ขับเคลื่อนธุรกิจเครื่องประดับจีนด้วยกลยุทธ์การตลาดเฉพาะกลุ่ม
แนวคิดด้านการค้าปลีกรูปแบบใหม่ในจีนแผ่นดินใหญ่นำมาซึ่งโอกาสทางการตลาดในการเติบโตสำหรับผู้ขายเครื่องประดับที่มีทัศนคติและแนวทางกลยุทธ์ที่เหมาะสม
ตลาดจีนกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อผู้บริโภคมีรสนิยมที่ละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้นและรูปแบบการค้าปลีกก็ได้รับการพัฒนาให้ตอบสนองความนิยมของคนรุ่นใหม่ Platinum Guild International (PGI) ได้สำรวจแนวโน้มใหม่ๆ ในธุรกิจเครื่องประดับจีนและเสนอกลยุทธ์เพื่อการเติบโตของธุรกิจนี้ ซึ่งหนึ่งในแนวโน้มสำคัญที่นำไปสู่พัฒนาการของธุรกิจค้าปลีกในตลาดจีนคือ ร้านค้าปลีกที่นำเสนอสินค้าหลากผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม โดยร้านค้าที่มีแนวทางชัดเจนและเน้นการคัดสรรผลิตภัณฑ์ เช่น ร้านตัวกลางสั่งซื้อแบบอิสระ และบูติกที่ขายสินค้าจากหลายแบรนด์กำลังเติบโตในจีน เนื่องจากผู้บริโภคมีสายตาที่เฉียบคมยิ่งขึ้นในการเลือกซื้อสินค้า
ร้านตัวกลางสั่งซื้อแบบอิสระ (Independent Buyer Shop) เป็นร้านค้าที่เน้นการนำเสนอประสบการณ์ให้แก่ผู้ซื้อผ่านการคัดสรรผลิตภัณฑ์และแบรนด์ที่ตรงตามแนวคิดในภาพรวมของร้าน โดยนำเสนอแบรนด์ดีไซเนอร์จากในและต่างประเทศสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม แบรนด์ที่สร้างสรรค์โดยอินฟลูเอนเซอร์ ตลอดจนแบรนด์ที่แนะนำโดยผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Key Opinion Leader: KOL)
ในขณะที่บูติกแบบหลายแบรนด์ (Multi-Brand Boutique) นั้นขายสินค้าจากแบรนด์ต่างๆ ที่สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์รูปแบบหนึ่งๆ โดยเฉพาะ ผลิตภัณฑ์ที่คัดสรรมามักจะมีความทันสมัยหรือร่วมสมัย โดดเด่นด้านการออกแบบ และตอบสนองรสนิยมของผู้บริโภครุ่นใหม่เป็นหลัก
รูปแบบร้านค้าเหล่านี้ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ทั้งในแง่บุคลิกภาพ สไตล์ และคุณค่าที่ผู้บริโภคยึดถือได้แบบรวมศูนย์ในที่เดียว โดยเครื่องประดับมักเป็นสินค้าเสริมสำหรับการซื้อเพิ่มเติมในร้านเหล่านี้ ที่สามารถสร้างยอดขายในระดับรองลงมาเพราะเป็นสินค้าที่มีระดับราคาต่ำกว่า ทำให้รอบการหมุนเวียนและการปรับเปลี่ยนสินค้าคงคลังช้าตามไปด้วย นอกจากนี้ การตัดสินใจซื้อเครื่องประดับก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการออกแบบเป็นหลัก ตลอดจนความเข้ากันได้กับเสื้อผ้าและสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ทางร้านนำเสนอด้วย
เครื่องประดับแพลทินัมแบรนด์ PGI
ขณะที่ร้านตัวกลางสั่งซื้อแบบอิสระและบูติกแบบหลายแบรนด์มุ่งสร้างแหล่งค้าปลีกรวมศูนย์สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม ร้านค้าเหล่านี้ก็ได้สร้างโอกาสให้แบรนด์เครื่องประดับด้วยเช่นกัน แบรนด์เครื่องประดับที่มีผู้ติดตามเหนียวแน่นทางออนไลน์หรือสร้างความแตกต่างด้วยสไตล์หรือคอนเซปต์ที่เป็นเอกลักษณ์ได้นำกลุ่มลูกค้าใหม่มาให้ร้านค้าเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ แบรนด์ที่มีสินค้าหลายสไตล์และหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้เลือกได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับแบรนด์ที่มีระดับราคาสมเหตุสมผล
การขยายแบรนด์ไปยังผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ทำผลงานได้ดีในร้านตัวกลางสั่งซื้อแบบอิสระและบูติกแบบหลายแบรนด์ การที่แบรนด์นำงานออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ไปใช้กับผลิตภัณฑ์หมวดอื่นๆ ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถซื้อเซ็ตสินค้าที่เข้ากัน จึงช่วยกระตุ้นปริมาณและยอดขายสินค้าตามไปด้วย
ทั้งนี้ ร้านตัวกลางสั่งซื้ออิสระมักสนใจแบรนด์ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก รวมถึงแบรนด์ที่มีงานออกแบบโดดเด่นและรูปลักษณ์ทางการตลาดที่ล้ำยุค เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยเน้นย้ำคอนเซปต์โดยรวมของทางร้าน
ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยอาจนำแนวคิดทางการตลาดดังกล่าวมาปรับใช้ต่อยอดกับธุรกิจของตน นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่กำลังรุกขยายสินค้าไปยังตลาดจีน หลังจากที่เพิ่งเปิดประเทศนั้น ก็สามารถหาลู่ทางเข้าสู่ตลาดนี้ผ่านร้านตัวกลางสั่งซื้อแบบอิสระ และบูติกที่ขายสินค้าจากหลายแบรนด์ซึ่งได้รับการตอบรับจากคนรุ่นใหม่และมีแนวโน้มในการเติบโตอย่างมากได้อีกช่องทางหนึ่ง
จัดทำโดย นางสาวกวินิตา กฤตาภาสกรวงค์
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มีนาคม 2566
ข้อมูลอ้างอิง