โอกาสและความท้าทายในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับจีน ปี 2567
การค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดจีนปี 2567 ได้รับการคาดหวังสูง แต่การขยายตัวจะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนเอง บรรดาผู้ประกอบการต่างคาดว่า อุตสาหกรรมทองและมุกจะยังเติบโตได้ ความต้องการพลอยสีจะยังขยายตัวต่อไป ส่วนการค้าเพชรจะเริ่มตั้งหลักได้หลังจากที่ออกตัวอย่างเชื่องช้าเมื่อพ้นวิกฤติโควิด-19
จีนเป็นตลาดอัญมณีและเครื่องประดับที่มิอาจมองข้ามไปได้ เนื่องด้วยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดในโลก
จากรายงาน Jewelry Market Development Report ซึ่ง Bi Lijun รองประธานและเลขาธิการของ Gems & Jewelry Trade Association of China ได้แบ่งปันไว้ในงาน 2023 Global Gems and Jewellery Development Conference เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาระบุว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของจีนเมื่อปี 2565 มีมูลค่าราว 1.06 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 8.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 แสดงให้เห็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 5.5
ในปี 2565 เครื่องประดับทอง หยก เพชร พลอยสี และมุก มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 57, 21, 11, 4, และ 3 ตามลำดับ การบริโภคทองคำของจีนฟื้นตัวขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19 โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 7.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ขณะที่ตลาดเพชรกำลังเผชิญกับความผันผวน โดยมีขนาดลดลงร้อยละ 18 จากปี 2565 ส่วนตลาดหยก (รวมถึงเจไดต์และเนไฟร์ต) มีอนาคตสดใส โดยในปี 2565 เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2562
รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับของจีนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นรูปแบบการฟื้นตัว “รูปตัว V” โดยตัวเลขในปี 2563 เป็นจุดต่ำสุด และสถิติปี 2565 อยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดโรคระบาด ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่ารวม 8.786 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 22.5
“มังกร” ทองคำ
Roland Wang กรรมการผู้จัดการของ World Gold Council (WGC) กล่าวว่า ความต้องการทองคำในจีนปี 2566 ยังคงสูง แม้ว่าราคาทองคำจะทำลายสถิติและภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวนก็ตาม โดยท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่ให้ผลตอบแทนที่ดีจากความต้องการถือครองที่ไม่ลดน้อยถอยลง
ข้อมูลจาก WGC ระบุว่า คนรุ่นใหม่ในจีน ซึ่งรวมถึง Gen Z นิยมเครื่องประดับทอง โดยมีเครื่องประดับแนวร่วมสมัย ฝีมือการผลิตที่ประณีต รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตเครื่องประดับทอง 24 เค ให้มีความหนาแต่น้ำหนักเบา เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นความต้องการนี้
ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 ความต้องการบริโภคเครื่องประดับทองในจีนอยู่ที่ 481 ตัน สูงขึ้นร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งเสริมการขายทองคำและเครื่องประดับทองที่มีน้ำหนักเบาในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจะยังคงดึงดูดความสนใจและผลักดันความต้องการแม้จะมีแรงต้านจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจก็ตาม ในอนาคตการพัฒนาสู่ความทันสมัยจะกลายเป็นเรื่องปกติในอุตสาหกรรมเครื่องประดับของจีน
นอกจากนี้ ตลาดทองคำจะพบความท้าทายมากขึ้นจากความผันผวนของราคาทองและการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างตลาด ในขณะที่นวัตกรรมของสินค้า ความต้องการที่ต่อเนื่องและทัศนคติความเชื่อของผู้ซื้อในเรื่องการรักษามูลค่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาด โดย WGC คาดการณ์ว่า ภาพรวมตลาดทองคำของจีนในปี 2567 จะยังคงมีเสถียรภาพ
สถานะตลาดเพชร
ปี 2566 เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับตลาดเพชรโลกรวมถึงจีนด้วย โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาGAC ร่วมกับ National Gemstone Testing Center (NGTC) และ Shanghai Diamond Exchange (SDE) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกล่าวถึงความท้าทายในตลาดเพชรธรรมชาติ โดยยอมรับถึงความยากลำบากที่เกิดจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกและประเด็นปัญหาเฉพาะของภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2565
องค์กรดังกล่าวมุ่งเน้นการให้คุณค่าเพชรธรรมชาติจากความหายากและสถานะเชิงสัญลักษณ์ โดยชี้ให้เห็นว่าเพชรธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ส่วนเพชรสังเคราะห์เป็นสินค้าที่ผลิตออกมาในปริมาณมาก พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงราคาของสินค้าทั้งสองที่ห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้ผู้ค้าได้แจ้งข้อมูลเหล่านี้ให้ผู้ซื้อได้ทราบด้วย
ทั้งนี้ ตลาดเครื่องประดับเพชรของจีนในปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.22 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 11 ของมูลค่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในจีน ในขณะที่มูลค่าการค้าเครื่องประดับเพชรมีสัดส่วนร้อยละ 26 ของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับโลก ดังนั้น จึงหมายความว่ายังมีโอกาสในการขยายตัวได้อีก
การค้าเพชรและเครื่องประดับในประเทศจีนปี 2559 ถึง 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน)
หน่วย: พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
อนาคตของอุตสาหกรรมมุก
Tu Xingcai ประธานของ Shenzhen Pearl Trade Association กล่าวว่า อุตสาหกรรมมุกของจีนทั้งค้าปลีกและค้าส่งในปี 2566 ขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นผลจากรูปแบบเครื่องประดับมุกที่มีความทันสมัยขึ้น สามารถตอบสนองต่อรสนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบันได้ดี
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมายังมีการขายไข่มุกผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่ในอุตสาหกรรมมุก มีการนำเสนอตัวเลือกและอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น บริการแบบเฉพาะบุคคลยังเป็นกระแสที่กำลังมาแรงในตลาดค้าปลีก เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เลือกรูปทรง สีสัน และขนาดของมุก รวมไปถึงออกแบบเครื่องประดับได้ด้วยตนเอง
ในปี 2566 มุกคุณภาพสูงมีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่ลดน้อยลง ในขณะที่ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้จะไม่กระทบต่อยอดขายในอนาคตเนื่องจากความต้องการมุกระดับพรีเมียมยังคงสูงต่อเนื่อง
สำหรับในปี 2567 อุตสาหกรรมมุกยังมีโอกาสที่จะขยายตัวมากยิ่งขึ้น จากปัจจัยต่างๆ เช่น การจัดแสดงนิทรรศการเครื่องประดับ ความร่วมมือกับนักออกแบบ การส่งเสริมการขายบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย บริการแบบเฉพาะบุคคล การขายออนไลน์ ตลอดจนการมุ่งเน้นในเรื่องความยั่งยืน
ศักยภาพพลอยสี
Damien Cody ประธานของ International Colored Gemstone Association กล่าวว่า ตลาดพลอยสีในจีนอยู่ในภาวะหดตัวยาวนานกว่าตลาดอื่นๆ ดังนั้นการฟื้นตัวจึงเด่นชัดกว่า
Lu Ying ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบของ Privaguet Jewelry เห็นว่า ผู้บริโภคจีนสนใจในอัญมณีที่มีเอกลักษณ์ เช่น ทับทิม มรกต และพาราอิบาทัวร์มาลีน ปริมาณที่ลดน้อยลงของพลอยสีหายากยิ่งส่งผลให้มูลค่าในการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคจีนกำลังตระหนักรู้ในเรื่องแหล่งที่มาของอัญมณีเพิ่มขึ้น ดังนั้น การจัดหาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกระบวนการผลิตที่มีจริยธรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญในตลาด
สำหรับตลาดพลอยสีในปี 2567 นั้น Lu คาดว่าจะขยายตัวอย่างเชื่องช้า โดยจะกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นในเดือนมิถุนายนเมื่อการบริโภคเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และผู้บริโภคจะให้ความสำคัญมากขึ้นในเรื่องความยั่งยืน คุณภาพสินค้า รวมถึงนวัตกรรมการออกแบบ
แปลและเรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กุมภาพันธ์ 2567
ข้อมูลอ้างอิง