เครื่องประดับเฉพาะบุคคล เทรนด์มาแรงในตลาดยูเค
การผลิตเครื่องประดับตามความต้องการเฉพาะบุคคลและความยั่งยืนเพิ่มสีสันให้ตลาดเครื่องประดับ สหราชอาณาจักร เนื่องจากผู้ค้าปลีก นักออกแบบ และแบรนด์ พากันปรับตัวรับความนิยมของผู้บริโภคและตลาดที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง
แม้จะมีแรงกดดันต่างๆ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมือง ตลาดเครื่องประดับสหราชอาณาจักรก็ยังเติบโตและเต็มไปด้วยความคึกคักในทุกภาคส่วน เชนสโตร์เครื่องประดับไฮสตรีท แบรนด์ระดับโลก ไปจนถึงเครื่องประดับจากนักออกแบบอิสระและระดับกูตูร์ ล้วนเป็นไปในทางบวก เนื่องจากผู้บริโภคที่ทำให้การซื้อเครื่องประดับกลายเป็นประสบการณ์ด้านไลฟ์สไตล์อันล้ำค่านั้นมีจำนวนมากขึ้น
ความต้องการเครื่องประดับแบบเฉพาะบุคคล หรือแบบผลิตจำนวนจำกัด ช่วยกระตุ้นการค้าเครื่องประดับในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ ยังมีการผลิตเครื่องประดับร่วมสมัยระดับพรีเมียมเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวได้ไม่น้อย
ไม่เพียงแค่กลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับไฮเอนด์เท่านั้นที่สนใจในกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการเฉพาะเจางจง ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ค้าปลีกเครื่องประดับไฮสตรีทก็เริ่มนำเสนอบริการดังกล่าวแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อรับมือแบรนด์ระดับโลกที่หันมาเปิดร้านของตนเองและลดหรือเลิกการขายผ่านผู้ค้าปลีกท้องถิ่น อย่างเช่น Pandora แบรนด์จากเดนมาร์ก ได้เพิ่มจำนวนร้านในสหราชอาณาจักรเป็น 277 แห่ง รวมถึงร้านคอนเซ็ปสโตร์แห่งใหม่บนถนนอ๊อกซฟอร์ดใน กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นร้านที่ 3 บนถนนสายช้อปปิ้งที่คึกคักที่สุดของประเทศสายนี้
การเปลี่ยนแปลงของการค้าปลีก
เพื่อเติมเต็มช่องว่างในการให้บริการของแบรนด์ ผู้ค้าปลีกจึงได้หันไปหาระบบคุณค่าแบบดั้งเดิมที่ให้บริการลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจงเป็นพื้นฐาน และการมีผู้ผลิตเครื่องประดับประจำครอบครัวเป็นส่วนสำคัญของชีวิตในวาระต่างๆ
F.Hinds หนึ่งในผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุด มีร้านสาขาถึง 116 แห่งทั่วทั้งอังกฤษและเวลส์ ได้ยกระดับบริการแบบเฉพาะเจาะจง อีกทั้งยังได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้เป็นแบบแนวราบ ให้เจ้าหน้าที่อาวุโสได้ทำงานอยู่ใกล้กับระดับปฎิบัติการและติดตามทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดออนไลน์ โดยเห็นว่าการลงทุนกับพนักงานกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างความภักดี
การผลิตเครื่องประดับแบบเฉพาะเจาะจง
ความต้องการสินค้าแบบเฉพาะเจาะจงมีผู้หญิงเป็นแรงผลักดันหลัก โดยเฉพาะผู้หญิงในช่วงอายุ 30 ถึง 60 ปี ซึ่งเลือกและซื้อสินค้าให้กับตนเอง รวมถึงเครื่องประดับเจ้าสาว และของขวัญสำหรับคู่รักสูงวัยที่เฉลิมฉลองวันครบรอบการใช้ชีวิตคู่ด้วยเครื่องประดับที่ไม่เหมือนใคร
บรรดานักออกแบบจากลอนดอนต่างเห็นตรงกันว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มีความต้องการเครื่องประดับแบบเฉพาะเจาะจงมักให้ความสำคัญอย่างมากต่อการออกแบบ ต่างร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักออกแบบอย่างใส่ใจ อีกทั้งมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเครื่องประดับแบบที่สวมใส่ได้หลากหลายรูปแบบหรืออาจแบ่งปันกันใส่กับคนรักหรือคู่ชีวิตได้ โดยเครื่องประดับบางชิ้นอาจต้องใช้เวลารอคอยนานถึงสองปี สนนราคาอาจแตกต่างกันไปตั้งแต่ระดับ 5,000 ปอนด์ (ประมาณ 6,267 เหรียญสหรัฐ) ไปจนถึง 350,000 ปอนด์ (ประมาณ 438,700 เหรียญสหรัฐ) เลยทีเดียว
อัญมณีที่มีความยั่งยืน
เทรนด์ที่สำคัญของบริการแบบเฉพาะเจาะจงก็คือ การผลิตเครื่องประดับเพื่อเป็นมรดกตกทอดขึ้นมาใหม่ โดยเทรนด์นี้ขยายตัวในหมู่หนุ่มสาวทั้งในลักษณะของการนำเครื่องประดับที่เป็นมรดกและการซื้อเครื่องประดับเก่านำมาซ่อมแซม/ทำใหม่
Danila Tarcinale นักออกแบบเครื่องประดับ และประธานของ Institute of Professional Goldsmiths ระบุว่า เทรนด์นี้เชื่อมโยงโดยตรงกับแนวคิด “Re-Love, Recycle and Up-Cycle” คนรุ่นใหม่กำลังหันไปสนใจการซื้ออย่างมีจริยธรรมและต้องการทราบแหล่งที่มาของวัสดุนั้น เห็นได้จากเพชรสังเคราะห์ (Lab-Grown Diamond : LGD) ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของประเด็นความยั่งยืน และผู้ค้าปลีกหลายรายนำเสนอสินค้าเหล่านี้ในคอลเลกชันต่างๆ โดยย่านฮัตตัน การ์เดนท์ ในลอนดอนซึ่งเป็นย่านที่ผู้คนนิยมไปซื้อหาแหวนหมั้นและเครื่องประดับเจ้าสาว ก็มีเพชร LGD หลากหลายรูปแบบวางจำหน่าย
นอกจากนี้ Tarcinale ยังเห็นว่า เพชร LGD ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและขยายขีดจำกัดในเรื่องขนาดและรูปทรงสำหรับนักออกแบบ แม้ว่าราคาของเพชร LGD จะลดลง แต่ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องประดับหรู แม้แต่ผู้ประกอบการอิสระที่ขายให้กับลูกค้ากลุ่มไฮเอนด์ก็ยังเลือกเพชร LGD หากลูกค้าต้องการสีสันโดยเฉพาะสีเหลืองและชมพู
ขณะที่ความต้องการเครื่องประดับมุกในสหราชอาณาจักรก็เติบโตขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอลเลกชันสำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวันที่ประดับมุกอโกย่าและมุกน้ำจืดคุณภาพสูง
ข้อเสียเปรียบของอุตสาหกรรม
ในทรรศนะของ Tarcinale นั้น การออกแบบเครื่องประดับแบบเฉพาะเจาะจงที่กำลังขยายตัวนี้มีอุปสรรคมาจากข้อจำกัดเรื่องการห้ามสวมใส่เครื่องประดับในที่ทำงาน ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ยอดขายจากส่วนตลาดนี้หายไปจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปนั้น มีผลกระทบในทางลบ โดยช่างทองและช่างฝีมือจำนวนไม่น้อยย้ายกลับไปยังบ้านเกิดในยุโรป ขณะที่กลุ่มร้านค้าอิสระก็สูญเสียลูกค้ากำลังซื้อสูงซึ่งย้ายออกนอกประเทศภายหลังการแยกตัวดังกล่าว รวมถึงการนำเข้าส่งออกเครื่องประดับนั้นก็มีกฎระเบียบและพิธีการทางศุลกากรระหว่างประเทศที่ยุ่งยาก รวมถึงค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่าย แม้สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้แต่ต้องรออีกหลายเดือน
ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ภาพรวมยังมีแนวโน้มที่ดีและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมมองในแง่บวกว่าตลาดเครื่องประดับสหราชอาณาจักรจะยังคงขยายตัวได้มากในปี 2567
แปลและเรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เมษายน 2567
ข้อมูลอ้างอิง
(Retrieved February 20, 2024).