
ศิลปะการวาดภาพเครื่องประดับ
ในยุคแห่งความก้าวหน้าทางดิจิทัล การวาดภาพสีน้ำแบบดั้งเดิมถูกมองว่าเป็นทักษะเฉพาะที่หาได้ยาก นักออกแบบเครื่องประดับตอกย้ำถึงความสำคัญและสนับสนุนการรักษาการวาดภาพสีน้ำไว้เป็นกระบวนการบังคับในการสร้างสรรค์เครื่องประดับ
ในขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลแพร่เข้ามาสู่อุตสาหกรรมเครื่องประดับ แต่การชื่นชมในความโรแมนติกของการวาดภาพได้ฟื้นคืนมาใหม่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของซอฟต์แวร์ดิจิทัลได้ปฏิวัติการออกแบบเครื่องประดับ โดยทำให้มีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพยิ่งขึ้น ขณะที่เครื่องมือเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับงานต่างๆ เช่น การสร้างภาพดิจิทัลหรือแบบจำลอง 3 มิติ หากแต่เท่านี้ยังอาจไม่เพียงพอที่จะเก็บรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น โรงเรียนและคอร์สใหม่ๆ จึงเน้นถึงความสำคัญของการวาดภาพในฐานะชุดทักษะที่จำเป็นของนักออกแบบ
การทำงานกับสีกวอช (สีน้ำแบบทึบแสง) นั้นมองเผินๆ อาจดูไม่ใช่เรื่องยาก อย่างไรก็ตาม การจะมีความเชี่ยวชาญต้องอาศัยการศึกษาอย่างหนักและทักษะที่เหนือชั้นเช่นเดียวกับศิลปะทุกแขนง เครื่องประดับชั้นสูงเป็นที่หนึ่งในศิลปะดั้งเดิมสาขานี้มาอย่างยาวนาน โดยมีบรรดาบริษัทเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงที่สุดแถวจัตุรัสวองโดมม์ (Place Vendôme) ในกรุงปารีส ช่วยขับเน้นถึงความสำคัญของกระบวนการนี้อย่างต่อเนื่อง
การสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพ
ความสามารถในการวาดภาพเครื่องประดับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการออกแบบ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นงานฝีมือแบบดั้งเดิม แต่การสเก็ตช์ภาพก็อาจเป็นวิธีการที่เร็วที่สุดในการสื่อสารความคิดให้ลูกค้าเข้าใจ
Inesa Kovalova ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนการวาดภาพเครื่องประดับชื่อ Draw me a Jewel กล่าวว่า การวาดภาพสเก็ตช์ทำได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาทีและอาจช่วยให้ขายแนวคิดให้แก่ลูกค้าได้ การวาดภาพช่วยสื่อสารวิสัยทัศน์ของนักออกแบบและยังเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญ ขั้นต่อไปคือ การวาดภาพลงสี โดยแม้จะเป็นขั้นตอนที่ไม่จำเป็นแต่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้
Claire-Chine Hardion นักออกแบบและจิตรกรสีกวอชแบบดั้งเดิมเห็นด้วย โดยเธอกล่าวว่า การวาดภาพทำให้นักออกแบบสามารถปรับแนวคิดและรายละเอียดในขณะที่กำลังฟังความต้องการของลูกค้า ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมชาติ
Austy Lee นักออกแบบเครื่องประดับจากฮ่องกงเป็นที่รู้จักกันดีถึงการวาดภาพเครื่องประดับทุกชิ้นด้วยมืออย่างพิถีพิถันลงในสมุดสเก็ตช์ภาพของเขา ซึ่งเขาเรียกมันว่าเป็น “สมุดบันทึกจินตนาการ” โดยสำหรับเขาแล้ว ทุกรายละเอียด การลากเส้น ลายเส้น และเส้นโค้ง ล้วนสะท้อนถึงประสบการณ์ สุนทรียศาสตร์ ความละเอียดถี่ถ้วน และความรู้ของนักออกแบบ ทั้งนี้ ในกระบวนการสร้างสรรค์ของเขานั้น แรงบันดาลใจจะได้รับการเก็บและบันทึกอย่างทันท่วงที ทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีความคิดใดๆ ที่ผ่านเข้ามาแล้วจะถูกละเลย
สำหรับ Anna Hu นักออกแบบจากไต้หวัน การวาดภาพเครื่องประดับไม่ใช่เพียงแค่การสเก็ตช์ภาพงานออกแบบแต่เป็นการทำให้ความคิดมีชีวิตขึ้นมา ภาพวาดช่วยให้นักออกแบบเห็นว่าเครื่องประดับจะออกมาเป็นอย่างไรและปรับเปลี่ยนได้ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต ถือว่าเป็นส่วนที่จำเป็นในการแปลจินตนาการให้กลายเป็นชิ้นงานที่จับต้องได้ โดยชี้ให้นักออกแบบมองเห็นแนวทางตั้งแต่แรงบันดาลใจแรกเริ่มไปจนถึงชิ้นงานขั้นสุดท้าย
นอกจากนี้ การวาดภาพเครื่องประดับยังเป็นสื่อกลางขั้นต้นในการแสดงออกของนักออกแบบ การวาดภาพด้วยมือต้องใช้ความสามารถที่ไม่เหมือนใครในการสร้างอารมณ์และการเล่าเรื่องที่เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับลูกค้าในระดับส่วนบุคคล
ข้อจำกัดทางเทคนิค
ในมุมมองของ Jennifer Rowlands นักออกแบบเครื่องประดับอิสระ การสร้างภาพในระบบดิจิทัลได้ลดการพึ่งพาดินสอหรือสีลงอย่างมาก ความก้าวหน้าของซอฟต์แวร์ดิจิทัลในปัจจุบันได้ทำให้การออกแบบเครื่องประดับไม่ใช่เรื่องเกินเอื้อม แม้จะมีข้อได้เปรียบเหล่านี้ แต่ก็ยังมีความท้าทายในการผลิตชิ้นงานที่สามารถทำได้จริงและใช้ได้จริง
Rowlands ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในโลกที่การออกแบบด้วยดิจิทัลเป็นสิ่งแพร่หลาย ลักษณะของการรับรู้ได้ด้วยการสัมผัสของภาพวาดด้วยมือจึงมีความโดดเด่น ผิวสัมผัสของกระดาษ ความหนาที่ต่างกันของลายเส้น และแม้แต่ความไม่สมบูรณ์แบบที่อาจมีบ้างกลับสร้างบุคลิกให้กับงานศิลปะประเภทนี้ โดยส่งผลให้ศิลปะเหล่านี้ให้ความรู้สึกถึงพลังและเข้าถึงง่าย
Kovalova กล่าวว่า ยิ่งไปกว่านั้น การวาดภาพด้วยมือไม่อาจทำซ้ำได้แบบไม่ผิดเพี้ยนเนื่องจากความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ ทำให้ภาพสเก็ตช์แต่ละภาพมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างแท้จริง นอกจากนี้ นิยามของความหรูหราขึ้นอยู่กับปริมาณที่มีน้อย แม้แต่เวลาที่ลงสีงานชิ้นเดียวกันหลายครั้ง แต่ละชิ้นก็อาจมีความแตกต่างเล็กน้อย คนเราไม่สามารถลงสีชิ้นงานแบบไม่จำกัดจำนวนได้ แต่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสำเนาได้ไม่จำกัด
ก้าวเดินไปด้วยกัน
Hardion กล่าวว่า นักออกแบบเชื่อว่าวิธีการดั้งเดิมในการวาดภาพเครื่องประดับสามารถอยู่ร่วมและผสมผสานกับความก้าวหน้าทางดิจิทัลได้ การใช้งานทั้งสองอย่างร่วมกันจะน่าสนใจยิ่งกว่าและมีประโยชน์กว่าการตัดอย่างใดอย่างหนึ่งออกไปจากกระบวนการ
สำหรับ Rowlands ขณะที่เครื่องมือดิจิทัลจะยังคงก้าวหน้าต่อไปและช่วยสนับสนุนการผลิตเครื่องประดับ ช่างฝีมือจำนวนมาก รูปแบบธุรกิจเครื่องประดับ และวิธีการผลิตยังคงให้คุณค่าและต้องการการวาดภาพด้วยมือเพื่อเริ่มต้นกระบวนการสร้างสรรค์
Hu มองว่า การออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ (CAD) มีข้อจำกัดของตัวเอง และไม่สามารถเก็บความละเอียดอ่อนของจินตนาการอันสร้างสรรค์ของนักออกแบบได้เสมอไป เช่นเดียวกับเครื่องมือดิจิทัลทั้งหลาย
กระบวนการสร้างงานฝีมือประเภทนี้ของมนุษย์ยังคงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการออกแบบเครื่องประดับแท้ Inesa Kovalova เริ่มต้น Draw me a Jewel เมื่อปี 2017 ในรูปแบบของเพจหนึ่งบน Instagram โดยมีเป้าหมายในการรักษาเทคนิคการวาดภาพเครื่องประดับด้วยมือนี้เอาไว้
เธอมองว่า บริษัทเครื่องประดับชั้นสูงต้องการนักออกแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการวาดภาพสูง แต่โรงเรียนฝึกสอนงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เน้นเรื่องการวาดภาพมากพอ โดยกลัวว่ามันอาจจำกัดความคิดสร้างสรรค์ ช่องว่างที่ว่านี้ทำให้นักออกแบบจำนวนไม่น้อยขาดทักษะในการวาดภาพซึ่งจำเป็นต่อความเป็นเลิศในอาชีพ
ของที่ระลึกเลอค่า
Kovalova เห็นว่า สำหรับชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์ การวาดภาพด้วยมือเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญมากสำหรับการมอบประสบการณ์โดยรวมและคุณค่าของชิ้นงาน
บรรดานักออกแบบต่างคาดหวังให้การวาดภาพด้วยมือยังคงมีความสำคัญในอนาคต และที่แตกต่างจากการวาดภาพโดยใช้คอมพิวเตอร์ ก็คือ การสเก็ตช์ภาพด้วยมืออาศัยความสามารถเฉพาะในการส่งต่อความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของเครื่องประดับที่ทำด้วยมือ
Lee คาดหวังให้ความชื่นชอบในเครื่องประดับแนวศิลปะเพิ่มขึ้นและมองเห็นการที่งานแต่ละชิ้นจะมาพร้อมกับใบรับรองจากนักออกแบบ ใบรับรองนี้จะไม่เพียงแค่รับรองชิ้นงานเท่านั้น แต่ยังมีภาพวาดในการออกแบบและลายเซ็นอีกด้วย
Hardion เปิดเผยว่า นักออกแบบเครื่องประดับที่ทำงานกับบริษัทเครื่องประดับชั้นสูงนั้น มักต้องสร้างสรรค์ภาพเขียน เนื่องจากลูกค้ามักชื่นชอบการได้รับภาพเขียนของเครื่องประดับของตัวเอง นักออกแบบจึงจำเป็นต้องวาดภาพอย่างพิถีพิถันเพื่อความถูกต้องและแม่นยำอย่างยิ่ง
แปลและเรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กุมภาพันธ์ 2568
ข้อมูลอ้างอิง
https://news.jewellerynet.com/uploads/ebook/jna/2024/July-2024/34/ (Retrieved Aug 8, 2024).