แหวนอัญมณีทับทิมของ Carmen Lúcia
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียน (National Museum of Natural History, Smithsonian Institute) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ได้รวบรวมและจัดแสดงวัตถุสิ่งของนานาชนิด อาทิ โครงกระดูกไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ พันธุ์พืช วิวัฒนาการของมนุษย์ มัมมี่และอารยธรรมอียิปต์โบราณ ฯลฯ โดยได้แบ่งออกเป็นสัดส่วนตามประเภทการจัดแสดง ภายในอาคารขนาดใหญ่ 3 ชั้น พื้นที่รวมกว่า 30,000 ตารางเมตร
และหนึ่งในห้องที่ได้รับความนิยมจากผู้เยี่ยมชมทั้งชาวอเมริกันและนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือส่วนของ ธรณีวิทยา อัญมณี และแร่ (Geology, Gems and Minerals) ห้องที่ได้รวบรวมและจัดแสดงแร่และอัญมณีทุกชนิดที่มีในโลก รวมถึงอัญมณีเพชรชื่อดังในตำนานอย่าง เพชรโฮป อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น สถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่จัดแสดงอัญมณีและเครื่องประดับชื่อดังล้ำค่าอีกมากมาย หนึ่งในจำนวนนั้นคือแหวนซึ่งประดับด้วยอัญมณีสีแดงสดขนาดใหญ่ ดึงดูดสายตาของผู้ที่เดินผ่านไปมาให้หันมามอง คล้ายกับว่ามีเสียงที่ไม่ได้ยินร้องเรียกให้เดินเข้าไปใกล้เพื่อจะได้ชื่นชมความสวยงามนี้ได้อย่างใกล้ชิด จนเมื่อได้หยุดยืนอยู่หน้าตู้จัดแสดง จึงได้พบกับคำอธิบายของแหวนอัญมณีทรงเสน่ห์วงนี้ แหวนที่มีชื่อเรียกว่า Carmen Lúcia
Carmen Lúcia คือแหวนอัญมณีทับทิมพม่าสีแดงเลือดนกพิราบ (Pigeon’s Blood) ขนาดใหญ่ถึง 23.10 กะรัต ขนาบด้วยเพชรเจียระไนรูปทรงสามเหลี่ยมด้านละ 1 เม็ด บนตัวเรือนแพลทินัม อัญมณีทับทิมเม็ดนี้ถูกขุดพบในช่วงทศวรรษที่ 30 ณ เหมืองพลอยอัญมณีในเมืองโมกก ประเทศเมียนมา ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นแหล่งผลิตพลอยสีอัญมณีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แหวนวงนี้ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของพิพิธภัณฑ์ในปี 2004 จากการสนับสนุนของ Dr. Peter Buck มหาเศรษฐี นักวิทยาศาสตร์ และผู้ก่อตั้ง Subway ร้านแฟรนไชส์แซนด์วิชชื่อดัง เพื่อให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์และของชาติ และเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักและการระลึกถึง Carmen Lúcia ภรรยาผู้ล่วงลับ
แหวนทับทิม Carmen Lucia
ภาพจาก: สถาบันสมิธโซเนียน
Carmen Lúcia เป็นชาวบราซิลโดยกำเนิด ก่อนจะย้ายมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ เมื่อปี 1975 และได้รับการประกาศให้เป็นพลเมืองอเมริกันในปี 1978 เธอเป็นนักสังคมสงเคราะห์ผู้อุทิศตัวให้กับการทำงานด้านสังคม เด็ก และงานวิจัยทางการแพทย์มาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ เธอยังเป็นนักสะสมเครื่องประดับและอัญมณีคนสำคัญคนหนึ่งอีกด้วย
ในช่วงปี 2002 ระหว่างที่ Carmen Lúcia เข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยโรคมะเร็ง เธอได้ข้อมูลว่าจะมีแหวนอัญมณีทับทิมน้ำงามขนาดใหญ่ถูกนำออกสู่ตลาดหลังจากอยู่ในมือเจ้าของเก่ามาเป็นเวลาร่วม 100 ปี แม้ว่าเธอจะไม่เคยพบเห็นกับแหวนอัญมณีวงดังกล่าวนี้มาก่อน แต่เธอได้ตั้งปณิธานว่าจะต้องคว้าแหวนอัญมณีวงนี้มาไว้ในครอบครองให้ได้ เพื่อเป็นของขวัญให้กับตัวเองในโอกาสฟื้นตัวจากการต่อสู้กับโรคร้าย แต่น่าเสียดายที่เธอไม่มีโอกาสนั้น
ภายหลังจากการเสียชีวิตของ Carmen Lúcia ในปี 2003 Dr. Peter Buck จึงได้สานต่อความปรารถนาสุดท้ายของภรรยา ด้วยการมอบเงินทุนจำนวนหนึ่งให้แก่สถาบันสมิธโซเนียน ซึ่งมากพอที่จะนำไปซื้อแหวนทับทิมวงดังกล่าวเพื่อมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นการถาวร นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแหวนทับทิมวงนี้จึงถูกเรียกว่า แหวนทับทิม Carmen Lúcia ตามชื่อของเธอ
หากใครมีโอกาสได้เดินทางไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อย่ารีบเร่งมุ่งตรงไปยังเพชรโฮปในตำนานเพียงเท่านั้น เนื่องจากระหว่างทางยังมีเครื่องประดับและอัญมณีชิ้นประวัติศาสตร์อีกมากมายที่รอให้คุณได้สัมผัส เรียนรู้ และซึมซับเรื่องราวไปพร้อมๆ กับการชื่นชมความสวยงามของมัน แล้วคุณจะได้ค้นพบว่าเครื่องประดับและอัญมณีทั้งหลายเหล่านั้นสวยงามล้ำค่ามากแค่ไหนเมื่อคุณใช้ “ใจ” สัมผัส
ข้อมูลอ้างอิง
2. The Jeweler Blog. (July 10, 2017). 23-Carat Carmen Lucia Ruby is one of the world’s most extraordinary examples of July’s birthstone. Retrieved March 10, 2019 from https://thejeweler
blog.wordpress.com/2017/07/10/23-carat-carmen-lucia-ruby-is-one-of-the-worldd-most-extraordinary-examples-of-julys-birthstone
3. Smithsonian.com. (February 2005). Romance and the stone: a rare Burmese ruby memorizes a philanthropic woman. Retrieved March 10, 2019 from https://www.smithsonianmag.
com/history/romance-and-the-stone-86088454