ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

รุกตลาดเอเชียกลาง เริ่มต้นที่คาซัคสถาน

Jan 3, 2024
3012 views
3 shares

        คาซัคสถานเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเอเชียกลางแม้ว่าจะไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่มีความสำคัญด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นจุดยุทธศาสตร์ใจกลางเอเชียกลาง ทำให้คาซัคสถานทำหน้าที่เป็นเหมือนจุดเชื่อมโยงที่สำคัญทั้งในเอเชียกลาง ยุโรปและเอเชีย ในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งระหว่างทั้งสองทวีปได้สะดวกและรวดเร็ว ทั้งยังเป็นประเทศที่มีการเปิดรับวัฒนธรรมและนำเข้าสินค้าหลายประเภท รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับจากต่างชาติ จึงเป็นตลาดทางเลือกที่มีศักยภาพและความน่าสนใจเป็นอย่างมาก

สภาพเศรษฐกิจของคาซัคสถาน

คาซัคสถานเป็นประเทศในเอเชียกลางร่วมกับคีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน โดยคาซัคสถานนั้นมีพื้นที่ประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง ทั้งยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่มีปริมาณสำรองสูง ทำให้ประเทศนี้เป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 13 ของโลก เป็นผู้เล่นสำคัญรายหนึ่งในภาคพลังงานโลก รวมทั้งยังมีสัมพันธภาพที่ดีกับประเทศรอบข้างด้วยการส่งเสริมเสถียรภาพและความร่วมมือในระดับภูมิภาค

 

 ภาพแผนที่คาซัคสถาน จาก https://www.mappr.co/location/kazakhstan/

มูลค่า GDP ของคาซัคสถานในปี 2022 เท่ากับ 225,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดการณ์ว่าปี 2023 จะเติบโตได้ 4.5% มีประชากรราว 19.6 ล้านคน โดยมีค่าเฉลี่ยอายุ 29.5 ปี ประชากรราว 57% อาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งเมืองที่มีประชากรอาศัยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เมือง Almaty มีประชากรราว 2.15 ล้านคน ตามมาด้วยเมืองหลวง Astana (ชื่อเดิม Nur-Sultan) 1.34 ล้านคน และเมือง Shymkent 1.18 ล้านคน คาซัคสถานใช้เงินสกุลเทงเจ Kazakhstani Tenge: KZT (1,000 เทงเจ เท่ากับ 2.15 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งคาซัคสถานนั้นเป็นประเทศที่มี GDP และ GDP per Capita สูงสุดในเอเชียกลาง ถูกจัดให้เป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 9,470 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี  ทั้งนี้ โครงสร้างทางเศรษฐกิจของคาซัคสถานมาจากภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ต่างจากประเทศคีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน ที่เน้นภาคเกษตรกรรม ส่วนเติร์กเมนิสถานเน้นภาคอุตสาหกรรม  

 

ข้อมูลจาก : https://www.imf.org/ และ https://data.worldbank.org/

การค้าอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างประเทศของคาซัคสถาน 

การส่งออกสินค้าและบริการของคาซัคสถานคิดเป็นสัดส่วนราว 34% ของ GDP โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง สินแร่ต่างๆ เหล็กและเหล็กกล้า ทองแดง และเคมีภัณฑ์ ข้อมูลจาก Global Trade Atlas ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2023 ตลาดส่งออกหลักของคาซัคสถาน ได้แก่ อิตาลี จีน รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ มีสัดส่วน 18.76%, 18.03%, 12.30%, 5.82% และ 5.63% ตามลำดับ ส่วนการนำเข้ามาจากประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน รัสเซีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ในสัดส่วน 26.67%, 25.46%, 5.09%, 4.51% และ 3.83% ตามลำดับ

ในด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของคาซัคสถานนั้น ระหว่างมกราคม-กันยายน ปี 2023 มีมูลค่า 620.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.30% ซึ่งเป็นการส่งออกสินค้าวัตถุดิบอย่างโลหะเงินและทองคำในสัดส่วนสูงถึง 94.19% โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ 

1. โลหะเงิน มีมูลค่า 471.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ สหราชอาณาจักร  (สัดส่วน 76.37%) สหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 18.11%) และทูร์เคีย (สัดส่วน 4.09%) ตามลำดับ

2. ทองคำ มีมูลค่า 112.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ รัสเซีย (สัดส่วน 88.63%) และคีร์กีซสถาน (สัดส่วน 11.37%) ตามลำดับ

3. เครื่องประดับทองและแพลทินัม มีมูลค่า 20.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (สัดส่วน 47.92%) ฝรั่งเศส (สัดส่วน 17.08%) และรัสเซีย (สัดส่วน 13.76%) ตามลำดับ

ตารางการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของคาซัคสถาน ระหว่างมกราคม-กันยายน 2022-2023


                                                            ที่มา : Global Trade Atlas

ส่วนการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ระหว่างมกราคม-กันยายน ปี 2023 พบว่า มีมูลค่า 298.79  ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.11% โดยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่

1. ทองคำ มีมูลค่า 147.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้าจากรัสเซียเกือบ 100% 

2. เครื่องประดับทองและแพลทินัม มีมูลค่า 109.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ รัสเซีย (สัดส่วน 46.38%) ฝรั่งเศส (สัดส่วน 15.79%) และอิตาลี (สัดส่วน 12.33%) ตามลำดับ

3. เครื่องประดับเทียม มีมูลค่า 29.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน (สัดส่วน 89.16%) ไทย (สัดส่วน 3.39%) และรัสเซีย (สัดส่วน 1.71%) ตามลำดับ

4. เครื่องประดับเงิน มีมูลค่า 7.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ รัสเซีย (สัดส่วน 43.35%) ไทย (สัดส่วน 35.45%) และสหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 20.53%) ตามลำดับ

ตารางการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของคาซัคสถาน ระหว่างมกราคม-กันยายน 2022-2023


                                                             ที่มา : Global Trade Atlas

ขณะที่ระหว่างมกราคม-กันยายน ปี 2023 คาซัคสถานมีการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทย มูลค่า 5.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วนราว 1.95% ของการนำเข้าสินค้าในหมวดนี้ โดยแบ่งเป็นเครื่องประดับ-เงิน (สัดส่วน 45.27%) เครื่องประดับทองและแพลทินัม (สัดส่วน 37.01%) และเครื่องประดับเทียม (สัดส่วน 17.04%)  

ส่วนตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศคาซัคสถานนั้น ข้อมูลจาก Statista คาดการณ์ว่า ในปี 2023 จะมีมูลค่าตลาดราว 245.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราเติบโตเฉลี่ยราว 7.28% โดยยอดขายราว 91% เป็นเครื่องประดับทั่วไป อีก 9% เป็นเครื่องประดับหรูหรา ช่องทางการขายแบบหน้าร้านสูงถึง 90.2% ส่วนในแบบออนไลน์ มี 9.8% 

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในคาซัคสถาน

ในคาซัคสถานนั้น มีการค้นพบโลหะมีค่าและอัญมณีหลายแห่ง โดยเฉพาะทองคำและโลหะเงินที่นับว่าเป็นประเทศผู้ผลิตสำคัญของโลก ข้อมูลจาก Metals Focus ระบุว่า มีกำลังผลิตทองคำราว 81.9 ตัน (อันดับ 15 ของโลก) และโลหะเงิน 14.8 ล้านออนซ์ หรือประมาณ 419.57 ตัน (อันดับ 12 ของโลก) ซึ่งเหมืองทองและเงินนั้นส่วนมากอยู่ทางตอนกลางและตะวันออกของประเทศ ในบริเวณแคว้น Aqmola, East Kazakhstan, Pavlodar และ Qaraghandy 

ส่วนอัญมณีที่พบได้นั้นมีทั้งพลอยในตระกูลคอรันดัมและพลอยเนื้ออ่อนอย่างอาเกต มรกต ควอตซ์ โทแพซ ทัวร์มาลีน เทอร์คอยส์ เป็นต้น โดยเฉพาะเทอร์คอยส์ชนิดพิเศษอย่างลาเวนเดอร์เทอร์คอยส์หรือที่เรียกกันว่า คาซัคสถานเทอร์คอยส์ ที่มีสีฟ้าสว่างใสตัดลวดลายสีน้ำตาลจนถึงสีม่วงอ่อน พบได้ในเหมือง Altyn Tyube เพียงแห่งเดียวในโลก รวมทั้งสตรอเบอรี่ควอตซ์ ที่สวยแปลกตาก็สามารถพบได้ที่นี่ด้วย ทั้งนี้ อัญมณีหลายชนิดในแถบนี้มีการติดต่อค้าขายไปสู่ฝั่งตะวันตกมายาวนาน เนื่องจากคาซัคสถานเป็นหนึ่งในเส้นทางสายไหมที่เชื่อมโยงจีนและตะวันออกไกลไปสู่ตะวันออกกลางและยุโรปตั้งแต่ราว 130 ปีก่อนคริสตกาล

     

ภาพซ้ายลาเวนเดอร์เทอร์คอยส์จาก https://rebelsouldesign.com/ 

และภาพขวา สตรอเบอรี่ควอตซ์ จาก https://southernjewelrynews.com/

        ความสัมพันธ์ระหว่างอัญมณีและเครื่องประดับกับชาวคาซัคสถานนั้น มีความเกี่ยวพันกันมาแต่โบราณทั้งในแง่ของการผลิตและสวมใส่ตกแต่งร่างกาย เครื่องประดับชาวคาซัคแบบดั้งเดิมนิยมทำจากโลหะเงินมากที่สุด รองลงมาเป็นทองคำ ไม่เพียงเพื่อความสวยงามแต่ยังแฝงความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีสืบต่อมา ทำให้เครื่องประดับมีความเกี่ยวพันชาวคาซัคตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งลาจากโลกไป รวมทั้งยังมีความเชื่อว่า ผู้หญิงที่ปราศจากเครื่องประดับตกแต่งก็เหมือนต้นไม้ที่ไร้ใบ การแต่งกายของผู้หญิงชาวคาซัคจึงต้องมีเครื่องประดับอยู่เสมอไม่ว่าเป็นเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมหรือสมัยใหม่ นอกจากนี้ รูปแบบเครื่องประดับของผู้หญิงคาซัคแบบดั้งเดิมยังสามารถบ่งชี้ได้ถึงสถานะการแต่งงาน อายุ ถิ่นฐาน และสถานะของครอบครัวอีกด้วย 

เครื่องประดับแบบดั้งเดิมของชาวคาซัคมีมากมายหลายชิ้นทั้งมงกุฎสวมศีรษะ ต่างหู สร้อยคอ แหวน เข็มขัด โดยมีเทคนิคการผลิตทั้งการตอก ปั้มลายนูน แกะสลัก ทำลวดลาย ชุบเคลือบ หรือฝังประดับด้วยพลอยสีชนิดต่างๆ รวมทั้งการทำเป็นรูปทรงเรขาคณิตหลายชิ้นมาประกบเข้าด้วยกันเพื่อขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับชิ้นใหญ่ ด้วยความประณีตของงานฝีมือทำให้เครื่องประดับถูกจัดเป็นอีกหนึ่งของที่ระลึกที่ต้องเลือกซื้อเมื่อมาเยือนคาซัคสถาน ส่วนการแต่งกายของชาวคาซัคในชีวิตประจำวันทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีการรับเอากระแสแฟชั่นทั้งจากยุโรปและเอเชีย จึงมีการสวมใส่เสื้อผ้าและเครื่องประดับในแบบสากลโดยเปลี่ยนไปตามฤดูกาล โดยมีการนำรูปแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่มีลักษณะแบบดั้งเดิมตามวัฒนธรรมมาผสมผสานเข้าด้วยกัน 

แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ราว 70% เป็นชาวมุสลิม แต่คาซัคสถานมีการเปิดกว้างเปิดรับความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการแต่งกายของผู้หญิง ยกเว้นสถานที่สำคัญทางศาสนาซึ่งมีข้อกำหนดการแต่งกายที่เข้มงวด นอกจากนี้ คาซัคสถานยังมีการจัดงานแสดงอัญมณีและเครื่องประดับระดับนานาชาติประจำปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลคาซัคสถานและสมาคมผู้ค้าอัญมณีแห่งชาติคาซัคสถาน จัดขึ้นที่เมือง Almaty ในช่วงเดือนเมษายน มิถุนายน และพฤศจิกายน ส่วนที่เมือง Astana (ชื่อเดิม Nur-Sultan) จะจัดงานในเดือนกันยายน โดยล่าสุดงาน ARU Almaty 2023 (Autumn) International Jewellery Fair ที่จัดขึ้นระหว่าง 16-19 พฤศจิกายน 2566 มีผู้จัดแสดงกว่า 500 ราย คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 20,000 คน

 

ภาพการแต่งกายสวมเครื่องประดับของชาวคาซัคทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ จาก Pinterest

โอกาสและจุดแข็งของการค้าไทย-คาซัคสถาน

คาซัคสถานเป็นประเทศที่เปิดกว้างรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เปิดรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ทั้งยังมีความปลอดภัยแก่การท่องเที่ยว นับเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางเชื่อมเอเชียและยุโรป ภาพลักษณ์ของประเทศไทยและการยอมรับสินค้าไทยสำหรับผู้บริโภคและนักธุรกิจคาซัคสถานอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งเกิดจากความประทับใจของชาวคาซัคที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย และทั้งสองประเทศมีความร่วมมือระหว่างกันในการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการค้า อีกทั้งผู้ประกอบการชาวคาซัคหลายรายยังเคยมาร่วมงาน Bangkok Gem and Jewelry Fair ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีด้วย 

ส่วนการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสู่คาซัคสถานนั้น ผู้นำเข้าจะต้องเสียอากรขาเข้าในช่วงอัตราร้อยละ 0-15 โดยขั้นตอนการผ่านพิธีการทางศุลกากรรวมถึงเอกสารประกอบการนำเข้าเป็นไปตามหลักสากลทั่วไป แต่เอกสารดำเนินพิธีศุลกากร รวมทั้งการติดฉลากและรายละเอียดของสินค้า ควรเป็นภาษาคาซัคหรือรัสเซีย  ทั้งนี้ คาซัคสถานและประเทศอื่นในเอเชียกลาง นอกจากการใช้ภาษาของตนเองแล้ว ยังใช้ภาษารัสเซียควบคู่ไปด้วยการติดต่อธุรกิจหรือการค้าจึงควรใช้ภาษาดังกล่าวเพื่อความสะดวกในการติดต่อ

ปัจจุบันไทยยังมีส่วนแบ่งการนำเข้าในตลาดคาซัคสถานน้อย จึงยังมีโอกาสในการขยายสู่ตลาดนี้ โดยเฉพาะเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับเทียมเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดนี้ ทั้งการส่งออกแบบเครื่องประดับล้วนหรือประดับด้วยพลอยสี เพื่อขยายไลน์สินค้ากึ่งสำเร็จรูปอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน-เจียระไนเพิ่มขึ้น โดยใช้ช่องทางการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อเรียนรู้และสร้างความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคก็เป็นหนทางสำคัญในการเข้าสู่ตลาดนี้ อีกทั้งคาซัคสถานเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) ร่วมกับรัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน รวมทั้งเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ดังนั้น การนำเข้าสินค้าระหว่างกันจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้า

คาซัคสถานนับเป็นตลาดใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย ดังนั้น การขยายตลาดสินค้าจึงควรเริ่มจากการสร้างความเข้าใจตลาดผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่วมในคณะผู้แทนการค้าไทย การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ รวมทั้งงานอัญมณีและเครื่องประดับในคาซัคสถาน หรือการหาคู่ค้าผ่านผู้ประกอบการชาวคาซัคที่มาจัดร่วมงาน Bangkok Gem and Jewelry Fair จะเป็นช่องทางที่เข้าสู่ผู้บริโภคชาวคาซัคและยังสามารถใช้คาซัคสถานเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังประเทศเอเชียกลางอื่นๆ หรือรัสเซีย รวมถึงฝั่งยุโรปและเอเชียได้ง่ายขึ้นอีกด้วย  

 

จัดทำโดย นายพุทธิพร วิชัยดิษฐ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มกราคม 2567


ข้อมูลอ้างอิง


1) Visual Capitalist. 2023. Charted: The World’s Biggest Oil Producers. [Online]. Available at: https://www.visualcapitalist.com/charted-worlds-biggest-oil-producers-in-2022/. (Retrieved November 6,2023).
2) Eurasian Development Bank. 2022. The Economy of Central Asia. [Online]. Available at: https://eabr.org/upload/iblock/1fe/EDB_2022_Report-3_The-Economy-of-CA_eng.pdf. (Retrieved November 7,2023).
3) The World Bank. 2023. The World Bank in Kazakhstan. [Online]. Available at: https://www.worldbank.org/en/country/kazakhstan/overview. (Retrieved November 8,2023).
4) Worldometer. 2023. Kazakhstan Demographics. [Online]. Available at:
https://www.worldometers.info/demographics/kazakhstan-demographics/. (Retrieved November 8,2023).
5) Statista. 2023. Kazakhstan: The largest cities in 2022. [Online]. Available at:
https://www.statista.com/statistics/436258/largest-cities-in-kazakhstan/. (Retrieved November 14,2023).
6) Statista. 2023. Jewelry - Kazakhstan. [Online]. Available at: https://www.statista.com/outlook/cmo/accessories/watches-jewelry/jewelry/kazakhstan. (Retrieved November 14,2023).
7) World Gold Council. 2023. Global mine production. [Online]. Available at: https://www.gold.org/goldhub/data/gold-production-by-country#from-login=1. (Retrieved November 14,2023).
8) Silver Institute. 2023. MINE PRODUCTION. [Online]. Available at: https://www.silverinstitute.org/mine-production/. (Retrieved November 14,2023).
9) Moose. Moose Fact: Getting To Know Desert Lavender/Golden Hill Turquoise. [Online]. Available at:
https://turquoisemoose.com/blogs/shining-gems/golden-hill-turquoise (Retrieved November 15,2023).
10) Rebel Soul Design. 2021. The Beauty of Lavender Turquoise. [Online]. Available at: https://rebelsouldesign.com/blogs/news/the-beauty-of-lavender-turquoise. (Retrieved November 15,2023).
11) Diana Jarrett GG, RMV. 2022. The Story Behind the Stone: Yearning for Kazakhstan. [Online]. Available at: https://southernjewelrynews.com/columnists/the-story-behind-the-stone-yearning-for-kazakhstan/. (Retrieved November 15,2023).
12) Kazakh jewelry. [Online]. Available at: https://old2.kspi.kz/en/ (Retrieved November 15,2023).
13) Outlook. 2021. Kazakhstan jewelry. [Online]. Available at: https://en.theoutlook.com.ua/article/4681/kazakhstan-jewelry.html. (Retrieved November 15,2023).
14) Skyway. 2023. 10 great gift ideas. [Online]. Available at: https://www.skyway.kz/en/chto-privezti-iz-kazahstana/ (Retrieved November 16,2023).
15) 10 Times. 2023. International Jewellery Fair 2023. [Online]. Available at: https://10times.com/centralasia-jewellery-watch. (Retrieved November 16,2023).
16) Kazexpo. 2023. About Fair. [Online]. Available at: https://kazexpo.kz/en/about-exhibition-aru-almaty-menu/about-exhibition-aru-almaty. (Retrieved November 17,2023).

เอกสารแนบ


ความคิดเห็น


ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

รุกตลาดเอเชียกลาง เริ่มต้นที่คาซัคสถาน

Jan 3, 2024
3012 views
3 shares

        คาซัคสถานเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเอเชียกลางแม้ว่าจะไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่มีความสำคัญด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นจุดยุทธศาสตร์ใจกลางเอเชียกลาง ทำให้คาซัคสถานทำหน้าที่เป็นเหมือนจุดเชื่อมโยงที่สำคัญทั้งในเอเชียกลาง ยุโรปและเอเชีย ในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งระหว่างทั้งสองทวีปได้สะดวกและรวดเร็ว ทั้งยังเป็นประเทศที่มีการเปิดรับวัฒนธรรมและนำเข้าสินค้าหลายประเภท รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับจากต่างชาติ จึงเป็นตลาดทางเลือกที่มีศักยภาพและความน่าสนใจเป็นอย่างมาก

สภาพเศรษฐกิจของคาซัคสถาน

คาซัคสถานเป็นประเทศในเอเชียกลางร่วมกับคีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน โดยคาซัคสถานนั้นมีพื้นที่ประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง ทั้งยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่มีปริมาณสำรองสูง ทำให้ประเทศนี้เป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 13 ของโลก เป็นผู้เล่นสำคัญรายหนึ่งในภาคพลังงานโลก รวมทั้งยังมีสัมพันธภาพที่ดีกับประเทศรอบข้างด้วยการส่งเสริมเสถียรภาพและความร่วมมือในระดับภูมิภาค