โควิดส่งผลกระทบต่ออุปสงค์เครื่องประดับทองปี 2022
รายงานฉบับล่าสุดจาก World Gold Council (WGC) ที่มีชื่อว่า Gold Demand Trends Q1 2022 ระบุว่า ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2022 ลดลงร้อยละ 7 มาอยู่ที่ 474 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2021
“ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกลดต่ำลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 เนื่องจากราคาทองที่สูงและปัจจัยลบต่อเนื่องจากโควิด-19 ไปหักลบความต้องการที่เพิ่มขึ้นตลอดปี 2021”
ที่มา: Gold Demand Trends Q1 2022, World Gold Council
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ทองคำมีราคาสูง โดยราคาเฉลี่ยของทองคำรายไตรมาสของปีนี้อยู่ที่ 1,877.2 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ หรือสูงกว่าไตรมาสแรกของปี 2021 อยู่ราวร้อยละ 5 แต่การชะลอตัวของตลาดหลักอย่างจีนและอินเดียก็ส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับทองลดลงเช่นกัน โดยทั้งสองประเทศมีปริมาณการซื้อเครื่องประดับทองในไตรมาสแรกของปีนี้รวมกันอยู่ที่ร้อยละ 57 ของปริมาณอุปสงค์เครื่องประดับทองทั้งหมด
ขณะที่อุปสงค์เครื่องประดับทองของประเทศอื่นๆ ยังค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันออกกลางและยุโรป ที่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 18 และร้อยละ 14 ตามลำดับ ทั้งนี้หากไม่นับรวมจีนและอินเดีย ความต้องการเครื่องประดับทองยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2021
ผลประกอบการในตลาดจีนช่วงตรุษจีนปีนี้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2022 ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการปิดเมืองอย่างเข้มงวด จีนยังคงยึดนโยบายควบคุมการระบาดของโควิดให้เป็นศูนย์ (Zero-Covid Policy) ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองของจีนในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ลดลงร้อยละ 8 มาอยู่ที่ 178 ตัน
ในขณะเดียวกันอินเดียก็มีความต้องการเครื่องประดับทองลดลงถึงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2021 เหลือเพียง 94 ตัน เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ลดโอกาสในการจัดงานแต่งงานที่ช่วยกระตุ้นการซื้อทองคำช่วงไตรมาสแรกปีนี้ นอกจากนี้ราคาทองคำก็สูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอินเดียจำนวนมากชะลอการซื้อเครื่องประดับทอง
โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับทองยังคงยืดหยุ่นรับสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี โดยมีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 4 จากไตรมาสแรกของปี 2021 มาอยู่ที่ 518 ตัน ด้วยเหตุนี้จึงมีการสะสมสินค้าคงคลังในตลาดเพิ่มมากขึ้นระหว่างไตรมาสแรกปีนี้ เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้
ที่มา: Gold Demand Trends Q1 2022, World Gold Council
ทั้งนี้ WGC เผยว่า อุปสงค์เครื่องประดับทองในตลาดส่วนใหญ่ยังคงไม่กลับมาถึงระดับปกติก่อนโควิด เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณความต้องการในช่วงปี 2019 จะพบว่าความต้องการในไตรมาสแรกปีนี้ยังคงต่ำกว่าไตรมาสแรกของปี 2019 โดยเฉพาะในอินเดีย จีน ฮ่องกง ตุรกี และหลายตลาดในเอเชีย อาทิเช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ด้วยความต้องการซื้อในตลาดยังคงไม่กลับสู่สภาพปกติ หลังความตื่นตระหนกจากโรคระบาด และราคาทองที่สูงขึ้นตามมาก็น่าจะชะลอการฟื้นตัวของอุปสงค์เครื่องประดับทองในปีนี้ตามไปด้วย
ผู้เขียน: นางสาวกวินิตา กฤตาภาสกรวงค์
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ข้อมูลอ้างอิง
2) JNA. 2022. Covid disrupts gold jewellery demand gains. [Online]. Available at: https://news.jewellerynet.com/en/jnanews/news/24689. (Retrieved May 11, 2022)