G7 และพันธมิตรแบนเพชรรัสเซีย ผลกระทบต่อตลาดเพชรโลก
ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (Group of Seven : G7) ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ร่วมกับสหภาพยุโรป ได้สั่งห้ามนำเข้าเพชรจากรัสเซียทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อสกัดเงินทุนสนับสนุนสงครามรุกรานยูเครน และห้ามนำเข้าเพชรจากรัสเซียที่ผ่านการเจียระไนในประเทศที่สามตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป พร้อมนำระบบตรวจสอบย้อนกลับเต็มรูปแบบมาใช้ในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งการคว่ำบาตรที่กำหนดโดยกลุ่ม G7 และเหล่าพันธมิตรต่อรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ที่สุดของโลก จะสร้างความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมเพชรทั่วโลกนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
รัสเซียผลิตเพชรดิบรายใหญ่ที่สุดในโลก
จากข้อมูลของ Sam Parker นักวิเคราะห์ของ Visual Capitalist พบว่า รัสเซียเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2565 โดยผลิตได้ 42 ล้านกะรัต คิดเป็น 1 ใน 3 ของการผลิตเพชรดิบทั่วโลก (ราว 35%) และจากข้อมูลของ GlobalData ได้ระบุว่า การส่งออกเพชรของรัสเซียลดลง 30% ในปี 2565 เมื่อเทียบจากปี 2564 คาดว่าการส่งออกเพชรของรัสเซียจะลดลงราว 0.36% ต่อปี ในระหว่างปี 2565 ถึง 2569 แต่เมื่อมีการแบนการนำเข้าเพชรจากรัสเซีย ก็จะยิ่งทำให้การส่งออกเพชรของรัสเซียลดลงมากกว่าที่คาดการณ์หลายเท่าตัวได้
ประเทศผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ 10 อันดับแรกของโลกในปี 2565
อย่างไรก็ตาม การขุดเพชรได้ปริมาณมากไม่ได้หมายความว่าเพชรจะมีมูลค่าสูงเสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้มูลค่าเพชรสูงขึ้น ได้แก่ การเจียระไน สี และความใส เป็นต้น แม้ว่าบอตสวานาจะผลิตเพชรได้เพียง 59% ของรัสเซีย แต่เพชรมีมูลค่ามากกว่าของรัสเซียถึงราว 1.5 เท่า หรือแองโกลาเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่อันดับที่ 6 แต่เป็นอันดับที่ 3 ในแง่ของมูลค่าเพชร
รัสเซียเป็นที่ตั้งของเหมืองเพชรที่ใหญ่ที่สุด 5 แห่งจากทั้งหมด 10 แห่งของโลก และผลิตเพชรได้มากที่สุดในโลก โดยบริษัท Alrosa1 อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล เป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย (มีสัดส่วนราว 97% ของการผลิตเพชรทั้งประเทศ) รัสเซียยังได้มีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและใช้เทคโนโลยีการทำเหมืองในประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการสกัดเพชรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาพ:
https://www.jewellermagazine.com/ |
นอกจากนี้ จากข้อมูลของ Statista.com ระบุว่าในปี 2565 ปริมาณเพชรสำรองทั่วโลกมีประมาณ 1,300 ล้านกะรัต โดยรัสเซียมีปริมาณเพชรสำรองมากที่สุดในโลกอยู่ที่ 600 ล้านกะรัต (คิดเป็น 46.15% ของเพชรสำรองทั่วโลก) รองลงมาคือ บอตสวานา มีเพชรสำรองราว 300 ล้านกะรัต และเพชรที่ผลิตได้กว่าครึ่งหนึ่งจากเหมืองเพชรทั่วโลกมักใช้ในอุตสาหกรรม ได้แก่ ตัด โกลน เจียระไน และเครื่องประดับ
สถานการณ์ตลาดเพชรโลกในปัจจุบัน
ในปี 2566 อุปสงค์การค้าเพชรทั่วโลกชะลอตัวลง จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของโลกเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศสำคัญของโลก รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย และคนรุ่นใหม่ที่ใช้จ่ายเงินไปกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือการเดินทางท่องเที่ยว มากกว่าการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย อีกทั้งยังนิยมซ