WJI 2030 เพื่อความยั่งยืนสู่ SME ในอุตสาหกรรมนาฬิกาและเครื่องประดับทั่วโลก
ในช่วงแห่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงแต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยังมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้ทั้งองค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำหนดมาตรการหรือสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ในด้านการผลิตมีการลดการสร้างมลพิษ มีการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล กลายเป็นกระแสที่แผ่ขยายเข้าไปสู่ทุกวงการ
ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ก็เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีการตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าว โดยมีองค์กรระหว่างประเทศในอุตสาหกรรมนี้ต่างพากันขยายความร่วมมือ สร้างความตระหนักให้เกิดขึ้น อย่างเช่น โครงการ Watch & Jewellery Initiative (WJI 2030) ซึ่งจุดเริ่มต้นของ WJI 2030 นั้น เกิดจากความร่วมมือกันของ Cartier และ Kering ในเดือนตุลาคม 2021 โดยมีหลักสำคัญ 3 ประการ คือ
- สร้างเสริมการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศ มีเป้าหมายมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5oC ภายในปี 2030 และทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050
- อนุรักษ์ทรัพยากร การจัดหาวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งน้ำ โดยใช้หลักพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้มาวัดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้
- การยอมรับความแตกต่าง สร้างแนวทางส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างและคุณค่าของการมีส่วนรับผิดชอบตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
นอกจาก 2 ผู้ก่อตั้งแล้ว ยังมีสมาชิกในโครงการ ได้แก่ Boucheron, Chanel, CIBJO, Eurodiamonds, GIA, Gucci, IWC Schaffhausen, PANDORA, Panerai, Rosy Blue, Rubel & Ménasché, Swarovski และ UFBJOP เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น WJI 2030 ยังร่วมมือกับ RJC เพื่อขยายการรับรู้ให้การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ล่าสุด WJI 2030 ได้ร่วมมือกับ UN Global Compact (UNGC) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรธุรกิจในการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งสององค์กรร่วมกันจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืน SME SDG 2030 ขึ้น ด้วยเป้าหมายหลัก คือ การให้ความรู้ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) แก่ผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมนาฬิกาและเครื่องประดับทั่วโลก
ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนนี้ จะจัดหาโปรแกรมการศึกษาที่สำคัญจาก UNGC และหุ้นส่วนหลัก เพื่อแนะนำและให้ความรู้ในหลักความยั่งยืนให้ผู้ประกอบการ SME ใช้เป็นแนวทางปรับปรุงให้เกิดความโปร่งใสและกระบวนการที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) นอกจากการให้ความรู้ดังกล่าวแล้ว ศูนย์ฯ ยังมีเป้าหมายในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้สนใจมาฝึกฝนฝีมือช่างและทักษะอื่นๆ ด้วย
เนื่องด้วยผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมนาฬิกาและเครื่องประดับทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการนำแนวทาง SDG มาสร้างความร่วมมือร่วมกัน เร่งให้เกิดการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ มีความโปร่งใส และการดำเนินงานที่คำนึงถึงความยั่งยืน ทั้งนี้ โครงการ WJI 2030 จะเริ่มคณะทำงานในเดือนมีนาคม 2023 นี้
ภาพการลงนามก่อตั้งโครงการ WJI 2030 จาก https://www.wjinitiative2030.org
การสร้างขีดความสามารถผ่านการศึกษาและนำนวัตกรรมมาใช้ ไม่เพียงเป็นเครื่องมือพัฒนาผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมนาฬิกาและเครื่องประดับ ให้สามารถก้าวไปตามแนวทางความยั่งยืนได้ แต่ยังเป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าให้เกิดขึ้นตลอดทั้งอุตสาหกรรมด้วย
จัดทำโดย นายพุทธิพร วิชัยดิษฐ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ข้อมูลอ้างอิง
2) Watch & Jewellery Initiative 2030. 2023. WJI 2030 launches SME SDG 2030 Solutions Lab with United Nations Global Compact. [Online]. Available at: https://www.wjinitiative2030.org. (Retrieved February 16,2023).
3) Watch & Jewellery Initiative 2030. 2022. GIA Joins Watch & Jewellery Initiative 2030. [Online]. Available at: https://www.wjinitiative2030.org/gia-joins-watch-jewellery-initiative-2030. (Retrieved February 17,2023).
4) RJC NEWS. 2021. CARTIER, KERING AND RJC LAUNCH ‘WATCH & JEWELLERY INITIATIVE 2030. [Online]. Available at: https://responsiblejewellery.com. (Retrieved February 17,2023).