ผสมผสานวัฒนธรรมและความทันสมัยในการดีไซน์เครื่องประดับ
ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 5,000 ปี จีนจึงเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญให้แก่ศิลปิน นักเขียน และนักออกแบบเครื่องประดับ ปรัชญาดั้งเดิมในวัฒนธรรมจีนอย่าง “ไท่จี๋” (Tai Chi) และ “ธาตุทั้งห้า” ได้รับการตีความอย่างแพร่หลายเพื่อประยุกต์ใช้ในงานสร้างสรรค์ โดยในแวดวงเครื่องประดับนั้น แก่นสำคัญว่าด้วยธาตุทั้งห้าและไทจี๋ (หลักหยินหยาง) อันเป็นการหล่อเลี้ยงความผสานกลมกลืนระหว่างแง่มุมต่างๆ ของชีวิต ตลอดจนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาตินั้น ได้รับการนำมาพัฒนาดัดแปลงเพื่อผลิตงานเครื่องประดับที่สื่อความหมายมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
เครื่องประดับของนักออกแบบ Gao Qianqian
“นักออกแบบรุ่นมิลเลนเนียล Gao Qianqian หลอมรวมแนวคิดใหม่ๆ เข้ากับวัฒนธรรมและปรัชญาดั้งเดิมของชาวจีนเพื่อสร้างสรรค์คอลเล็กชันเครื่องประดับร่วมสมัย”
ทฤษฎีนี้ระบุว่าทุกสิ่งบนโลกล้วนมีพลังธาตุและประกอบขึ้นจากธาตุทั้งห้า อันได้แก่ โลหะ ไม้ น้ำ ไฟ และดิน หลักการดังกล่าวเป็นหลักการพื้นฐานของโลกและเส้นทางชีวิตของมนุษย์ซึ่งขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างธาตุทั้งห้า ทุกคนล้วนมีธาตุเหล่านี้ผสมผสานกัน ดังนั้นสุขภาพดีและชีวิตที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อธาตุทั้งห้าสมดุลกัน
ตัวอย่างนักออกแบบเครื่องประดับชาวจีนรุ่นใหม่ Gao Qianqian ที่ได้ผสมผสานงานออกแบบร่วมสมัยเข้ากับแนวคิดทางวัฒนธรรมและปรัชญา โดยเพิ่งเปิดตัวชุดเครื่องประดับที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธาตุทั้งห้า เพื่อยกย่องหลักปรัชญาเก่าแก่ของจีนและมอบโชคลาภให้แก่ผู้สวมใส่ ซึ่งตามทฤษฎีดังกล่าวแทบทุกคนเกิดมาโดยขาดธาตุไปหนึ่งหรือสองธาตุ เราจึงควรใส่เครื่องประดับที่เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุที่ขาดหายไปเพื่อเป็นการชดเชยและสร้างสมดุล ซึ่งชุดเครื่องประดับ Five Elements ของ Gao ดึงดูดคนทุกกลุ่มเพราะมันมีความหมายเฉพาะบุคคล เพราะคนและเครื่องประดับจะช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกันได้เมื่อผู้สวมใส่นำเสนอตัวตนผ่านเครื่องประดับ ซึ่งก็จะช่วยให้เครื่องประดับมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
คอลเล็กชันเครื่องประดับนี้ประกอบด้วยจี้ เข็มกลัด แหวน สร้อยข้อมือ และอื่นๆ ธาตุทั้งห้าได้รับการนำเสนอผ่านองค์ประกอบด้านการออกแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสีสัน ภาพวาด สัญลักษณ์ การคัดอักษร และวัสดุต่างๆ อีกทั้งยังสื่อผ่านงานออกแบบที่มีการผสมผสานอย่างไร้ขีดจำกัดเพื่อถ่ายทอดลักษณะเฉพาะบุคคล
ชุดเครื่องประดับ Five Elements ของนักออกแบบ Gao Qianqian
ชุดจี้ผลิตจากทองคำ 18 กะรัต ประดับด้วยอัญมณีขนาดเล็กห้าเม็ดเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนธาตุแต่ละธาตุ ได้แก่ เพชรแทนโลหะ ซาวอไรต์แทนไม้ ทับทิมแทนไฟ แซปไฟร์สีน้ำเงินแทนน้ำ และแซปไฟร์สีส้มแทนดิน ด้วยแนวคิดเครื่องประดับที่สลับสับเปลี่ยนได้ งานออกแบบส่วนใหญ่ในชุด Five Elements ของ Gao จึงมีแกนกลางที่เปลี่ยนได้ ช่วยให้ผู้ใส่ใช้งานได้หลากหลายด้วยการมิกซ์แอนด์แมตช์กับเครื่องแต่งกายเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน โดยสินค้ามีตั้งแต่เครื่องประดับระดับคุณภาพสูงที่ปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้าไปจนถึงชิ้นงานแฟชั่นที่ผลิตเป็นจำนวนมากเพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมที่แตกต่างกันไปของลูกค้าแต่ละกลุ่ม
เป้าหมายในการออกแบบเครื่องประดับคือ การสร้างสรรค์เครื่องประดับที่เหมาะกับแต่ละบุคคลในราคาที่เอื้อมถึงได้ ผู้คนสามารถเลือกเครื่องประดับหลายชิ้นที่มีธาตุตามต้องการในเวลาเดียวกันหรือสลับสับเปลี่ยนกันเมื่อใดก็ได้ เพื่อจะได้รับพลังจากธาตุทั้งห้าซึ่งส่งผลต่อสนามแม่เหล็กรอบตัวผู้สวมใส่และช่วยดึงดูดโชคลาภด้วย
ก่อนหน้านี้ในปี 2020 Gao ก็ได้เปิดตัวชุดเครื่องประดับที่ชนะรางวัลในชื่อ Tai Chi ซึ่งประกอบด้วยสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน เข็มกลัด และต่างหู เครื่องประดับชุดนี้ทำจากทองคำ 9 กะรัต ประดับด้วยหยกและตกแต่งเพิ่มเติมด้วยเทคนิคการแต่งพื้นผิวโลหะหลายรูปแบบ รูปภาพสัญลักษณ์หยินหยางตามหลักไท่จี๋มีลวดลายรูปปลาสองตัว ตัวหนึ่งสีดำและตัวหนึ่งสีขาววนเป็นวงกลม แสดงถึงพลังด้านบวกและด้านลบที่มีการเคลื่อนไหวและแปรผันไปไม่จบสิ้น ภาพสัญลักษณ์นี้แสดงถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างหยินและหยางซึ่งสื่อถึงความเป็นคู่ตรงข้ามและการพึ่งพาอาศัยกัน พลังบวกและพลังลบที่คู่กันนี้ก่อเกิดเป็นลวดลายอันงดงามที่สื่อถึงความเป็นมงคล ภาพสัญลักษณ์ไท่จี๋มีลักษณะสมมาตรและหมุนวนรอบจุดศูนย์กลางของวงกลม เกิดเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด เป็นลวดลายซ้ำเดิมครั้งแล้วครั้งเล่าที่บ่งบอกถึงชีวิตและการเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดร์
ชุดเครื่องประดับ Tai Chi
ของนักออกแบบ Gao Qianqian
ไอเดียในการสร้างสรรค์งานออกแบบของ Gao ที่นำเอาองค์ประกอบอันลึกซึ้งจากภาพสัญลักษณ์หยินหยางแบบดั้งเดิมมาดัดแปลงและต่อยอดได้อย่างชาญฉลาด โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการสำรวจวัฒนธรรมจีนและการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมต่างประเทศ เพื่ออธิบายปรัชญาจีนออกมาเป็นภาษาของงานออกแบบที่เข้าใจได้ง่ายผ่านองค์ประกอบวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิม ซึ่งเครื่องประดับนี้จะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ในโลกด้วย ซึ่งผู้ประกอบการไทยก็สามารถนำแนวคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลงานการดีไซน์เครื่องประดับที่สอดประสานวัฒนธรรมและความเชื่อของไทย ให้กลายเป็นเครื่องประดับร่วมสมัยได้เช่นเดียวกัน เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดเจาะกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่
จัดทำโดย นางสาวกวินิตา กฤตาภาสกรวงค์