ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

เทคโนโลยีเร่งเสริมศักยภาพธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ

Dec 13, 2022
1743 views
0 share

            ความท้าทายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้กระตุ้นจิตสำนึกของผู้บริโภคเครื่องประดับยุคใหม่ให้หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง ยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น การติดตามข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้า รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ตลอดจนเร่งให้เกิดการใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มทางดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในหลายภาคส่วน 

            ตามข้อมูลจากรายงานของ McKinsey & Co. ยอดขายเครื่องประดับทางออนไลน์จะมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 18-21 ของยอดขายเครื่องประดับทั่วโลกภายในปี 2025 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ในปี 2019 นับเป็นการส่งสัญญาณว่าธุรกิจนี้หันมาเน้นอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้น แนวโน้มนี้แสดงให้เห็นว่ากิจการต่างๆ จะต้องหาช่องทางการตลาดแบบดิจิทัลที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัยโดยเฉพาะเทคโนโลยีเสมือนจริง (Reality Technology) การแสดงสินค้าในรูปแบบสามมิติ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมและในภาคธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีส่วนช่วยให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

เทคโนโลยีเสมือนจริงคืออะไร?

            ด้วยสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีหลากมิติ เพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริงที่จะสามารถนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ จึงทำให้เทคโนโลยีเสมือนจริงถูกนำมาใช้โดยการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงผ่านการรับรู้จากการมองเห็น เสียง สัมผัส หรือแม้กระทั่งกลิ่น ซึ่งจากข้อมูลคาดการณ์ล่าสุดของบริษัท International Data Corporation (IDC) เผยว่า สัดส่วนการลงทุนในตลาดเทคโนโลยีเสมือนจริงทั่วโลกในปี 2021 มีมูลค่าถึง 14,670 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 74,730 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2026 โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้นจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38.5 ในช่วงปี 2022-2026

            “เทคโนโลยีเสมือนจริง” (Reality Technology: RT) สามารถนำเอามาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ตามประโยชน์การใช้งานที่แตกต่างกัน โดยนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรม/กิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีเสมือนจริงที่ทุกคนต่างคุ้นเคยกันดี คือ Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR), Mixed Reality (MR) และ Extended Reality (XR) ซึ่งเทคโนโลยีเสมือนจริงแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันดังนี้

            Augmented Reality (AR) เป็นเทคโนโลยีที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงเข้าด้วยกัน นำเสนอผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง มือถือ คอมพิวเตอร์ โดยใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ถ่ายทอดออกมาเป็นโลกเสมือนจริงในรูปแบบสามมิติ เพื่อให้สามารถสัมผัสโลกเสมือนจริงได้อย่างน่าดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตรวดเร็วกว่าเทคโนโลยีเสมือนจริงตัวอื่น เพราะสามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนทั่วไป

            Virtual Reality (VR) เป็นเทคโนโลยีที่สร้างจากโลกเสมือนจริง โดยที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับโลกเสมือนจริงนี้ผ่านการจำลองสถานการณ์โดยสวมใส่อุปกรณ์ ซึ่ง VR นี้ช่วยเป็นการเปลี่ยนการรับรู้แบบเดิมๆ หรือเปลี่ยนเรื่องที่เข้าใจยากให้ง่ายขึ้นผ่านเหตุการณ์เสมือนจริง โดยปัจจุบันนิยมนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจที่หลากหลาย เช่น ทางการแพทย์ใช้เพื่อศึกษาและลงมือปฎิบัติได้เสมือนจริง สำหรับเตรียมตัวในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางอุตสาหกรรมใช้เสริมสร้างความชำนาญ ลดโอกาสการสูญเสีย โดยการให้พนักงานฝึกฝนจากการจำลองสถานการณ์เสมือนจริง เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์จริงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

            Mixed Reality (MR) เป็นเทคโนโลยีที่สร้างบางสิ่งขึ้นมาเชื่อมโยงไปกับโลกจริง โดยการนำเอา เทคโนโลยี AR และ VR ผสานเข้าด้วยกัน เหมือนเป็นการนำเอาโลกเสมือนจริง และโลกแห่งความเป็นจริงมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว เสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ล้ำหน้าขึ้นไปอีกขั้น โดยที่ผู้ใช้ต้องสวมใส่อุปกรณ์ holographic computing devices ซึ่งเป็นอุปกรณ์พิเศษเฉพาะ โดยจะแสดงออกมาเป็นภาพ Hologram ที่เสมือนจริง ให้ผู้ใช้สามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้โดยอิสระ จุดเด่น คือ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างสมจริงยิ่งขึ้น สามารถหยิบจับ ปรับเปลี่ยนได้ดังใจ

            Extended Reality หรือ XR เป็นเทคโนโลยีเสมือนจริงผสมไปยังโลกจริงหลายมิติเข้าด้วยกัน โดยนำเอาเทคโนโลยี AR, VR และ MR ผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการต่อยอดโดยทำให้เกิดโลกเสมือนจริงที่มีอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ปัจจุบันนี้ XR ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ในธุรกิจด้านต่างๆ ในอนาคต

            “เทคโนโลยี AR ทำให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ลองเครื่องประดับแบบเรียลไทม์ราวกับว่าลูกค้าอยู่ในร้านเครื่องประดับ ซึ่งช่วยสร้างยอดขายเครื่องประดับทางออนไลน์ให้เติบโตมากขึ้น”

            ทั้งนี้ ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับต้องสร้างประสบการณ์การชอปปิงให้ตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น เพราะด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้การซื้อสินค้าทางออนไลน์ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่อาจเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่หลายๆ คนจะซื้อสินค้าได้ แบรนด์เครื่องประดับต่างๆ จึงเริ่มนำเทคโนโลยีการลองสินค้าผ่าน AR มารวมอยู่ในกลยุทธ์ทางการตลาดของตน ซึ่งช่วยให้ผู้ซื้อได้รู้จักผลิตภัณฑ์มากขึ้น สามารถสำรวจตรวจสอบหรือทดลองใส่สินค้าโดยไม่ต้องเดินทางมาที่ร้านเครื่องประดับ และช่วยให้สามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกขึ้น

AR เปลี่ยนโฉมธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับ

            แม้ว่าผู้คนจะคุ้นเคยกับการซื้อเครื่องประดับทางออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เมื่อสองสามปีก่อน การเลือกเครื่องประดับเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนเฉพาะตัวอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อแหวนหมั้น การซื้อสร้อยคอให้ลูกสาวช่วงวัยรุ่น หรือการมอบเครื่องประดับเป็นของขวัญเลอค่าให้แก่บุคคลผู้เป็นที่รัก เนื่องจากเครื่องประดับเป็นสินค้าที่มีราคาสูง อีกทั้งการได้เห็นว่าเครื่องประดับมีรูปลักษณ์จริงๆ เป็นอย่างไรก็ยังคงมีความสำคัญ ผู้คนจึงลังเลที่จะซื้อเครื่องประดับแท้ที่มีราคาสูงผ่านทางออนไลน์ แต่เทคโนโลยี AR ได้มาปฏิวัติการขายเครื่องประดับทางอินเทอร์เน็ต AR ช่วยมอบโอกาสให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ของการลองเครื่องประดับแบบเรียลไทม์ราวกับว่าลูกค้าอยู่ในร้านเครื่องประดับ

            ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนผู้ใช้เทคโนโลยี AR ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั่วโลกจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านคนภายในปี 2024 ตามข้อมูลจาก ThinkMobiles โดยลูกค้าร้อยละ 63 มั่นใจว่า AR จะช่วยปรับปรุงประสบการณ์ในการชอปปิง ขณะที่ร้อยละ 35 ระบุว่าตนเองมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้นหากสามารถทดลองสินค้าแบบเสมือนก่อนตัดสินใจซื้อ

            ไม่เพียงแต่ลูกค้าจะได้ประโยชน์จากร้านเครื่องประดับทางออนไลน์ที่ใช้เทคโนโลยี AR แต่แบรนด์เครื่องประดับเองก็ได้รับประโยชน์จากการนำแอปพลิเคชันที่มีเทคโนโลยีการลองสินค้าผ่าน AR มาใช้ในกลยุทธ์ทางการตลาด ดังนี้

  • ช่วยเพิ่มคุณภาพในการสื่อสารโต้ตอบกับผู้บริโภค AR ช่วยให้ผู้ซื้อได้ลองเครื่องประดับและตัดสินใจซื้อได้เร็วยิ่งขึ้น แอปพลิเคชันที่มีเทคโนโลยีการลองสินค้าผ่าน AR มีแนวโน้มที่จะชักจูงให้ลูกค้าซื้อสินค้าได้มากกว่า บทความจาก Business Wire เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ผู้รับการสำรวจร้อยละ 72 ซื้อสินค้าที่ตนเองไม่ได้วางแผนมาก่อนด้วยอิทธิพลจากเทคโนโลยี AR
  • อัตราการเปลี่ยนเป็นลูกค้าจริงสูงกว่า ตามข้อมูลจาก Deloitte Digital แบรนด์ที่นำเสนอประสบการณ์ AR แบบเฉพาะตัวมีแนวโน้มที่ลูกค้าจะเข้ามาดูสินค้ามากกว่าคิดเป็นร้อยละ 41 โดยผู้บริโภคเกือบสามในสี่นั้นยินดีจ่ายเงินเพิ่มให้สินค้าที่สามารถสำรวจและลองใส่ผ่านเทคโนโลยี AR ได้
  • การประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ง่ายยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องพิมพ์แคตตาล็อกทุกครั้งที่แบรนด์เครื่องประดับปล่อยคอลเลกชันใหม่ แค่เพิ่มแคตตาล็อกเครื่องประดับที่ใช้เทคโนโลยี AR เสมือนจริงแบบสามมิติเข้าไปในแอปพลิเคชัน ผู้ซื้อก็สามารถลองชิ้นงานใหม่ๆ และตรวจสอบราคาได้ทุกเวลา
  • ผสานการชอปปิงกับกิจกรรมทางสังคม การซื้อเครื่องประดับเป็นกระบวนการที่ลูกค้าต้องดำเนินการอย่างจริงจังหลายขั้นตอน ซึ่งอาจรวมถึงการขอคำแนะนำจากเพื่อนๆ เปรียบเทียบราคา รวมถึงอ่านรีวิวต่างๆ เมื่อใช้แอปพลิเคชันที่มีเทคโนโลยี AR ผู้ซื้อจะสามารถแชร์ภาพเครื่องประดับให้คนอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย

 

ที่มาภาพ: https://postindustria.com/ และ https://www.diamondhedge.com/ 

            ปัจจุบันบรรดาแบรนด์ดังในธุรกิจเครื่องประดับอย่างเช่น Tiffany & Co และ Pandora รวมถึงผู้ขายเครื่องประดับอิสระหลายราย อาทิ James Allen ผู้ขายเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงในสหรัฐ ตลอดจนแหล่งซื้อขายเครื่องประดับอิสระอย่าง Diamond Hedge เป็นต้น ต่างเพิ่มเทคโนโลยีการลองสินค้าแบบเสมือนจริงผ่าน AR เข้าไปในเว็บไซต์ของตน และสามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชันด้วย ซึ่งช่วยให้ผู้ซื้อเลือกอัญมณีและตัวเรือนโลหะจากตัวเลือกที่มีอยู่ ปรับแต่งแหวนหรือเครื่องประดับ และทดลองใส่แบบเสมือนจริงได้ตามที่ต้องการ

            นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์จำลองโลกเสมือนจริงผ่าน AR ทางเว็บไซต์อย่างแพร่หลายในธุรกิจแฟชั่นและเครื่องประดับ เช่น บูติกแบบเสมือนจริงของแบรนด์ Piaget ซึ่งจำหน่ายเครื่องประดับและนาฬิกาหรู เมื่อเข้าไปในบูติกนี้ก็จะเลือกดูผลิตภัณฑ์ได้หลายร้อยรายการ ชมภาพผลิตภัณฑ์แบบสามมิติ หรือดูผลิตภัณฑ์จากมุมมองต่างๆ กัน ซึ่งเทคโนโลยีลักษณะเดียวกันนี้แบรนด์ Tiffany & Co ยังนำไปใช้ในการจัดแสดงนิทรรศการ “Vision & Virtuosity” ที่ Saatchi Gallery ในลอนดอน แสดงเครื่องประดับล้ำค่ากว่า 400 ชิ้นงานที่สร้างประสบการณ์ผ่านเทคโนโลยี AR ซึ่งสามารถดูผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วย รวมถึงยังมีอีกหลายหลายแบรนด์ที่จัดแสดงนิทรรศการเครื่องประดับด้วยเทคโนโลยีนี้เช่นกัน

 

 


นิทรรศการ “Vision & Virtuosity” ของแบรนด์ Tiffany & Co

            เทคโนโลยีเสมือนจริง โดยเฉพาะ AR กำลังกลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ผู้ขายเครื่องประดับและแบรนด์ต่างๆ เร่งสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดเสริมศักยภาพด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสานโลกจริงกับโลกเสมือนพร้อมก้าวเข้าสู่โลกเมตาเวิร์ส เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและส่งมอบประสบการณ์อันโดดเด่นให้แก่ลูกค้า รวมทั้งผนวกเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เชื่อมโยงกับอัญมณีที่ผ่านการจัดหาอย่างยั่งยืน เพื่อนำเสนอความสามารถในการติดตามแหล่งที่มาและความโปร่งใสในเส้นทางจากเหมืองสู่ตลาดให้แก่ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากยิ่งขึ้นในปัจจุบันอีกด้วย



จัดทำโดย นางสาวกวินิตา กฤตาภาสกรวงค์

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ธันวาคม 2565


ข้อมูลอ้างอิง


1) Postindustria. 2022. Why You Should Consider AR Try-on for Jewelry Retail in 2022. [Online]. Available at: https://postindustria.com/why-you-should-consider-ar-try-on-for-jewelry-retail-in-2022-jewelry-tryon/.
2) Postindustria. 2022. How to Reduce Returns in Jewelry E-commerce with Disruptive Technologies. [Online]. Available at: https://postindustria.com/how-to-reduce-returns-in-jewelry-e-commerce-with-disruptive-technologies-ar-commerce/.
3) JNA. 2022. Gem and jewellery solutions and innovations. [Online]. Available at: https://news.jewellerynet.com/en/jnanews/features/24705
4) Retailwit. 2022. Tiffany & Co.’s ‘Vision & Virtuosity,’ Featuring AR Try-On Tech, Debuts at Saatchi London. [Online]. Available at: https://retailwit.com/tiffany-co-s-vision-virtuosity-featuring-ar-try-on-tech-debuts-at-saatchi-london/
5) CR. 2022. Tiffany Presents Vision and Virtuosity Exhibition at Saatchi Gallery in LONDON. [Online]. Available at: https://crfashionbook.com/tiffany-presents-vision-and-virtuosity-exhibition-at-saatchi-gallery/.
6) McKinsey & Company. 2021. State of Fashion: Watches and Jewellery. [Online]. Available at: https://www.mckinsey.com/industries/retail/our-insights/state-of-fashion-watches-and-jewellery.
7) Techsauce. 2000. AR VR MR XR คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร ปูพื้นฐานก่อนเข้าสู่โลก Metaverse. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://techsauce.co/metaverse/what-is-the-difference-ar-vr-mr-xr.

เอกสารแนบ


ความคิดเห็น


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

เทคโนโลยีเร่งเสริมศักยภาพธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ

Dec 13, 2022
1743 views
0 share

            ความท้าทายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้กระตุ้นจิตสำนึกของผู้บริโภคเครื่องประดับยุคใหม่ให้หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง ยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น การติดตามข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้า รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ตลอดจนเร่งให้เกิดการใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มทางดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในหลายภาคส่วน 

            ตามข้อมูลจากรายงานของ McKinsey & Co. ยอดขายเครื่องประดับทางออนไลน์จะมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 18-21 ของยอดขายเครื่องประดับทั่วโลกภายในปี 2025 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ในปี 2019 นับเป็นการส่งสัญญาณว่าธุรกิจนี้หันมาเน้นอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้น แนวโน้มนี้แสดงให้เห็นว่ากิจการต่างๆ จะต้องหาช่องทางการตลาดแบบดิจิทัลที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัยโดยเฉพาะเทคโนโลยีเสมือนจริง (Reality Technology) การแสดงสินค้าในรูปแบบสามมิติ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมและในภาคธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีส่วนช่วยให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

เทคโนโลยีเสมือนจริงคืออะไร?

            ด้วยสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีหลากมิติ เพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริงที่จะสามารถนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ จึงทำให้เทคโนโลยีเสมือนจริงถูกนำมาใช้โดยการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงผ่านการรับรู้จากการมองเห็น เสียง สัมผัส หรือแม้กระทั่งกลิ่น ซึ่งจากข้อมูลคาดการณ์ล่าสุดของบริษัท International Data Corporation (IDC) เผยว่า สัดส่วนการลงทุนในตลาดเทคโนโลยีเสมือนจริงทั่วโลกในปี 2021 มีมูลค่าถึง 14,670 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 74,730 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2026 โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้นจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38.5 ในช่วงปี 2022-2026

            “เทคโนโลยีเสมือนจริง” (Reality Technology: RT) สามารถนำเอามาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ตามประโยชน์การใช้งานที่แตกต่างกัน โดยนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรม/กิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีเสมือนจริงที่ทุกคนต่างคุ้นเคยกันดี คือ Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR), Mixed Reality (MR) และ Extended Reality (XR) ซึ่งเทคโนโลยีเสมือนจริงแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันดังนี้

            Augmented Reality (AR) เป็นเทคโนโลยีที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนจริงเข้าด้วยกัน นำเสนอผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง มือถือ คอมพิวเตอร์ โดยใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ถ่ายทอดออกมาเป็นโลกเสมือนจริงในรูปแบบสามมิติ เพื่อให้สามารถสัมผัสโลกเสมือนจริงได้อย่างน่าดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตรวดเร็วกว่าเทคโนโลยีเสมือนจริงตัวอื่น เพราะสามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนทั่วไป

            Virtual Reality (VR) เป็นเทคโนโลยีที่สร้างจากโลกเสมือนจริง โดยที่ผู้ใช้งานสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับโลกเสมือนจริงนี้ผ่านการจำลองสถานการณ์โดยสวมใส่อุปกรณ์ ซึ่ง VR นี้ช่วยเป็นการเปลี่ยนการรับรู้แบบเดิมๆ หรือเปลี่ยนเรื่องที่เข้าใจยากให้ง่ายขึ้นผ่านเหตุการณ์เสมือนจริง โดยปัจจุบันนิยมนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจที่หลากหลาย เช่น ทางการแพทย์ใช้เพื่อศึกษาและลงมือปฎิบัติได้เสมือนจริง สำหรับเตรียมตัวในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางอุตสาหกรรมใช้เสริมสร้างความชำนาญ ลดโอกาสการสูญเสีย โดยการให้พนักงานฝึกฝนจากการจำลองสถานการณ์เสมือนจริง เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์จริงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

            Mixed Reality (MR) เป็นเทคโนโลยีที่สร้างบางสิ่งขึ้นมาเชื่อมโยงไปกับโลกจริง โดยการนำเอา เทคโนโลยี AR และ VR ผสานเข้าด้วยกัน เหมือนเป็นการนำเอาโลกเสมือนจริง และโลกแห่งความเป็นจริงมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว เสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ล้ำหน้าขึ้นไปอีกขั้น โดยที่ผู้ใช้ต้องสวมใส่อุปกรณ์ holographic computing devices ซึ่งเป็นอุปกรณ์พิเศษเฉพาะ โดยจะแสดงออกมาเป็นภาพ Hologram ที่เสมือนจริง ให้ผู้ใช้สามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้โดยอิสระ จุดเด่น คือ ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างสมจริงยิ่งขึ้น สามารถหยิบจับ ปรับเปลี่ยนได้ดังใจ

            Extended Reality หรือ XR เป็นเทคโนโลยีเสมือนจริงผสมไปยังโลกจริงหลายมิติเข้าด้วยกัน โดยนำเอาเทคโนโลยี AR, VR และ MR ผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการต่อยอดโดยทำให้เกิดโลกเสมือนจริงที่มีอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ปัจจุบันนี้ XR ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ในธุรกิจด้านต่างๆ ในอนาคต

            “เทคโนโลยี AR ทำให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ลองเครื่องประดับแบบเรียลไทม์ราวกับว่าลูกค้าอยู่ในร้านเครื่องประดับ ซึ่งช่วยสร้างยอดขายเครื่องประดับทางออนไลน์ให้เติบโตมากขึ้น”

            ทั้งนี้ ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับต้องสร้างประสบการณ์การชอปปิงให้ตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น เพราะด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้การซื้อสินค้าทางออนไลน์ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่อาจเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่หลายๆ คนจะซื้อสินค้าได้ แบรนด์เครื่องประดับต่างๆ จึงเริ่มนำเทคโนโลยีการลองสินค้าผ่าน AR มารวมอยู่ในกลยุทธ์ทางการตลาดของตน ซึ่งช่วยให้ผู้ซื้อได้รู้จักผลิตภัณฑ์มากขึ้น สามารถสำรวจตรวจสอบหรือทดลองใส่สินค้าโดยไม่ต้องเดินทางมาที่ร้านเครื่องประดับ และช่วยให้สามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกขึ้น

AR เปลี่ยนโฉมธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับ

            แม้ว่าผู้คนจะคุ้นเคยกับการซื้อเครื่องประดับทางออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เมื่อสองสามปีก่อน การเลือกเครื่องประดับเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนเฉพาะตัวอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อแหวนหมั้น การซื้อสร้อยคอให้ลูกสาวช่วงวัยรุ่น หรือการมอบเครื่องประดับเป็นของขวัญเลอค่าให้แก่บุคคลผู้เป็นที่รัก เนื่องจากเครื่องประดับเป็นสินค้าที่มีราคาสูง อีกทั้งการได้เห็นว่าเครื่องประดับมีรูปลักษณ์จริงๆ เป็นอย่างไรก็ยังคงมีความสำคัญ ผู้คนจึงลังเลที่จะซื้อเครื่องประดับแท้ที่มีราคาสูงผ่านทางออนไลน์ แต่เทคโนโลยี AR ได้มาปฏิวัติการขายเครื่องประดับทางอินเทอร์เน็ต AR ช่วยมอบโอกาสให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ของการลองเครื่องประดับแบบเรียลไทม์ราวกับว่าลูกค้าอยู่ในร้านเครื่องประดับ

            ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนผู้ใช้เทคโนโลยี AR ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั่วโลกจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านคนภายในปี 2024 ตามข้อมูลจาก ThinkMobiles โดยลูกค้าร้อยละ 63 มั่นใจว่า AR จะช่วยปรับปรุงประสบการณ์ในการชอปปิง ขณะที่ร้อยละ 35 ระบุว่าตนเองมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้นหากสามารถทดลองสินค้าแบบเสมือนก่อนตัดสินใจซื้อ

            ไม่เพียงแต่ลูกค้าจะได้ประโยชน์จากร้านเครื่องประดับทางออนไลน์ที่ใช้เทคโนโลยี AR แต่แบรนด์เครื่องประดับเองก็ได้รับประโยชน์จากการนำแอปพลิเคชันที่มีเทคโนโลยีการลองสินค้าผ่าน AR มาใช้ในกลยุทธ์ทางการตลาด ดังนี้

  • ช่วยเพิ่มคุณภาพในการสื่อสารโต้ตอบกับผู้บริโภค AR ช่วยให้ผู้ซื้อได้ลองเครื่องประดับและตัดสินใจซื้อได้เร็วยิ่งขึ้น แอปพลิเคชันที่มีเทคโนโลยีการลองสินค้าผ่าน AR มีแนวโน้มที่จะชักจูงให้ลูกค้าซื้อสินค้าได้มากกว่า บทความจาก Business Wire เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ผู้รับการสำรวจร้อยละ 72 ซื้อสินค้าที่ตนเองไม่ได้วางแผนมาก่อนด้วยอิทธิพลจากเทคโนโลยี AR
  • อัตราการเปลี่ยนเป็นลูกค้าจริงสูงกว่า ตามข้อมูลจาก Deloitte Digital แบรนด์ที่นำเสนอประสบการณ์ AR แบบเฉพาะตัวมีแนวโน้มที่ลูกค้าจะเข้ามาดูสินค้ามากกว่าคิดเป็นร้อยละ 41 โดยผู้บริโภคเกือบสามในสี่นั้นยินดีจ่ายเงินเพิ่มให้สินค้าที่สามารถสำรวจและลองใส่ผ่านเทคโนโลยี AR ได้
  • การประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ง่ายยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องพิมพ์แคตตาล็อกทุกครั้งที่แบรนด์เครื่องประดับปล่อยคอลเลกชันใหม่ แค่เพิ่มแคตตาล็อกเครื่องประดับที่ใช้เทคโนโลยี AR เสมือนจริงแบบสามมิติเข้าไปในแอปพลิเคชัน ผู้ซื้อก็สามารถลองชิ้นงานใหม่ๆ และตรวจสอบราคาได้ทุกเวลา
  • ผสานการชอปปิงกับกิจกรรมทางสังคม การซื้อเครื่องประดับเป็นกระบวนการที่ลูกค้าต้องดำเนินการอย่างจริงจังหลายขั้นตอน ซึ่งอาจรวมถึงการขอคำแนะนำจากเพื่อนๆ เปรียบเทียบราคา รวมถึงอ่านรีวิวต่างๆ เมื่อใช้แอปพลิเคชันที่มีเทคโนโลยี AR ผู้ซื้อจะสามารถแชร์ภาพเครื่องประดับให้คนอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย

 

ที่มาภาพ: https://postindustria.com/ และ https://www.diamondhedge.com/ 

            ปัจจุบันบรรดาแบรนด์ดังในธุรกิจเครื่องประดับอย่างเช่น Tiffany & Co และ Pandora รวมถึงผู้ขายเครื่องประดับอิสระหลายราย อาทิ James Allen ผู้ขายเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงในสหรัฐ ตลอดจนแหล่งซื้อขายเครื่องประดับอิสระอย่าง Diamond Hedge เป็นต้น ต่างเพิ่มเทคโนโลยีการลองสินค้าแบบเสมือนจริงผ่าน AR เข้าไปในเว็บไซต์ของตน และสามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชันด้วย ซึ่งช่วยให้ผู้ซื้อเลือกอัญมณีและตัวเรือนโลหะจากตัวเลือกที่มีอยู่ ปรับแต่งแหวนหรือเครื่องประดับ และทดลองใส่แบบเสมือนจริงได้ตามที่ต้องการ

            นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์จำลองโลกเสมือนจริงผ่าน AR ทางเว็บไซต์อย่างแพร่หลายในธุรกิจแฟชั่นและเครื่องประดับ เช่น บูติกแบบเสมือนจริงของแบรนด์ Piaget ซึ่งจำหน่ายเครื่องประดับและนาฬิกาหรู เมื่อเข้าไปในบูติกนี้ก็จะเลือกดูผลิตภัณฑ์ได้หลายร้อยรายการ ชมภาพผลิตภัณฑ์แบบสามมิติ หรือดูผลิตภัณฑ์จากมุมมองต่างๆ กัน ซึ่งเทคโนโลยีลักษณะเดียวกันนี้แบรนด์ Tiffany & Co ยังนำไปใช้ในการจัดแสดงนิทรรศการ “Vision & Virtuosity” ที่ Saatchi Gallery ในลอนดอน แสดงเครื่องประดับล้ำค่ากว่า 400 ชิ้นงานที่สร้างประสบการณ์ผ่านเทคโนโลยี AR ซึ่งสามารถดูผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วย รวมถึงยังมีอีกหลายหลายแบรนด์ที่จัดแสดงนิทรรศการเครื่องประดับด้วยเทคโนโลยีนี้เช่นกัน

 

 


นิทรรศการ “Vision & Virtuosity” ของแบรนด์ Tiffany & Co

            เทคโนโลยีเสมือนจริง โดยเฉพาะ AR กำลังกลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ผู้ขายเครื่องประดับและแบรนด์ต่างๆ เร่งสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดเสริมศักยภาพด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสานโลกจริงกับโลกเสมือนพร้อมก้าวเข้าสู่โลกเมตาเวิร์ส เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและส่งมอบประสบการณ์อันโดดเด่นให้แก่ลูกค้า รวมทั้งผนวกเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เชื่อมโยงกับอัญมณีที่ผ่านการจัดหาอย่างยั่งยืน เพื่อนำเสนอความสามารถในการติดตามแหล่งที่มาและความโปร่งใสในเส้นทางจากเหมืองสู่ตลาดให้แก่ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากยิ่งขึ้นในปัจจุบันอีกด้วย



จัดทำโดย นางสาวกวินิตา กฤตาภาสกรวงค์

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ธันวาคม 2565


ข้อมูลอ้างอิง


1) Postindustria. 2022. Why You Should Consider AR Try-on for Jewelry Retail in 2022. [Online]. Available at: https://postindustria.com/why-you-should-consider-ar-try-on-for-jewelry-retail-in-2022-jewelry-tryon/.
2) Postindustria. 2022. How to Reduce Returns in Jewelry E-commerce with Disruptive Technologies. [Online]. Available at: https://postindustria.com/how-to-reduce-returns-in-jewelry-e-commerce-with-disruptive-technologies-ar-commerce/.
3) JNA. 2022. Gem and jewellery solutions and innovations. [Online]. Available at: https://news.jewellerynet.com/en/jnanews/features/24705
4) Retailwit. 2022. Tiffany & Co.’s ‘Vision & Virtuosity,’ Featuring AR Try-On Tech, Debuts at Saatchi London. [Online]. Available at: https://retailwit.com/tiffany-co-s-vision-virtuosity-featuring-ar-try-on-tech-debuts-at-saatchi-london/
5) CR. 2022. Tiffany Presents Vision and Virtuosity Exhibition at Saatchi Gallery in LONDON. [Online]. Available at: https://crfashionbook.com/tiffany-presents-vision-and-virtuosity-exhibition-at-saatchi-gallery/.
6) McKinsey & Company. 2021. State of Fashion: Watches and Jewellery. [Online]. Available at: https://www.mckinsey.com/industries/retail/our-insights/state-of-fashion-watches-and-jewellery.
7) Techsauce. 2000. AR VR MR XR คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร ปูพื้นฐานก่อนเข้าสู่โลก Metaverse. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://techsauce.co/metaverse/what-is-the-difference-ar-vr-mr-xr.

เอกสารแนบ

เราใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้   ตั้งค่า ยอมรับ

×
140 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 4 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
โทรศัพท์: 0 2634 4999 ต่อ 444
โทรสาร: 0 2634 4970