สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ส่งออกอัญมณีไทย ให้กระทบน้อย
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สำหรับสินค้าไทยรวมกว่า 200 รายการ คิดเป็นมูลค่าส่งออก 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 25,000 ล้านบาท โดยสินค้าไทยที่จะถูกตัดสิทธิ GSP อาทิ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องครัว อะลูมิเนียม อาหารอบแห้ง หอยบางชนิด และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท รวมถึงอัญมณี โดยสินค้าอัญมณีที่ถูกตัดสิทธิมี 1 รายการ คือ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไนซึ่งไม่ได้ใช้ในการผลิตเครื่องประดับ (พิกัด7103.99.50) ที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราปกติที่ร้อยละ 10.5 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
การตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อย้อนกลับไปราวปี 2550 ไทยได้ถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP พิกัด 7113.19.50 เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองคำหรือแพลทินัม และต่อมาในปี 2555 สหรัฐฯ ได้ตัดสิทธิ GSP ของไทยพิกัดสินค้า 7113.11.50 เครื่องประดับเงินซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าโหล/ชิ้นละ 18 ดอลลาร์สหรัฐ และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 สหรัฐฯ ก็ได้ตัดสิทธิ GSP สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจำนวน 22 รายการย่อยใน 4 สินค้าหลักได้แก่ พิกัด 7113 เครื่องประดับแท้ พิกัด 7114 เครื่องทองหรือเครื่องเงิน พิกัด 7116 ของทำด้วยไข่มุก และรัตนชาติ รวมถึงพิกัด 7117 เครื่องประดับเทียม ซึ่งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้วปัจจุบันมีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 2.7- 13.5
แม้ว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยจะถูกตัดสิทธิ GSP ไปหลายรายการ แต่ก็ยังมีสินค้าที่ไทยยังคงได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ และมีอัตราภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 ดังนี้
ทั้งนี้ ในปี 2562 สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในอันดับที่ 4 (รองจากสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และสิงคโปร์) ด้วยมูลค่าราว 1,272 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน พลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน รวมถึงเพชรเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ตามลำดับ
แต่หากพิจารณาเฉพาะพลอยสีพบว่า ไทยเป็นแหล่งนำเข้าพลอยสีในตลาดสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 2 (รองจากอินเดีย) หรือมีมูลค่าราว 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไนในสัดส่วนราวร้อยละ 73 และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนร้อยละ 27 โดยเป็นสินค้าพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนพิกัด 7103.99.50 เพียงร้อยละ 1 ของมูลค่าการนำเข้าพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนรวมของไทยในตลาดสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 0.05 ของมูลค่าการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ฉะนั้น การที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าดังกล่าวในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอัญมณีโดยรวมของไทยมากนัก
และถ้าในอนาคตสหรัฐฯ จะตัดสิทธิ GSP สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยส่วนที่เหลือดังแสดงในตาราง การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวมก็ยังคงได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะสินค้ากลุ่มนี้ไม่ได้เป็นสินค้าส่งออกหลักไปยังตลาดสหรัฐฯ และมีมูลค่าส่งออกรวมเพียงร้อยละ 3.23 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม
อัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นสินค้าศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ แม้ว่าปัจจุบันคู่แข่งอย่างจีนหรืออินเดีย ก็ต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าไปยังตลาดนี้ด้วยเช่นเดียวกัน (จีนเสียอัตราภาษีสูงกว่า ในขณะที่ไทยและอินเดียเสียภาษีในอัตราเท่ากัน) แต่ด้วยทั้งสองประเทศดังกล่าวมีต้นทุนที่ถูกกว่า จึงทำให้โอกาสที่สินค้าไทยจะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทำได้ยาก อย่างไรก็ดี สินค้าไทยยังมีโอกาสจากแรงงานมีฝีมือ หากแต่ต้องเน้นเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มระดับกลางขึ้นไป ไม่ควรแข่งขันด้านราคา แต่ควรหันมาเน้นคุณภาพสินค้า โดยเร่งปรับตัวในส่วนของภาคการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและออกแบบสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงพยายามเปิดตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความ สหรัฐฯ สั่งระงับสิทธิ GSP สินค้าเครื่องประดับไทย ตั้งแต่ 25 เมษายน 2563 ตามลิงค์ https://bit.ly/3p1vS7Y
และสามารถตรวจสอบอัตราภาษีนำเข้าของตลาดสหรัฐฯ ได้จากเมนู ข้อมูลธุรกิจ>> อัตราภาษีนำเข้า
เครดิตภาพหน้าปกจาก https://www.brighttv.co.th/news/economy/gsp-explain-thailand-usa-disqualify
ข้อมูลอ้างอิง
2) พาณิชย์ ชี้ สหรัฐตัด GSP กระทบไทย 19 ล้านเหรียญ เร่งเจรจาหาทางออก สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 https://www.prachachat.net/economy/news-547789