ผู้ผลิตพลอยสีเห็นพ้องกันว่า ไพลินมีปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ จึงเป็นที่ต้องการสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และทำให้ราคาสูงขึ้นอย่างมาก โดยราคาไพลินพุ่งสูง 50-70% และบางชนิดมีราคาสูงขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกับก่อนการระบาดของโควิด-19 แม้สิ่งนี้จะหมายถึงความต้องการที่มั่นคงในตลาด แต่ยังบ่งชี้ถึงการขาดแคลนวัตถุดิบในเหมือง โดยเฉพาะพลอยที่มีคุณภาพชั้นเลิศ
ปัจจุบันผู้ซื้อหันไปหาพลอยที่ไม่ผ่านการเผาคุณภาพสูงและมีขนาด 2 ถึง 6 กะรัต เนื่องจากพลอยขนาดใหญ่กว่านี้มีราคาสูงจนเกินไป พลอยที่ไม่ผ่านการเผาเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดจีน ขณะที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ และยุโรปยอมรับไพลินที่เผาแล้วได้มากกว่า
สีและแหล่งที่มาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อไพลิน โดยลูกค้าที่ต้องการไพลินสีน้ำเงินเข้มแบบคลาสสิกจะเลือกไพลินสีรอยัลบลู (Royal Blue) ขณะที่ผู้ที่ต้องการประกายเจิดจ้ากว่าจะสนใจสีคอร์นฟลาว-เวอร์บลู (Cornflower Blue) แหล่งสำคัญของไพลิน ได้แก่ ศรีลังกา (ซีลอน) เมียนมา มาดากัสการ์ และแคชเมียร์
แม้ไพลินจะมีราคาสูง แต่บรรดาผู้ค้าพลอยต่างเชื่อว่า ความสนใจในไพลินของผู้ซื้อมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเสน่ห์ดึงดูดใจและประวัติความเป็นมาอันพิเศษไม่เหมือนใครของพลอยชนิดนี้
“ความต้องการไพลินไม่ลดน้อยถอยลงแม้ราคาจะพุ่งทะยาน ต้องขอบคุณความหายากและเสน่ห์ธรรมชาติของไพลิน”
ที่มา : www.jewellerynet.com
ไพลินเปล่งประกายระยับ
ในช่วงหลายปีนี้ผู้ค้าและบรรดานักสะสมต่างพากันลงทุนในไพลินอย่างคึกคักทั้งจากความเข้าใจตลาดอย่างถ่องแท้ ราคาของไพลินที่พุ่งสูง ตลอดจนศักยภาพในการเติบโต
เห็นได้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อ Christie’s ขายสร้อยคอประดับไพลินขนาด 392.52 กะรัต ไปด้วยมูลค่าราว 19 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไพลินเม็ดดังกล่าวซึ่งรู้จักกันในชื่อ “Blue Belle of Asia” กลายเป็นไพลินที่มีราคาแพงที่สุดในการขายผ่านการประมูล โดยไพลินจากศรีลังกาเม็ดนี้มีสีพีค๊อกบลู (Peacock Blue – สีคล้ายขนนกยูง) เจียระไนทรงหมอน และห้องปฎิบัติการตรวจสอบอัญมณีของ SSEF ถึงกับพรรณนาว่ามี “คุณสมบัติพิเศษควรค่าแก่การชื่นชมและกล่าวถึงเป็นพิเศษ” ขณะที่สร้อยคอ “Peacock” ที่ Christie’s ฮ่องกง ขายไปด้วยราคาประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ก็สร้างสถิติโลกในการประมูลสร้อยคอประดับไพลินแคชเมียร์ในเวลานั้น
(ซ้าย) สร้อยคอ Blue Belle of Asia และ (ขวา) สร้อยคอ Peacock
นอกจากนี้ ไพลินยังคงเป็นส่วนสำคัญในคอลเลกชันเครื่องประดับชั้นสูงของแบรนด์เครื่องประดับหรู อาทิ Bulgari, Cartier, Van Cleef & Arpels เป็นต้น
ภาพรวมตลาดไพลิน
ตามความเห็นของ Anurak Sinchawla แห่ง Sant Enterprises Co.,Ltd ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำผู้จัดหาไพลินในประเทศไทยนั้น ความต้องการไพลิน โดยเฉพาะที่ไม่ผ่านการเผาพุ่งสูงขึ้นอย่างยิ่งหลังการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากไพลินมีเฉดสีให้เลือกมากมาย และเฉดสีน้ำเงินที่แตกต่างกันนี้ก็ดึงดูดกลุ่มคนที่แตกต่างกัน
ไพลินที่ไม่ได้เผามีราคาแพงขึ้นตามความต้องการที่พุ่งสูง ราคาถีบตัวขึ้นในอัตราที่ลูกค้าไม่อาจเข้าใจหรือปรับตัวได้ทัน และด้วยเหตุที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากท่ามกลางความขาดแคลนพลอยที่ไม่ผ่านการเผา ผู้ที่เข้าใจความซับซ้อนของธุรกิจนี้และต้องการวัตถุดิบจึงยินดีซื้อในราคาปัจจุบัน ทั้งนี้ ผู้ซื้อมักต้องการไพลินที่ไม่ผ่านการเผาขนาด 2 ถึง 5 กะรัต เนื่องจากไพลินที่มีขนาดใหญ่กว่านี้นั้นมีราคาแพงกว่าและเหมาะจะเป็นของสะสมมากกว่า
MYA Rishaf จาก Domico Gems ผู้ค้าพลอยสีซึ่งมีสำนักงานอยู่อยู่ในศรีลังกา จีน มาเลเซีย และสหรัฐฯ เห็นว่า ผู้ซื้อในปัจจุบันต้องมีเงินมากในการซื้อสินค้าระดับพรีเมี่ยม เนื่องจากราคาที่สูงขึ้น 30-50% ตัวอย่างเช่น ไพลินสีรอยัลบลู (ที่มีมลทินภายใน) จากศรีลังกาขนาด 6 กะรัต ขายได้ในราคาประมาณ 16,000 ถึง 19,000 เหรียญสหรัฐ พลอยที่มีคุณภาพสูงกว่าสามารถขายได้ในราคาราว 40,000 เหรียญสหรัฐ ขึ้นอยู่กับความใส คุณภาพ และสี สำหรับไพลินที่ผ่านการเผาขนาด 1 ถึง 2 กะรัต อาจมีราคาสูงราว 1,000 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ไพลินขนาด 10 ถึง 15 กะรัต อาจมีราคาระหว่าง 2,000 ถึง 5,000 เหรียญสหรัฐ
ขณะที่ Mihir Patel แห่ง Krish Creations ให้ข้อสังเกตว่า ตลาดมีความนิยมไพลินที่ไม่ได้เผามากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้ซื้อที่ถามหาไพลินที่ผ่านการเผาภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ไพลินนั้นต้องมีสีรอยัลบลู ส่วนขนาดกะรัตที่ขายได้เร็วที่สุดจะอยู่ที่ 1-2 กะรัต เนื่องจากมีราคาย่อมเยากว่า
อนาคตของไพลิน
ผู้บริหารจาก Sant Enterprises Co.,Ltd ยังคงมั่นใจว่าการค้าไพลินจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะผู้ซื้อยังคงหลงใหลในไพลินไม่เสื่อมคลาย แต่จากปริมาณวัตถุดิบที่มีจำกัดจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันการค้าต่อไป ความต้องการโดยเฉพาะไพลินที่ไม่ได้เผาสวนทางกับปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้อย่างมาก ในที่สุดแล้วการเติบโตของตลาดจะเริ่มคงที่ เพราะผู้ซื้อไม่ยอมรับในระดับราคา เมื่อนั้นราคาก็อาจปรับลดลงได้เล็กน้อย
แปลและเรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มีนาคม 2567