ไทเทเนียม โลหะเปี่ยมเสน่ห์หลากสีสัน
ความนิยมในการออกแบบที่มีชีวิตชีวาและไม่เหมือนใครที่ขยายตัวมากขึ้นในหมู่ผู้ซื้อทำให้เครื่องประดับไทเทเนียมมีเวทีให้เปล่งประกายได้มากขึ้นในแวดวงเครื่องประดับชั้นสูง
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ผู้ซื้อหันไปชื่นชอบเครื่องประดับที่มีนวัตกรรม ความละเอียดซับซ้อน และความหลากหลาย ด้วยเหตุนี้ เครื่องประดับไทเทเนียมซึ่งมีสีสันมากมายให้เลือก และยังเอื้อต่อการสร้างสรรค์ไม่สิ้นสุด จึงตรงกับความต้องการนี้ โดยบรรดานักออกแบบชี้ให้เห็นถึงความต้องการโลหะน่าทึ่งชนิดนี้ ซึ่งกำลังพุ่งสูงขึ้นในตลาด
ข้อพิสูจน์ถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นของไทเทเนียมคือการที่นักออกแบบและผู้ผลิตต่างพุ่งความสนใจหรือหันเหไปยังเครื่องประดับไทเทเนียม แม้แต่ผู้ผลิตเครื่องประดับหรู อย่าง Piaget, Pomellato, Boghossian และ Chopard และอีกหลายแบรนด์ต่างเข้าร่วมขบวนด้วย โดยแต่ละแบรนด์ได้เปิดตัวคอลเลกชันเครื่องประดับชั้นสูงที่ทำจากไทเทเนียม
ด้วยความแข็งระดับ 6 ถึง 6.5 ตามมาตรวัดของโมห์ส ไทเทเนียมจึงเป็นหนึ่งในโลหะที่มีความแข็งและทนทานที่สุด อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบาอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้ไทเทเนียมเป็นหนึ่งในความย้อนแย้งทางธรรมชาติอย่างแท้จริง ตามธรรมชาติแล้วไทเทเนียมจะมีสีเทา เมื่อผ่านกระบวนการชุบอโนไดซ์จะมีสีสันต่างๆ ที่เตะตาตั้งแต่สีม่วงไปจนถึงเขียว เหลือง และเทอร์คอยส์
โลกแห่งสีสัน
Victoria Yu ผู้อำนวยการและนักออกแบบของ Joywith Jewelry เล่าไว้ว่า สีสันอันสดใสมีชีวิตชีวาช่วยให้นักออกแบบสามารถแสดงความสามารถทางศิลปะได้กว้างขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการที่ไทเทเนียมเป็นโลหะที่มีน้ำหนักเบาและมีความแข็งแกร่งทำให้เป็นโลหะที่เหมาะสมที่สุดในการทำเครื่องประดับชิ้นใหญ่ขึ้น มีความละเอียดประณีตขึ้น แต่สวมใส่ได้ง่าย เช่น เข็มกลัด และต่างหู
ผลงานสร้างสรรค์ของ Yu มีความเป็นผู้หญิงสุดๆ เข็มกลัดรูปทรงดอกไม้และผีเสื้อในสีสันน่าตื่นตา ประดับพลอยสีและเพชรเพื่อเพิ่มความโดดเด่น เป็นดาวเด่นของคอลเลกชันเครื่องประดับไทเทเนียมของเธอ เครื่องประดับรูปทรงดอกไม้มีเสน่ห์ดึงดูดเป็นพิเศษ โดยมีกลีบดอกไม้ที่มีเส้นโค้งลื่นไหลเหมือนอ้อมกอดที่โอบอุ้มมุกหอยสังข์หรืออัญมณีเม็ดกลางเอาไว้
เข็มกลัดดอกกล้วยไม้สีม่วงเป็นงานออกแบบที่มีความหมายต่อ Yu มาก เนื่องจากเป็นงานเครื่องประดับไทเทเนียมชิ้นแรกของเธอ โดยเธอได้ใส่เข็มกลัดชิ้นนี้ไปร่วมงานแสดงของเก่าในลาสเวกัสเมื่อช่วงต้นปีนี้ และมีผู้ซื้อรายหนึ่งประทับใจในเข็มกลัดชิ้นนี้มากเสียจนยืนกรานที่จะขอซื้อไป Yu อธิบายว่า “เข็มกลัดนี้เป็นเครื่องเตือนความจำถึงศักยภาพทางการสร้างสรรค์ที่ไทเทเนียมมี และมันยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้ผลงานของฉันในขณะที่ฉันสำรวจดินแดนใหม่ของการออกแบบเครื่องประดับ”
เข็มกลัดดอกไม้ของ Victoria Yu ที่มา : www.jewellerynet.com
Kelvin Han นักออกแบบของ Anaisha Jewels Ltd. ยืนยันอีกเสียงถึงความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของเครื่องประดับไทเทเนียม ในบรรดาผลงานออกแบบที่ได้รับความนิยมสูงสุดของเขาคือเข็มกลัดผีเสื้อ “Four Seasons” ซึ่งชวนให้นึกถึงฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ที่ได้รับการตีความผ่านปีกผีเสื้อประดับอัญมณีบนตัวเรือนไทเทเนียม โดยขณะนี้ Anaisha Jewels ได้พัฒนาสีของไทเทเนียมได้ถึง 30 สีแล้ว
ความเป็นไปได้นั้นไร้ขีดจำกัด เพราะนักออกแบบมีตัวเลือกมากมายในการจับคู่ไทเทเนียมกับอัญมณีที่มีสีตรงกันเพื่อให้ได้ตัวเรือนที่มีความกลมกลืนจนแทบมองไม่เห็น ทั้งนี้ เพชร แซปไฟร์สีแฟนซี มรกต และการ์เนตสีเขียว เป็นอัญมณีหลักในงานออกแบบของ Han
ผลงานชิ้นเอกที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา
ด้วยโอกาสและความยืดหยุ่นมากขึ้นในการออกแบบและการตีความที่แปลกแหวกแนว ไทเทเนียมจึงช่วยให้นักออกแบบขยายขอบเขตความคิดสร้างสรรค์ไปได้ไกลยิ่งขึ้น
Vitoria Wu ผู้ก่อตั้ง Osi Vitoria Jewelry ได้สร้างสรรค์โลกที่เต็มไปด้วยจินตนาการ สีสัน และความหลักแหลมด้วยคอลเลกชันไทเทเนียมของเธอ ในบรรดาผลงานสร้างสรรค์ที่ได้รับรางวัลก็คือ เข็มกลัดที่มีลักษณะเป็นระลอกคลื่นจำลองความพริ้วไหวของขนนกได้อย่างสมบูรณ์แบบ อัญมณีต่างๆ ประดับบนตัวเรือนไทเทเนียมที่มีการไล่สีจากน้ำเงิน ม่วง ชมพู แดง และส้ม กลายเป็นฉากหลังอันระยิบระยับให้กับสปิเนลเม็ดกลาง
นักออกแบบใช้เวลาผลิตชิ้นงานเข็มกลัดนี้นานถึงหนึ่งปีครึ่งก่อนที่จะได้ผลงานที่ลงตัว การสร้างผลงานชิ้นเอกเช่นนี้จำเป็นต้องมีทักษะงานช่างฝีมือในระดับที่โดดเด่น Wu เห็นว่าการเปรียบเทียบไทเทเนียมกับทองคำ18K เป็นเรื่องยากด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ด้วยความที่ทั้งสองเป็นวัสดุที่แตกต่างกันจึงต้องใช้เทคนิคการผลิตที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ กระบวนการผลิตโดยใช้ไทเทเนียมยังมีความท้าทายมากกว่าด้วย และเนื่องจากในการผลิตชิ้นงานไทเทเนียมต้องใช้เวลานานกว่า ดังนั้น การผลิตเครื่องประดับไทเทเนียมจึงเป็นการแสดงถึงความสามารถทางศิลปะอันล้ำเลิศ และที่ขาดไม่ได้คือความอดทน
(ซ้าย) เข็มกลัดรูปขนนกของ Victoria Wu (บน) เข็มกลัดรูปแมลงปอโดย Kelvin Han
ที่มา : www.jewellerynet.com
Han เห็นด้วยในเรื่องนี้ เครื่องประดับไทเทเนียมหนึ่งชิ้นใช้เวลาในการผลิตราวหนึ่งถึงสองปี เพราะโลหะชนิดนี้มีความแข็งแกร่งและสียังเปลี่ยนไปได้ในชั่วพริบตา เข็มกลัดผีเสื้อ “Four Seasons” ของเขาใช้เวลาในการผลิตถึงหนึ่งปีครึ่ง ถ้าเปลี่ยนเป็นใช้ทองคำแทนจะเสร็จในหกสัปดาห์ “งานดังกล่าวต้องอาศัยแรงงานอย่างมากและยังต้องอาศัยช่างที่มีเทคนิคและทักษะสูง ถ้ามองในแง่นี้แล้ว เครื่องประดับไทเทเนียมอาจมีค่าพอๆ กับเครื่องประดับทองเลยทีเดียว” Han กล่าว
อนาคตที่มั่นคง
จากคำบอกเล่าของ Yu จาก Joywith Jewelry ไทเทเนียมกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้ซื้อที่กว้างขึ้น ลูกค้าของเธอมีอายุระหว่าง 20 ถึง 50 ปี ซึ่งมีจุดร่วมเดียวกันคือความต้องการเครื่องประดับร่วมสมัยที่มีความแหวกแนวมากขึ้น และไทเทเนียมตอบโจทย์เหล่านี้ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นเป็นพิเศษ
Wu จาก Osi Vitoria อธิบายว่า ไทเทเนียมดึงดูดผู้ซื้อหลายกลุ่มเนื่องจากนักออกแบบสามารถนำเสนอสไตล์เฉพาะซึ่งผ่านการคัดสรรที่ตรงกับความต้องการที่หลากหลายของตลาด คอลเลกชันเครื่องประดับไทเทเนียมของเธอเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในหมู่ผู้ค้าเครื่องประดับไฮเอนด์และนักสะสม Osi Vitoria มีฐานลูกค้าเหนียวแน่นในดูไบ อิตาลี สหรัฐฯ สิงคโปร์ และจีน
ในความเห็นของ Han นั้น ความนิยมในเครื่องประดับไทเทเนียมเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดเอเชีย โดยมีสีม่วงและน้ำเงินเป็นสีที่ได้รับความนิยมสูงสุด ในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับฮ่องกงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาได้รับการสอบถามมากมายจากลูกค้าชาวออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม ความสนใจในเครื่องประดับไทเทเนียมที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าผู้ซื้อเต็มใจมากขึ้นที่จะเปิดโอกาสทำความรู้จักวัสดุและสไตล์ที่แปลกใหม่ Yu กล่าวว่า “สิ่งนี้สะท้อนรสนิยมที่เปลี่ยนไปและความต้องการเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนในเครื่องประดับที่เลือกสวมใส่ ท้ายที่สุด ไทเทเนียมและทองคำต่างก็มีเสน่ห์ของตัวเองซึ่งสามารถตอบสนองความชื่นชอบที่หลากหลายของผู้บริโภคได้”
แปลและเรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤษภาคม 2567