อุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกช่วยกระตุ้นธุรกิจเครื่องประดับทองของอินเดีย
ในปีที่ผ่านมาอินเดียเป็นประเทศผู้บริโภคที่มีการซื้อเครื่องประดับทองเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยสัดส่วนร้อยละ 27 ของอุปสงค์เครื่องประดับทองทั่วโลก จากเดิมที่เคยเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ซึ่งลดการบริโภคลงจากสถานการณ์โควิด-19 เหลือสัดส่วนราวร้อยละ 26 ในปี 2022 ตามข้อมูลจากรายงานวิจัยของ World Gold Council (WGC) ที่เพิ่งเผยแพร่เรื่อง Gold Demand Trend : Full Year and Q4 2022 โดยการแต่งงานและเทศกาลต่างๆ เป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอุปสงค์เครื่องประดับทองในอินเดีย เฉพาะเครื่องประดับแต่งงานอย่างเดียวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 - 55 ของส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด
อุปสงค์เครื่องประดับทองทั่วโลกในปี 2022
ที่มา: Gold Demand Trend : Full Year and Q4 2022, World Gold Council
รูปแบบเครื่องประดับทองที่นิยมในตลาดอินเดียคือ เครื่องประดับทองเกลี้ยงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 - 85 ของส่วนแบ่งตลาด โดยส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับทอง 22 กะรัต ขณะที่ตลาดเครื่องประดับทอง 18 กะรัตก็กำลังเติบโตขึ้นเช่นกัน
งานวิจัยของ World Gold Council ระบุว่า แม้เครื่องประดับทองจะยังคงเป็นที่ต้องการสูงในอินเดีย แต่ผู้ส่งออกก็จำเป็นต้องขยายกิจการไปสู่ตลาดโลกเพื่อเสริมสร้างการเติบโตและความมั่นคงในระยะยาว โดยการส่งออกเครื่องประดับทองของอินเดียกว่าร้อยละ 80 เป็นการส่งออกไปยังตลาดปลายทางเพียง 5 แห่ง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร ซึ่งในอนาคตข้างหน้าผู้ส่งออกเครื่องประดับทองของอินเดียยังคงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตลาดใหม่ๆ เพื่อขยายการส่งออกเครื่องประดับทอง
สำหรับมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับทองของอินเดียก็สูงขึ้นมาก โดยเติบโตจาก 7,600 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 เป็น 12,400 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2019 ก่อนเกิดโรคระบาด แม้ว่าช่วงสถานการณ์โควิดจะมีมูลค่าส่งออกลดลงเหลือเพียง 9,200 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 แต่อินเดียก็ยังคงเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับทองเป็นอันดับที่ 3 ของโลกด้วยสัดส่วนร้อยละ 10 รองจากจีน และสวิตเซอร์แลนด์ที่มีส่วนแบ่งตลาดราวร้อยละ 16 และ 13 ตามลำดับ ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับทองในอันดับที่ 13 ของโลกในสัดส่วนกว่าร้อยละ 2 ในปี 2022
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้อินเดียมีการส่งออกเครื่องประดับทองไปยังสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 33 ใกล้เคียงกับตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของอินเดียอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งแนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นปัจจัย 2 ประการด้วยกัน ประการแรก การเรียกเก็บอัตราศุลกากรพิเศษสำหรับเครื่องประดับจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ผู้ส่งออกอินเดียมีความได้เปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และประการที่สอง การเรียกเก็บอากรขาเข้าร้อยละ 5 ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2017 และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 5 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2018 ล้วนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกเครื่องประดับไปยังตลาดนี้
นอกจากนี้ ภาคส่งออกของอินเดียยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากข้อเสนอที่ภาครัฐช่วยให้มีการชำระเงินล่วงหน้าแก่ผู้จัดหาโลหะมีค่าจากต่างประเทศ ตลอดจนการก่อตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกร่วม (Common Facility Centre หรือ CFC) ขนาดใหญ่ที่เขตอุตสาหกรรม Santacruz Electronics Export Processing Zone (SEEPZ) ในมุมไบและสุรัต
ฉะนั้น ในระยะยาวความต้องการเครื่องประดับทองในอินเดียจะได้รับแรงผลักดันจากพัฒนาการต่างๆ ในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเติบโตของรายได้ และการกระจายความมั่งคั่ง ตลอดจนอัตราการขยายตัวของเขตเมือง ขณะเดียวกันผู้ส่งออกของอินเดียยังคงมีแนวทางขยายการส่งออกเครื่องประดับทองไปยังตลาดใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งผู้ส่งออกเครื่องประดับทองไทยควรต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อรุกชิงส่วนแบ่งตลาดส่งออกในประเทศที่มีศักยภาพใหม่ๆ ก่อนที่คู่แข่งอย่างอินเดียจะครองตลาดเสียก่อน
จัดทำโดยนางสาวกวินิตา กฤตาภาสกรวงค์
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กุมภาพันธ์ 2566
ข้อมูลอ้างอิง
2) JNA. 2023. New markets to boost India’s gold jewellery sector. [Online]. Available at https://news.jewellerynet.com/en/jnanews/news/25019/013023-New-markets-to-boost-Indias-gold-jewellery-sector-says-WGC.
3) Global Trade Atlas. 2023. [Online]. Available at https://my.ihs.com.