ราคาทองคำท่ามกลางความร้อนแรงในสงครามการค้า
การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ในการใช้มาตรการภาษีมาตอบโต้ประเทศคู่ค้าโดยมีภาษีพื้นฐานที่ 10% และสูงขึ้นตามแต่ละประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ดังเช่น จีน ในอัตรา 34% และสหภาพยุโรป 20% ทว่าหลายประเทศ เช่น จีนที่มีการใช้มาตรการทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษีตอบโต้กลับ ทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้คำสั่งพิเศษ บวกภาษีเพิ่มเติมกับสินค้านำเข้าจากจีนขึ้นอีกเป็น 104% จากเดิม (20%+34%+50%) เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 9 เมษายน 2568
ท่ามกลางการตอบโต้ทางการค้าดังกล่าว หลังการประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์ ผลักดันให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นทันที นับตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าหลังการเกิดโควิด-19 สู่ความซบเซาทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทาง
ภูมิรัฐศาสตร์ ราคาทองคำได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย กลายเป็นสินทรัพย์สำคัญที่นักลงทุนต้องมีไว้ในพอร์ตการลงทุน โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 เป็นต้นมา ราคาทองคำได้ทำสถิติสูงสุดหลายครั้ง ภายหลังจากการตอบโต้ทางภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งสหภาพยุโรป นำมาสู่การระงับขึ้นภาษี 90 วัน ให้ 75 ประเทศที่ไม่ตอบโต้ โดยคิดในอัตรา 10% เท่ากัน ยกเว้นจีนคิดในอัตรา 145% และแคนาดากับเม็กซิโก คิดในอัตรา 25% แต่จากเหตุดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบวิกฤตพันธบัตรสหรัฐฯ ถูกเทขายอย่างรุนแรง
ทั้งยังส่งผลให้ราคาทองคำทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดอีกครั้งที่ 3,220 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในวันที่ 11 เมษายน 2568 ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 16 เมษายน ราคาทองพุ่งสูงขึ้นทะลุ 3,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์แล้ว
ภาพกราฟราคาทองคำ ณ วันที่ 17 เมษายน 2568 จาก https://www.intergold.co.th/
ทั้งนี้ หลังการตอบโต้ของสงครามการค้าดังกล่าว Goldman Sachs ปรับคาดการณ์ราคาทองคำปีนี้เพิ่มขึ้นจากเดิม มาอยู่ที่ระดับ 3,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยแรงหนุนหลักมาจากปัจจัยด้านความขัดแย้งทางสงครามการค้าที่ขยายวงกว้าง รวมทั้งธนาคารกลางทั่วโลกยังซื้อทองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (คาดว่า ณ สิ้นปี จะมีจำนวนมากกว่า 1,000 ตัน) และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนนักวิเคราะห์จาก UBS คาดการณ์ว่าราคาทองคำจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ภายในปีนี้
ขณะที่นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมผู้ค้าทองคำ ให้ความเห็นว่า ราคาทองในระยะสั้นจะผันผวน แต่ระยะกลาง และระยะยาวยังเป็นขาขึ้น เพราะมีปัจจัยหนุนจากสงครามการค้า รวมทั้งสงครามระหว่างรัสเซีย ยูเครน ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง รวมทั้งสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ อีกทั้งยังได้กล่าวถึงเป้าหมายราคาทองของโลกและไทยว่า ในปีนี้อาจมีโอกาสที่จะถึง 3,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาทองไทยคาดว่าจะแตะระดับ 55,000 บาท
จากสถานการณ์ดังกล่าวนั้น กระตุ้นให้ผู้บริโภคขายคืนทองเก่าที่ถือครองอยู่เพื่อทำกำไรระยสั้นเพิ่มขึ้น
อีกทั้งต้องใช้จ่ายเงินสูงขึ้นในการบริโภคเครื่องประดับทองคำ จึงมีผู้บริโภคบางส่วนอาจเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสู่การบริโภคเครื่องประดับทองที่น้ำหนักน้อยลง หรือทองที่มีค่าความบริสุทธิ์ลดลง เช่น ทอง 18K โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ขณะที่บางส่วนยังมองเครื่องประดับเป็นการลงทุนจะยังคงซื้อเพื่อสวมใส่และสะสมมูลค่า
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรขยายรูปแบบผลิตภัณฑ์ไปยังแบบที่มีน้ำหนักทองลดลง เน้นมูลค่าด้วยดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์หรือพัฒนาแบรนด์ให้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ การใช้ทองคำรีไซเคิลและโปรโมทในด้านความยั่งยืน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนและลดระยะเวลาการผลิตร่วมด้วย ขณะที่ผู้เก็งกำไรควรศึกษาให้รอบคอบเพราะราคาทองคำยังมีความผันผวนสูงและมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาก่อนการลงทุน
จัดทำโดย นายพุทธิพร วิชัยดิษฐ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เมษายน 2568