ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

การเติบโตจากจีนสู่อินเดีย ความสำคัญต่อตลาดอัญมณีและเครื่องประดับโลก

Mar 18, 2024
4223 views
0 share

        ในปี 2567 เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายประการต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีหลายปัจจัยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับแรงกระเพื่อมจากความผันผวนในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน โดยเฉพาะ

        สองผู้เล่นสำคัญอย่างจีนและอินเดีย ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญของตลาดทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ที่สามารถบ่งบอกทิศทางตลาดได้ 

ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2567

ในปี 2567 นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่า ทิศทางเศรษฐกิจจะมีลักษณะที่ผสมผสานระหว่างโอกาสและความท้าทาย ปัจจัยต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์คาดการณ์ถึงความสมดุลที่ละเอียดอ่อนระหว่างการเติบโตและความไม่แน่นอน โดยบางภูมิภาคสามารถขยายตัวได้แข็งแกร่งขึ้น ในขณะที่บางภูมิภาคยังคงเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ

เมื่อพิจารณาตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นั้น เห็นได้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงจาก 3% ในปี 2566 สู่ระดับ 2.9% ในปี 2567 โดยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วนั้นได้รับผลกระทบจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมีส่วนกดดันให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง คาดว่าในปี 2567 ประเทศในกลุ่มนี้จะเติบโตได้ 1.4% ลดลงจากระดับ 1.5% ในปี 2566 โดยเป็นผลจากความกดดันจากอัตราเงินเฟ้อสูงในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีทิศทางลดลงในหลายประเทศแต่ยังกระทบต่อการเติบโต โดยอัตราเงินเฟ้อของโลกในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 6.9% และมีแนวโน้มที่จะลดลงสู่ระดับ 5.8% ในปี 2567 และคาดว่าจะลดลงสู่ระดับที่เหมาะสมในปี 2568 (นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ระดับที่เหมาะสมอยู่ที่ราว 2-3% ถือว่าดีต่อเศรษฐกิจ)

 ตารางตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศคู่ค้าหลักในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ


ข้อมูลจาก : https://www.imf.org/

        เมื่อพิจารณาการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2567 ในกลุ่มประเทศที่สำคัญนั้น พบว่า ในปี 2567 มีเพียงฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ที่ GDP มีแนวโน้มเติบโตมากกว่าปี 2566 ทำให้ในภาพรวมของยูโรโซนเติบโตได้ตามไปด้วย ส่วนอินเดียและอิตาลีจะมีทิศทางทรงตัวไม่ต่างจากปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่กดดันราคาสินค้านั้น ในทุกประเทศสำคัญล้วนมีแนวโน้มลดลง มีเพียงจีนที่ปรับตัวขึ้นจาก 0.7% เป็น 1.7% และปัญหาอัตราว่างงานในภาพรวม หลายประเทศจะมีทิศทางไม่ต่างจากปีก่อนมากนัก 

นอกจากนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างเช่น การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงไว้ต่อเนื่องจะมีส่วนทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่นักวิเคราะห์คาดว่า เฟดยังคงรักษาการคุมเข้มนโยบายการเงิน คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ต่อไปอีกกระทั่งถึงช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 ขณะที่ในยูโรโซนนั้น เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในวงกว้างจากปัจจัยกดดันหลักอย่างภาวะตึงตัวทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง การส่งออกที่ชะลอตัว ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราว่างงานสูง และปัญหาราคาพลังงานพุ่งสูงในช่วงก่อนนี้ ทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจอ่อนแอ ขาดปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโต กระทบความเชื่อมั่นและการบริโภค 
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

ตลอดปี 2566 มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจบางส่วน รวมถึงมีความผันผวนท่ามกลางโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นตลอดปี ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลายประเด็นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ดังนี้

     ด้านอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอาจทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง เนื่องจากอัญมณีและเครื่องประดับถูกมองว่าไม่ใช่สินค้าจำเป็น การลดลงของรายได้ส่งผลให้ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ 
     ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แหล่งวัตถุดิบนั้นมีกระจายอยู่หลายแหล่งทั่วโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราโดยเฉพาะสกุลสำคัญที่มีสัดส่วนการใช้สูงอย่างดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เงินเยน และปอนด์สเตอร์ลิง อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบและส่งผลต่อกลยุทธ์การกำหนดราคาสำหรับผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
     ด้านการลงทุน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพราะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง หากภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการลงทุนโครงการใหม่ๆ ทำให้ชะลอการลงทุนออกไป
     ด้านนโยบาย ในการดำเนินนโยบายของทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นอีกส่วนสำคัญที่ส่งผลเชิงบวกและเชิงลบต่ออุตสาหกรรมได้ ดังเช่นการปรับลดภาษี การส่งเสริมการลงทุนและการค้า หรือข้อตกลงการค้าเสรี เป็นส่วนส่งเสริมที่ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน นอกจากนี้ นโยบายกีดกันทางภาษีและไม่ใช่ภาษี หรือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การคว่ำบาตร ล้วนส่งผลให้เกิดอุปสรรคทางการค้า 
     ด้านอื่นๆ ได้แก่ ประเด็นทางเทคโนโลยีดิจิทัล กระแสแฟชั่น และกระแสรักษ์โลก ล้วนเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เพราะกระทบต่อทั้งฝั่งผลิตและผู้บริโภค ซึ่งหากธุรกิจสามารถจับประเด็นเหล่านี้มาได้ทันกระแสย่อมก่อให้เกิดความได้เปรียบ

โดยปัจจัยต่างๆ ข้างต้น เป็นประเด็นเฝ้าระวังและควรพิจารณาเพื่อนำมาประกอบการทำกลยุทธ์ทางการตลาดในปีนี้ นอกจากปัจจัยข้างต้นที่เป็นประเด็นสำคัญต่ออุตสาหกรรมแล้ว ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเป็นอีกประเด็นสำคัญที่สามารถก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งอุตสาหกรรมได้ทั้งเชิงบวกและลบ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานแล้ว พบว่า ผู้เล่นรายใหญ่ที่มีความสำคัญมีอยู่สองประเทศ คือ จีนและอินเดีย ซึ่งเป็นทั้งตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และโรงงานผลิตของโลกในคราเดียวกัน

จีน ตลาดผู้บริโภคและโรงงานผลิตของโลก

จีนนั้นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ในการยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้จีนเข้ามามีส่วนสำคัญด้านการค้าและการผลิต กระทั่งได้รับชื่อว่าเป็น โรงงานของโลก ต่อยอดมาถึง Made in China 2025 ล้วนเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้จีนสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของโลก เมื่อเทียบจากมูลค่า GDP ซึ่งอยู่ที่ 17.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจากสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่า 25.46 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้รายได้ของประชากรในประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยมาจากหลายปัจจัยที่ส่งผลอย่างเช่น 

1. การเติบโตของเมืองใหญ่ทั่วประเทศ 
ปัจจุบันมี 5 เมืองที่อยู่ในระดับ Tier 1 ซึ่งเป็นเมืองที่มีมูลค่า GDP มากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ ปักกิ่ง ฉงชิ่ง กวางโจว เซี่ยงไฮ้ และเทียนจิน ขณะที่ระดับ Tier 2 ซึ่งมีมูลค่า GDP ระหว่าง 68,000-299,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีถึง 30 เมือง ในปัจจุบันเมืองระดับ Tier 2 มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วหลายแห่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าและอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับเมืองระดับ Tier 3 ที่มี GDP ระหว่าง 18,000-67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่กำลังเติบโต ผู้คนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งทำให้เกิดแรงซื้อเครื่องประดับเพื่องานแต่งงาน เป็นของขวัญและเพื่อตนเองเพิ่มมากขึ้นด้วย
2. การขยายตัวของชนชั้นกลาง
ชนชั้นกลางในจีนมีการขยายตัวสูงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งคำนิยามจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน  (NBS) ระบุว่า กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง วัดจากครัวเรือนที่มีสมาชิกสามคน ซึ่งมีรายได้ต่อปีระหว่าง 100,000-500,000 หยวนต่อปี (ราว 13,938-69,691 ดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 31,370 หยวน (4,374 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปี 2556 ประมาณการว่า มีประชากรมากกว่า 50% หรือมากกว่า 700 ล้านคนของจีนอยู่ในชนชั้นกลาง ซึ่ง Boston Consulting Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลกของสหรัฐอเมริกา ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2565-2573 จีนจะมีชนชั้นกลางและระดับสูงเพิ่มขึ้นอีกกว่า 80 ล้านคน ซึ่ง 70% ของจำนวนนี้มาจากเมืองระดับ Tier 3 และต่ำกว่า 

ด้วยการขยายตัวของชนชั้นกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ทำให้ประชาชนหันมาสนใจบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยรวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้นตามไปด้วย ประมาณการว่า จีนมีสัดส่วนในการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยราว 25% จากยอดรวมทั่วโลก โดยข้อมูลจาก Gem to China ระบุว่า เมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น กวางโจว และหางโจว เป็น 5 เมืองที่มีการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับมากที่สุดในจีน ทั้งนี้ หากจำแนกตามความนิยมในการบริโภคจะพบว่า 3 อันดับแรก คือ เครื่องประดับทอง (สัดส่วน 57%) หยก (สัดส่วน 21%) เครื่องประดับเพชร (สัดส่วน 11%) โดยจีนนั้นเป็นผู้บริโภคเครื่องประดับทองอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนาน มีสัดส่วนราว 30% ของโลก มีเพียงปี 2565 ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้อินเดียแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แทน (ข้อมูลจาก World Gold Council) 


        ในด้านฝั่งอุปทานนั้น จีนเป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลก มีกำลังผลิตราว 375 ตัน ทั้งยังมีการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง รวมทั้งนโยบายการผันตัวเป็นโรงงานโลก ทำให้หลายมณฑลมีเมืองที่เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับด้วย ดังเช่น
    • กวางโจว นับเป็นศูนย์กลางในด้านการผลิตเครื่องประดับไฮเอนด์และการขึ้นตัวเรือน มีโรงงานเจียระไนอัญมณีกว่า 1,000 แห่ง ร่วมกับผู้ค้าส่งและค้าปลีกนับพันราย
    • เซินเจิ้น เป็นฐานการผลิตที่เน้นความชำนาญในด้านเครื่องประดับเพชรและเครื่องประดับทองซึ่งมีแบรนด์ชั้นนำหลายรายใช้เป็นฐานการผลิต มีการพัฒนาด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ที่แห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการค้า การขนส่ง และการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญในจีน
    • เค่อถัง เป็นเมืองเล็กๆ ในจังหวัดซ่านเหว่ย มีโรงงานด้านตัดและแกะสลักเป็นจำนวนมาก ทั้งยังเป็นศูนย์รวมด้านตัดและขัดเงาลูกปัดทำจากพลอยสีที่ราคาไม่แพง เช่น อะความารีน การ์เนต และควอตซ์ ที่มีคุณภาพต่ำ ที่แห่งนี้ยังมีตลาดค้าลูกปัดหินสีขนาดใหญ่อีกด้วย
    • หยางเหมย เมืองในจังหวัดเจียหยาง ซึ่งอยู่ในมณฑลกวางโจว เป็นศูนย์กลางด้านตัดและเจียระไนสำหรับหยกเจไดต์คุณภาพสูง
    • เถิงชง และลุ่ยลี่ เป็นเมืองในมณฑลยูนนาน ซึ่งทั้งสองแห่งมีอาณาเขตติดทางตอนเหนือของเมียนมา จึงเป็นแหล่งการค้าสำคัญที่พ่อค้าชาวเมียนมานำหยกและพลอยสีมาค้าขายกันอย่างคึกคัก

ทั้งนี้ หลายเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ยังเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกของแบรนด์ดังของจีนและฮ่องกง รวมทั้งแบรนด์ดังจากต่างประเทศ จึงเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก

แม้ว่าจะยังมีปัญหาจากเศรษฐกิจในระดับมหภาค แต่เนื่องด้วยจีนนั้นมีสัดส่วนการออมต่อ GDP สูงมาก ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุว่า จีนมีสัดส่วนการออมสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยสัดส่วน 47% ของ GDP รองจากกาตาร์ (สัดส่วน 58%) และนอร์เวย์ (สัดส่วน 51%) จึงทำให้ฐานะทางการเงินได้รับผลไม่มากนัก และมีแนวโน้มที่ชาวจีนจะเริ่มออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศและจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ภายในปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยผลักดันตลาดให้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการซื้อเครื่องประดับในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญ การซื้อเพื่อตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสะสมมูลค่าในการลงทุน รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวที่เปิดรับวัฒนธรรมจากภายนอก จึงมีการซื้อหาเครื่องประดับเพื่อสะท้อนตัวตนและบุคลิกเฉพาะตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ รายงานว่า จีนเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของธุรกรรมออนไลน์ทั่วโลก มีชาวจีนมากกว่า 710 ล้านคนที่ซื้อของผ่านทางดิจิทัล โดยธุรกรรมดิจิทัลออนไลน์ของจีนคาดว่าจะสูงถึง 3.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2567 จึงเป็นช่องทางที่น่าสนใจซึ่งมอบโอกาสสำหรับธุรกิจ ดังนั้น หากสามารถเข้าใจวัฒนธรรมการบริโภค เข้าใจตลาดในแต่ละ Tier และสร้างความคุ้นเคยกับผู้บริโภคในตลาด การเข้าสู่ตลาดแดนมังกรนี้ย่อมเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ 

ตารางการจัดลำดับเมืองใน Tier ต่างๆ ของจีน

   ที่มา: https://www.china-briefing.com/

อินเดีย ตลาดของคนวัยหนุ่มสาวและชนชั้นกลาง

อินเดียประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ด้วยประชากรกว่า 1,428 ล้านคน (ข้อมูลปี 2566 จาก Worldometer) มีประชากรวัยทำงานมากถึง 900 ล้านคน เศรษฐกิจอินเดียฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และกำลังจะเติบโตได้ 6.4% ในปีงบประมาณปัจจุบันซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มีนาคม 2567 จากที่เติบโต -7.2% ในปีงบประมาณก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ทำให้ S&P Global หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจ คาดการณ์ว่า อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ภายในปี 2573 ปัจจุบันอินเดียอยู่ในอันดับที่ 5 รองจากสหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี และญี่ปุ่น โดยปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียมาจากการตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกในสินค้าหลายอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีและนวัตกรรม การลงทุนจากนานาชาติ และผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น

อินเดียมีความเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมาอย่างยาวนานนับพันปีเช่นเดียวกับจีน ซึ่งสร้างความสำเร็จ ชื่อเสียง และความสำคัญให้เกิดขึ้นกระทั่งกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเพชร พลอยสี และเครื่องประดับทอง อุตสาหกรรมนี้เติบโตต่อเนื่องกระทั่งมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 7% ของ GDP สามารถสร้างงานได้มากกว่า 4.64 ล้านอัตรา ก่อให้เกิดรายได้มหาศาลและเป็นประโยชน์ต่อคนในชาติ ซึ่งสองปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโต คือ

1. รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม
ภาครัฐมีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทางขึ้นมาให้การช่วยเหลือและสนับสนุนในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ Gem and Jewellery Export Promotion Council (GJEPC) และ Gem & Jewellery Skill Council of India (GJSCI) เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่งสำหรับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะกระจายอยู่ในหลายเมืองสำคัญ อาทิ มุมไบ ไฮเดอราบัด จัยปูร์ เป็นต้น โดยมอบสิทธิพิเศษทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อจูงใจบริษัทของทั้งชาวอินเดียและต่างชาติให้เข้าไปประกอบกิจการ นโยบายอีคอมเมิร์ซสนับสนุนการค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการส่งออกของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 85% ของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศ ธนาคารพาณิชย์มีการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้มีเงินทุนหมุนเวียน ลดการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งการทำข้อตกลงการค้าของภาครัฐกับคู่ค้าที่สำคัญหลายประเทศในการขยายตลาดทางการค้า 
2. การเติบโตของชนชั้นกลาง 
ในช่วงปี 2533 อินเดียมีชนชั้นกลางประมาณ 30 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของประชากรทั้งประเทศ นับจากการเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้การเติบโตของ GDP สูงขึ้น ผลักดันให้กลุ่มชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นตามลำดับ ประมาณการว่า มีชนชั้นกลางในอินเดียราว 31% (ราว 442 ล้านคน) ซึ่งจะเพิ่มเป็น 38% ในปี 2574  ซึ่งชนชั้นกลางในอินเดียจะกลายเป็นกลุ่มหลักที่ช่วยส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อความมั่งคั่งของชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น คนกลุ่มนี้จึงซื้อทองคำเพื่อการบริโภคและเป็นการลงทุนเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะทองคำมีความสำคัญต่อประเพณีวัฒนธรรมในแดนภารตะเช่นเดียวกับที่ชาวจีนที่นิยมทองคำ เมื่อรวมปริมาณการบริโภคทั้งสองตลาดจะมีสัดส่วนสูงถึง 56% ของการบริโภคเครื่องประดับทองทั่วโลก 

แม้ว่าการเลือกซื้อหาเครื่องประดับของชาวอินเดียจะขึ้นอยู่กับการจัดงานแต่งงาน ในสัดส่วนมากที่สุด ราว 50-55% แต่ด้วยการเติบโตของชนชั้นกลางและอายุเฉลี่ยของชาวอินเดียที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวราว 28 ปี ทำให้เครื่องประดับเพื่อสวมใส่ในชีวิตประจำวันมีเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วนราว 35-40% (ข้อมูลจาก World Gold Council)