะงักอย่างรุนแรงของอุตสาหกรรมในอินเดียอันเนื่องจากการระบาดรอบที่ 2 ของ Covid-19 ส่งผลให้อุปสงค์เครื่องประดับทองในไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ปรับลดลงจากไตรมาสแรกของปีนี้ถึงร้อยละ 46
WGC ยังคงคาดว่าแนวโน้มจะมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบคละกันไปในช่วงที่เหลือของปี 2021 โดยอินเดียยังคงเผชิญภัยคุกคามจากการระบาดรอบที่ 3 และการปิดเมือง ประกอบกับผลกระทบที่ยาวนานจากการระบาดรอบที่ 2 ต่อรายได้และบรรยากาศทางเศรษฐกิจอาจส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับทองลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 นั้นมีวันมงคลสำหรับการแต่งงานอยู่ 13 วัน มากกว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 ที่มีเพียง 7 วัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันให้อุปสงค์เครื่องประดับทองในตลาดนี้อาจเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่สหรัฐฯ ก็เป็นตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับทองที่มีอุปสงค์เป็นอันดับต้นๆ ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยความต้องการสูงขึ้นถึง 1.03 เท่า เพิ่มเป็น 37.7 ตัน นับว่าเป็นตัวเลขสูงสุดสำหรับไตรมาสที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา อุปสงค์เครื่องประดับทองในสหรัฐฯ ได้รับแรงขับเคลื่อนจากบรรยากาศที่ดีขึ้นอันมีสาเหตุมาจากโครงการฉีดวัคซีน มาตรการส่งเสริมรายได้ของรัฐบาล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคสหรัฐฯ ยังคงเดินทางได้จำกัดจึงนำรายได้ไปใช้จ่ายกับสินค้าอย่างอื่นซึ่งรวมถึงเครื่องประดับทองที่ได้รับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้จ่ายด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ WGC คาดว่าความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกอาจอยู่ในช่วงระหว่าง 1,600 ตันถึง 1,800 ตันในปี 2021 สูงกว่าในช่วงปี 2020 ที่มีอุปสงค์เครื่องประดับทอง 1,401 ตัน แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2015-2019) ซึ่งอยู่ในภาวะปกติ ที่มีค่าเฉลี่ย 2,235 ตันต่อปี โดยอุปสงค์เครื่องประดับทองน่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกตลอดปีนี้ แต่การหยุดชะงักเนื่องจากการระบาดของ Covid-19 ในตลาดบางแห่งอย่างเช่นอินเดียก็อาจสร้างความท้าทายขึ้นมาได้ กอปรกับราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาในช่วงครึ่งปีหลังนี้อาจผลักดันให้ความต้องการเครื่องประดับทองลดต่ำลงก็เป็นได้
ข้อมูลอ้างอิง
2. “Gold Demand Trends Q2 2021.” Retrieved July 29, 2021 from World Gold Council. https://www.gold.org/goldhub/research/gold-demand-trends/gold-demand-trends-q2-2021
3. “China's gold consumption rebounds in H1 as macroeconomic policies support demand.” Retrieved August 23, 2021 from https://www.globaltimes.cn/page/202108/1230436.shtml.