ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

อุตสาหกรรมอัญมณีในดินแดนสายรุ้ง

May 21, 2024
1616 views
0 share

        แอฟริกาใต้ หรือชื่อเป็นทางการคือ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ หรือเรียกกันกว่า ดินแดนสายรุ้ง  ตั้งอยู่ทางใต้สุดของทวีปแอฟริกา มีขนาดใหญ่กว่าไทย 2 เท่า เมืองหลวงชื่อ พริทอเรีย (Pretoria) ปัจจุบันมีประชากรราว 61 ล้านคน เป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ซึ่งครอบคลุมวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาที่แตกต่างกัน และแอฟริกาใต้มีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานโดยเฉพาะถ่านหินสำรองมากเป็นลำดับ 6 ของโลก (3 หมื่นล้านตัน) รวมถึงยังเป็นแหล่งผลิตโลหะมีค่าอย่างทองคำ และอัญมณีหลายชนิด เช่น เพชร พลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนหลากหลายชนิด นับเป็นประเทศที่เจริญมากที่สุดในทวีปแอฟริกา

อัญมณีในแอฟริกาใต้

อุตสาหกรรมอัญมณีในประเทศแอฟริกาใต้มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการผลิตและการค้าอัญมณีที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก แอฟริกาใต้ไม่เพียงแต่อุดมไปด้วยเพชรเท่านั้น แต่ยังมีอัญมณีหลากหลายชนิดอีกด้วย โดยอัญมณีที่โดดเด่นในแอฟริกาใต้มีดังต่อไปนี้

        - เพชร แอฟริกาใต้เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ของโลก เป็นต้นกำเนิดของเพชรคัลลิแนน เพชรใสไร้สีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยน้ำหนัก 3,106.75 กะรัต (ขุดค้นพบในปี 2448) แอฟริกาใต้มีแหล่งผลิตเพชรจำนวนมากกระจายอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมเพชรของแอฟริกาใต้มีส่วนสำคัญต่อตลาดเพชรทั่วโลก เหมืองเพชรสำคัญในแอฟริกาใต้ ได้แก่ 

        - The Premier Mine เหมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองคัลลิแนน ใกล้กับพริทอเรีย มีชื่อเสียงในด้านการผลิตเพชรที่ใหญ่ที่สุดและคุณภาพสูงที่สุดในโลก รวมถึงเพชรคัลลิแนน ซึ่งเป็นเพชรคุณภาพอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา 

        - เหมืองเพชร Venetia ในจังหวัด Limpopo เป็นเหมืองเพชรที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาใต้ และเป็น 1 ใน 10 เหมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีปริมาณเพชรสำรองอยู่ราว 88 ล้านกะรัต


Cullinan Dream Diamond ของแอฟริกาใต้ เป็นหนึ่งในเพชรสีน้ำเงินเข้มที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ภาพ: https://www.capetowndiamondmuseum.org

        นอกจากนี้ยังมีเหมืองเพชรอื่นๆ อีกหลายแห่งที่ยังดำเนินการอยู่ เช่น เหมืองเพชร Finsch และ  Bo-Karoo Diamond Mine ในจังหวัด Northern Cape และเหมืองเพชร Voorspoed ในจังหวัด Free State เป็นต้น

        อุตสาหกรรมเพชรของแอฟริกาใต้มีชื่อเสียงในด้านการผลิตเพชรคุณภาพสูง ซึ่งผู้บริโภคและผู้ค้าอัญมณีทั่วโลกให้คุณค่าอย่างสูง เหมืองเพชรในแอฟริกาใต้ผลิตเพชรหลากหลายขนาดและหลากหลายสี (เพชรสีแฟนซี) ที่หาได้ยากและเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดโลก รวมถึงแอฟริกาใต้ยังเป็นศูนย์กลางตัดและเจียระไนเพชรที่สำคัญ อีกทั้งยังมีช่างฝีมือผู้มีทักษะจำนวนมากที่สามารถออกแบบและผลิตเครื่องประดับเพชรที่สวยงามและมีคุณค่าได้ 

        อุตสาหกรรมเพชรมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจแอฟริกาใต้มายาวนาน โดยคิดเป็นประมาณ 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมเพชรราว 500,000 คน สร้างรายได้ให้กับประเทศโดยเฉลี่ยประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเพชรในแอฟริกาใต้ได้เผชิญกับความท้าทายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการนัดหยุดงานของแรงงานประท้วงรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ ราคาเพชรและอุปสงค์ต่อเพชรของโลกที่ลดลง อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเพชรแอฟริกาใต้อีกด้วย แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ อุตสาหกรรมเพชรแอฟริกาใต้ก็ยังคงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงานและรายได้ให้กับผู้คนจำนวนมาก และเนื่องจากตลาดเพชรในแอฟริกาใต้มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับตลาดเพชรทั่วโลก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และราคาเพชรในตลาดโลก ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเพชรแอฟริกาใต้

เนื่องจากรัฐบาลแอฟริกาใต้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเพชรซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล  รัฐบาลจึงออกกฎบัตรเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศและทำให้ประโยชน์ตกอยู่กับคนท้องถิ่นด้วย เช่น เรียกเก็บภาษีส่งออกเพชรดิบ บริษัทเหมืองเพชรจะต้องเพิ่มมูลค่าก่อนส่งออกเพชร โดยจ้างคนท้องถิ่นเจียระไน การขัดเงา หรือผลิตเครื่องประดับ กำหนดให้เจ้าของเหมืองแบ่งปันรายได้และพัฒนาสังคมท้องถิ่น รวมถึงการควบคุมอุตสาหกรรมเหมืองเพชรผ่านหน่วยงานด้านกฎหมายและกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าสอดคล้องกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมายแรงงาน และหลักปฏิบัติในการทำเหมืองตามหลักจริยธรรม และเข้าร่วมในโครงการ Kimberley Process Certification Scheme ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการค้าเพชรที่มีข้อขัดแย้งอีกด้วย

        - มรกต แหล่งผลิตมรกตที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ Gravelotte-Leydsdorp ในจังหวัด Limpopo ของแอฟริกาใต้ในปี 2470 ปัจจุบันแหล่งที่พบมรกตในแอฟริกาใต้อยู่ในจังหวัด Limpopo โดยเฉพาะในพื้นที่รอบๆ เมือง Gravelotte โดยทั่วไปมรกตเหล่านี้มีคุณภาพต่ำกว่าเมื่อเทียบกับที่พบในส่วนอื่นๆ ของโลก โดยส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีระดับความใสและสีที่แตกต่างกัน แม้จะมีการผลิตมรกตอย่างจำกัดในแอฟริกาใต้ แต่บริษัทเหมืองก็ยังมีความพยายามที่จะสำรวจและพัฒนาแหล่งผลิตมรกตเพิ่มเติม ล่าสุด URA Holdings ได้เพิ่มทุน 1.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกลับมาเริ่มดำเนินการเหมืองมรกต Gravelotte ที่บริษัทเป็นเจ้าของ 74%

        - แซปไฟร์ แอฟริกาใต้มีชื่อเสียงในเรื่องแซปไฟร์สีน้ำเงินและแซปไฟร์สีแฟนซี มักพบในภูมิภาคตะวันออกของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ Limpopo และ Mpumalanga แม้ว่าจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเท่ากับแซปไฟร์จากประเทศอื่นๆ แต่แซปไฟร์ของแอฟริกาใต้ก็มีคุณภาพดี มีความใส และเฉดสีที่สวยงามสามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าจากหลายประเทศทั่วโลกได้เช่นกัน

        - ทับทิม มีการค้นพบทับทิมในบางพื้นที่ของประเทศ ซึ่งทับทิมในแอฟริกาใต้มักจะมีสีชมพู ชมพู-แดง หรือม่วง-แดง โดยเหมืองทับทิมที่มีชื่อเสียงในแอฟริกาใต้อยู่ในเขต Namaqualand ทางภาคตะวันตกของประเทศ โดยเหมืองนี้ผลิตทับทิมสีแดงเข้มที่มีชื่อเสียง นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบทับทิมในเขตอื่น ๆ ของประเทศด้วย เช่น จังหวัด Limpopo และจังหวัด Northern Cape แต่ทับทิมที่พบในแอฟริกาใต้จะมีขนาดเล็กและคุณภาพต่ำกว่าเมื่อเทียบกับทับทิมที่พบในประเทศอื่นๆ ของโลก อีกทั้งยังมีปริมาณผลิตน้อยมากด้วย


ทับทิมจากแอฟริกาใต้

ภาพ: https://www.ebay.com

        - ทัวร์มาลีน ทัวร์มาลีนที่พบในแอฟริกาใต้มีหลายสี ได้แก่ สีเขียว ชมพู และน้ำเงิน มักพบในจังหวัด  Northern Cape โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่รอบๆ เมือง Upington ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการผลิตทัวร์มาลีนคุณภาพสูง สีและคุณภาพของทัวร์มาลีนของแอฟริกาใต้ทำให้เป็นที่ต้องการของนักสะสมและผู้ชื่นชอบเครื่องประดับเป็นอย่างมาก

        - โกเมน แอฟริกาใต้มีโกเมนหลายประเภท เช่น อัลมันดีน ไพโรป และสเปซาร์ทีน โกเมนเหล่านี้พบได้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงจังหวัด Northern Cape และจังหวัด Limpopo โดยโกเมนที่พบมีหลายสีตั้งแต่สีแดงเข้มไปจนถึงสีแดงส้ม สีม่วงแดง และสีน้ำตาลแดง


โกเมนจากแอฟริกาใต้

ภาพ: https://shorturl.asia/TlZih

         - แทนซาไนต์ แม้ว่าแทนซาไนต์จะพบได้ในแทนซาเนียเป็นหลัก แต่สามารถพบอัญมณีชนิดนี้ได้ในแอฟริกาใต้ด้วย โดยค้นพบในจังหวัด Northern Cape ใกล้กับชายแดนนามิเบีย อย่างไรก็ตาม การผลิตแทนซาไนต์ของแอฟริกาใต้ยังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับแทนซาเนีย 

        - เพริดอต เพริดอตที่พบในแอฟริกาใต้มักมีสีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม โดยพบได้ในจังหวัด Northern Cape และจังหวัด Limpopo แม้ว่าจะไม่อุดมสมบูรณ์เท่ากับภูมิภาคอื่นๆ แต่เพริดอตของแอฟริกาใต้ก็มีความใสและสีสวยงาม เป็นที่ชื่นชอบและยอมรับของลูกค้าในตลาดโลก

        - อัญมณีอื่นๆ สามารถพบอัญมณีชนิดอื่นๆ ในแอฟริกาใต้ได้อีกหลากชนิด เช่น ไทเกอร์อาย โทแพซ แอเมทิสต์ โรโดไนต์ และอความารีน เป็นต้น โดยอัญมณีเหล่านี้พบได้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ และมีส่วนทำให้เกิดความหลากหลายของอุตสาหกรรมอัญมณีของแอฟริกาใต้

การที่แอฟริกาใต้มีอัญมณีพลอยสีหลากหลายชนิด เป็นการช่วยเพิ่มความมั่งคั่งของประเทศ และมีส่วนทำให้แอฟริกาใต้กลายเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในตลาดอัญมณีของโลก แม้ว่าเพชรอาจครองตลาดอัญมณีเป็นส่วนใหญ่ แต่การมีพลอยสีหลากหลายชนิด เป็นการเสริมศักยภาพของประเทศในด้านทรัพยากรแร่ที่หลากหลายและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

การค้าอัญมณีในแอฟริกาใต้

แอฟริกาใต้มีศูนย์กลางการค้าอัญมณีหลายแห่ง โดยศูนย์การค้าอัญมณีที่สำคัญของประเทศ ได้แก่

        - เมือง Johannesburg มักเรียกกันว่า "เมืองแห่งทองคำ" ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางการค้าทองคำที่สำคัญของประเทศเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการค้าอัญมณีอีกด้วย โดยในย่าน Diamond District ในตัวเมือง Johannesburg มีผู้ค้าและผู้ซื้อเพชรจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีตลาดค้าอัญมณีกระจายอยู่ทั่วเมือง ดังนั้น เมืองนี้จึงเป็นที่รวมตัวของเหล่าผู้ค้า และนายหน้าอัญมณีจำนวนมาก จึงทำให้การค้าอัญมณีในเมืองนี้ค่อนข้างคึกคัก 

        อีกทั้ง การที่ Johannesburg มีสนามบินนานาชาติ อำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกอัญมณี จึงทำให้เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและส่งออกอัญมณีที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค ซึ่งในเมืองนี้มีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนานาชาติเป็นประจำทุกปี (ช่วงเดือนกันยายน) คืองาน Jewellex Africa จัดขึ้นโดย the Jewellery Council of South Africa นับเป็นโอกาสแก่ผู้ค้าอัญมณีในการนำเสนอสินค้า สร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างกัน 

        - เมือง Cape Town เป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการค้าอัญมณีที่โดดเด่น บรรยากาศอันงดงามของเคปทาวน์ บวกกับวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา และทำเลที่ตั้งที่สะดวกต่อการเดินทาง รวมถึงเป็นศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้เคปทาวน์เป็นจุดหมายปลายทางดึงดูดนักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ค้าอัญมณีและผู้ชื่นชอบอัญมณีจากทั้งในและต่างประเทศให้ไปเยือนเมืองนี้ 

        ภายในเมือง Cape Town มีตัวแทนจำหน่ายอัญมณี ร้านขายเครื่องประดับ และบริษัทที่จำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ V&A Waterfront ที่มีชื่อเสียงของเมือง มีร้านขายเครื่องประดับและร้านบูติกหลายแห่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับอัญมณีอย่างเพชรและพลอยสีที่มีอยู่หลากหลายชนิดได้

        - เมือง Durban แม้ว่าจะมีจำนวนร้านค้าอัญมณีไม่มากเท่าสองเมืองข้างต้น แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญในการซื้อ/ขายอัญมณีภายในประเทศ ซึ่งภายในเมืองนี้มีตัวแทนจำหน่ายอัญมณีและร้านขายเครื่องประดับที่จำหน่ายอัญมณีหลากหลายประเภท รวมถึงเพชร พลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อน ให้บริการทั้งลูกค้าในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อเครื่องประดับตกแต่งอัญมณีหรือพลอยสีเม็ดร่วง

โอกาสของไทยในแอฟริกาใต้

แอฟริกาใต้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกอัญมณีที่มีชื่อเสียงของโลก อัญมณีจากแอฟริกาใต้เป็นที่รู้จักด้านความสวยงามและคุณภาพดี ถือเป็นซัพพลายเออร์ที่มีบทบาทสำคัญในตลาดโลก ซึ่งได้มีการส่งออกอัญมณีไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก  

จากสถิติของ Global Trade Atlas พบว่า ในปี 2566 แอฟริกาใต้ส่งออกเพชรไปยังตลาดโลกด้วยมูลค่า 2,047.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดส่งออกหลักใน 3 อันดับแรกคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (สัดส่วน 53.64%) เบลเยียม (สัดส่วน 14.79%) และบอตสวานา (สัดส่วน 11.60%) ตามลำดับ ขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกเพชรของแอฟริกาใต้ในอันดับที่ 9 (สัดส่วน 0.19%) 

ส่วนการส่งออกพลอยสีของแอฟริกาใต้ในปี 2566 พบว่า แอฟริกาใต้ส่งออกพลอยสีไปยังตลาดโลกด้วยมูลค่า 14.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกพลอยเนื้ออ่อน โดยส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างจีน (สัดส่วน 53.95%) สหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 16.97%) และเยอรมนี (สัดส่วน 4.69%) ส่วนไทยเป็นตลาดส่งออกพลอยสีในอันดับที่ 18 (สัดส่วน 0.44%) 

        ทั้งนี้ ไทยและแอฟริกาใต้มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน ตลอดจนมีความร่วมมือด้านต่างๆ โดยได้ลงนามความตกลงทางการค้า (Trade Agreement) ระหว่างกัน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2544 และได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย - แอฟริกาใต้ (Joint Trade Committee: JTC) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาแนวทางและโอกาสขยายการค้าและการลงทุน รวมทั้งแก้ไขปัญหา และอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน