ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

Eco-Friendly Jewelry...ทางเลือกใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

Dec 29, 2020
4911 views
2 shares

        สินค้าแฟชั่นรักษ์โลกอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป โดยรวมหมายถึงสินค้าแฟชั่นที่คำนึงถึงกระบวนการผลิตสินค้าครบวงจรตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบจนถึงปัจจัยแวดล้อมที่จะได้รับผลกระทบจากการผลิต รวมถึงประเด็นของการใช้แรงงานในกระบวนการผลิตอย่างเป็นธรรม ในปัจจุบันปัจจัยหลักของกระบวนการผลิตสินค้าและการแสวงหาวัตถุดิบที่ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าแฟชั่นรักษ์โลกให้ความสำคัญมี 5 ประการดังนี้

        1. การใช้น้ำในกระบวนการผลิต ต้องมีการผลิตที่ก่อให้เกิดน้ำเสียจากกระบวนการผลิตในปริมาณที่ต่ำ

        2. การใช้สารเคมีอันตรายในการผลิต ผู้ประกอบการจะเลือกผู้ผลิตที่มีความสามารถในการบริหารจัดการกับสารเคมีเหล่านี้หรือใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีอันตราย

        3. อายุการใช้งาน ต้องเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีคุณภาพสูง ทนทาน การออกแบบควรเรียบง่าย ใช้งานได้หลากหลาย เพื่อลดการสร้างขยะและทำให้สินค้ามีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

        4. การจัดการขยะ เลือกใช้วัตถุดิบประเภทนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse, Repurpose, Recycle) มาใช้ในกระบวนการผลิต

        5. วัตถุดิบจากธรรมชาติ เลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติหรือเกษตรอินทรีย์เป็นวัตถุดิบในการผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรและการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม

        สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนั้น ปัจจัยหลักของกระบวนการผลิตสินค้าฯ ได้แก่  การเลือกใช้วัตถุดิบประเภทนำกลับมาใช้ใหม่ และเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ

        จากการศึกษาของ Global Web Index พบว่าคนทั่วโลกเกือบ 80% จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคนรุ่น Millennials (อายุ 22-35 ปี) มีแนวโน้มมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ โดยในประเทศสหรัฐฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้บริโภคสหรัฐฯ เปลี่ยนไปใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากผลสำรวจในปี 2561 พบว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ใช้จ่ายกว่า 128.5 ดอลลาร์สหรัฐ เกี่ยวกับสินค้าที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกว่า 75% เป็นกลุ่ม Millennials รองลงมาคือกลุ่ม Baby Boomers นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์จาก Nielsen บริษัทที่ให้บริการข้อมูลและการวัดผลระดับโลก ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของกลุ่มสินค้ายั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะสามารถขยับจาก 22% ในระหว่างปี 2557 ถึง 2560 ขึ้นไปแตะที่ 25% ได้ในปี 2564 โดยสินค้าในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 4 คิดเป็น 48% สินค้าที่ได้รับความนิยมในอันดับที่ 1-3 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน เครื่องสำอาง และอาหาร ตามลำดับ

        นอกจากสหรัฐฯ แล้ว สหราชอาณาจักรก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประชาชนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยองค์กรวิจัยการตลาดชั้นนำ Mintel พบว่า ในปี 2562 ปริมาณการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นถึง 71% และนิยมซื้อเครื่องประดับที่มาจากการรีไซเคิลเพิ่มมากขึ้น 

        กระแสความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการค้าที่เป็นธรรมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเลือกซื้อสินค้าของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก จนทำให้หลายอุตสาหกรรมปรับตัวมุ่งไปสู่แนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับด้วย ซึ่งนอกจากคุณภาพ คุณค่า รูปแบบสินค้า ความไว้วางใจ และความภักดีต่อแบรนด์แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้ออัญมณีและเครื่องประดับยังรวมไปถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม การให้ความสำคัญต่อชุมชนและการจัดหาสินค้าอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมด้วย

        จากความนิยมสินค้ารักษ์โลกที่มีมากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับเริ่มหันมาผลิตเครื่องประดับที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยการนำวัสดุต่างๆ มารีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการสกัดทองคำจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานไม่ได้แล้ว เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และแผงวงจร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเครื่องประดับที่มาจากการนำเศษทอง โลหะมีค่าหรือเงิน กลับมารีไซเคิลและทำเป็นเครื่องประดับใหม่ แม้กระทั่งวัสดุสิ้นเปลืองอย่าง กระดาษ หรือเศษจานที่แตกแล้ว

        ตัวอย่างเช่น แบรนด์ Emma Aitchison ในประเทศสหราชอาณาจักรที่มีการนำทองและเงินกลับมารีไซเคิลทำเป็นเครื่องประดับชิ้นใหม่ หรือแบรนด์ Nowa Waste ที่สกัดเศษทองจากโทรศัพท์เครื่องเก่าที่ใช้งานไม่ได้แล้วมาทำเครื่องประดับ สำหรับประเทศไทยเองก็เริ่มมีหลายแบรนด์ที่ทำเครื่องประดับที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่น Nympheart ผลิตเครื่องประดับที่มีจุดขายจากการใช้เศษไม้เหลือใช้ผสม Epoxy สีใส ทำสร้อยและแหวน หรือ แบรนด์ P9 Bangkok ที่คำนึงถึงการรักษาทรัพยากรโดยนำวัสดุเหลือใช้ วัสดุที่ไม่ผ่านมาตรฐานจากโรงงานมาทำเครื่องประดับที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก เช่น เศษชามตราไก่จากจังหวัดลำปาง ที่เคยเป็นขยะเหลือทิ้งมาต่อยอดเป็นชิ้นงานเครื่องประดับ เป็นต้น

        นอกจากผู้ประกอบการจะผลิตสินค้าตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกของกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่แล้ว ยังต้องใส่ใจใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ ไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หรือวัสดุรีไซเคิล และไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ทำให้ขายสินค้าได้ง่ายและดียิ่งขึ้น นับเป็นการกระตุ้นยอดขายอีกทางหนึ่ง

เครื่องประดับที่สกัดเศษทองจากโทรศัพท์เครื่องเก่าที่ใช้งานไม่ได้แล้ว

ที่มา : Nowa Waste