ข้อตกลงอินเดีย-เอฟต้า ช่วยเพิ่มยอดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดีย

Apr 17, 2024
547 views
0 share

        อินเดียได้บรรลุข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศเอฟต้า (European Free Trade Association: EFTA) ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และลิกเตนสไตน์ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี หลังจากมีการเจรจากันมานานกว่า 16 ปี โดยรัฐสภากลุ่มประเทศเอฟต้าจะทยอยให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงการค้าดังกล่าวได้โดยเร็วที่สุดไม่เกินปี 2568 


https://gjepc.org/

สาระสำคัญของความตกลงคือ อินเดียยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าให้กลุ่มเอฟต้าราว 82% ของรายการสินค้าที่นำเข้าจากกลุ่มเอฟต้าทั้งหมด ส่วนเอฟต้ายกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าให้อินเดียราว 92% ของการนำเข้าสินค้าจากอินเดียทั้งหมด (คิดเป็น 99% ของการส่งออกจากอินเดียไปยังกลุ่มเอฟต้า) รวมถึงยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้อินเดียด้วย 

นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงฉบับนี้ยังมีข้อผูกมัดการลงทุน ซึ่งกลุ่มเอฟต้าจะลงทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.6 ล้านล้านบาท) ในอินเดียตลอดระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า พร้อมกับสร้างงานโดยตรง 1 ล้านตำแหน่งในอินเดียผ่านการลงทุนดังกล่าว ทั้งนี้ The Gem and Jewellery Export Promotion Council (GJEPC) คาดว่าความตกลงฉบับนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังกลุ่มเอฟต้าจากปัจจุบันที่มีมูลค่า 335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปัจจุบันอินเดียมีส่วนแบ่งตลาด 2.7% ของการนำเข้าของเอฟต้าทั้งหมดจากตลาดโลก) เพิ่มเป็น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้านี้

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของ World Tariff พบว่า อัตราภาษีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับพิกัด 71 ของนอร์เวย์ และ ลิกเตนสไตน์ มีอัตราภาษีนำเข้าเป็น 0 อยู่แล้ว ส่วนไอซ์แลนด์มีอัตราภาษีเป็น 0 ทุกรายการยกเว้นพิกัด 7113 – 7116 ที่เก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 0 – 4% ส่วนสวิตเซอร์แลนด์มีภาษีนำเข้าตั้งแต่ 8 – 1,599  ฟรังก์สวิสต่อการนำเข้าสินค้า 100 กิโลกรัม และจากสถิติกรมศุลกากรไทย พบว่า ในปี 2566 ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังสวิตเซอร์แลนด์สูงที่สุดด้วยสัดส่วน 22.58% ของการส่งออกไปยังตลาดโลกทั้งหมด ส่วนการส่งออกไปยังลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ มีสัดส่วน 0.41%, 0.31% และ 0.04% ตามลำดับ 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าไทยส่งออกไปยังลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ น้อยมาก จึงไม่ได้รับผลกระทบจากความตกลงฉบับนี้ในกลุ่มประเทศดังกล่าว แต่อินเดียจะได้เปรียบในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย ที่จะทำให้ต้นทุนสินค้าของอินเดียในตลาดดังกล่าวต่ำกว่าไทย เพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า 


ภาพ: www.purejewels.com

        อย่างไรก็ดี เนื่องจากอินเดียเป็นคู่ค้าหลักของไทยด้วย การขยายการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียไปยังเอฟต้าได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าวัตถุดิบ เช่น พลอยสี เพชร และโลหะเงิน ไปยังอินเดียเพื่อแปรรูปเป็นเครื่องประดับส่งออกไปยังกลุ่มเอฟต้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนจากกลุ่มเอฟต้าที่เพิ่มขึ้นในอินเดีย จะช่วยสร้างงาน และทำให้ชาวอินเดียมีรายได้มากขึ้น ก็จะช่วยเสริมความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้นด้วย


จัดทำโดย นางสาววาสนา สมเนตร์

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 เมษายน 2567