
กระแสมาแรงในสื่อโซเชียลมีเดียปี 2021
สถานการณ์การระบาดทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงแนวทางในการซื้อสินค้า มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ทำงาน และทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิง รวมทั้งติดต่อสื่อสารโดยอาศัยเครื่องมือจากสื่อโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ได้เปิดตัวคุณลักษณะใหม่ๆ เช่น วิดีโอแชทของ Instagram เพื่อช่วยให้เราติดต่อสื่อสารกันได้มากขึ้นกว่าเดิม
ในปี 2020 TikTok กลายเป็นกระแสมาแรง ขณะเดียวกันก็มีข่าวน่าแปลกใจอย่างการปิดตัวลงของ Quibi แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นซึ่งได้รับเงินลงทุนอุดหนุนอย่างจริงจัง แล้วอะไรที่รออยู่ในปี 2021 Talkwalker แพลตฟอร์มที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกจากสื่อโซเชียลมีเดียให้แก่แบรนด์ต่างๆ ร่วมกับผู้ผลิตซอฟต์แวร์การตลาด HubSpot ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบวิชาชีพรวม 70 รายถึงแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นในสื่อโซเชียลมีเดียช่วงปีหน้า และรายงานนี้ก็ช่วยให้ข้อมูลเชิงลึกแก่แบรนด์ต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในกลยุทธ์ของตน
ที่มา:
https://www.threegirlsmedia.com/
ต่อไปนี้เป็นกระแส 10 อันดับแรกที่น่าจะเกิดขึ้นในสื่อโซเชียลมีเดียปี 2021 เรียงจากอันดับล่างสุดไปจนถึงอันดับที่มาแรงที่สุด ตามการให้สัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญ
10. เนื้อหาที่ดัดแปลงโดยผู้ใช้
เนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น (User generated content หรือ UGC) เป็นเนื้อหาที่ผู้ใช้เผยแพร่ จากนั้นแบรนด์ ก็นำไปแชร์ต่อเพื่อแสดงให้เห็นการใช้งานหรือประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับจากผลิตภัณฑ์ของตน ผู้บริโภคปัจจุบันเริ่มสร้างเนื้อหารูปแบบใหม่ๆ หรือ รีมิกซ์เนื้อหาด้วยการนำเนื้อหาเดิมของทางแบรนด์มาปรับจุดประสงค์การใช้งานใหม่ให้เหมาะกับบุคลิกหรือแนวคิดของตนเอง
“เนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้นับเป็น ‘เพชรยอดมงกุฎ’ สำหรับแบรนด์ดังในปี 2021” Heba Sayed หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ระบบคลาวด์และ AI ของ IBM ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกากล่าวในรายงาน “เนื้อหาที่ดีที่สุดคือเนื้อหาที่นักการตลาดไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง แต่ช่วยสนับสนุนให้เกิดขึ้น” ในยุคที่วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ผู้บริโภคมักมองหาแรงบันดาลใจจากผู้คนแทนที่จะหาจากแบรนด์ เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตใหม่ในช่วงหลัง COVID-19”
บทสรุปสำคัญข้อหนึ่งจากรายงานนี้คือแบรนด์ต่างๆ ควรมอบทรัพยากรตั้งต้นที่เหมาะสม เช่น โลโก้หรือเทมเพลตของแบรนด์ ให้ผู้ใช้นำไปสร้างเนื้อหาแบบรีมิกซ์ของตัวเอง รายงานนี้ยังได้เตือนแบรนด์ต่างๆ ด้วยว่าผู้บริโภคอาจนำทรัพยากรตั้งต้นดังกล่าวไปใช้วิพากษ์วิจารณ์บริษัทหรือใช้ในทางที่ผิด โดยอาจเป็นการแสดงความเกลียดชังซึ่งบริษัทไม่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
9. ความเป็นชุมชน การงดสัมผัส ความสะอาด ความเห็นอกเห็นใจ
กระแสอันดับที่ 9 ในรายงานนี้คือหลักการ 4C สำหรับเนื้อหาในช่วง COVID-19 อันได้แก่ ความเป็นชุมชน (Community) การงดสัมผัส (Contactless) ความสะอาด (Cleanliness) และความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) หัวข้อเหล่านี้กำลังมาแรงในโลกออนไลน์ และน่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปแม้ว่าสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลงในปี 2021 เนื่องจากการระบาดจะยังคงส่งผลเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้บริโภค
“เราจะบอกว่าอร่อย ‘จนต้องเลียนิ้ว’ (‘Finger Lickin’ good) ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว KFC ต้องยกเลิกการใช้สโลแกนนี้ชั่วคราว เพราะในระหว่างการระบาด เราไม่ควรเลียนิ้ว” Janet Machuka ผู้ก่อตั้ง ATC Digital Academy กล่าว “เนื่องจากหลัก 4C ของ COVID-19 จะกลายเป็นวิถีใหม่ที่ยึดถือกันโดยทั่วไปในงานการตลาด วิธีการสื่อสารจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน ผลกระทบจาก COVID-19 จะยังคงอยู่ในอีกหลายเดือนข้างหน้า แบรนด์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงหลัก 4C ในงานด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ในอนาคต”
แม้ว่าแบรนด์ต่างๆ อาจกระตือรือร้นที่จะนำเสนอสินค้าของตน แต่รายงานนี้เตือนว่ากิจการควรคำนึงถึงข้อกังวลของผู้บริโภคในปัจจุบัน โฆษณาอาจถูกมองว่าเป็นสิ่งรบกวนได้ ดังนั้นจึงควรนำเสนอเนื้อหาที่ตอบสนองต่อความจำเป็นและข้อกังวลของผู้บริโภค
8. มีมตลอด 24 ชั่วโมง
มีม (Memes) กลายเป็นหนึ่งในวิธีการหลักสำหรับการสื่อสารทางออนไลน์ มีรายงานว่าในร้อยละ 35 ของกลุ่มคนอายุ 13 ถึง 35 ปีส่งมีมหากันทุกสัปดาห์ แบรนด์ควรให้ความสนใจข้อมูลนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ควรคำนึงถึงความเสี่ยงจากการใช้มีมเพราะอาจมีคนนำมาใช้อย่างประสงค์ร้ายได้เช่นกัน นอกจากนี้แบรนด์ยังควรให้ความสำคัญต่อกฎเกณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมีมมาใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการตลาด คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าการใช้รูปภาพหรือมีมนั้นๆ ถูกต้องตามกฎหมาย
Memes, GIFs, and Emojis