เหตุผลที่ความครอบคลุมทั่วถึงสำคัญต่อการติดตามที่มาของอัญมณีเพชร
“เมื่อข้อมูลการเดินทางของอัญมณีเพชรจากเหมืองสู่ตลาดทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มมีข้อกังวลว่าระบบนี้จะใช้งานได้กับผู้ประกอบการทุกรายในอุตสาหกรรมเพชรหรือไม่”
ความสามารถในการติดตามแหล่งที่มา (Traceability) ได้กลายมาเป็นบทสนทนาหลักในแทบทุกส่วนของวงจรอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเมื่อหลายฝ่ายหันมาสนใจเรื่องที่มาของผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น
สำหรับตลาดเพชรนั้น แนวโน้มนี้ได้นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยหลบเลี่ยงการกล่าวถึงเครื่องจักรและการขุดแร่ ด้วยเกรงว่าจะลดทอนเสน่ห์ดึงดูดของตัวสินค้า มาบัดนี้กลับหันมาพูดถึงแหล่งที่มาของเพชรและประโยชน์ของอุตสาหกรรมอัญมณีนี้ โดยพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนในการบันทึกข้อมูลดังกล่าว
ที่มา : http://conorfallon.net/de-beers
สำหรับหลายฝ่ายแนวคิดเรื่องการเพิ่มความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานนั้นเป็นเรื่องดีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว “เราทุกคน ใครก็ตามที่มีจิตสำนึกต่อสังคมไม่ว่าในแง่ใด ย่อมเข้าใจดีว่าเราจำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้อัญมณีเพชรมาจากแหล่งที่มาที่ไม่ถูกต้อง” Jeff Fischer กล่าว
Fischer เป็นประธานของบริษัทผู้ผลิตอัญมณีเพชร Fischer Diamonds Inc. และเป็นอดีตประธานของสมาคม International Diamond Manufacturers Association (IDMA) และ Diamond Manufacturers and Importers Association of America (DMIA) เขากล่าวว่าได้มีการวางระบบเพื่อรองรับความปลอดภัยให้แก่สินค้าอัญมณีเพชรส่วนใหญ่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้แน่ใจว่ามีแต่สินค้ากลุ่มดังกล่าวเท่านั้นที่จะเข้ามาในระบบได้ ทั้งนี้รวมถึงกระบวนการตรวจสอบว่าอัญมณีเพชรและการทำเหมืองเพชรไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยเน้นย้ำความสำคัญของการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence)
แต่การดำเนินการนี้ก็นำไปสู่คำถามที่ว่าการติดตามแหล่งที่มาอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กในตลาดโดยไม่ตั้งใจหรือไม่
ผู้ทำเหมืองขนาดเล็กและผู้ประกอบการกลางน้ำ
เนื่องจากกระบวนการและระบบต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อติดตามข้อมูลนั้นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลัก จึงนำไปสู่คำถามเรื่องขีดความสามารถและความเป็นไปได้ เพราะประมาณการว่าอัญมณีเพชรที่ป้อนเข้าสู่ตลาดทั่วโลกนั้นราวร้อยละ 20 มาจากผู้ทำเหมืองแบบดั้งเดิมและผู้ทำเหมืองรายย่อย
Stephane Fischler กล่าวว่า ในแง่หนึ่ง เทคโนโลยีก็ได้มอบโอกาสให้ประเทศผู้ผลิตอัญมณีเพชรบางประเทศได้เรียนรู้มากขึ้นและเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดจากการเข้าร่วมการปฏิวัติทางเทคโนโลยีครั้งนี้
Fischler ทำงานเป็นผู้ค้าอัญมณีเพชรมายาวนานและเป็นหุ้นส่วนของ Fischler Diamonds รวมถึงเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งและอดีตประธานของ World Diamond Council (WDC) และรองประธานของ Diamond Development Initiative (DDI) ซึ่งควบรวมกับโครงการ Resolve เมื่อปีที่แล้ว เขาระบุว่าในอีกแง่หนึ่งนั้น “ผู้ทำเหมืองแบบดั้งเดิมขาดขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อรับประกันแหล่งที่มา ดังนั้นแม้แนวโน้มนี้เป็นเรื่องดีและน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากและต้องมีความจริงใจในการพิจารณาถึงแรงจูงใจของแนวทางนี้ รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น”
เขาชี้ด้วยว่าเมื่อตลาดผลักดันให้แหล่งที่มาเป็นเสมือนเป้าหมายอันศักดิ์สิทธิ์ และสร้างเงื่อนไขต่างๆ ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อหรือไม่ซื้ออัญมณีเพชร ก็อาจส่งผลให้ผู้บริโภคพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและตัดสินใจไม่ซื้อเพชรจากกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้าถึงทรัพยากรมากนัก
แนวโน้มดังกล่าวนับว่าขัดต่อโครงการที่ดำเนินการกันอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ว่าด้วยการลดความเสี่ยงของผู้ทำเหมืองดั้งเดิมและผู้ทำเหมืองรายย่อยจากการทำงานของกลุ่มต่างๆ เช่น Organisation for Economic Co-operation and Development ซึ่งมีกรอบแนวทางด้านการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของทางองค์กร ตลอดจนโครงการอย่างเช่น Resolve และ Maendeleo Diamond Standards ของ DDI สำหรับกลุ่มผู้ทำเหมืองแบบดั้งเดิม
ในส่วนธุรกิจปลายน้ำนั้น กระบวนการและระบบการติดตามแหล่งที่มาอาจส่งผลกระทบสะท้อนกลับไปยังภาคการผลิตในห่วงโซ่อุปทานของเพชร
Fischler มีข้อกังวลเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่อาจระบุปริมาณได้ซึ่งหมุนเวียนอยู่ในระบบผ่านเส้นทางที่มีจุดแวะพักต่างๆ มากมาย รวมถึงวัตถุดิบจำนวนมหาศาลที่เข้าไปอยู่ในวงจรแล้ว ทั้งหมดนำไปสู่คำถามที่ว่าเราจะจัดการกับอัญมณีเพชรกลุ่มนี้อย่างไร เพราะถึงแม้จะไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบบล็อกเชน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพชรกลุ่มนี้อยู่นอกเส้นทางที่ยอมรับได้ในการเข้าสู่ตลาด เพราะในหลายกรณีก็มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการค้าเพชรคอยกำกับควบคุมอยู่แล้ว
อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือการติดตามที่มาของอัญมณีเพชรขนาดเล็ก (melee) เพราะเพชรประเภทนี้มักกระจายออกไปสู่ตลาดวงกว้างและใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงเครื่องประดับ ในขณะที่อัญมณีเพชรเจียระไนขนาดใหญ่นั้นติดตามได้ง่ายกว่าเนื่องจากมักเดินทางเป็นเส้นตรงจากเหมืองสู่ตลาด แต่อัญมณีเพชรขนาดเล็กจากหลายแหล่งมักถูกนำมารวมเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามต้องการ ซึ่งหมายความว่า “สำหรับสินค้ากลุ่มนี้ราวร้อยละ 80 ไม่มีทางที่จะติดตามแหล่งที่มาได้” Fischler กล่าว
ทว่าในบทบรรณาธิการล่าสุดของจดหมายข่าว IDMA ที่ปรึกษา Ya’akov Almor ได้นำเสนอมุมมองที่ต่างออกไป การติดตามอัญมณีเพชรขนาดเล็กนั้นสามารถทำได้และควรทำเพื่อปกป้องราคาและปกป้องอุตสาหกรรมนี้ในท้ายที่สุด แม้จะยอมรับว่าการติดตามที่มาของเพชรขนาดเล็กนั้น “ต้องอาศัยการลงทุนเพิ่มขึ้นในแง่โครงสร้างขององค์กร ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติในการทำงาน รวมถึงต้องพัฒนาการตลาดและการขายให้มีประสิทธิภาพ” แต่เขาให้ความเห็นว่าประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นมีน้ำหนักมากกว่าอุปสรรคที่ต้องเผชิญ
Almor ระบุว่าประโยชน์ดังกล่าว ได้แก่ การที่ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลแหล่งที่มาไปใช้ในกิจกรรมทางการตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ดังนั้นจึงช่วยให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน
มองภาพใหญ่
หัวข้อว่าด้วยความยั่งยืนและการจัดหาสินค้าอย่างถูกต้องนั้นมักถูกตัดทอนจนเหลือแง่มุมเพียงประการเดียวคือความสามารถในการติดตามที่มา ซึ่งก็คือความสามารถในการติดตามอัญมณีจากจุดที่มันถูกขุดขึ้นมาจนกระทั่งได้มาปรากฏอยู่ที่ตู้โชว์ในขั้นตอนสุดท้าย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว บทสนทนานี้ครอบคลุมมากกว่านั้น Fischler กล่าวว่าการจัดหาอย่างถูกต้องไม่ได้เกี่ยวกับที่มาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องราวทั้งหมดของอัญมณีประเด็นไม่ได้อยู่เพียงแค่ว่าอัญมณีเพชรได้รับการแปรรูปอย่างไร แต่ยังต้องพิจารณาด้วยว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพชรได้สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนหรือไม่ และผู้คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเพชรไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ในระหว่างกระบวนการ รวมถึงคำถามอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
Iris Van der Veken ผู้อำนวยการบริหารของ Responsible Jewellery Council ได้ให้ความเห็นในแนวทางเดียวกัน เธอกล่าวว่า “เราจะมองความยั่งยืนแบบแยกส่วนไม่ได้”
“สิ่งสำคัญคือต้องมีระบบการจัดการที่ครอบคลุมทั้งสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สุขภาพและความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความสมบูรณ์ถูกต้องและการเปิดเผยข้อมูลของผลิตภัณฑ์ หรืออาจพูดได้ว่ากระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการทำเหมือง การตัดแต่งและการเจียระไน การหล่อ และการฝังอัญมณีล้วนอยู่ในขอบเขตที่เราควรพิจารณา”
Feriel Zerouki รองประธานอาวุโสฝ่ายความสัมพันธ์ต่างประเทศและโครงการด้านความถูกต้องของ De Beers Group และรองประธานของ WDC กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้โครงการอย่าง Best Practice Principles ของ De Beers จึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งในสมการนี้ และผลักดันให้ De Beers เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ผลกระทบ และเป้าหมายด้านความยั่งยืนและจุดประสงค์ทางสังคม
เพื่อช่วยในการติดตามข้อมูลจากเหมืองสู่ตลาด De Beers Group ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มบล็อกเชนของตนเองที่มีชื่อว่า Tracr เมื่อปี 2018 โดย Zerouki กล่าวว่าปัจจุบันได้มีการลงทะเบียนอัญมณีเพชรที่บริษัทผลิตราวร้อยละ 15 ลงในแพลตฟอร์มนี้
นอกจากนี้ De Beers Jewellers ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านค้าของทางบริษัท ก็เพิ่งเปิดตัวคอลเล็กชันแรกที่ใช้เฉพาะอัญมณีเพชรที่ได้รับการติดตามและลงทะเบียนบน Tracr เท่านั้น โดยคอลเล็กชันนี้มีชื่อว่า “1888 Master Diamonds”
Tracr Blockchain Diamond Tracking Platform
บริษัทผู้ทำเหมืองอัญมณีเพชรรายหลักของโลกอีกรายหนึ่งอย่าง Alrosa ก็ได้เข้าร่วมในแพลตฟอร์ม Tracr เมื่อปี 2018 และเปิดตัว“หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์” สำหรับเพชรของตนเมื่อปี 2019 ในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา
ยิ่งกว่าการติดตามที่มา
อุตสาหกรรมนี้มีกลไกอันซับซ้อนซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ผู้บริโภคและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมั่นใจได้ว่าสินค้าได้รับการจัดหาอย่างถูกต้อง แต่เมื่อเรื่องนี้มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องประดับอัญมณีจึงจำเป็นต้องจัดการให้ระบบนี้มีความครอบคลุมและไม่กีดกันผู้ประกอบการรายย่อยออกไปอันเนื่องจากตัวระบบมีความซับซ้อนยุ่งยากและ/หรือมีราคาแพง เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ทั้ง Fischer และ Fischler ต่างกล่าวถึง
Van der Veken ก็เห็นพ้องด้วยโดยระบุว่า “เราต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรม หากคุณสำรวจห่วงโซ่อุปทานในแวดวงเครื่องประดับ จะพบว่ามีธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กนับพันๆ แห่ง ขณะที่องค์กรอย่างเราก็ต้องมีบทบาทในการนำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เหมาะสมมาเข้าร่วมในระบบ และถ้าเราเห็นตรงกันในเรื่องกระบวนการหรือวิธีการใช้มาตรฐานโดยอาศัยเทคโนโลยีมารองรับแล้ว เราก็ต้องจัดการให้ระบบนี้ใช้งานได้จริงและเข้าถึงได้”
ด้วยตระหนักดีว่าบริษัทบางแห่งอาจไม่มีเวลาหรืองบประมาณเพื่อเข้าเป็นสมาชิกของ RJC ทางองค์กรจึงเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอการฝึกอบรมและกิจกรรมทางออนไลน์ ตลอดจนคำแนะนำอย่างละเอียด นอกจากนี้ทางองค์กรยังเตรียมเปิดตัวชุดเครื่องมือด้าน CSR ในเร็วๆ นี้อีกด้วย
เนื่องจากวิธีการติดตามที่มาและการให้ข้อมูลของบริษัทต่างๆ นั้นยังอยู่ระหว่างการพัฒนา “การให้ผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและเข้าร่วมในโครงการที่ตรงตามความต้องการมากที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ” Zerouki กล่าว
เธอกล่าวว่า De Beers จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญในประเด็นนี้ระหว่างพัฒนาโครงการเพื่อระบุแหล่งที่มาและเส้นทางของเพชรทุกเม็ดที่บริษัทผลิตและขายภายในปี 2030 โดยนับเป็นเป้าหมายด้านความยั่งยืนหนึ่งใน 12 ข้อที่ประกาศเมื่อปลายปีที่แล้วตามแนวทาง “Building Forever”
องค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งในประเด็นนี้ก็คือผู้ขาย ยิ่งผู้ขายสามารถให้ข้อมูลและความมั่นใจได้มากเพียงใดก็ยิ่งดี “ไม่ว่าอย่างไรเพชรก็เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค ซึ่งหมายความว่าทุกคนในห่วงโซ่อุปทานมีบทบาทในระยะยาวที่จะต้องตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภคที่พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง” Zerouki กล่าว
สำหรับสิ่งที่ควรพิจารณาคือการสื่อสารกับผู้บริโภคจะต้องครอบคลุมหลากหลายและไม่ระดมข้อมูลให้ลูกค้ามากเกินไปจนเบี่ยงเบนออกจากประเด็นเรื่อง “เสน่ห์” ของตัวสินค้า “ผมเริ่มเห็นว่าผู้ขายบางรายโยนข้อมูลมหาศาลไปให้ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งที่มา การจัดระดับอัญมณีเพชรโดยห้องปฏิบัติการ และอื่นๆ ทั้งที่เพชรเป็นสินค้าที่ว่าด้วยอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ” Fischler กล่าว และเกรงว่าการใช้เรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งที่มาเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคนั้น อาจทำให้เนื้อหาที่สื่อด้านอารมณ์กลับเบาบางลง
ข้อมูลอ้างอิง